ภาษาไทย ม. 3 เรื่อง บทละครพูดเรื่อง เห็นแก่ลูก
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 3M views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 
 


 

 

นำเรื่อง
   เห็นแก่ลูก เป็นบทละครพูดพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระนามแฝงว่า “พระขรรค์เพชร” เป็นบทละครพูดขนาดสั้นเพียงหนึ่งองก์ สันนิษฐานว่าเป็นบทละครพูดภาษาไทยเรื่องแรกที่ทรงพระราชนิพนธ์ด้วยพระองค์เอง
   เนื้อเรื่อง เห็นแก่ลูก มีการผูกเรื่องอย่างรัดกุม ชวนติดตาม แทรกข้อคิดอยู่ในบทสนทนา การดำเนินเรื่องมีจุดที่น่าประทับใจและเข้าสู่ตอนจบอย่างแนบเนียน และบทละครเห็นแก่ลูกได้รับการแปลบทละครเป็นภาษาต่าง ๆ ได้แก่ เกาหลี จีน ญี่ปุ่น นอร์เวย์ ฝรั่งเศส รัสเซีย สเปน อาหรับ มาเลย์ สิงหล อังกฤษ อินโดนีเซีย และฮินดี



เรื่องย่อ
   พระยาภักดีนฤนาถกับนายล้ำเคยเป็นเพื่อนสนิทนายล้ำ นายล้ำมีบุตรสาวชื่อ ลออ เมื่ออายุได้ ๒ ขวบ นายล้ำถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา ๑๐ ปี ฐานทุจริต พระยาภักดีจึงอุปการะแม่ลออเป็นบุตรบุญธรรม
   ๑๕ ปีต่อมา นายล้ำมาที่บ้านพระยาภักดีในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัวหวังพึ่งพาแม่ลออที่กำลังจะแต่งงาน แต่พระยาภักดีไม่ยินยอมให้นายล้ำแสดงตนว่าเป็นบิดาของแม่ลออ เพราะเกรงว่าบุตรสาวจะอับอายและถูกสังคมรังเกียจ จึงเสนอเงินให้แก่นายล้ำ ๑๐๐ ชั่ง แต่นายล้ำไม่ยอมจนทั้งคู่เกือบต้องใช้กำลัง ครั้นแม่ลออกลับมาบ้านก็ได้สนทนากับนายล้ำ นายล้ำจึงได้รับรู้ความรู้สึกของแม่ลออที่มีต่อตนในฐานะผู้ให้กำเนิดและไม่อาจลบภาพบิดาที่แสนดีในมโนภาพของแม่ลออได้ นายล้ำยอมจากไปโดยไม่บอกความจริงแก่แม่ลออ
 




 

 


 

 

ศัพท์น่ารู้
เกล้าผม                          คำแทนตัวผู้พูดเพศชาย เมื่อใช้พูดกับผู้ใหญ่ด้วยความเคารพมาก ปัจจุบัน
                                      ใช้คำว่า เกล้ากระผม
ขยาย                              เปิดเผย
ขอบพระเดชพระคุณ         ขอบคุณ ใช้พูดกับผู้อาวุโสหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
ชั่ง                                  มาตราเงินสมัยโบราณ หนึ่งชั่งมีจำนวนเท่ากับ ๘๐ บาท
ช่างพูด                            มีคารมคมคาย
ฉาย                                ถ่ายภาพ
ตกรก                              คือคำว่า ตกนรก
ปอน                               ซอมซ่อ อัตคัด ขัดสน
ปั้นหนึ่ง                           ปึกหนึ่ง
ระหาย                             กระหาย
เสมียญบาญชี                  พนักงานบัญชี ปัจจุบันใช้ เสมียนบัญชี



ประวัติผู้แต่ง
   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ พระองค์ทรงเป็นอีกหนึ่งพระราชโอรสที่ทรงศึกษาต่อต่างประเทศในด้านวิชาพลเรือน และวิชาการทหาร หลังเสด็จเสวยราชย์เป็นมหากษัตริย์องค์ที่ ๖ แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้ก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศเช่นเดียวกับพระราชบิดา

 


 


   ผลงานการประพันธ์ของพระองค์มีหลายประเภท เพราะทรงเชี่ยวชาญทางอักษรศาสตร์ จึงเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งยุคทองทางวรรณกรรมและวรรณคดี พระราชนิพนธ์ของพระองค์จึงมีพระนามแฝงมากมาย เช่น ศรีอยุธยา พระขรรค์เพชร อัศวพาหุ นายแก้วนายขวัญ เป็นต้น

 
 

สาระน่ารู้
   ว่าด้วยบทละครพูด
   ละครพูด (Play) คือ การแสดงที่ตัวละครพูดโต้ตอบกันพร้อมท่าทาง มีการจัดฉากและเครื่องแต่งกายให้เหมาะสมกับท้องเรื่อง แต่ไม่มีการใช้ดนตรี การขับร้อง หรือการรำประกอบ
   ละครพูดเริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีการดัดแปลงเนื้อเรื่องมาจากละครรำ แต่ยุคทองของละครพูดนั้นอยู่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระองค์ได้รับการถวายพระเกียรติว่า “ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดละครพูด” เพราะทรงเป็นผู้ก่อตั้ง “ทวีปัญญาสโมสร” และ “สามัคยาจารย์สโมสร”เพื่อแสดงละครพูดแบบใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ขณะนั้นใช้ชื่อเรียกว่า “ละครทวีปัญญา” แต่ต่อมาก็ได้ตั้งชื่อใหม่เป็นหลักฐานว่า “คณะศรีอยุธยา” ตามพระนามแฝงของรัชกาลที่ ๖ ที่ใช้พระราชนิพนธ์บทละครพูด นอกจากการตั้งสโมสรแล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงสนับสนุนด้านอื่น ๆ ทั้งพระราชนิพนธ์บทละครขึ้นตลอดจนทรงร่วมในการแสดงด้วยหลายครั้ง

 
 

แนวทางในการพิจารณาวรรณกรรม


   เนื้อเรื่อง
   บทละครพูดเรื่อง เห็นแก่ลูก แสดงถึงความรักของพ่อที่มีต่อลูกผ่านพฤติกรรมของตัวละครแต่ละตัว โดยพระยาภักดีนฤนาถ เป็นตัวแทนของบิดาเลี้ยงที่ทำหน้าที่พ่อด้วยความเต็มใจ ส่วนนายล้ำ เป็นตัวแทนของบิดาผู้ให้กำเนิดซึ่งสามารถเปลี่ยนความเห็นแก่ตัวไปเป็นความเห็นแก่ลูกได้ในที่สุด แนวคิดของเรื่องมุ่งทำให้ผู้อ่านเกิดความซาบซึ้งใจว่าไม่มีความรักใดที่บริสุทธิ์เท่ากับความรักตามธรรมชาติระหว่างพ่อและลูก

 


   ศิลปะการประพันธ์
   ๑. ใช้ภาษาโบราณ แต่ทำความเข้าใจได้ไม่ยาก เช่น “ไม่รับประทาน” (ไม่รับประทาน คือ ไม่เอา)
   ๒. ใช้คำพูดที่สั้น แต่แฝงรายละเอียดเกี่ยวกับตัวละครไว้กระชับ เช่น


                 พระยาภักดี. ค้าอะไร ?
                 นายล้ำ. ฝิ่น. 


   ๓. ใช้บทสนทนาแสดงบรรยากาศ เหตุการณ์ และอารมณ์ของตัวละคร เช่น


                 นายล้ำ. ผมไม่เอาเงินของคุณ.
                 พระยาภักดี. ถ้ายังงั้นก็ไปให้พ้นบ้านฉัน, ไป ! 

 


   ข้อคิด คติคำสอน และความจรรโลงใจ
   ๑. การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ดังจะเห็นได้จากผลทุจริตของนายล้ำที่ต้องรับโทษจำคุกเป็นเวลา ๑๐ ปี
   ๒. ความรักระหว่างพ่อลูกเป็นความรักบริสุทธิ์ไม่หวังผล ดังที่นายล้ำล้มเลิกความเห็นแก่ตัวของตนเอง เมื่อได้รับรู้ว่าแม่ลออมีความภาคภูมิใจในตัวบิดาผู้ให้กำเนิดอย่างไร
   ๓. ความรักบริสุทธิ์สามารถเผื่อแผ่ไปถึงบุคคลอื่นได้ ตัวอย่างเช่นความรักของพระยาภักดีนฤนาถที่มีต่อแม่ลออ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เลือดเนื้อเชื้อไขของตนเอง

 


   การนำไปใช้ในชีวิตจริง
   ๑. การหลงในอบายและการทำกรรมชั่วทั้งปวงล้วนนำมาซึ่งปัญหาครอบครัวและปัญหาสังคม
   ๒. การรู้ผิดชอบชั่วดีในการกระทำของตนจะช่วยให้ครอบครัวปกติสุขไร้ซึ่งปัญหา



 

สรุป
   บทละครพูดเรื่อง เห็นแก่ลูก เป็นผลงานพระราชนิพนธ์ที่แสดงถึงความรักอันบริสุทธิ์ระหว่างพ่อและลูก ทำให้รู้ว่าไม่มีความรักใดบริสุทธิ์เท่าความรักตามธรรมชาติที่พ่อมอบให้แก่ลูก 

 



แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th