ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
เรื่องย่อ
กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรแบ่งเป็น ๒ ตอน คือ ตอนที่ ๑ บทเห่ชมกระบวนเรือพยุหยาตราและเห่ชมธรรมชาติ ตอนที่ ๒ เป็นบทเห่เรือกากี กล่าวถึงพญาครุฑลักนางกากีไปวิมานฉิมพลี บทสังวาส ตามด้วยบทเห่ครวญ เรื่องที่นำมาศึกษาในระดับชั้นนี้ ได้แก่ บทชมกระบวนเรือพยุหยาตราที่ออกเดินทางในเวลาเช้า โดยพรรณนาถึงความสวยงามของเรือพระที่นั่งและเรืออื่น ๆ ในกระบวน ตลอดจนความพร้อมเพรียงและความรื่นเริงของเหล่าทหาร ต่อมาคือบทเห่ชมปลา เห่ชมไม้ และเห่ชมนก เป็นการชมธรรมชาติที่พบเห็นขณะเรือแล่นผ่าน ปิดท้ายด้วยบทเห่ครวญ เป็นการคร่ำครวญความรักความอาลัยถึงนางอันเป็นที่รักที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน ทำให้กวีรู้สึกโศกเศร้า
ประวัติผู้แต่ง
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร มีพระนามเดิมว่า “เจ้าฟ้ากุ้ง” พระนิพนธ์ที่รู้จักกันแพร่หลาย ได้แก่ นันโทปนันทสูตรคำหลวง กาพย์เห่เรือ กาพย์เห่เรือประพาสธารทองแดง เพลงยาว และกาพย์ห่อโคลงนิราศพระบาท
สาระน่ารู้
กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคคือ ริ้วกระบวนเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำในโอกาสต่าง ๆ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มักจัดเพื่อการบำเพ็ญพระราชกุศลกรานกฐินหรือถวายผ้าพระ และการเสด็จไปนมัสการ พระพุทธบาทที่สระบุรี สำหรับเรือพระที่นั่งที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏในสมัยพระเจ้าปราสาททองที่ทรงสร้างเรือพระที่นั่งกิ่งขึ้น ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีการจัดริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคอย่างสวยงามและยิ่งใหญ่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เรือที่นำมาร่วมในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคจะมีลักษณะแตกต่างกันไปตามความสำคัญและที่มา
ข้อคิด คติคำสอน และความจรรโลงใจ
กาพย์เห่เรือสะท้อนภาพสังคมสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายทั้งด้านชีวิตความเป็นอยู่ ค่านิยม จริยธรรม อีกทั้งยังช่วยอนุรักษ์สิ่งที่มีคุณค่าของบ้านเมือง เช่น การจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคไว้
การเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน
กาพย์เห่เรือเป็นวรรณคดีต้นบทของพิธีเห่เรือหลวงในสมัยรัตนโกสินทร์ ทำให้คนไทยมีโอกาสเรียนรู้ประเพณีโบราณ นอกจากนี้กาพย์เห่เรือยังเป็นแบบอย่างให้กวีรุ่นหลังได้แต่งงานประพันธ์สืบต่อมา
คำสำคัญ กาพย์เห่เรือ กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เรือพระที่นั่ง
แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์ วัฒนาพานิช www.wpp.co.th