ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
ความหมายและความสำคัญของการเขียน
การเขียน คือ การถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดผ่านตัวอักษร เพื่อบอกเล่าเรื่องราว แสดงความคิดเห็น จูงใจ หรือสร้างจินตนาการ
กระบวนการเขียน
หลักการเขียนและมารยาทในการเขียน
เรื่องที่เขียนควรสอดคล้องกับพื้นฐานความรู้ มีประโยชน์ต่อผู้อ่าน ต้องอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลทุกครั้ง ภาษาที่ใช้ควรมีความถูกต้อง กระชับ ชัดเจน และมีสัมพันธภาพในแต่ละย่อหน้า
การเขียนประเภทต่าง ๆ
การเขียนแนะนำ
ประเภทการเขียนแนะนำ |
จุดประสงค์ |
หลักการเขียน |
การเขียนแนะนำตนเอง |
ประกอบการสมัครต่างๆ |
ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประสบการณ์ทำงาน ความสามารถพิเศษ ความสนใจในชีวิต ความสำเร็จที่ภูมิใจ และสถานที่ติดต่อ |
การเขียนแนะนำสถานที่ |
ดึงดูดให้ผู้อ่านมาเที่ยว |
ตั้งชื่อเรื่องให้ดึงดูด บอกประวัติและความน่าสนใจของสถานที่ โดยใช้ภาษาที่สละสลวยทำให้เกิดจินตนาการ |
การเขียนแนะนำบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ |
แสดงความเห็น/แนะนำ |
เขียนเรื่องที่เกิดประโยชน์ต่อผู้อ่าน โดยใช้ภาษาที่สุภาพ ชัดเจน มีเหตุมีผล และถูกกาลเทศะ |
การจดบันทึก
ในการการจดบันทึกจากการฟัง การอ่าน การสังเกตหรือประสบการณ์ ควรจดเฉพาะส่วนใจความสำคัญและต้องอ้างอิงแหล่งที่มาด้วย
ตัวอย่างบันทึกจากการสังเกตหรือประสบการณ์
๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ วันนี้เป็นวันพระ ฉันตื่นตั้งแต่เช้าเพื่อช่วยแม่เตรียมปิ่นโตไปทำบุญที่วัดแม่ให้ฉันจัดดอกไม้ ธูปเทียน ใส่ตะกร้าให้เรียบร้อย ฉันบอกแม่ว่า อยากไปทำบุญที่วัดด้วย แต่แม่ไม่ให้ไป เพราะกลัวว่าฉันจะไปโรงเรียนสาย ฉันบอกแม่ว่า ไม่เป็นไรเพราะอยากไปทำบุญ แต่แม่บอกว่าไม่ไปวัดก็ได้บุญเหมือนกันให้ฉันเป็นเด็กดี ตั้งใจเรียนหนังสือ ก็ถือเป็นการทำบุญอย่างหนึ่งฉันจึงสัญญากับแม่ว่าต่อไปนี้ฉันจะเป็นเด็กดี และจะตั้งใจเรียนหนังสือ |
การกรอกแบบรายการหรือแบบฟอร์ม
หน่วยงานต่าง ๆ จะทำแบบฟอร์มขึ้นเพื่อสะดวกในการเก็บข้อมูลของผู้ติดต่อให้เป็นรูปแบบเดียวกัน เช่น ใบฝาก/ถอนเงินของธนาคาร ใบฝากธนาณัติ ผู้กรอกจะต้องอ่านแบบฟอร์มให้เข้าใจก่อน แล้วปฏิบัติตามข้อกำหนดของแบบฟอร์มนั้น กรอกข้อมูลตามความจริงด้วยตัวอักษรที่ชัดเจน
การเขียนย่อความ
การย่อความ เป็นการตัดทอนเนื้อหาจากข้อความเดิมให้เหลือเฉพาะสาระสำคัญ ด้วยสำนวนภาษาของผู้ย่อเอง ในกรณีที่ยังไม่มีชื่อเรื่องต้องตั้งชื่อเรื่องด้วย เปลี่ยนสรรพนามให้เป็นบุรุษที่ ๓ และใช้คำขึ้นต้นตามประเภทของข้อความ หากข้อความใดไม่สัมพันธ์กันให้ขึ้นย่อหน้าใหม่
แบบการขึ้นคำนำย่อความ
การขึ้นคำนำย่อความจะต้องบอกรายละเอียดดังนี้
นิทานเรื่อง....................ของ...................ความว่า
ข่าวเรื่อง.......................จาก...................ความว่า
จดหมาย..........ของ.........ถึง.......ลงวันที่............ความว่า
ประกาศของ.........เรื่อง..............แก่........เมื่อ.......ความว่า
ปาฐกถาของ........เรื่อง..........แก่.....ที่.........เมื่อ.......ความว่า
การเขียนจดหมาย
จดหมายส่วนตัว
การเขียนจดหมายส่วนตัว (เขียนถึงคนสนิท) ใช้ตัวหนังสือที่อ่านง่าย คำนึงถึงคำขึ้นต้น/คำลงท้ายจดหมายที่เหมาะสม
ตัวอย่างคำขึ้นต้นและคำลงท้าย
เขียนถึง |
คำขึ้นต้น |
คำลงท้าย |
บิดา มารดา ญาติผู้ใหญ่ |
กราบเท้า (คุณพ่อ, คุณแม่) ที่เคารพยิ่ง กราบ (คุณน้า. คุณอา) ที่เคารพ |
โดยความเคารพอย่างสูง ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง |
พระภิกษุทั่วไป |
นมัสการ (พระคุณเจ้า) นมัสการเรียน (พระคุณเจ้า) |
นมัสการมาด้วยความเคารพ |
บุคคลอื่นที่เคารพนับถือ |
เรียน คุณ... |
ขอแสดงความนับถือ โดยความนับถืออย่างยิ่ง |
ครู อาจารย์ |
คำนับ (คุณครู) ที่เคารพ เรียน (อาจารย์) ที่เคารพ |
ด้วยความเคารพ ด้วยความเคารพอย่างสูง |
เพื่อน/บุคคลที่เสมอกัน |
สวัสดี (สมชาย) เพื่อนรัก เรียน (คุณสมชาย) |
รักและคิดถึง ด้วยความนับถือ ด้วยความคิดถึง |
ผู้ที่อ่อนเยาว์กว่า |
(แพรวา) ที่คิดถึง (แพรวา) ลูกรัก, หลานรัก |
คิดถึง (แพรวา) เสมอ รักและคิดถึง |
แบบที่เหมาะสมสำหรับการเขียนจดหมายส่วนตัว
จดหมายกิจธุระ
การเขียนจดหมายกิจธุระ (ติดต่อธุรกิจ) เพื่อให้ข้อมูลทางธุรกิจหรือโน้มน้าวใจ ควรใช้ภาษาที่เป็นทางการ ชัดเจน และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เพราะจดหมายนี้สามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างธุรกิจ และใช้เป็นหลักฐานทางกฎหมายได้ ดังนั้นจึงควรถ่ายสำเนาเก็บไว้ทุกฉบับ
แบบฟอร์มจดหมายกิจธุระ
การเขียนรายงาน
การเขียนรายงานจากการศึกษาค้นคว้า
การเขียนรายงาน นอกจากจะช่วยฝึกทักษะการเขียนแล้ว ยังช่วยในการใช้เหตุผล และการเพิ่มพูนความรู้ แบ่งองค์ประกอบเป็น ๓ ส่วน ได้แก่ ส่วนต้น (ปก คำนำ สารบัญ) ส่วนเนื้อหา (บทนำ เนื้อหา สรุป) และส่วนท้าย (ภาคผนวก บรรณานุกรม)
ตัวอย่างการเรียบเรียงข้อมูลจากโครงเรื่อง
บทนำ
ที่มาของช้างพลายประกายมาศ
พลายประกายมาศเป็นช้างศึกสำคัญของพระเจ้าราชาธิราช กษัตริย์มอญดังมีข้อความพิสดารในเรื่องราชาธิราช ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นแม่กองแปลและเรียบเรียงจากพงศาวดารมอญ |
เนื้อหา
๑. ลักษณะของช้างทั่วไป
๑.๑ สัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน
๑.๒ สองตระกูลใหญ่ : ตระกูลแอฟริกาและตระกูลเอเชีย
ช้างเป็นสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน ช้างที่มีชีวิตอยู่ในเวลานี้ แบ่งได้ ๒ ตระกูลใหญ่ ๆ คือ ช้างแอฟริกาและช้างเอเชีย ช้างแอฟริกาเลี้ยงไม่เชื่อง และไม่อาจใช้ขี่ได้ หัวลีบสมองเล็ก งาเล็กยาว เนื่องจากช้างแอฟริกานั้นฝึกหัดให้เชื่องและใช้งานไม่ได้จึงถูกล่าเอาเนื้อและงา |
๒. ช้างสำคัญในอดีต
๒.๑ ช้างในชาดกทางพระพุทธศาสนา
๒.๒ ช้างในประวัติศาสตร์ชาติไทย
ในชาดกทางพระพุทธศาสนากล่าวว่า ครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นพระยาช้างเผือกมีความกตัญญู เลี้ยงดูมารดาซึ่งแก่ชราตามัว ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ช้างมีบทบาทสำคัญในการทำสงคราม ป้องกันและกอบกู้เอกราชของบ้านเมือง เช่น ช้างทรงของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพลายศรีมงคลกับพลายมงคลทวีปในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อบ้านเมือง ไม่ยอมอยู่กับพม่า บทบาทของช้างพลายประกายมาศในเรื่องราชาธิราช ก็เป็นอีกอุทาหรณ์หนึ่งที่ยืนยันถึงความฉลาดแสนรู้ การมีความกตัญญูของช้าง |
๓. ความเป็นมาของช้างพลายประกายมาศ
๓.๑ ช้างฝ่ายมอญ
๓.๒ ช้างฝ่ายพม่า
ในสงครามระหว่างพระเจ้าราชาธิราชกับพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ตอนหนึ่งพระเจ้าราชาธิราชทรงออกอุบายถอยทัพออกจากเมืองหงสาวดี พลายประกายมาศไล่แทงพม่าจนต้องติดหล่มทั้งสมิงพระรามและพลายประกายมาศถูกพม่าจับไว้ได้ เมื่อพระเจ้าราชาธิราชทรงวางแผนการชนช้างกับมังรายกะยอฉะวา พระราชโอรสของพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องทรงวิตกว่าถ้าฝ่ายพม่าขี่พลายประกายมาศออกชนแล้ว ไม่มีช้างเชือกใดในกองทัพมอญจะสู้ได้ จึงรับสั่งให้นายช้างซึ่งเลี้ยงดูพลายประกายมาศมาก่อนลอบเข้าไปในกองทัพพม่าเพื่อเอาตะปูตรึงเท้าพลายประกายมาศให้อ่อนกำลังลง |
๔. การวางแผนลดความสำคัญของพลายประกายมาศ
นายช้างจึงปลอมตัวเป็นพม่าลอบเข้าไปในโรงเลี้ยงเวลาดึก พลายประกายมาศจำกลิ่นคนเลี้ยงได้ และแสดงความดีใจจนน้ำตาไหล นายช้างนำกล้วยมาฝาก พลายประกายมาศกินแต่เพียงหวีเดียว แสดงว่าอีกหวีหนึ่งจะฝากไปให้บุตรของนายช้าง ซึ่งพลายประกายมาศนับถือเป็นน้อง นายช้างสงสารพลายประกายมาศมากไม่อาจฝืนใจตรึงตะปูที่เท้า และได้ร้องขอให้พลายประกายมาศช่วยชีวิตตน และสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าราชาธิราชด้วยการขัดขืนไม่ไปรบกับมอญและอาละวาดทำร้ายทหารและช้างพม่า แล้วหนีไปอยู่ป่ากะเลียว พลายประกายมาศได้ฟังเข้าใจพยักคอรับคำ นายช้างและพลายประกายมาศต่างอาลัยรักร่ำไห้ต่อกัน เหตุการณ์ตอนนี้จับใจผู้อ่านผู้ฟังมาก เพราะแสดงถึงความฉลาด เข้าใจภาษามนุษย์ ความกตัญญูรู้คุณของช้าง และความรักความเมตตาที่คนเลี้ยงมีต่อสัตว์ |
๕. บทบาทของช้างประกายมาศในการรบ
ในการนำทัพออกชนช้างครั้งนั้น มังรายกะยอฉะวารับสั่งให้มังนันทะสูขี่พลายประกายมาศ แต่พอถอดทรงออกจากเท้า พลายประกายมาศก็เริ่มอาละวาด สลัดมังนันทะสูและควาญตกลงมาแล้วไล่แทงพม่าล้มตายเป็นอันมาก ฝ่ายพม่าช่วยกันจับแทงและยิงด้วยอาวุธ พลายประกายมาศบาดเจ็บสาหัส วิ่งไปเข้าป่ากะเลียวตามที่นายช้างนัดหมายไว้ เสร็จศึกมีชัยแก่ทัพพม่าแล้ว พระเจ้าราชาธิราชโปรดเกล้าฯ ให้นายช้างไปนำพลายประกายมาศมาถวายรับสั่งให้รักษาพลายประกายมาศอย่างดีและพระราชทานบำเหน็จรางวัลเป็นอันมากแก่นายช้าง |
สรุป
เกียรติคุณของพลายประกายมาศ
เรื่องราวของพลายประกายมาศ ในหนังสือราชาธิราชเป็นที่ติดใจคนอ่านเป็นอันมากเพราะแสดงให้เห็นถึงความเป็นสัตว์ประเสริฐของช้าง ที่มีความฉลาดเข้าใจภาษามนุษย์ กตัญญูรู้คุณต่อคนเลี้ยงและชาติบ้านเมือง ตลอดจนชี้ให้เห็นความผูกพัน ความรักและเมตตาระหว่างคนกับสัตว์เลี้ยงอย่างน่าอัศจรรย์ |
รวบรวมได้ดังนี้
พลายประกายมาศ : ช้างแสนรู้ พลายประกายมาศเป็นช้างศึกของพระเจ้าราชาธิราช กษัตริย์มอญ ดังมีข้อความพิสดารในเรื่องราชาธิราช ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นแม่กองแปลและเรียบเรียงจากพงศาวดารมอญ ช้างเป็นสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน ช้างที่มีชีวิตอยู่ในเวลานี้ แบ่งได้ ๒ ตระกูลใหญ่ ๆ คือ ช้างแอฟริกาและช้างเอเชีย ช้างแอฟริกาเลี้ยงไม่เชื่อง และไม่อาจใช้ขี่ได้หัวลีบสมองเล็ก งาเล็กยาว เนื่องจากช้างแอฟริกานั้นฝึกหัดให้เชื่องและใช้งานไม่ได้ จึงถูกล่าเอาเนื้อและงา เรื่องราวเกี่ยวกับช้างที่ว่าฉลาด และมีชาติสกุลสูงกว่าบรรดาสัตว์อื่นนั้นเป็นช้างเอเชีย ซึ่งรวมถึงช้างไทยในชาดกทางพระพุทธศาสนากล่าวว่า ครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นพระยาช้างเผือกมีความกตัญญู เลี้ยงดูมารดาซึ่งแก่ชราตามัว ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ช้างมีบทบาทสำคัญในการทำสงครามป้องกันและกอบกู้เอกราชของบ้านเมือง เช่น ช้างทรงของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพลายศรีมงคลกับพลายมงคลทวีป ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อบ้านเมือง ไม่ยอมอยู่กับพม่าบทบาทของช้างพลายประกายมาศในเรื่องราชาธิราช ก็เป็นอีกอุทาหรณ์หนึ่งที่ยืนยันถึงความฉลาดแสนรู้การมีความกตัญญูของช้างในสงครามระหว่างพระเจ้าราชาธิราชกับพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ตอนหนึ่งพระเจ้าราชาธิราชทรงออกอุบายถอยทัพออกจากเมืองหงสาวดี พลายประกายมาศไล่แทงพม่าจนต้องติดหล่มทั้งสมิงพระรามและพลายประกายมาศถูกพม่าจับไว้ได้เมื่อพระเจ้าราชาธิราชทรงวางแผนการชนช้างกับมังรายกะยอฉะวา พระราชโอรสของพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องทรงวิตกว่าถ้าฝ่ายพม่าขี่พลายประกายมาศออกชนแล้วไม่มีช้างเชือกใดในกองทัพมอญจะสู้ได้ จึงรับสั่งให้นายช้างซึ่งเลี้ยงดูพลายประกายมาศมาก่อนลอบเข้าไปในกองทัพพม่า เพื่อเอาตะปูตรึงเท้าพลายประกายมาศให้อ่อนกำลังลงนายช้างจึงปลอมตัวเป็นพม่าลอบเข้าไปในโรงเลี้ยงเวลาดึก พลายประกายมาศจำกลิ่นคนเลี้ยงได้ และแสดงความดีใจจนน้ำตาไหล นายช้างนำกล้วยมาฝาก พลายประกายมาศกินแต่เพียงหวีเดียว แสดงว่าอีกหวีหนึ่งจะฝากไปให้บุตรของนายช้าง ซึ่งพลายประกายมาศนับถือเป็นน้อง นายช้างสงสารพลายประกายมาศมาก ไม่อาจฝืนใจตรึงตะปูที่เท้า และได้ร้องขอให้พลายประกายมาศช่วยชีวิตตน และสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าราชาธิราชด้วยการขัดขืนไม่ไปรบกับมอญและอาละวาดทำร้ายทหารและช้างพม่า แล้วหนีไปอยู่ป่ากะเลียว พลายประกายมาศได้ฟังเข้าใจพยักคอรับคำ นายช้างและพลายประกายมาศต่างอาลัยรักร่ำไห้ต่อกัน เหตุการณ์ตอนนี้จับใจผู้อ่านผู้ฟังมาก เพราะแสดงถึงความฉลาด เข้าใจภาษามนุษย์ ความกตัญญูรู้คุณของช้าง และความรักความเมตตาที่คนเลี้ยงมีต่อสัตว์ในการนำทัพออกชนช้างครั้งนั้น มังรายกะยอฉะวารับสั่งให้มังนันทะสูขี่พลายประกายมาศแต่พอถอดทรงออกจากเท้า พลายประกายมาศก็เริ่มอาละวาดสลัดมังนันทะสูและควาญตกลงมาแล้วไล่แทงพม่าล้มตายเป็นอันมาก ฝ่ายพม่าช่วยกันจับแทงและยิงด้วยอาวุธ พลายประกายมาศบาดเจ็บสาหัส วิ่งไปเข้าป่ากะเลียวตามที่นายช้างนัดหมายไว้ เสร็จศึกมีชัยแก่ทัพพม่าแล้ว พระเจ้าราชาธิราชโปรดเกล้าฯ ให้นายช้างไปนำพลายประกายมาศมาถวาย รับสั่งให้รักษาพลายประกายมาศอย่างดีและพระราชทานบำเหน็จรางวัลเป็นอันมากแก่นายช้างเรื่องราวของพลายประกายมาศ ในหนังสือราชาธิราชเป็นที่ติดใจคนอ่านเป็นอันมาก เพราะแสดงให้เห็นถึงความเป็นสัตว์ประเสริฐของช้าง ที่มีความฉลาดเข้าใจภาษามนุษย์ กตัญญูรู้คุณต่อคนเลี้ยงและชาติบ้านเมือง ตลอดจนชี้ให้เห็นความผูกพัน ความรักและเมตตาระหว่างคนกับสัตว์เลี้ยงอย่างน่าอัศจรรย์ |
การเขียนรายงานโครงงาน
การเขียนรายงานโครงงานมีขั้นตอนเช่นเดียวกับ การเขียนรายงานจากการศึกษาค้นคว้า โดยเริ่มจากการเลือกหัวเรื่องที่ผู้เขียนสนใจ ค้นคว้าข้อมูล วางโครงเรื่อง แล้วเขียนออกมาเป็นโครงงาน ซึ่งแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท ได้แก่ ประเภททดลอง สิ่งประดิษฐ์ ทฤษฎี และสำรวจ
การเขียนเรียงความ
การเขียนเรียงความควรเลือกหัวข้อที่ผู้เขียนถนัด ตั้งชื่อเรื่องให้กระชับแต่สามารถสื่อถึงใจความสำคัญได้อย่างชัดเจน แล้วจึงวางโครงเรื่องให้ครอบคลุมเนื้อหา ส่วนประกอบหลักของเรียงความ ได้แก่ คำนำ เนื้อเรื่อง สรุป สำหรับการเขียนคำนำเพื่อนำเข้าสู่เรื่องควรบอกภาพรวมของเรื่องให้น่าสนใจ อาจกล่าวนำด้วยสุภาษิต บทประพันธ์ หรือเหตุการณ์ เนื้อหาของเรื่องควรจัดลำดับให้กลมกลืน ชวนติดตาม และมีความสัมพันธ์กับชื่อเรื่อง และกล่าวสรุปเรื่องทั้งหมดพร้อมกับแสดงความเห็นเพิ่มเติม อาจทิ้งท้ายให้คิด หรือใช้สุภาษิตเพิ่มความน่าสนใจ
การเขียนนิทาน
เริ่มจากการกำหนดแก่นเรื่อง ซึ่งผู้เขียนควรให้ความสนใจสิ่งรอบตัวเพื่อให้ได้แก่นเรื่องใหม่ ๆ หรืออาจกำหนดขึ้นจากนิทานเรื่องอื่นก็ได้ จากนั้นจึงวางโครงเรื่องหลัก กำหนดตัวละครและฉาก แล้วจึงขยายความโครงเรื่อง สอดแทรกแง่คิด และตั้งชื่อเรื่อง
การเขียนเล่าประสบการณ์
เขียนในลักษณะบรรยายเรื่องราวตามลำดับขั้น ดำเนินเรื่องให้น่าสนใจ มีการแทรกแง่คิด อาจเขียนในรูปแบบของจดหมาย เรียงความ บันทึก หรือบทความก็ได้
การเขียนแสดงความคิดเห็น
ผู้เขียนต้องมีข้อเท็จจริง หลักฐาน หรือความรู้เป็นพื้นฐานสนับสนุนความคิดเห็น ซึ่งต้องเป็นความคิดเห็นที่มีเหตุผล สร้างสรรค์และเกิดประโยชน์ต่อผู้อ่าน
การเขียนบันทึกประจำวัน
ใช้สำนวนภาษาที่ง่าย เล่าตามลำดับเหตุการณ์ สามารถสอดแทรกแง่คิด หรือความคิดเห็นได้แต่ต้องไม่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย ระบุวันที่ในการเขียน และพยายามเขียนประจำทุกวัน เพื่อเตือนความจำ ฝึกทักษะการเขียนและความช่างสังเกต
การแต่งกาพย์ยานี ๑๑
๑. คณะ หนึ่งบทมี ๒ บาท ๔ วรรค วรรคหน้า ๕ คำ วรรคหลัง ๖ คำ
๒. สัมผัส คำสุดท้ายของวรรคแรก สัมผัสกับคำที่สามของวรรคที่สอง
คำสุดท้ายของวรรคที่สอง สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่สาม
คำสุดท้ายของวรรคที่สี่ สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่สองในบทถัดไป
สรุป
การเขียนเป็นทักษะทางภาษาที่ยากและซับซ้อน การเขียนจะมีประสิทธิภาพหากผู้เขียนเรียนรู้และฝึกฝนทักษะ ได้แก่ หลักและกระบวนการเขียน รูปแบบการเขียน การใช้สำนวนภาษา และการเขียนเชิงสร้างสรรค์
คำสำคัญ การเขียนแนะนำ, การจดบันทึก, การกรอกแบบฟอร์ม, การย่อความ, การเขียนจดหมาย, การเขียนเรียงความ, การเขียนนิทาน, การเขียนเล่าประสบการณ์, การเขียนแสดงความคิดเห็น, การเขียนบันทึกประจำวัน, การแต่งกาพย์ยานี ๑๑
แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th