ภาษาไทย ม. 2 เรื่อง การพัฒนาทักษะการพูด
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 92.9K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

ผังมโนทัศน์การเรียนรู้ การพัฒนาทักษะการพูด

 

หลักทั่วไปของการพูด

          การพูด คือ สื่อสารโดยใช้เสียง ในการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจระหว่างกัน ทำให้เกิดความสามัคคีและการทำงานบรรลุเป้าหมาย จุดมุ่งหมายของการพูดเพื่อจูงใจ จรรโลงใจ สร้างความสัมพันธ์อันดี แสวงหาความรู้และถ่ายทอดความคิด โดยลักษณะการพูดที่ดีผู้พูดต้องมีกริยาท่าทางและการวางตัวที่เหมาะสม ใช้น้ำเสียงน่าฟัง ชัดเจน และถูกต้อง มีมารยาทในการพูด กล่าวคือ พูดเรื่องที่เหมาะกับผู้ฟัง สามารถควบคุมอารมณ์ได้ และกล่าวขอบคุณผู้ฟังเมื่อจบการพูด

 

ประเภทของการพูด

         –  แบ่งตามวัตถุประสงค์ของการพูดได้แก่  การพูดเพื่อให้ความรู้ (อธิบายหรือแสดงเหตุผล) การพูดเพื่อจูงใจ (โน้มน้าวให้คล้อยตาม) และการพูดเพื่อจรรโลงใจ (ให้เห็นค่านิยมและความดีงาม)

         –  หากแบ่งตามลักษณะของวิธีพูด ได้แก่ การพูดแบบอ่านจากต้นฉบับ (กรณีเป็นทางการ) การพูดแบบท่องจำ (บทพูดสั้นๆ) การพูดแบบเตรียมตัวล่วงหน้า และการพูดโดยไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า (อาศัยไหวพริบ)

 

ขั้นตอนในการเตรียมการพูด

 

ขั้นตอนในการเตรียมการพูด

 

การใช้ภาษาในการพูด

          –   การใช้วัจนภาษา ควรเรียงประโยคให้ถูกต้อง เลือกใช้คำที่สุภาพ ชัดเจน และเหมาะสมกับกาลเทศะ

          –   การใช้อวัจนภาษา ควรแสดงสีหน้าท่าทาง และการวางตัวให้เหมาะสม

 

การพูดแสดงเหตุผล

          การแสดงเหตุผล = ข้อสนับสนุน(เหตุผล) + ข้อสรุป โดยอาจใช้สันธานแสดงเหตุผล หรืออาจไม่ใช้สันธานแต่อาศัยการเรียงลำดับความ ดังนี้

          ๑.  ใช้สันธานแสดงเหตุผล

              – ข้อสนับสนุนอยู่หน้าข้อสรุป เช่น จึง เพราะว่า...จึง ดังนั้น...จึง

              – ข้อสรุปอยู่หน้าข้อสนับสนุน เช่น เพราะ... เพราะว่า... เนื่องจาก...

          ๒. ไม่ใช้สันธาน แต่เรียงข้อสนับสนุนและข้อสรุปในที่ที่เหมาะสม 

 

                           ข้อความ

          ข้อความเหตุผล

              ข้อความสรุป

พระยาตากชอบเชิงมวยและความเก่งกล้าสามารถของจ้อย พระยาตากรับจ้อยเข้าทำราชการ

พระยาตากชอบเชิงมวยและความเก่งกล้าสามารถของจ้อย

พระยาตากรับจ้อยเข้าทำราชการ

พระยาพิชัยต่อสู้พม่าจนดาบหัก พระยาพิชัยได้รับสมญาว่าพระยาพิชัยดาบหัก

พระยาพิชัยต่อสู้พม่าจนดาบหัก

พระยาพิชัยได้รับสมญาว่าพระยาพิชัยดาบหัก

  

การพูดในโอกาสต่าง ๆ

          ๑. การทักทายปราศรัย ต้องใช้คำพูดที่สุภาพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน อาจด้วยการยิ้ม การยกมือไหว้ หรือการกล่าวคำทักทายเพื่อแสดงไมตรี

          ๒. การแนะนำตนเอง ควรเริ่มด้วยการกล่าวทักทาย เล่าถึงอดีต (ภูมิลำเนา การศึกษาเบื้องต้น การย้ายถิ่น) ปัจจุบัน (การศึกษา อาชีพ ครอบครัว ที่อยู่ ความสนใจ) และอนาคต (ความมุ่งหวัง อุดมการณ์ คติประจำใจ)

 

กราบเรียนท่านอาจารย์ที่เคารพ และสวัสดีเพื่อน ๆ ที่น่ารักทุกคน

กระผมเด็กชายการันต์ ศรีปรีชาชาญ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑/๑ เลขที่ ๑๐ ออกมาพูดในหัวข้อการพูดแนะนำตนเอง

กระผมชื่อเด็กชายการันต์ ศรีปรีชาชาญ ชื่อเล่นว่า บิ๊ก อายุ ๑๑ ปี บิดามีอาชีพรับราชการตำรวจ มารดามีอาชีพพนักงานรัฐวิสาหกิจ มีพี่น้องทั้งหมด ๓ คน กระผมเป็นคนที่ ๒ มีพี่ชาย ๑ คน และมีน้องสาวอีก ๑ คน

กระผมจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ จากโรงเรียนรวมศิลป์วิทยา ฟังจากชื่อโรงเรียนกระผมน่าจะวาดเขียนเก่ง แต่ที่วาดเป็นก็เฉพาะรูปดวงอาทิตย์กับภูเขาครับ ปีการศึกษา ๒๕๕๒ ได้เข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนแห่งนี้ เพราะใกล้บ้านและจับฉลากได้ ปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑/๑ ครับ

ในอนาคตอยากเป็นตำรวจเหมือนพ่อ เพราะเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ได้ช่วยเหลือสังคมจึงอยากจะชักชวนเพื่อน ๆ ทุกคนให้ปฏิบัติตนอยู่ในกฎระเบียบของสังคม เพื่อน ๆ คงอยากเห็นประเทศชาติของเราเจริญรุ่งเรือง และอยู่อย่างสงบสุขตลอดไปใช่ไหมครับ

(เด็กชายการันต์ ศรีปรีชาชาญ ม. ๑/๑)

 

          ๓.  การแนะนำผู้อื่น ต้องกล่าวนำถึงหัวเรื่องที่พูด บอกชื่อ ตำแหน่ง ประสบการณ์ทำงาน การศึกษา ความสามารถพิเศษ และผลงานของผู้ที่ต้องการแนะนำ

          ๔.  การกล่าวขอบคุณ ต้องกล่าวแสดงความรู้สึกถึงบุญคุณและความสำคัญของสิ่งที่มอบหรือความช่วยเหลือที่ได้รับ แล้วจึงกล่าวขอบคุณและแสดงความหวังในความกรุณาโอกาสต่อไป

 

กระผม (ดิฉัน) ในนามนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ โรงเรียน..........................รู้สึกซาบซึ้งในพระคุณของท่านอาจารย์........................ที่ได้กรุณาสละเวลามาบรรยายเรื่องชีวประวัติและผลงานของพระสุนทรโวหาร (สุนทรภู่) ในโอกาสฉลองครบรอบปีเกิด...ปีของท่านในวันนี้ การบรรยายของท่านอาจารย์........................ครั้งนี้ มีคุณค่าอย่างยิ่งและไม่อาจแสวงหาจากที่ใด ๆ ประกอบด้วยสาระความรู้ทั้งยังได้ชี้แนะแนวทางและจุดประกายให้พวกกระผม (ดิฉัน) เพิ่มความสนใจศึกษาค้นคว้าชีวประวัติและผลงานของพระสุนทรโวหารให้กว้างขวางต่อไป

ในนามของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๑ โรงเรียน.......................กระผม (ดิฉัน) ขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์....................อย่างยิ่งและหวังในความกรุณาของท่านอาจารย์เช่นนี้อีกในโอกาสต่อไป

ขอบพระคุณครับ (ค่ะ)

 

         ๕.   การกล่าวแสดงความยินดี ต้องกล่าวถึงโอกาสที่แสดงความยินดี ความดีของบุคคล หรือคุณประโยชน์ของกิจการ แล้วจึงกล่าวอวยพรและแสดงความยินดี

 

ผม (ดิฉัน) ในนามของเพื่อนร่วมชั้นรู้สึกปลาบปลื้ม และภูมิใจที่คุณสมชาย คล่องคำนวณ ชนะเลิศการแข่งขันคณิตศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ของสมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทย ประจำปี พ.ศ......ชัยชนะของคุณสมชายครั้งนี้ ไม่เพียงแต่นำเกียรติภูมิมาสู่พวกเราชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ แต่รวมถึงโรงเรียนอันเป็นที่รักของเราทุกคน

ความสำเร็จของคุณสมชาย ย่อมเป็นเครื่องเตือนใจให้พวกเราได้ตระหนักถึงคติพจน์ที่ว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น และเป็นกำลังใจให้พวกเราทั้งหลายได้เจริญรอยตามที่จะนำความสำเร็จและเกียรติคุณมาสู่ตนเองและหมู่คณะเป็นส่วนรวม

ผม (ดิฉัน) ในนามของเพื่อนร่วมชั้นขอแสดงความยินดีต่อคุณสมชาย นักเรียนดีเด่นของชั้นและโรงเรียนของเรา หวังใจว่าคงจะได้เห็นผลงานเกียรติยศของคุณสมชายทำนองนี้อีกในโอกาสต่อไป

สวัสดีครับ (ค่ะ)

 

           ๖.   การสนทนา

            –   หลักการสนทนา การสนทนาที่ดีต้องให้ทุกคนมีโอกาสพูด ผู้สนทนาต้องเป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟัง ควรพูดด้วยน้ำเสียงที่น่าฟังและชัดเจน ใส่ใจฟังและพยายามทำให้การสนทนาน่าสนใจ

            –   เรื่องที่สนทนา ข่าว เหตุการณ์ หรือเรื่องที่มีความสนใจร่วมกัน เหมาะสมกับกาลเทศะ

            –   การเริ่มต้นสนทนาไม่จำเป็นต้องเริ่มด้วยเรื่องตลก ควรใช้คำที่ผู้ร่วมสนทนาสามารถเสริมต่อได้ง่าย

            –   การเสริมต่อการสนทนา ทำให้การสนทนาดำเนินต่อไปได้ โดยอาจหยุดเรื่องเดิมแล้วเปลี่ยนเรื่องใหม่

 

อเนก :          คุณชอบเล่นฟุตบอลไหม เดชา

เดชา :          ไม่ค่อยชอบ เพราะหนักเกินไป ผมชอบแบดมินตันซึ่งเป็นกีฬาที่เบากว่า

 

              –   การขัดจังหวะการสนทนา เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดในการพูดให้ถูกต้อง ควรกล่าวขอโทษก่อนทุกครั้ง และใช้คำที่สุภาพในการท้วงติง ผู้ที่ถูกท้วงติงก็ควรเต็มใจรับฟังและแก้ไข

 

สุชาติ :         เวลานี้ความเห็นเกี่ยวกับความเป็นมาของชนชาติไทยมีแปลกใหม่เพิ่มขึ้น กล่าวคือ คนไทยไม่ได้อยู่ทางใต้ของประเทศจีนมาก่อน แต่อยู่ทางใต้ของทวีปเอเชีย อาจมีบางส่วนเท่านั้นที่เคยอพยพขึ้นไปสู่ภาคใต้ของจีน ต่อมา...

ธรรมนูญ :      ขอโทษครับคุณสุชาติ ถ้าเช่นนั้นคนไทยก็อยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศไทยทุกวันนี้มาแต่ดั้งเดิม

 

อนงค์ :         ขอโทษค่ะคุณสมาน คุณกล่าวว่าเขื่อนภูมิพลอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร ตามที่ฉันทราบเข้าใจว่าอยู่ที่จังหวัดตาก

สมาน :         ใช่แล้วครับ ผมพูดผิดไป ขอบคุณมากคุณอนงค์ เขื่อนภูมิพลอยู่ที่จังหวัดตาก

         

              ๗.   การพูดโทรศัพท์ เมื่อรับโทรศัพท์ควรกล่าวสวัสดี  และใช้ถ้อยคำที่สุภาพ หากผู้พูดต้องการพูดกับผู้อื่น ให้เปิดเสียงรอสายหรือวางโทรศัพท์ไว้ด้านข้างก่อนไปเรียกบุคคลนั้น

       

           ตัวอย่าง การพูดโทรศัพท์กรณีฝากข้อความ

          ผู้รับ         :       สวัสดีค่ะ บ้านอาจารย์สายสมรค่ะ

          ผู้ติดต่อ     :       สวัสดีค่ะ ขอพูดกับอาจารย์สายสมรค่ะ

          ผู้รับ          :       อาจารย์ไม่อยู่ค่ะ จะฝากข้อความไหมคะ

          ผู้ติดต่อ      :       ค่ะ ขอฝากข้อความถึงอาจารย์สายสมรว่า อาจารย์มณีรัตน์ โทรมาปรึกษาเรื่องการจัดงาน

                                 วันสุนทรภู่ ให้ติดต่อกลับด้วยค่ะ

          ผู้รับ           :      ขอเบอร์โทรกลับด้วยค่ะ

          ผู้ติดต่อ       :      เบอร์ ๐ ๒๒๒๒ ๗๑๗๒ ค่ะ

          ผู้รับ           :      ขอทวนนะคะ ฝากข้อความว่า “อาจารย์มณีรัตน์ โทรมาปรึกษา

                                  เรื่องจัดงานวันสุนทรภู่ ขอให้โทรกลับด้วย เบอร์ ๐ ๒๒๒๒ ๗๑๗๒” ถูกต้องไหมคะ

          ผู้ติดต่อ       :      ถูกต้องค่ะ สวัสดีค่ะ

          ผู้รับ           :      สวัสดีค่ะ

 

มารยาทในการพูด

          ควรแต่งกายให้เหมาะสม สำรวมกริยามารยาท ใช้คำที่สุภาพ รักษาเวลา รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และรู้จักควบคุมอารมณ์

 

สรุป

        ผู้พูดที่ประสบความสำเร็จต้องมีจุดมุ่งหมายในการพูด เตรียมการพูด มีท่าทางเหมาะสม และมีมารยาทในการพูด เราควรพัฒนาการพูดในชีวิตประจำวันให้มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการทักทาย การแนะนำตนเอง การขอบคุณ การแสดงความยินดี การสนทนา และการพูดโทรศัพท์ 

 

คำสำคัญ   การพูด, การพูดในโอกาสต่าง ๆ, มารยาทในการพูด, การพูดแสดงเหตุผล 

 

แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th