บทเรียนออนไลน์ วิชาภาษาไทย เรื่อง บทละครพูดคำฉันท์ เรื่อง มัทนะพาธา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 61.5K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้



 

 

ผู้แต่งและประวัติผู้แต่ง
   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงเป็นผู้จัดตั้งวรรณคดีสโมสร อีกทั้งทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีต่าง ๆ มากมาย จนได้รับการถวายพระสมัญญานามว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘

 

 

 

 

ลักษณะคำประพันธ์
   ฉันท์ชนิดต่าง ๆ



เรื่องย่อ
   สุเทษณ์เทพบุตรหลงรักนางฟ้าชื่อมัทนา แต่นางไม่รักตอบ สุเทษณ์จึงสาปให้นางไปเกิดเป็นดอกกุหลาบในป่าหิมวัน เมื่อถึงวันเพ็ญกลางเดือนจะสามารถกลับเป็นหญิงได้ ๑ วัน ๑ คืน และหากเกิดความรักกับชายใดจะได้กลายเป็นหญิงตลอดไป แต่จะต้องได้รับความทุกข์จากความรักนั้น และมาวอนขอความช่วยเหลือจากตน 



สาระน่ารู้
ความรู้เกี่ยวกับฉันท์
   เรื่องมัทนะพาธา เป็นบทละครพูดที่แต่งด้วยฉันท์ทั้งหมด ซึ่งแต่งได้ยากเพราะคำในภาษาไทยหาคำที่ลงเสียงหนักเบาตามคณะและพยางค์ของฉันท์ไม่ค่อยพบ แต่ในเรื่องมัทนะพาธา กลับพบว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ได้อย่างเคร่งครัดในฉันทลักษณ์
   ฉันท์ชนิดต่าง ๆ ที่พบในเรื่องมัทนะพาธา เช่น วิชชุมมาลาฉันท์ ๘ สัททุลวิกีฬิตฉันท์ ๑๙ สาลินีฉันท์ ๑๑ อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ วสันตดิลกฉันท์ ๑๔ อินทวงศ์ฉันท์ ๑๒ จิตรปทาฉันท์ ๘ กมลฉันท์ ๑๒ อุปชาติฉันท์ ๑๑



ตัวละคร
   ๑. สุเทษณ์ เป็นคนเห็นแก่ตัว ตนเองมีฐานะสูงส่ง แต่กลับบังคับจิตใจฝ่ายหญิงให้มารักทั้งที่ไม่ยินยอม ส่งผลให้ตนเองต้องเป็นทุกข์เพราะความรัก
   ๒. มัทนา เป็นผู้ที่มีอุดมการณ์และมั่นคงในความรัก มีมุมมองในเรื่องความรักว่าต้องเกิดจากทั้งสองฝ่าย แม้จะนำมาซึ่งความทุกข์ก็ตาม



ข้อคิด คติคำสอน และความจรรโลงใจ
   ความรักมีทั้งความสมหวังและความผิดหวัง ดังนั้นคนเราจึงควรจะรักอย่างมีสติ ไม่ปล่อยให้ความรักบ่อนทำลายตัวเราเองและทำลายคนที่เรารัก

 


คำสำคัญ มัทนะพาธา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) บทละครพูด ฉันท์ 

 



แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์ วัฒนาพานิช www.wpp.co.th