ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
ลักษณะและประเภทของวรรณกรรมพื้นบ้าน
วรรณกรรมพื้นบ้าน คือ ผลงานทางภาษาที่ถ่ายทอดโดยคนในท้องถิ่น มักใช้วิธีมุขปาฐะหรือการจดบันทึก เช่น เพลง นิทาน เรื่องเล่า ตำนาน และข้อเขียนต่าง ๆ ซึ่งทำให้เห็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นนั้น ๆ
๑. ลักษณะของวรรณกรรมพื้นบ้าน
๑. เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เล่าสืบทอดกันมาแบบปากต่อปาก
๒. เป็นแหล่งข้อมูลที่บันทึกขนบธรรมเนียมประเพณีของคนในท้องถิ่น
๓. ไม่ปรากฏนามผู้แต่งที่ชัดเจน เพราะมีผู้เล่าหลายคน แต่เชื่อกันว่าชาวบ้านและพระภิกษุเป็นผู้แต่งหรือคัดลอก
๔. ใช้ภาษาถิ่น สำนวน ฉันทลักษณ์ และตัวอักษรท้องถิ่น งานจึงแตกต่างกัน
๕. เนื้อเรื่อง มักเป็นเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ แก่นเรื่องเน้นพุทธปรัชญาและจารีตประเพณี เช่น กฎแห่งกรรม ธรรมะชนะอธรรม
๒. ประเภทของวรรณกรรมพื้นบ้าน
แบ่งตามรูปแบบการถ่ายทอด ๒ ประเภทหลัก ได้แก่ วรรณกรรมมุขปาฐะ (ถ่ายทอดปากต่อปาก) ซึ่งประกอบด้วย นิทานพื้นบ้าน เพลงพื้นบ้าน ภาษิตสำนวน ปริศนาคำทาย ความเชื่อและโชคลาง และคำกล่าวในพิธีกรรม ส่วนอีกรูปแบบคือวรรณกรรมลายลักษณ์ (จดบันทึกเป็นตัวหนังสือ) อาจจารึกใบลานสมุดข่อยหรือหนังสือบุด แล้วจึงปริวรรตเป็นตัวอักษรไทย เมื่อเทียบเคียงระหว่างสองวิธีนี้แล้ว วรรณกรรมลายลักษณ์จะได้รับความนิยมสูงกว่าและใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะมีความแม่นยำและเป็นการถ่ายทอดจากต้นฉบับ
คุณค่าของวรรณกรรมพื้นบ้าน
๑. ทำให้ทราบความคิด ความเชื่อ สภาพความเป็นอยู่ และศิลปวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่น
๒. กล่อมเกลาจิตใจและสั่งสอนคนในสังคม ผ่านข้อคิดต่าง ๆ ที่สอดแทรกอยู่
๓. ช่วยให้มีความรู้กว้างขวางลึกซึ้ง โดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์และวรรณคดี
๔. มีอิทธิพลต่อวรรณคดีในสมัยต่อมา เช่น ทำให้เกิดวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ ขุนช้างขุนแผน
๕. ช่วยจรรโลงใจหรือสร้างความบันเทิงแก่บุคคลทั่วไป
เพลงพื้นบ้าน
เพลงพื้นบ้าน คือ เพลงร้องเล่นสืบต่อแบบมุขปาฐะ เนื้อหาปรับตามยุค เนื้อเพลงใช้ภาษาถิ่นหรือศัพท์ที่ใช้กันบ่อย มีลักษณะเป็นร้อยกรองง่าย ๆ
๑. การละเล่นเพลงพื้นบ้าน
การละเล่นเพลงพื้นบ้านจะเล่นกันแบบง่าย ๆ ไม่เน้นอุปกรณ์ เครื่องแต่งกายและสถานที่ นิยมเล่นตามเทศกาลหรือขณะทำงานเพื่อความสนุกสนาน เช่น เทศกาลทอดกฐิน การเล่นเพลงพานฟางในการเกี่ยวข้าว เป็นต้น
๒. ประเภทของเพลงพื้นบ้าน
เพลงพื้นบ้านของไทยแบ่งได้ ๔ กลุ่ม คือ เพลงกล่อมเด็ก เพลงปฏิพากย์ เพลงประกอบพิธีกรรม และเพลงประกอบการละเล่น แต่ในชั้นนี้นักเรียนจะได้เรียนเกี่ยวกับเพลงปฏิพากย์ เพลงประกอบพิธีกรรม และเพลงประกอบการละเล่น
๓. เพลงปฏิพากย์
เพลงปฏิพากย์ คือ เพลงโต้ระหว่างชาย-หญิง ขณะทำงานหรืออยู่ในเทศกาลต่าง ๆ มีเนื้อหาเชิงเกี้ยวพาราสี ประกอบด้วยพ่อเพลง แม่เพลง และลูกคู่ แต่ละภาคมีชื่อเรียกต่างกัน เช่น ลำตัด (ภาคกลาง) เพลงจ๊อย (ภาคเหนือ) เพลงโคราช (ภาคอีสาน) เพลงบอก (ภาคใต้) เป็นต้น
ตัวอย่าง
เพลงโคราช
ทุกวันพี่วงตามเกียน ทุกวันนี้เวียนตามเกี้ยว
แต่ตาซ้ายน้องก็ไม่เหลียว เลยแม่กุหลาบสวนหลวง
โอ้แม่ภิญโญเนื้อเย็น เจ้าช่างไม่เห็นในดวงใจ
แต่ปาเลปางหลัง เราเคยสร้างกุศล
มากับแม่คุณสองคน มันจริงเสียแท้มั่นคง
นี่แหละเนื้อคู่ของน้อง แม่คอปล้องจงปลงใจ
(จากคติชาวบ้านไทย ของ เจือ สตะเวทิน)
๔. เพลงประกอบพิธีกรรม
เพลงประกอบพิธีกรรม ร้องเพื่อเสริมบรรยากาศให้ศักดิ์สิทธิ์ และช่วยให้จิตใจผู้ร่วมพิธีสงบ ตัวอย่างเช่น บทสวดขวัญในพิธีทำขวัญ บทแหล่ในพิธีทำขวัญนาค เพลงแห่นางแมวในพิธีขอฝน เป็นต้น
ตัวอย่าง
เพลงแห่นางแมว
นางแมวเอย มาร้องแป้วแป้ว ข้าวหม้อทนน
ขอฟ้าขอฝน รดแมวข้ามั่ง ค่าจ้างแมวมา
ได้เบี้ยยี่สิบ ไปซื้อหมากดิบ มาล่อนางไม้
นางไม้ภูมิใจ นุ่งผ้าเข็มทอง ไอ้หุนตีกลอง
ไอ้ฮักปักกะตู ไอ้งูพันกัน หัวล้านชนกัน
ฝนก็เทลงมา ฝนก็เทลงมา เต็มทุ่งเต็มท่า
เต็มนาสองห้อง นิมนต์พระมา สวดคาถาปลาช่อน
บนเมฆเสียก่อน มีละครสามวัน หัวล้านชนกัน
ฝนก็เทลงมา ฝนก็เทลงมา
(สุมามาลย์ เรืองเดช)
๕. เพลงประกอบการละเล่น
เพลงประกอบการละเล่น มักร้องกันเป็นกลุ่ม มีการปรบมือให้จังหวะหรือทำท่าทางประกอบ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. เพลงร้องเล่นสำหรับเด็ก มีเนื้อร้องสั้น ใช้คำคล้องจองและทำนองง่าย เหมาะสำหรับเด็กเล่นเพื่อความสนุกสนาน และยังเป็นการช่วยพัฒนาสติปัญญา อารมณ์ และการอยู่ร่วมกันในสังคม เช่น
การเล่นรีรีข้าวสาร
รีรีข้าวสาร สองทะนานข้าวเปลือก
เลือกท้องใบลาน เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน
คดข้าวใส่จาน พานเอาคนข้างหลังไว้
บทร้องประกอบการเล่นรีรีข้าวสารจะมีเนื้อร้องสั้น จดจำง่าย และยังสะท้อนวิถีชีวิตไทยว่ามีอาชีพปลูกข้าว ลักษณะของข้าวยาวรี ข้าวที่ยังไม่ได้สีเรียกข้าวเปลือก เครื่องตวงข้าวเรียกว่าทะนาน เงินสมัยก่อนเรียกว่าเบี้ย และบ้านคนไทยสมัยก่อนมีลักษณะใต้ถุนสูง
เมื่อเด็กเล่นการละเล่นจะได้รับความเพลิดเพลิน เกิดไหวพริบ ช่างสังเกต มีความจำดี กล้าตัดสินใจ มีความรับผิดชอบ มีความสามัคคี เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และฝึกทักษะทางภาษาให้ดียิ่งขึ้น
๒. เพลงประกอบการละเล่นสำหรับผู้ใหญ่ มักเกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพและความเชื่อ เนื้อเพลงมักจำต่อ ๆ กันมา และปรับไปตามยุคสมัย เช่น
เพลงประกอบการละเล่นแม่ศรี
แม่ศรีเอย แม่ศรีสวยสะ
ยกมือไหว้พระ ก็จะมีคนชม
ขนคิ้วเจ้าก็ต่อ ต้นคอเจ้าก็กลม
ชักผ้าปิดนม ชมแม่ศรีเอย
เพลงประกอบการละเล่นแม่ศรีสะท้อนภาพการแต่งกายของหญิงไทยในอดีต และความเชื่อเรื่องผีสางของคนไทยที่จะช่วยเหลือเรื่องการทำมาหากินและสภาพลมฟ้าอากาศ
เพลงประกอบการละเล่นของผู้ใหญ่มักแสดงถึงวิถีการดำเนินชีวิต และความเชื่อของสังคมนั้น เช่น การนับถือผีตลอดจนหลักปฏิบัติสร้างความสงบสุข
คุณค่าของเพลงพื้นบ้าน
คุณค่าของเพลงพื้นบ้าน ประกอบด้วย ความบันเทิงเป็นหลักแต่แทรกสาระด้านการศึกษาในแง่มุมต่าง ๆ เป็นภาพแทนสังคมในอดีต และยังมีหน้าที่เป็นสื่อพื้นบ้านกระจายข่าวสารในชุมชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ด้วยดี นอกจากนี้ใช้ภาษาท้องถิ่นเป็นแสดงเอกลักษณ์ประจำถิ่นอีกด้วย
ทุกวันนี้การละเล่นพื้นบ้านลดบทบาทลงเพราะมีเทคโนโลยีและสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาแทนที่ เช่น เพลงสากล เกมคอมพิวเตอร์ ดังนั้นเราจึงควรอนุรักษ์และฟื้นฟูไว้เพื่อเป็นมรดกคู่ประเทศชาติต่อไป
สรุป
เพลงพื้นบ้าน คือ ผลผลิตจากภูมิปัญญาทางภาษาของไทยที่งดงาม ใช้ร่วมการทำพิธีกรรม งานประเพณี การละเล่น ตลอดจนการทำงาน โดยมุ่งความบันเทิงเป็นหลัก และเนื้อเพลงยังสะท้อนสภาพสังคมของยุคสมัยนั้น ๆ ได้อีกด้วย
แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th