ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
นำเรื่อง
หัวใจนักรบ เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้เล่นเป็นละครปลุกใจให้คนไทยรักชาติและเสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง
เรื่องย่อ
พระภิรมย์มีอคติต่อทหารเสือป่า แต่ภายหลังที่ได้รับการช่วยเหลือจากทหาร จึงเปลี่ยนความคิดของตน
หัวใจนักรบ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระภิรมย์กังวลกับนายสวิงที่ต้องเป็นทหารในยามสงคราม จึงพยายามวิ่งขอร้องผู้ใหญ่ให้ช่วย แต่ไม่เป็นผล นายซุ่นเบ๋งจึงวางแผนให้นายสวิงหนีทหาร โดยอ้างว่าพระภิรมย์เป็นโรคหัวใจ เมื่อนายสวิงทราบความจริงก็โกรธมาก ระหว่างนั้นเกิดการรบกับข้าศึกใกล้บ้าน นายสวิงจึงนำทหารมาตั้งฐานในบ้านและสู้ข้าศึก นายสวิงเสียชีวิตในหน้าที่ พระภิรมย์โกรธมาก จึงจับปืนสู้กับข้าศึก แต่กลับโดนข้าศึกบุกเข้าบ้าน
ศัพท์น่ารู้
กดขี่ ข่มให้อยู่ในอำนาจของตน
กีด กั้น ขวาง เกะกะ
ใจเบา ไม่ยั้งคิด เชื่อง่าย
ฉกรรจ์ ห้าวหาญ
เฉลียง ส่วนของบ้านที่ต่อออกมาด้านหัวและท้ายเรือนสำหรับนั่งเล่นหรือเดินติดต่อกัน
ตะขิดตะขวง อาการที่ทำโดยไม่สนิทใจหรือไม่สะดวกใจเพราะกระดากอาย
ประจบ พูดหรือทำให้เขารักเขาชอบ
ไพล่ ไขว้ เอี้ยว หลบ
เรือเมล์ เรือรับส่งผู้โดยสารประจำทาง
เสือป่า ผู้ช่วยพลรบ ซึ่งมีหน้าที่สอดแนม เพื่อสนับสนุนกองทหาร
ผู้แต่ง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖)
สาระน่ารู้
เสือป่า กองเสือป่า ตั้งโดยรัชกาลที่ ๖ เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้วิชาทหาร ปราบโจรผู้ร้ายและช่วยเหลือบ้านเมืองยามสงคราม นอกจากนี้ยังมีหน้าที่อื่น เช่น รักษาความสงบทั่วไป ช่วยเหลือเมื่อเกิดเพลิงไหม้ ล้อมวงรักษาพระองค์
แนวทางในการพิจารณาวรรณกรรม
เนื้อเรื่อง
เนื้อเรื่องเน้นการปลุกใจให้รักชาติและเสียสละเพื่อส่วนรวม โดยใช้พระภิรมย์เป็นตัวละครดำเนินเรื่อง
ศิลปะการประพันธ์
ดำเนินเรื่องด้วยบทสนทนา บรรยายฉากเหตุการณ์ อารมณ์ตัวละครอย่างชัดเจน ด้วยภาษาโบราณที่เข้าใจง่าย
ข้อคิด คติคำสอน และความจรรโลงใจ
ปลุกจิตสำนึกความรักชาติ ทำให้เห็นความสำคัญของทหาร และชี้ให้เห็นว่าคนเราสามารถกลับตัวเป็นคนดีได้
การนำไปใช้ในชีวิตจริง
เราควรแสดงความรักชาติด้วยการเป็นเด็กดี ตั้งใจเรียน เมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็ใช้ความรู้ทำประโยชน์ให้บ้านเมือง
คำสำคัญ หัวใจนักรบ, กองเสือป่า
แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th