บทเรียนออนไลน์ วิชาภาษาไทย เรื่อง อิทธิพลของภาษาถิ่นและภาษาต่างประเทศในภาษาไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 49.1K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้



 


อิทธิพลของภาษาถิ่นในภาษาไทย
   ภาษาถิ่น คือ ภาษาที่ใช้สื่อสารในท้องถิ่นต่าง ๆ อาจมีความหมายหรือออกเสียงต่างจากภาษากลาง โดยมีสาเหตุมาจากความแตกต่างด้านสภาพทางภูมิศาสตร์ กาลเวลา อิทธิพลของภาษาอื่น การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม
   ภาษาถิ่นมีบทบาทในการแสดงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น ๔ กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
   ๑. ภาษาถิ่นเหนือ เรียกว่า อู้คำเมือง ใช้พูดกันในแถบจังหวัดภาคเหนือ อาจจะมีภาษาถิ่นเหนือย่อย ๆ เช่น ภาษาไทยเขิน ไทยยอง ไทยลื้อ
   ๒. ภาษาถิ่นอีสาน เรียกว่า เว้าอีสาน ใช้พูดกันในแถบจังหวัดภาคอีสาน อาจจะมีภาษาถิ่นย่อย เช่น ภาษาเขมร ภาษาส่วย (กุย) ภาษาโซ่หรือกะโส้ ภาษาชาวบน ภาษาผู้ไทย และภาษาย้อ
   ๓. ภาษาถิ่นใต้ เรียกว่า แหลงใต้ ใช้พูดกันในแถบจังหวัดภาคใต้ อาจจะมีภาษาถิ่นย่อย เช่น ภาษายาวี ภาษาเซมังหรือซาไก และภาษาชาวเล
   ๔. ภาษาถิ่นกลาง มีลักษณะเหมือนภาษากรุงเทพฯ ใช้พูดกันในแถบจังหวัดภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคเหนือตอนล่าง อาจจะมีภาษาถิ่นของกลุ่มย่อย เช่น ภาษาสุพรรณ ภาษาระยอง ภาษาเพชรบุรี ทำให้มีเสียงเพี้ยนหรือเสียงเหน่อในแต่ละท้องถิ่น
   ภาษาถิ่นมีอิทธิพลต่อภาษาไทยมาตรฐาน เพราะทำให้การออกเสียงคำเพี้ยนไปแต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้มีคำและสำนวนใช้มากขึ้น ตลอดจนช่วยให้ทำความเข้าใจวรรณคดีและวรรณกรรมได้มากขึ้น



อิทธิพลของภาษาต่างประเทศในภาษาไทย
   ๑. ภาษาบาลีสันสกฤต ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดีย มีลักษณะแตกต่างกันเรื่องจำนวนหน่วยเสียงพยัญชนะและหน่วยเสียงสระ และระเบียบในการเขียนตัวตามตัวสะกด พบในชีวิตประจำวัน ส่วนมากใช้เป็นภาษาระดับทางการและกึ่งทางการ
   ๒. ภาษาเขมร ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศกัมพูชา พบในชีวิตประจำวัน วรรณคดี และราชาศัพท์
   ๓. ภาษาจีน ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีน มีระบบวรรณยุกต์เช่นเดียวกับภาษาไทย มักใช้เป็นชื่อสิ่งของและอาหาร
   ๔. ภาษาอังกฤษ ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศตะวันตก ส่วนมากใช้วิธีทับศัพท์ มักใช้เรียกสิ่งที่เป็นนวัตกรรมจากชาติตะวันตกที่ยังไม่มีการบัญญัติศัพท์ขึ้นใช้หรือบัญญัติแล้วไม่เป็นที่นิยม
   การรับภาษาต่างประเทศเข้ามาใช้ในภาษาไทย นอกจากจะทำให้ภาษาไทยมีคำศัพท์มากขึ้นแล้ว ยังทำให้ภาษาไทยเป็นคำมากพยางค์และมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น

 


คำสำคัญ ภาษาถิ่นเหนือ ภาษาถิ่นอีสาน ภาษาถิ่นใต้ ภาษาถิ่นกลาง ภาษาบาลีสันสกฤต ภาษาเขมร ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ 

 



แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์ วัฒนาพานิช www.wpp.co.th