บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา เรื่อง ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 374.9K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

 

 

 

 

 

1. ปัญหาสิ่งแวดล้อมในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้
   1.1 ปัญหาสิ่งแวดล้อมในทวีปอเมริกาเหนือ
       1.1.1 ปัญหาการใช้ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ที่เกินขอบเขต มีดังนี้
          1. การตัดไม้ทำลายป่า
          2. การเกษตรที่ผิดวิธีและการขยายตัวของพื้นที่
          3. การขยายตัวของเขตเมืองและพื้นที่อุตสาหกรรม
          4. สัตว์ทะเลลดลง 

 

 

 

 

 

 

       1.1.2 ปัญหามลพิษทางอากาศ มีดังนี้
          1. ฝนกรด
          2. สารเคมีและของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม
       1.1.3 ปัญหามลพิษทางน้ำ
       สาเหตุหลักที่เกิดมลพิษทางน้ำในทวีปอเมริกาเหนือ คือ การเพิ่มของจำนวนประชากร ทำให้มีการปล่อยน้ำเสียมากขึ้น เกิดความต้องการในการใช้พลังงานเชื้อเพลิงประเภทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากขึ้น การใช้สารเคมีในพื้นที่การเกษตรทำให้ดินชะล้างสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำ และน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งมีสารเคมีอันตราย ส่งผลให้ประชาชนได้รับสารพิษจากน้ำเสียและเกิดปัญหาสุขภาพตามมา

 

 

 

 

 

 

       1.1.4 ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
       การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศส่งผลกระทบต่อทวีปอเมริกาเหนือ ดังนี้
          1. คลื่นความร้อน
          2. ภัยแล้ง
          3. พายุเฮอร์ริเคน
          4. ธารน้ำแข็งละลายและชายฝั่งถูกกัดเซาะ 

 

 

 

 

 

 

       1.1.5 ปัญหาคราบน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก
       การรั่วไหลของน้ำมันดิบจากแท่นขุดเจาะกลางทะเลในอ่าวเม็กซิโก ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเลและสัตว์น้ำหลายชนิด อีกทั้งยังส่งผลต่อการทำประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในอ่าวเม็กซิโก และทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากการที่รัฐบาลประกาศให้แท่นขุดเจาะทั่วอ่าวเม็กซิโกหยุดทำการขุดเจาะ



   1.2 ปัญหาสิ่งแวดล้อมในทวีปอเมริกาใต้ มีดังนี้
       1. การตัดไม้ทำลายป่า
       2. การขยายตัวของเขตเมืองและอุตสาหกรรม
       3. มลพิษในดินและการกร่อนของหน้าดิน
       4. การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

 

 


2.สิ่งแวดล้อมใหม่ทางสังคมในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้
   2.1 สิ่งแวดล้อมใหม่ทางสังคมในทวีปอเมริกาเหนือ
 
 สิ่งแวดล้อมใหม่ทางสังคมในทวีปอเมริกาเหนือ อาจสรุปได้ดังนี้
       1. ชาวต่างถิ่นในสหรัฐอเมริกา ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สังคมที่ทันสมัย และเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ประชากรจากทวีปอื่นเข้ามาอยู่อาศัยและประกอบอาชีพ การเข้ามาของชาวต่างถิ่นทำให้เกิดการผสมผสานทางด้านสังคมและวัฒนธรรม การเพิ่มขึ้นของประชากร ได้ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมาก เนื่องจากประชากรบางส่วนเป็นผู้มีรายได้น้อย ขาดการศึกษาที่ดี และอยู่ในชุมชนแออัดจึงทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรม อีกทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย อากาศเสีย และขยะเป็นพิษ 

 

 

 

 

 

 

       2. สำนึกรักสิ่งแวดล้อม การรณรงค์สิ่งแวดล้อมของชาวอเมริกันส่วนใหญ่จะแสดงออกเป็นกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกลุ่มต่าง ๆ กลุ่มที่สำคัญ คือ กลุ่มกรีนพีซ (Greenpeace)

 

 

 

 

 

 

       จากการสำรวจใน ค.ศ. 2011 พบว่ามีชาวอเมริกันกว่าร้อยละ 67 เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่จะซื้อสินค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เรียกว่า “green consumers” ชาวอเมริกันส่วนใหญ่มีความใส่ใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
       3. อาคารเขียว (Green building) แนวคิดเรื่องอาคารเขียว โดยเซอร์ นอร์แมน ฟอสเตอร์ (Sir Norman Foster) และเร็นโซ เปียโน (Renzo Piano) เป็นแนวคิดเพื่อพัฒนาอาคารที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นในเขตเมืองให้อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการใช้ไฟฟ้าที่เกิดจากพลังงานทดแทน แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับและความนิยมในทวีปอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดา โดยในประเทศสหรัฐอเมริกามีการตั้งองค์กรเอกชนเพื่อดูแลและกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของอาคาร คือ US Green Building Council (USGBC) และใช้เกณฑ์ที่เรียกว่า Leadership in Energy and Environmental Design (LEED) และต่อมาประเทศแคนาดาและประเทศเม็กซิโกก็ได้ก่อตั้งองค์กรขึ้นดูแลอาคารเขียวเช่นกัน 

 

 

 

 

 

 

 

       4. การเกษตรอินทรีย์ การทำการเกษตรด้วยการใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรมได้รับความนิยมมากขึ้นในทวีปอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีมากที่สุดในรัฐแคลิฟอร์เนียและประเทศแคนาดา

 

 

 

 

 

 

 

   2.2 สิ่งแวดล้อมใหม่ทางสังคมในทวีปอเมริกาใต้
       1. ชุมชนแออัดจากการเจริญเติบโตของสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้ประชากรอพยพเข้าสู่เขตเมืองเพิ่มขึ้น ซึ่งจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเขตเมือง ทำให้เกิดการขยายตัวของเขตเมือง สร้างปัญหาให้กับสังคม คือ การเกิดพื้นที่ชุมชนแออัด ซึ่งมักมีผลตามมา คือ การขาดแคลนระบบสาธารณูปโภคที่ดี ปัญหาสุขภาพ ภาวะน้ำท่วม และปัญหาอาชญากรรม

 

 

 

 

 

 

       2. เส้นทางคมนาคมในเขตป่าฝน ในประเทศบราซิลมีการขยายตัวของพื้นที่การเกษตร และเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ที่ขยายตัวขึ้นกับระบบคมนาคมขนส่งให้สะดวกขึ้น จึงมีการสร้างเส้นทางคมนาคมสาย Trans-Amazonian Highway ซึ่งทางส่วนใหญ่มีสภาพไม่ดี รัฐบาลจึงปรับปรุงถนนสายนี้ด้วยการลาดพื้นผิวถนนด้วยกรวดผสมยางมะตอย การพัฒนาถนนสายนี้มีผลโดยตรงต่อพื้นที่ป่าแอมะซอน ซึ่งทำให้พื้นที่ป่าถูกทำลายมากขึ้น
       3. การเกษตรอินทรีย์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การเกิดมลพิษในดินและการพังทลายของหน้าดิน ทำให้ระบบการเกษตรได้ประสบกับปัญหาต่าง ๆ อย่างรุนแรง เกษตรกรจึงเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชเป็นแบบดัดแปลงพันธุกรรมมากขึ้น

 

 


3. แนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้
   3.1 การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทวีปอเมริกาเหนือ
       1. การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา
รัฐบาลของทั้งสองประเทศได้ร่วมมือกันที่จะลดปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มีการจัดตั้งเขตอุทยานแห่งชาติขึ้นเพื่อให้การคุ้มครองพันธุ์สัตว์และพืชที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ มีการเชื่อมอุทยานต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
       แม้ว่าหลังจากการประชุม APEC ใน ค.ศ. 2009 จะมีพื้นที่อนุรักษ์ในทวีปขยายตัวมากขึ้นและมีความพยายามในการลดการตัดไม้ทำลายป่าของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่การทำลายพื้นที่ที่เป็นธรรมชาติก็ยังมีอย่างต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น
       2. พลังงานทดแทนในทวีปอเมริกาเหนือ ประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดามีอัตราการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน แทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมากที่สุดในทวีปนี้ โดยในประเทศสหรัฐอเมริกามีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม และมีการติดตั้งกังหันลมไฟฟ้ากันมาก นอกจากนี้ ยังมีการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ มีการผลิตพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะมีการผลิตกระแสไฟฟ้าและพลังงานชีวภาพได้มาก แต่มีกฎหมายที่บังคับใช้ในเรื่องพลังงานทดแทนในระดับรัฐเท่านั้น
       3. สหรัฐอเมริกากับการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกาได้หันมาแก้ไขปัญหาลดโลกร้อนมากขึ้น โดยเมื่อ ค.ศ. 2009 สภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านร่างกฎหมาย America Clean Energy and Security Act
นอกจากนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดายังเป็นผู้ให้หลักการที่เป็นที่มาขององค์กรในการสนับสนุนกองทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม (Global Environment Facility [GEF]) เป็นการสนับสนุนเงินทุนให้แก่โครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศต่าง ๆ
       4. การลดปัญหาชุมชนแออัด ในเมืองเม็กซิโกซิตีชาวเม็กซิกันเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการขยายตัวของเขตเมือง มลพิษทางน้ำและอากาศ และคุณภาพของประชากร รัฐบาลเม็กซิโกจึงได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการสนับสนุนการท่องเที่ยว เพื่อให้ประชากรมีรายได้มากขึ้น ลดอัตราการว่างงาน ลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนน ปรับเปลี่ยนระบบขนส่งน้ำ และวางแผนปลูกต้นไม้ในเขตเมืองให้ได้มากกว่า 1 ล้านต้น
   3.2 การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทวีปอเมริกาใต้ 
       1. พลังงานทดแทนในประเทศบราซิล ประเทศบราซิลเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาด้านนี้ ด้วยการสนับสนุนการผลิตพลังงานชีวภาพ มีการออกแบบรถยนต์ที่สามารถใช้ได้กับทั้งน้ำมันและเอทานอล ซึ่งได้รับความนิยมมาก การหันมาใช้พลังงานเอทานอลของประเทศบราซิลนี้ เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและเป็นต้นแบบของหลาย ๆ ประเทศ 

 

 

 

 

 

 

       2. การลดอัตราการทำลายพื้นที่ป่าฝนประเทศต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาใต้ที่เป็นพื้นที่ของป่าแอมะซอนมีความพยายามในการลดอัตราการตัดไม้ทำลายป่า ด้วยการไม่ขยายเข้าไปอยู่ในพื้นที่ป่าและไม่ปรับสภาพพื้นที่ป่าเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และการสนับสนุนระบบเกษตรอินทรีย์
       3. บทบาทของทวีปอเมริกาใต้ในการลดภาวะโลกร้อน ประเทศส่วนใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้เป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ทำให้แนวทางในการลดภาวะโลกร้อนยังต้องได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม (GEF) ประเทศบราซิลเป็นประเทศที่มีโครงการที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนมากที่สุด และเป็นประเทศเดียวในทวีปที่มีการบังคับใช้กฎหมายการใช้พลังงานทดแทนในระดับประเทศ ในปี ค.ศ. 2009 หลังการประชุมเจรจาอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศบราซิลได้ตกลงที่จะลดอัตราการทำลายพื้นที่ป่าแอมะซอน และลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 39 ภายใน ค.ศ. 2020 ทั้งนี้ในทวีปอเมริกาใต้มีเพียงประเทศซูรินาเมเท่านั้นที่ไม่รับพิธีสารเกียวโต ขณะที่ประเทศบราซิลมีบทบาทในการลดภาวะโลกร้อนบนเวทีโลกมากที่สุดในทวีป

 

 


4.ผลกระทบที่ประเทศไทยได้รับจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้
   1. ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา ทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน เพราะความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของทวีปอเมริกาเหนือ และการตัดไม้ทำลายป่าในทวีปอเมริกาใต้ ทำให้ก๊าซเรือนกระจกถูกปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลกมากขึ้นและทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยหลายด้าน
   ส่วนปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญาเป็นปรากฏการณ์ที่ประเทศไทยได้รับผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมในทวีปอเมริกาใต้โดยตรง ปรากฏการณ์เอลนีโญเกิดขึ้นเมื่อลมค้าตะวันออกที่นำฝนเข้ามาสู่ประเทศไทยอ่อนแรงลงและพัดอยู่เหนือน่านน้ำชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกของประเทศชิลีและเอกวาดอร์ในทวีปอเมริกาใต้ ทำให้สองประเทศนี้มีฝนตกชุก ส่วนประเทศไทยที่อยู่ด้านชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเกิดความแห้งแล้งอย่างรุนแรง ส่วนปรากฏการณ์ลานีญามีลักษณะกลับกันกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกจนเกิดอุทกภัยขึ้นในหลายพื้นที่
   2. ผลกระทบจากการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี การเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศที่กำลังพัฒนาจึงเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของประเทศสหรัฐอเมริกา
   แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1–5 ของประเทศไทย มีแนวคิดและวิธีการมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา คือ มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก และสนับสนุนให้มีการนำทรัพยากรธรรมชาติไปใช้อย่างฟุ่มเฟือย ส่งผลให้พื้นที่ป่าไม้ลดลงอย่างรวดเร็ว สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง แต่ภายหลังได้มีแผนพัฒนาฉบับที่ 8–10 มีการใช้แนวคิดและหลักการในการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้สิ่งแวดล้อมได้รับการฟื้นฟูให้มีสภาพที่ดีมากขึ้น
   3. ผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้มีทั้งผลดีและผลเสีย ผลดี เช่น การผลิตเอทานอลในประเทศบราซิลทำให้ภาครัฐของไทยมีการตื่นตัวในการผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์แทนน้ำมัน การร่วมมือกับประเทศสหรัฐอเมริกาในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการนำชีวมวลมาผลิตเป็นพลังงานเชื้อเพลิงตั้งแต่ พ.ศ. 2549 มาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ใน พ.ศ. 2554 ประเทศไทยได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอินทรีย์ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ทำให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยได้รับความสนใจมากขึ้น ส่วนผลเสีย เช่น ในร่างกฎหมาย America Clean Energy and Security Act ของประเทศสหรัฐอเมริกา มีการกำหนดสินค้าบางประเภทที่มาจากประเทศที่ไม่มีการกำหนดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีผลต่อประเทศไทยในด้านของการนำเข้าและการส่งออกสินค้าจำนวนมาก

 



แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์ วัฒนาพานิช www.wpp.co.th