บทเรียนออนไลน์ วิชาภาษาไทย เรื่อง ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวรรณคดีและวรรณกรรม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 93.3K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

ผังมโนทัศน์การเรียนรู้ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวรรณคดีและวรรณกรรม

 

ความหมายของวรรณคดีและวรรณกรรม

วรรณคดี = งานเขียนที่แต่งดี  วรรณกรรม = งานเขียนทุกชนิด โดยวรรณกรรมจะเป็นวรรณคดี  ก็ต่อเมื่อวรรณกรรมนั้นได้รับการยกย่องว่าแต่งดีและมีคุณค่า

คุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรม

วรรณคดีและวรรณกรรมมีคุณค่า ทั้งด้านสติปัญญา อารมณ์ ภาษา สังคมและวัฒนธรรม

ประเภทของวรรณคดีและวรรณกรรม

๑.  จำแนกตามลักษณะการแต่ง คือ ร้อยแก้วและร้อยกรอง

๒.  จำแนกตามจุดมุ่งหมายในการแต่ง คือ มุ่งให้ความรู้แก่ผู้อ่านเป็นหลัก และมุ่งให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน

๓.   จำแนกตามลักษณะการบันทึก คือ วรรณคดีที่บันทึกเป็นลายลักษณ์ และไม่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์

ศิลปะการประพันธ์ในวรรณคดีและวรรณกรรมไทย

๑. การเล่นเสียง คือ การใช้คำที่มีเสียงเหมือนกันมาเรียงคำต่อกัน ให้เกิดความไพเราะ มีทั้งการเล่นเสียงพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์

๒. การเล่นคำ คือ การใช้คำที่คำพ้อง มาเรียงต่อกันให้เกิดความหมายแตกต่างไปตามบริบท

            ๒.๑ การเล่นคำพ้อง คือ การนำคำพ้องเสียง หรือรูป มาเรียงต่อกันมีความหมายแตกต่างไปตามบริบท

            ๒.๒ การเล่นคำซ้ำ คือ การซ้ำคำเดิมเพื่อเน้นความหมายของคำให้ชัดเจนและหนักแน่นขึ้น        

๓. การใช้ภาพพจน์ คือ การใช้คำที่แปลกออกไปจากปกติ เพื่อให้ผู้อ่านคิดและจินตนาการตาม

            ๓.๑ การเปรียบเทียบว่าสิ่งหนึ่งเหมือนกับอีกสิ่งหนึ่ง(อุปมา) - เหมือน คล้าย เท่า ดุจ ดัง กล เพียง ราว

            ๓.๒ การเปรียบลักษณะที่เหมือนกันทั้งหมดของสิ่งสองสิ่งต่างจำพวกกัน (อุปลักษณ์) – เป็น คือ

            ๓.๓ การสมมติสิ่งไม่มีชีวิตให้มีอาการ กิริยา ความรู้สึกเหมือนคน (บุคคลวัติ/บุคคลสมมติ)

            ๓.๔ การเลียนเสียงธรรมชาติ คือ การใช้คำเลียนเสียงต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เสียงของมนุษย์

เนื้อหาของวรรณคดี

๑. วรรณคดีพุทธศาสนา เกี่ยวกับหลักคำสอน บาปบุญคุณโทษ

๒. วรรณคดีสุภาษิตคำสอน มุ่งแสดงแนวทางการปฏิบัติ

๓. วรรณคดีเกี่ยวกับประเพณีและพิธีกรรม เป็นบทสวดใช้ภาษาทำให้เกิดความขลัง

๔. วรรณคดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นโดยสอดแทรกจินตนาการ

๕. วรรณคดีเพื่อความบันเทิง เกี่ยวกับความบันเทิง เพื่อใช้ในงานมหรสพ

๖. วรรณคดีบันทึกความรู้สึกของผู้เดินทาง มุ่งบันทึกความรู้สึกหรือเหตุการณ์ขณะเดินทาง เรียกว่า นิราศ 

แนวทางในการอ่านและพิจารณาวรรณคดีและวรรณกรรม

๑. ร้อยกรอง ควรพิจารณา ฉันทลักษณ์ การใช้ภาษา การใช้โวหารเปรียบเทียบ สัญลักษณ์ การอ้างถึงและความหมายหรือเจตนาที่ผู้แต่งต้องการถ่ายทอด

๒. ร้อยแก้ว ควรพิจารณาความรัดกุมของโครงเรื่อง ความงามในการใช้ภาษาและความชัดเจนของสัญลักษณ์ 

 

แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th