บทเรียนออนไลน์ วิชาภาษาไทย เรื่อง การพัฒนาทักษะการเขียน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 26K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้



 

 

กระบวนการเขียนและกระบวนการคิดที่มีประสิทธิภาพ
   กระบวนการคิด เป็น กระบวนการที่สลับซับซ้อน สามารถนำไปพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ รวมถึงกระบวนการเขียน ทำให้งานเขียนมีโครงสร้างและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน มีเนื้อหาที่ใช้ภาษาได้ไพเราะและน่าเชื่อถือ



การใช้ภาษาในการเขียน
   ๑. การใช้คำ ต้องใช้คำให้ตรงกับความหมาย ผูกประโยคได้ถูกต้องตามแบบแผนของการเขียน และต้องมีความสร้างสรรค์ โดยคำในภาษาไทยสามารถแบ่งออกเป็น ๒ ระดับ คือ
       - คำระดับไม่เป็นทางการ คือ ภาษาที่ไม่เป็นแบบแผน ใช้เขียนสิ่งที่ไม่เป็นทางการ
       - คำระดับที่ใช้อย่างเป็นทางการ คือ ภาษาที่เป็นแบบแผน ใช้เขียนสิ่งที่มีความเคร่งครัดสูง
   ๒. การใช้สำนวน มักแตกต่างกันไปตามกลวิธีของผู้เขียนแต่ละคน ยกเว้นในงานเขียนประเภทที่ต้องใช้ภาษาสุภาพ เป็นทางการ เช่น รายงานวิชาการ ที่อาจจะใช้สำนวนที่มีรูปแบบตายตัว



การจัดลำดับความคิดในการเขียน
   สามารถจัดลำดับความคิดได้หลายลักษณะ เช่น ลำดับตามเวลา ลำดับตามความสำคัญ ลำดับตามทิศทางหรือสถานที่และลำดับตามเหตุผล



การเรียบเรียงงานเขียนจากการอ้างอิง
   ๑. การบันทึก ควรแยกข้อคิดเห็นหรือข้อสังเกตไว้ต่างหาก ไม่เขียนรวมกับเรื่องที่บันทึก และควรใช้กระดาษขนาดเดียวและจดเพียงหน้าเดียว โดยบันทึกตามลำดับหัวข้อใหญ่ หัวข้อย่อย แหล่งที่มา เลขหน้า และเนื้อความ
   ๒. การอ้างอิงในเนื้อหา สามารถอ้างอิงเป็นเชิงอรรถไว้ท้ายหน้ากระดาษ หรืออ้างอิงด้วยระบบนามปีตอนท้ายของข้อความที่ต้องการบอกที่มาก็ได้
   ๓. การอ้างอิงในส่วนท้าย หรือการเขียนบรรณานุกรม เป็นรายการเอกสารที่ใช้ประกอบงานเขียน โดยเรียงตามลำดับอักษรของชื่อผู้แต่ง มีวิธีเขียนแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของสื่อ



การเขียนในโอกาสต่าง ๆ


   ๑. การเขียนจดหมายธุรกิจ คือ การเขียนจดหมายติดต่อกันระหว่างหน่วยงานที่ประกอบธุรกิจ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทให้ข้อมูลข่าวสาร และประเภทโน้มน้าวใจ ผู้เขียนควรแสดงความเป็นมิตรกับผู้อ่านด้วยการใช้กระดาษอย่างดี พิมพ์ด้วยความประณีตสวยงาม มีวัตถุประสงค์และข้อมูลครบถ้วน ใช้ภาษาที่เหมาะสมกับผู้รับ อ่านเข้าใจง่าย และควรตอบจดหมายอย่างรวดเร็ว เพราะจะแสดงถึงความใส่ใจ


   ๒. การเขียนประกาศ คือ การเขียนข้อความแจ้งให้ทราบผ่านสื่อสาธารณะต่าง ๆ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ประกาศแบบทางการ และประกาศแบบกิจธุระทั่วไป ผู้เขียนควรบอกรายละเอียดว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ให้มีความกระชับรัดกุม ใช้ภาษาสุภาพ และถูกต้องตามรูปแบบการเขียนประกาศ


   ๓. การกรอกแบบฟอร์ม คือ การกรอกข้อมูลลงในเอกสารที่จัดทำขึ้นสำหรับอำนวยความสะดวกแก่ผู้ตอบคำถาม ผู้กรอกควรอ่านรายละเอียดของแบบฟอร์มให้เข้าใจ แล้วจึงกรอกข้อมูลให้ถูกต้อง ครบถ้วน


   ๔. การจดรายงานการประชุม คือ การบันทึกข้อมูลที่ได้จากการประชุม ผู้บันทึกอาจจะจดทุกคำพูดในที่ประชุม จดเฉพาะประเด็นสำคัญ หรือจดย่อเพียงแค่เหตุและผล และจำเป็นต้องจดมติของที่ประชุมทุกครั้ง


   ๕. การเขียนบทความ คือ การเรียบเรียงเรื่องขึ้นจากข้อเท็จจริง ประกอบด้วยคำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป ผู้เขียนควรเลือกหัวข้อที่ตนเองถนัด มีหลักฐานอ้างอิงที่สมเหตุสมผลแล้วจึงเริ่มเขียนตามลำดับเหตุการณ์ พร้อมกับสอดแทรกความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางอย่างเหมาะสม ด้วยสำนวนภาษาที่สุภาพ ชัดเจน น่าอ่าน สุดท้ายจึงตั้งชื่อเรื่องให้สัมพันธ์กับเนื้อหา 


   ๖. การเขียนเรียงความเชิงวิชาการ คือ การเรียบเรียงเรื่องที่มีเนื้อหาจะเน้นหนักไปทางวิชาการ ผู้เขียนควรเลือกเรื่องที่ตนเองสนใจและมีความรู้มากพอมาเขียน โดยมุ่งนำเสนอความรู้ ไม่ควรแสดงความคิดเห็นเป็นการส่วนตัว ทั้งนี้ควรใช้ภาษาทางการหรือกึ่งทางการ และอาจใช้ศัพท์วิชาการประกอบได้บ้าง


   ๗. การเขียนบรรยาย คือ การเขียนเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยแสดงฉาก สถานที่ เวลา และเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งผู้เขียนควรบรรยายเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินเรื่อง และควรจัดลำดับใจความให้เรื่องดำเนินไปตามลำดับเวลา


   ๘. การเขียนพรรณนา คือ การเขียนที่มุ่งแสดงอารมณ์ความรู้สึกและเห็นภาพไปพร้อมกัน ผู้เขียนควรศึกษาเรื่องที่จะพรรณาให้ละเอียดและจัดลำดับเนื้อหาให้มีสัมพันธภาพ เพื่อให้การพรรณนามีความสมจริง ทั้งนี้ควรใช้ภาษาที่กระชับและชัดเจน หรืออาจใช้การเปรียบเทียบร่วมด้วยก็ได้


   ๙. การแต่งกาพย์และร่าย
       - กาพย์ที่นิยมแต่งมีอยู่ ๓ ชนิด คือ กาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ และกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ โดยจะมีบังคับเพียง ๒ อย่าง ได้แก่ คณะและสัมผัส
       - ร่ายมีอยู่ ๔ ชนิด คือ ร่ายโบราณ ร่ายดั้น ร่ายยาว และร่ายสุภาพโดยจะมีบังคับ ๕ อย่าง ได้แก่ คณะ พยางค์ สัมผัส เอกโท และคำสร้อย



การประเมินค่างานเขียน
   คือ การพิจารณางานเขียนตามเกณฑ์ความสมเหตุสมผล ความสัมพันธ์ ความเป็นเอกภาพ และกลวิธีในการแต่ง เพื่อประเมินว่ามีคุณค่าและความเหมาะสมตามประเภทของงานเขียนหรือไม่



มารยาทในการเขียน
   ผู้เขียนควรบอกแหล่งที่มาของข้อมูลเดิม ไม่ควรเขียนโดยปราศจากความรู้ในเรื่องนั้น ๆ และต้องไม่เขียนเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ สถาบันต่าง ๆ หรือทำลายผู้อื่น

 



แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์ วัฒนาพานิช www.wpp.co.th