ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
วิธีการเขียนตัวอักษรไทย
เริ่มจากต้นตัวอักษรไปจบที่ปลายตัวอักษร โดยเขียนตัวหลักก่อนแล้วตามด้วยตัวประกอบ
หลักการเขียนคำในภาษาไทยที่ควรทราบเพื่อพัฒนาทักษะการเขียน
คำที่ประวิสรรชนีย์
๑. คำที่ออกเสียง อะ ทั้งออกเสียงเต็มมาตรา กลางพยางค์ หรือท้ายพยางค์ เช่น สะอาด สาระแน สาธารณะ
๒. คำที่เป็นภาษาต่างประเทศ และคำกร่อนจากภาษาอื่น เช่น อะแลสกา ตะวัน (กร่อนมาจาก ตาวัน)
๓. คำที่มีอักษรควบกับ ร แล้วออกเสียง อะ และ ปร ในภาษาบาลีสันสกฤต เช่น ตระกูล ประชา
คำที่ไม่ประวิสรรชนีย์
๑. คำจากภาษาบาลีสันสกฤต โดยพยางค์ที่ออกเสียง อะ ที่ไม่ใช่พยางค์ท้าย เช่น พลศึกษา อิสรภาพ
๒. คำจากภาษาเขมร และอักษรนำที่ออกเสียง อะ ไม่เต็มมาตรา เช่น ขจร ฉบับ
๓. คำกร่อนจากภาษาอื่น เช่น ณ (กร่อนมาจาก ใน)
การใช้ บัน– บรร–
บัน– บรร– ใช้เป็นพยางค์หน้าของคำ ซึ่งจะใช้ บรร– เมื่อแผลงจากคำว่า ประ เช่น บันได บรรจุ (ประจุ)
การใช้ อำ–อำม– อัม–
๑. อำ– คำไทย คำแผลง และคำจำภาษาอื่น(ยกเว้นบาลีสันสฤต/ยุโรป) เช่น กำ สำปั้น ชำระ(ชะ)
๒. อำม– คำที่แผลงมาจากคำบาลีสันสกฤต เช่น อำมรินทร์ (อมรินทร์)
๓. อัม– คำจากภาษาบาลีสันสกฤตและภาษายุโรปที่ใช้ ม สะกด เช่น คัมภีร์ สัมพันธ์ อัมพาต
การใช้สระ ใ– ไ– ไ–ย
๑. ใ– คำไทยแท้ ๒๐ คำใกล้ ใคร ใคร่ ใจ ใช่ ใช้ ใด ใต้ ใน ใบ ใบ้ ใฝ่ สะใภ้ ใย ใส ใส่ ให้ ใหญ่ ใหม่ ใหล
๒. ไ– (ไม้มลาย) คำไทยทั่วไปและคำจากภาษาอื่น เช่น ไกล บันได ไนลอน เจียระไน
๓. คำบาลีสันสกฤต ที่มีเสียง อะ และ ย ตาม เช่น ภัย (ภย) วินัย (วินย) อัยกา (อัยฺยกา)
๔. ไ–ย คำที่มาจากบาลีสันสกฤต ซึ่งเดิมเขียน เ-ยฺย เช่น ไชย (เชยฺย) ไวยกรณ์ (เวยฺยากรณ) อีกทั้งคำพิเศษบางคำ เช่นไอยรา (ช้าง) ไมยราบ (ต้นไม้ชนิดหนึ่ง) และคำว่าไทย
การใช้ ส ศ ษ
ส ใช้เขียนคำไทยแท้และคำจากภาษาอื่น เช่น เสา สาย เกสร พัสดุ ส่วน ศ ษ ใช้เขียนแทนคำสันสกฤต คำไทยแท้บางคำ และคำจากภาษาอื่นบางคำ เช่น อัศจรรย์ ศีรษะ ศึก เศร้า ไอศกรีม ฝรั่งเศส
การใช้เครื่องหมายทัณฑฆาต และการเขียนตัวการันต์
๑. คำที่มี ร อยู่หลังตัวสะกด เช่น ภาพยนตร์ อินทร์ ดาวศุกร์ เทเวศร์ แต่บางคำถึงแม้ไม่ออกเสียง ร ก็ไม่ใช้ตัวการันต์ เช่น มิตร สมัคร
๒. ตัวสะกดที่มีสระกำกับ จะใช้เป็นตัวการันต์ไม่ได้ เช่น พยาธิ จักรพรรดิ ในขณะเดียวกันพยัญชนะที่มีสระและเครื่องหมาย ์ กำกับ ก็ใช้เป็นตัวสะกดไม่ได้ เช่น พันธ์ รามเกียรติ์
การใช้เครื่องหมายวรรณยุกต์
๑. พยัญชนะต้นเสียงเดียว วางวรรณยุกต์บนพยัญชนะต้นหรือสระ เช่น จ๋า ข้าว ก่อ เนื่อง ฉ่ำ ชี้
๒. พยัญชนะต้น ๒ ตัว วางวรรณยุกต์บนพยัญชนะตัวหลังหรือสระ เช่น อย่า กล้า ขมิ้น
๓. พยัญชนะต้นที่เป็นอักษรกลางใช้กับวรรณยุกต์ตรี อักษรต่ำใช้กับวรรณยุกต์โท อักษรต่ำคำตายไม่มีรูปวรรณยุกต์กำกับ โดยจะออกเสียงตรี เช่น ปลั๊ก ตุ๊กตา แย้ง โน้ต เม็ด คะ
การใช้เครื่องหมายวรรคตอน
๑. ไปยาลน้อย (ฯ) ใช้ละบางส่วนของคำซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วไป
๒. ไปยาลใหญ่ (ฯลฯ) ใช้ละคำที่ไม่สามารถกล่าวได้ทั้งหมด
๓. ไม้ยมก (ๆ ) ใช้เขียนหลังคำหรือข้อความที่ต้องการให้อ่านซ้ำ แต่ไม่นิยมใช้ในคำประพันธ์
๔. อัญประกาศหรือเครื่องหมายคำพูด (“ ”) ใช้กำกับคำพูดหรือข้อความที่ยกมาจากที่อื่น
๕. สัญประกาศหรือเส้นใต้ (_____) ใช้เน้นข้อความที่สำคัญ
๖. นขลิขิตหรือวงเล็บ ( ) ใช้เพื่ออธิบายความหมายของคำที่อยู่ข้างหน้า
๗. ปรัศนีหรือเครื่องหมายคำถาม (?) วางไว้ท้ายประโยคคำถาม
๘. อัศเจรีย์หรือเครื่องหมายตกใจ (!) วางไว้ท้ายคำที่แสดงอาการตกใจ
๙. สมการ, สมพล (สม–พน) หรือ เสมอภาค (=) ใช้บอกว่าเท่ากัน เหมือนกัน
๑๐. มหัพภาคหรือจุด (.) ใช้กำกับหัวข้อ อักษรย่อ จุดทศนิยม และการจบประโยค
๑๑. จุลภาคหรือลูกน้ำ (,) ใช้คั่นคำหรือตัวเลข
๑๒. บุพสัญญา (”) ใช้แทนคำข้างบน
๑๓. ยัติภังค์ (-) ใช้แยกคำ
๑๔. เส้นไข่ปลาและเส้นปรุ (...../____) โยงสัมผัสคำประพันธ์ ช่องให้เติมคำ ข้อความที่ตัดตอน
๑๕. เครื่องหมายทับ (/)คั่นระหว่างคำหรือตัวเลข
การใช้อักษรย่อ
ใช้เขียนแทนคำที่มีความยาวมาก ๆ โดยมีเครื่องหมาย มหัพภาค (.) หลังตัวอักษร
การเขียนตามคำบอก
ผู้ฟังต้องจับใจความจากสิ่งที่ผู้อื่นบอก แล้วนำมาเขียนเรียบเรียง
การคัดลอกข้อความ
ต้องบอกที่มาของข้อความ คัดลอกด้วยตัวบรรจงให้ครบถ้วนและถูกต้องตามอักขรวิธีหรือฉันทลักษณ์ของต้นฉบับ
สรุป
การเขียนตัวสะกดให้ถูกต้องช่วยให้เราสามารถสื่อสารในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คำสำคัญ หลักการเขียนคำ, ประวิสรรชนีย์, เครื่องหมายวรรคตอน, เครื่องหมายวรรณยุกต์, ตัวการันต์, การใช้สระ
แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th