บทเรียนออนไลน์ วิชาภาษาไทย เรื่อง ภูมิปัญญาทางภาษา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 28.6K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้



 

 

วัฒนธรรมกับภาษา
   วัฒนธรรม คือ ระบบการดำเนินชีวิตที่มนุษย์สร้างขึ้นและยึดถือปฏิบัติกันต่อมา ส่วนภาษาเป็นเครื่องมือสำหรับบันทึก ถ่ายทอด และสะท้อนวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ แบ่งออกเป็น ภาษาที่มีความหมายแคบ และภาษาที่มีความหมายกว้าง



มนุษย์กับวัฒนธรรม
   เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม จึงต้องจัดวางระบบในการดำเนินชีวิต และใช้ภาษาถ่ายทอดวัฒนธรรม ทำให้เกิดประเพณีและสถาบันทางสังคมต่าง ๆ เช่น สถาบันการปกครอง สถาบันการสืบสกุล สถาบันการเลือกตั้ง สถาบันศาลสถิตยุติธรรมและสถาบันศาสนา



ความหลากหลายของวัฒนธรรม
   วัฒนธรรมจะแตกต่างขึ้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ที่ตั้งและภูมิอากาศ ความอุดมสมบูรณ์และความแร้นแค้น กลุ่มชนแวดล้อม และนักปราชญ์หรือประมุขของกลุ่มชน

 

 


 

 

เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม
   คือ แบบแผนการดำเนินชีวิตที่แตกต่างจากวัฒนธรรมอื่น แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ เอกลักษณ์ที่เป็นรูปธรรม และเอกลักษณ์ที่เป็นนามธรรม
   เอกลักษณ์ที่เป็นนามธรรมของไทย เช่น การไม่กีดกันคนต่างชาติ เสรีภาพทางศาสนา ความรักสงบ การประนีประนอม และการไม่แบ่งชั้นวรรณะ



ภาพสะท้อนวัฒนธรรมจากภาษาไทย
   ๑. ความลดหลั่นชั้นเชิงในภาษา
   ๒. การใช้คำไทยแท้ในการสื่อสารที่ไม่เป็นทางการ
   ๓. การมีคำเฉพาะแสดงความละเอียด
   ๔. การใช้คำที่มีความหมายเฉพาะเรียงกัน เพราะไม่ค่อยมีคำที่มีความหมายครอบคลุมสิ่งต่าง ๆ



ภาษาไทยมาตรฐาน
   ในสมัยรัชกาลที่ ๖ การศึกษาภาคบังคับขยายไปทั่วประเทศ จึงได้มีการส่งเสริมให้มีการเรียนภาษาไทยมาตรฐาน ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในกรุงเทพฯ อาจเรียกว่า ภาษากลางหรือภาษาราชการก็ได้



ความนิยมในการใช้ถ้อยคำคล้องจองในภาษาไทย
   นอกจากบทร้อยกรอง ในภาษาไทยยังมีคำคล้องจองใช้อย่างแพร่หลายในบทร้อยแก้ว เช่น สำนวนต่าง ๆ คำโฆษณา คำขวัญ ราชทินนามข้าราชการ ชื่อสถานที่ และชื่อชุดหนังสือ



ภาษากับการพัฒนาและสืบทอดวัฒนธรรม
   ภาษาเป็นพื้นฐานของการสร้างวัฒนธรรมที่ซับซ้อน เพราะนอกจากภาษาจะช่วยพัฒนาความคิด ช่วยมนุษย์ให้สามารถเรียนรู้เรื่องราวในอดีตแล้ว ภาษายังก่อให้เกิดสถาบันทางสังคมต่าง ๆ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนา ดำรงรักษา และสืบทอดกันต่อ ๆ มา



วรรณคดีกับวัฒนธรรม
   วรรณคดีเป็นศิลปะทางภาษาที่สะท้อนถึงวัฒนธรรม โดยการสอดแทรกความรู้สึกนึกคิดของคนในวัฒนธรรมนั้น ๆ ไว้ยกเว้นเรื่องภาษาพูด เพราะในวรรณคดีมักใช้ภาษาเขียนหรือภาษากวี เพื่อให้มีความไพเราะสละสลวยเป็นสำคัญ



ภาษาถิ่นกับวัฒนธรรม
   ภาษาถิ่นมีคุณค่าต่อวัฒนธรรมไทย เพราะภาษาถิ่นเป็นเครื่องแสดงให้เห็นที่มาและความหมายที่แท้จริงของคำและประเพณีต่าง ๆ ของประเทศไทย

 



แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์ วัฒนาพานิช www.wpp.co.th