ภาษาไทย ม. 3 เรื่อง การพัฒนาทักษะการเขียน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 256.6K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 
 

 

 

 

กระบวนการเขียน
กระบวนการเขียนมีขั้นตอนดังนี้
   ๑. การเลือกเรื่องเขียน
   ๒. เลือกรูปแบบการเขียน
   ๓. รวบรวมข้อมูล
   ๔. วางโครงเรื่อง
   ๕. ลงมือเขียน
   ๖. ตรวจทานและปรับปรุง



การใช้ภาษาในการเขียน
   ๑. สำนวนภาษา
   การใช้สำนวนภาษาในการเขียนต้องเลือกคำที่สื่อความชัดเจน เหมาะสมกับระดับของผู้อ่านและรูปแบบการเขียน เช่น
       ๑) ใช้คำให้ตรงความหมาย
       ๒) ใช้คำให้เหมาะสมกับกาลเทศะ บุคคล และเรื่องที่เขียน
       ๓) ใช้คำถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของภาษาเขียน โดยใช้คำรัดกุม เลี่ยงภาษาพูดและศัพท์สแลง

 


   ๒. โวหาร
   โวหาร คือ ทำนองในการเรียบเรียงถ้อยคำ ใช้ทั้งในวรรณกรรมร้อยแก้วและร้อยกรอง โวหารที่สำคัญ ได้แก่
   อธิบายโวหาร
   อธิบายโวหาร คือ การแจงเรื่องอย่างละเอียด ใช้กับสารคดี หนังสือเรียน และตำราวิชาการ

ตัวอย่าง


       มนุษย์มีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งซึ่งสืบมาแต่โบราณนมนานไกล ว่าคนที่เกิดมาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ย่อมมีอะไรอยู่อย่างหนึ่งสิงอยู่ภายในร่างกายมาแต่กำเนิด สิ่งที่ว่านี้ถ้าอยู่กับเนื้อกับตัวของผู้ใดผู้นั้นก็จะมีความสุขความสบาย ไม่ป่วยไข้ได้ทุกข์ ถ้าสิ่งนั้นหนีหายไปจากตัวก็จะทำให้ผู้นั้นเป็นไข้ได้ทุกข์ และอาจถึงแก่ความตายได้ ถ้าสิ่งนั้นไม่กลับมาคืนสู่ร่างกาย สิ่งที่กล่าวนี้ภาษาไทยเรียกว่า ขวัญ อันเป็นคำมีความหมายในภาษาที่เข้าใจกันอย่างเลา ๆ แล้วก็ยุ่งด้วย ที่ว่ายุ่งเพราะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นว่ามีรูปร่างเป็นอย่างไร


(ขวัญและประเพณีทำขวัญ ของ เสฐียรโกเศศ)

 


   บรรยายโวหาร
   บรรยายโวหาร คือ การเล่าเรื่องถึงเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกัน ทำให้เห็นฉากและสถานที่เกิดเหตุ สภาพแวดล้อม สาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ และผลของเหตุการณ์ มักใช้กับนิทาน เรื่องเล่า เรื่องสั้น

ตัวอย่าง


       พื้นที่แคบ ๆ ตรงกลางระหว่างร้านเครื่องเงินเจ้าประจำของฉันกับร้านขายของสะสมประเภทกล่องไม้และจานรองแก้ว มีภาพสองตายายนั่งอยู่บนพื้นปูนที่ไม่มีอะไรรองรับ ข้างหน้ายายมีกระจาดขนาดย่อมใส่ขนมต้มประมาณสิบกว่าถุง ส่วนข้าง ๆ กระจาดเป็นลังกระดาษขนาดเล็กที่มีผ้ายางคลุมไว้ ทำเป็นแท่นสูงขึ้นจากพื้นเล็กน้อยสำหรับโชว์พระองค์เล็ก ๆ ๖–๗ องค์
       มันเป็นมุมมุมหนึ่งที่ยากแก่การที่คนจะมองเห็น ผู้คนมากมายขวักไขว่ที่เดินไปมาต่างมองเลยผ่านไป ไม่มีเสียงร้องเรียกลูกค้าให้ซื้อขนมเล็ดลอดออกมาจากปากยาย ไม่มีเสียงของตาเชิญชวน หรือบรรยายสรรพคุณของพระเครื่อง มีแต่สายตาที่อยู่ภายใต้หนังตาอันเหี่ยวย่นมองดูผู้คนที่ผ่านไปมา หวังเพียงจะมีใครสักคนหยุดสนใจแกบ้าง

 


   พรรณนาโวหาร
   พรรณนาโวหาร คือ การเล่าเรื่องให้ผู้อ่านเกิดภาพพจน์และอารมณ์คล้อยตามไปกับเนื้อเรื่อง โดยการกล่าวถึงรูปร่างและลักษณะของสิ่งต่าง ๆ เช่น บทชมโฉม บทชมธรรมชาติ

ตัวอย่าง


       เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง ท้องนาเจิ่งน้ำเป็นแผ่นกระจกมหึมา สะท้อนสีของท้องฟ้าลงมาบนผิวน้ำเป็นวงกลมอันกว้างใหญ่รอบตัวเราออกไปสุดขอบที่ละเมาะไม้และดงตาล เสาเรือนของชาวนาโชกชุ่มแช่น้ำอยู่กลางนา เพิงพักแดดโผล่ขึ้นมาแต่หลังคา ชาวนาต้องอยู่บนกระท่อมของเขา จะไปไหนก็ต้องพายเรือ ฤดูน้ำนองทำให้เขาต้องเหน็ดเหนื่อยล่วงหน้า ในการยกพื้นให้เป็นคอกควายและทำแพให้แก่สัตว์เลี้ยง แต่น้ำนองนี้เองก็คือผู้เร่งให้ข้าวสูงชูยอดอย่างรวดเร็ว เขาจึงพอใจและรอคอย นอกจากถึงปีที่น้ำท่วมรุนแรงและเนิ่นนานจนนาล่มเขาจะกลายเป็นผู้โศกเศร้ากว่าใคร ๆ ในแผ่นดิน


   งานเขียนโดยทั่วไปนิยมใช้โวหารหลักทั้ง ๓ ประเภทข้างต้น และยังสามารถใช้โวหารอื่น ๆ แทรกในเนื้อความได้อีก ๓ ชนิด ดังนี้

   เทศนาโวหาร
   เทศนาโวหาร คือ การอบรมสั่งสอน แนะให้เห็นสิ่งควรทำและไม่ควรทำ มักใช้กับโอวาท คำแนะนำ

ตัวอย่าง


       อันที่จริงมนุษย์ทุกผู้ทุกนามโดยปกติมีภาวะของจิตที่มีความรักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข ย่อมมีอยู่แล้วต่อตนเองและต่อคนที่ตนรัก แต่ยังผสมปนเปกันอยู่ระหว่างความรักใคร่ และความโกรธแค้น อาฆาตพยาบาท พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้นำเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วในจิตใจนั้นมาปรุงแต่งความรักใคร่ที่มีอยู่เดิมแล้วนั้นให้กว้างขวางออกไปสู่ผู้อื่นด้วย โดยแผ่ให้ตนเอง แผ่ให้คนที่ตนรัก แล้วจึงแผ่ให้คนที่ตนรู้สึกเฉย ๆ ตลอดจนแผ่ให้กับคนที่ตนเกลียดและศัตรูโดยไม่จำกัด ใจส่วนที่สามารถแผ่ความเมตตาอันบริสุทธิ์ออกไปได้นี้ย่อมเป็นธรรมมะอันสูงส่งยิ่ง มีคุณค่ายิ่ง และย่อมเป็นธรรมมะที่เป็นเครื่องคุ้มครองโลก


(พัฒนาตนด้วยหลักธรรม ของ สมจิต กังผึ้ง)

 


   สาธกโวหาร
   สาธกโวหาร คือ การยกตัวอย่างประกอบให้ชัดเจนยิ่งขึ้น มักใช้กับนิทาน เรื่องเล่าต่าง ๆ

ตัวอย่าง


       ในที่นี้จะชักนิยายมาเป็นอุทาหรณ์ให้เห็นว่าผู้ที่ตั้งความเพียรได้รับรางวัลของธรรมดาโลกอย่างไร ชายชาวนาผู้หนึ่ง เมื่อป่วยจวนจะสิ้นใจอยู่แล้ว จึงเรียกบุตรชาย ๓ คน เข้ามาบอกว่า บิดาจะสิ้นชีพไปครั้งนี้ก็หามีสิ่งใดที่จะหยิบยื่นให้เป็นมรดกแก่เจ้าไม่ แต่บิดาจะบอกความลับแก่เจ้าว่า ในพื้นที่นาของเรานี้มีขุมทรัพย์ใหญ่ซ่อนอยู่ เจ้าจะต้องขุดขึ้นดู พอพูดเท่านั้นแล้วก็ขาดใจยังหาทันจะบอกว่าขุมทรัพย์นั้นอยู่ตรงไหน ๆ ไม่ ฝ่ายบุตรทั้งสามตั้งแต่บิดาตายแล้วก็ช่วยกันตั้งหน้าขุดพื้นที่ดินขึ้นจนทั่ว ค้นหาจนสิ้นเชิง ก็หาพบขุมทรัพย์ไม่แต่ได้รับผลที่ขุดได้ คือ เมื่อขุดพรวนดินขึ้นดีแล้ว จึงโรยหว่านเพาะพืชได้ผลเป็นรางวัลของธรรมดาโลก และอีกนัยหนึ่งเป็นขุมทรัพย์ที่บิดาได้บอกไว้ว่าอยู่ในพื้นที่นานั้นเอง...


(ความเพียร ธรรมจริยา ของ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี)

 


   อุปมาโวหาร
   อุปมาโวหาร คือ การยกข้อความเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น

ตัวอย่าง


       ขณะนั้นโจโฉจึงว่าแก่ทหารทั้งปวงว่า เล่าปี่ครั้งนี้อุปมาเหมือนปลาขังอยู่ในถัง เสือตกอยู่ในหลุม ถ้าและจะละเสียให้เล็ดลอดหนีไปได้ บัดนี้ก็เหมือนปล่อยเสือเข้าป่า ปล่อยปลาลงในมหาสมุทร ทหารทั้งปวงจงช่วยกันขะมักเขม้นจับตัวเล่าปี่ให้จงได้ ทหารทั้งปวงต่างคนต่างรีบขึ้นหน้าขับกันตามไป


(สามก๊ก ตอน จูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊า)

 


 

การเขียนข้อความตามสถานการณ์และโอกาส
   ๑. การเขียนคำอวยพรในโอกาสต่าง ๆ
   คำอวยพร คือ คำกล่าวแสดงความปรารถนาดีต่อผู้อื่น กรณีที่ไม่อาจกล่าวด้วยวาจาจะอาศัยการเขียนเป็นบัตรอวยพรหรือจดหมายแทน ซึ่งการเขียนคำอวยพรมีหลักการดังนี้
       ๑. เขียนเป็นบัตรอวยพร จดหมาย หรือเขียนลงสมุดลงนามอวยพรในบริเวณงานก็ได้
       ๒. ใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมกับวัย เพศ และยศตำแหน่งของผู้รับเพื่อเป็นการให้เกียรติ
       ๓. ใช้หมึกสีสุภาพ เช่น สีน้ำเงิน ไม่ควรใช้สีดำ เขียว แดง หรือหลายสี
       ๔. รักษาความสะอาดของบัตรอวยพรหรือจดหมาย

ตัวอย่าง


   อวยพรปีใหม่
       เนื่องในศุภวารดิถีขึ้นปีใหม่ ขอน้อมอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย ได้โปรดดลบันดาลให้ท่านและครอบครัวประสบแต่ความสุขความเจริญ ปรารถนาสิ่งใดขอให้สัมฤทธิ์ผลทุกประการ


   อวยพรวันเกิด
       วันนี้เป็นวันเกิด พี่ขออวยพรให้น้องเล็กมีความสุขมาก ๆ คิดสิ่งใดขอให้สมปรารถนา สุขภาพแข็งแรง เรียนหนังสือเก่ง ๆ

 


   ๒. การเขียนคำขวัญ
   คำขวัญ คือ ข้อความที่ให้กำลังใจหรือให้ข้อคิดแก่ผู้อ่าน มีหลักการเขียนดังนี้
       ๑. ใช้คำกะทัดรัด สละสลวย และมีสัมผัสคล้องจองกัน
       ๒. ใช้คำที่มีความหมายลึกซึ้งกินใจและเป็นไปในด้านดี
       ๓. ใช้คำที่ให้ข้อคิดเหมาะสมกับโอกาส
       ๔. ใช้ระดับภาษาให้เหมาะสมกับระดับของผู้ให้และผู้รับ


   แนวความคิดในการเขียนคำขวัญ มีดังนี้
       ๑. การอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เช่น ป่าไม้มีคุณค่า โปรดรักษาอย่าทำลาย
       ๒. การป้องกันและปราบปรามสิ่งเสพติด เช่น บุหรี่มีควันพิษ คร่าชีวิตคนใกล้ตัว
       ๓. ส่งเสริมการศึกษา เช่น ตั้งใจเรียนในวันนี้ จะได้ดีในวันหน้า
       ๔. ส่งเสริมศีลธรรม เช่น ร่วมกันประพฤติดี มีคุณธรรม จะนำชีวิตรุ่งเรือง
       ๕. อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ เช่น ร่วมสืบสานความเป็นไทย คงความงดงามไว้ให้ยาวนาน
       ๖. แนวคิดอื่น ๆ
          ๖.๑ แนะนำวิธีปฏิบัติ เช่น จดหมายจะถึงไว ถ้าใส่รหัสไปรษณีย์
          ๖.๒ เกี่ยวกับหน้าที่ เช่น ประเทศชาติจะก้าวหน้า ถ้าชาวประชาเสียภาษี
          ๖.๓ มุ่งให้เกิดความรักชาติ เช่น ยามศึกเราต้องรบ ยามสงบเราเตรียมพร้อม
          ๖.๔ มุ่งให้ผู้คนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เช่น บริจาคโลหิต ชุบชีวิตเพื่อนมนุษย์
          ๖.๕ มุ่งให้ปฏิบัติตามกฎจราจร เช่น ขับรถตามกฎ ช่วยลดอุบัติเหตุ
          ๖.๖ มุ่งส่งเสริมการประหยัด เช่น เก็บออมวันละบาท ช่วยเหลือชาติยามขาดแคลน
   สิ่งสำคัญของการเขียนคำขวัญคือ มุ่งให้เกิดผลด้านดี ไม่เอื้อให้เกิดความเสื่อมเสียและความแตกแยกในสังคม

 


   ๓. การเขียนคำคม
   คำคม คือ ถ้อยคำที่แสดงความคิดหรือทำให้เกิดความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง มีหลักการเขียนดังนี้
       ๑. ใช้ถ้อยคำสัมผัสคล้องจอง สละสลวย
       ๒. ใช้คำที่มีความหมายคมคาย
       ๓. มุ่งให้เกิดความคิดที่ดีและอยากปฏิบัติตาม
       ๔. มีความหมายลึกซึ้งกินใจ

ตัวอย่าง


                                เป็นเด็กดีควรดีที่ประหยัด                    มัธยัสถ์อดออมถนอมใช้
                             สิ่งฟุ่มเฟือยอย่าหลงเพลินจนเกินไป          ยับยั้งใจไว้ใช้สอยยามจำเป็น

 


   ๔. การเขียนคติพจน์
   คติพจน์ คือ ถ้อยคำที่มีคติชวนคิด มุ่งให้เกิดผลดีต่อตนเองและสังคม มีหลักการเขียนดังนี้
       ๑. ใช้ถ้อยคำน้อย แต่มีความหมายลึกซึ้ง
       ๒. ใช้คำคล้องจอง สละสลวย
       ๓. มุ่งให้เกิดผลในด้านดี

ตัวอย่าง


       ถึงบรรลัยไว้ชื่อให้ลือชา หมายความว่า จงเป็นคนกล้าหาญ ยอมสละชีพเพื่อให้ชื่อเสียงยังคงปรากฏอยู่ในแผ่นดิน

 


   ๕. การเขียนโฆษณา
   การเขียนโฆษณา คือ การนำเสนอสินค้าหรือบริการเพื่อโน้มน้าวใจ มีหลักการเขียนดังนี้
       ๑. บอกรายละเอียดต่าง ๆ อย่างชัดเจน เช่น ลักษณะคุณภาพ สถานที่ซื้อขาย ภาพประกอบ
       ๒. จัดชุดข้อมูลต่าง ๆ ให้ผู้อ่านสนใจ จดจำได้ และมีแนวโน้มจะทดลอง
       ๓. ใช้ภาษาที่สร้างสรรค์และโน้มน้าวใจผู้อ่าน เหมาะสมกับกาลเทศะและกลุ่มเป้าหมาย โดยอาจใช้คำขวัญหรือคำคม


   เทคนิคการเขียนข้อความโฆษณา
       ๑. ใช้หลักความจริง ใช้ข้อมูลที่เป็นความจริง น่าเชื่อถือ สามารถพิสูจน์ได้ เพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่ยึดถือเหตุผล และประโยชน์ส่วนตนในการตัดสินใจซื้อ
       ๒. ใช้หลักจินตนาการ เพื่อโน้มน้าวใจผู้อ่านไปยังโลกจินตนาการที่เกินขอบเขตความเป็นจริง
       ๓. ใช้หลักจูงใจด้านอารมณ์ เพื่อกระตุ้นอารมณ์ด้านบวกและด้านลบ เพื่อชี้นำพฤติกรรมการบริโภค

 


การเขียนรูปแบบต่าง ๆ
   ๑. การเขียนอัตชีวประวัติหรือชีวประวัติ
   การเขียน อัตชีวประวัติ คือผู้เขียนเขียนประวัติตัวเอง ส่วน ชีวประวัติ คือ ผู้เขียนเขียนประวัติของคนอื่นมีหลักการเขียนดังนี้
       ๑. เลือกนำเสนอเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์ สามารถใช้เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตได้
       ๒. กล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญของชีวิตที่ส่งเสริมให้บุคคลในเรื่องเป็นเช่นนั้น เช่น บุคคลที่เกี่ยวข้อง การศึกษา กลวิธีการดำเนินชีวิต ผลงาน ความสำเร็จ ความล้มเหลว
       ๓. ใช้ภาษามาตรฐานหรือภาษากึ่งแบบแผน
       ๔. เขียนอย่างบริสุทธิ์ใจ ปราศจากอคติ
       ๕. นำเรื่องของคนที่มีชีวิตจริงมาเขียน ไม่สมมุติขึ้นเอง
       ๖. ไม่ควรปรับปรุงสำนวนให้เกินจริง

 


   ๒. การเขียนย่อความ
   ย่อความ คือ การเก็บใจความเรื่องที่อ่านหรือฟังอย่างย่อ ๆ โดยให้มีเนื้อหาครอบคลุมสาระสำคัญของเรื่องครบถ้วน มีหลักการเขียนดังนี้
       ๑. ใช้คำนำให้ถูกต้องตามประเภทของเรื่อง
       ๒. ใช้สรรพนามบุรุษที่ ๓
       ๓. ใช้สำนวนผู้ย่อ ถ้าเป็นร้อยกรองก็ต้องเปลี่ยนเป็นร้อยแก้ว ยกเว้นคำราชาศัพท์ให้คงไว้ตามเดิม
       ๔. หากใจความที่ย่อไม่มีชื่อเรื่อง ต้องคิดชื่อเรื่อง
       ๕. เขียนเรื่องที่ย่อติดกัน ขึ้นย่อหน้าใหม่เฉพาะเนื้อความที่แยกไว้หรือไม่เกี่ยวข้องกัน
       ๖. อ่านเนื้อความให้ละเอียด เพื่อหาประโยคใจความสำคัญและประโยคประกอบก่อนลงมือย่อความ
       ๗. นำประโยคใจความสำคัญและประโยคประกอบมาเรียงให้สละสลวยได้ใจความ
       ๘. ควรย่อความให้สั้นที่สุด โดยเก็บประโยคใจความสำคัญและประโยคประกอบที่เด่น ๆ ไว้

 

   รูปแบบการขึ้นคำนำย่อความ
   ๑. แบบของบทความ สารคดี ตำนาน นิทาน นิยาย เรื่องสั้น ฯลฯ
   ย่อ_______________เรื่อง_________________ของ_________________
   จาก_________________ความว่า


   ๒. แบบของจดหมาย สาส์น หนังสือราชการ
   ย่อ______________ฉบับที่_________________ของ_________________
   ลงวันที่______________ความว่า


   ๓. แบบของประกาศ แจ้งความ แถลงการณ์ ระเบียบคำสั่ง ฯลฯ
   ย่อ_______________เรื่อง_________________ของ_________________
   ลงวันที่______________ความว่า


   ๔. แบบของข่าว
   ย่อข่าวเรื่อง_____________________ของ_____________________
   ลงวันที่__________________ความว่า


   ๕. แบบของโอวาท คำปราศรัย สุนทรพจน์
   ย่อ____________เรื่อง_________________แก่_________________
   เนื่องใน__________________ที่_________________ณ วันที่_________________ความว่า


   ๖. แบบของปาฐกถา คำสอน คำบรรยาย ถ้อยแถลง
   ย่อ____________ของ__________________เรื่อง__________________
   แก่___________________ที่____________________ ณ วันที่____________________
   เวลา____________________ความว่า


   ๗. แบบพระบรมราโชวาท เทศนา
   ย่อ (พระบรมราโชวาท เทศนา) ใน__________________พระราชทานแก่___________________
   ใน__________________ที่_________________ณ วันที่_________________ความว่า


   ๘. แบบของจดหมายเหตุ จดหมายเหตุรายวัน บันทึกความจำ
   ย่อ_____________ของ_________________เนื่องใน_________________
   ลงวันที่______________เรื่อง_________________ความว่า


   ๙. แบบคำประพันธ์ที่เป็นบทร้อยกรอง
   ย่อคำประพันธ์ประเภท_______________เรื่อง___________________
   ของ___________________ตอน_________________ ความว่า


   ๑๐. ความเรียงที่ตัดตอนมา
   ย่อเรื่อง_____________________ของ_____________________
   คัดจากเรื่อง__________________จากหนังสือ__________________ความว่า

ตัวอย่าง


ไก่ชนไทย


       กีฬาไก่ชนหรือกีฬาตีไก่ ปัจจุบันยังเป็นกีฬาพื้นบ้านที่พบเห็นได้ทั่วไป และหากได้สืบสาวถึงที่มาของกีฬานี้แล้วจะเห็นว่าทั้งกีฬาชนไก่และสายพันธุ์ของไก่ชนไทยเป็นภูมิปัญญาไทยแขนงหนึ่งและอยู่คู่กับวัฒนธรรมไทยมานานแล้ว
       ไก่ชนพัฒนามาจากไก่บ้านหรือไก่เลี้ยงที่มีอยู่ทั่วไปในโลกนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ไก่บ้านก็ล้วนพัฒนามาจากไก่ป่า ซึ่งแม้จะเป็นไก่บ้านแต่มันก็มีสัญชาตญาณของสัตว์ป่าตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่ต้องมีการต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ทั้งสู้กับสัตว์อื่นและสัตว์ประเภทเดียวกัน กีฬาไก่ชนจึงมีความสำคัญที่การคัดเลือกสายพันธุ์ไก่ที่เป็นหัวหน้าฝูงหรือพ่อพันธุ์จึงถูกคัดเลือกโดยธรรมชาติตามหลักที่ว่า “ตัวที่แข็งแรงจึงจะอยู่รอด” และตัวที่จะเป็นผู้นำก็คือตัวที่เข้มแข็งหรือเก่งกว่าเท่านั้น
       เมื่อมนุษย์นำไก่ป่ามาเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารที่ได้ทั้งไข่และตัวไก่นั้น ไก่บางพันธุ์ยังคงสัญชาตญาณการต่อสู้ไว้ เมื่อเจอไก่แปลกหน้าเป็นต้องสู้กันเพื่อป้องกันตัวเอง ตัวเมีย แหล่งพำนัก อาหาร ฯลฯ คนโบราณจึงคัดเลือกไก่ที่ชอบการต่อสู้มาเลี้ยงและนำมาสู้กันหรือที่เรียกว่า “ชนไก่”
       พันธุ์ไก่ชนของไทยที่ถือเป็น “มรดกไทย” แต่ครั้งสมัยสุโขทัยมาจนปัจจุบันมีหลายสายพันธุ์ พันธุ์ที่เด่นมาแต่อดีต ได้แก่ พันธุ์ประดู่หางดำและพันธุ์เหลืองหางขาว ในสมัยสุโขทัยไก่ชนประดู่หางดำ พันธุ์แสมดำ ได้ชื่อว่าเป็น “ไก่พ่อขุน” ด้วยเป็นไก่ที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงโปรด
       สมัยกรุงศรีอยุธยามีการเล่าขานถึงความเก่งของไก่ชนไทยสายพันธุ์เหลืองหางขาว ซึ่งเป็นไก่ชนลักษณะพิเศษ มีความเฉลียวฉลาดในการต่อสู้จึงชนะ จนได้ชื่อว่า “เหลืองหางขาวไก่เจ้าเลี้ยง” เพราะเป็นไก่ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงนำไปจากบ้านกร่าง เมืองพิษณุโลก และตีชนะไก่ของนัดจินหน่อง มหาอุปราชกะยอชวาที่กรุงหงสาวดีแห่งพม่า
       พันธุ์ไก่ชนของไทยมีการพัฒนามาโดยภูมิปัญญาไทยที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค การเลี้ยงไก่ชนนั้นไม่เหมือนการเลี้ยงไก่ธรรมดา คนเลี้ยงจะต้องเลี้ยงอาหารแบบพื้นบ้านคือเลี้ยงด้วยข้าวเปลือกเพราะจะทำให้ลำคอแข็งแรง ไม่ล้มง่ายเวลาถูกตีจากไก่ตัวอื่น เวลาเลี้ยงต้องให้ลูกไก่เรียนรู้สัญชาตญาณจากแม่เสียก่อน ส่วนไก่ที่โตแล้วก็เลี้ยงในบริเวณพื้นที่จำกัดและปล่อยให้คลายเครียดในเวลาตอนเย็น การดูแลไก่ชนประเภทนี้ต้องมีการฝึกซ้อม เช่น การใช้กล้วยล่อให้วิ่งตามเพื่อฝึกพละกำลังขา ต้องใช้ผ้าเช็ดปากหลังจากกินอาหารเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวและแข้งให้สะอาดเงางาม ในฤดูหนาวให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัวเพื่อป้องกันการติดหวัด และซ้อมการออกอาวุธให้มาก เมื่อไก่แข็งแรงพร้อมที่จะเป็นยอดนักสู้ได้แล้วจึงนำสู่สนามไก่ชน


(อรุณี ตันศิริ ของ วัฒนธรรมถิ่น วัฒนธรรมไทย)

 

       ย่อบทความเรื่อง ไก่ชนไทย ของ อรุณี ตันศิริ จากหนังสือ วัฒนธรรมถิ่น วัฒนธรรมไทยความว่า
กีฬาไก่ชนเป็นกีฬาพื้นบ้านที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมไทยมายาวนาน ไก่ชนพัฒนามาจากไก่บ้านซึ่งยังคงหลงเหลือสัญชาตญาณของไก่ป่าที่ต้องมีการต่อสู้เพื่อความอยู่รอด กีฬาไก่ชนจึงมีความสำคัญที่การคัดเลือกสายพันธุ์ตามหลักธรรมชาติที่ว่า “ตัวที่แข็งแรงจึงจะอยู่รอด” และตัวที่จะเป็นผู้นำก็คือตัวที่เข้มแข็งหรือเก่งกว่าเท่านั้น ในสมัยสุโขทัยไก่ชนประดู่หางดำ พันธุ์แสมดำ ซึ่งเป็นสายพันธุ์เด่นในสมัยนั้น ได้ชื่อว่าเป็น “ไก่พ่อขุน” เหตุเพราะพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงโปรดส่วนในสมัยกรุงศรีอยุธยาไก่ชนไทยสายพันธุ์เหลืองหางขาว ได้ชื่อว่า “เหลืองหางขาวไก่เจ้าเลี้ยง” เพราะเป็นไก่ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงนำไปตีชนะไก่ที่กรุงหงสาวดีแห่งพม่า จากอดีตถึงปัจจุบันพันธุ์ไก่ชนของไทยจึงมีการพัฒนามาโดยภูมิปัญญาไทยและมีวิธีการเลี้ยงดูแบบพื้นบ้านอย่างเอาใจใส่และหมั่นฝึกซ้อม เมื่อไก่แข็งแรงพร้อมที่จะเป็นยอดนักสู้จึงนำลงสู่สนามไก่ชน

 


   ๓. การเขียนจดหมายกิจธุระ
   การเขียนจดหมายกิจธุระ คือ การเขียนจดหมายติดต่อกันด้านการงานและกิจธุระ
   จดหมายสมัครงาน
   จดหมายสมัครงาน เป็นจดหมายที่เขียนถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อขอสมัครงาน มีหลักการเขียนดังนี้
       ๑. รูปแบบของจดหมาย
          ๑.๑ ใช้กระดาษสีสุภาพ นิยมกระดาษเนื้อดีสะอาด สีขาวล้วน
          ๑.๒ กรณีกำหนดให้เขียนลายมือให้เขียนอย่างบรรจง หากไม่กำหนดให้ใช้การพิมพ์
          ๑.๓ ใช้รูปแบบของจดหมายรายการทั่วไป
          ๑.๔ ควรใช้ซองจดหมายสีเดียวกับกระดาษเขียนจดหมาย นิยมขนาดซองเท่าจดหมายของหน่วยราชการ


       ๒. เนื้อความของจดหมาย แบ่งออกเป็น ๔ ตอน ดังนี้
          ๒.๑ บอกแหล่งที่มาของข่าวการรับสมัคร และตำแหน่งงานที่ขอสมัคร
          ๒.๒ บอกประวัติ การศึกษา ประสบการณ์ และความสามารถ
          ๒.๓ บอกความพร้อมในการสอบสัมภาษณ์หรือทดสอบความสามารถตามที่กำหนด
          ๒.๔ กล่าวขอบคุณบริษัท องค์กร หรือหน่วยงานที่ให้โอกาสสมัครงาน

ตัวอย่าง 
 

 

 


 

 


   ๔. การเขียนจดหมายธุรกิจ
   จดหมายธุรกิจ คือ จดหมายติดต่อกันระหว่างหน่วยงานธุรกิจ เพื่อดำเนินการเรื่องการลงทุน และมีผลกำไรขาดทุน เช่น การสั่งซื้อสินค้า โฆษณา เป็นต้น มีส่วนประกอบของจดหมาย ดังนี้
       ๑. ที่อยู่ของผู้เขียนหรือหน่วยงาน
       ๒. วัน เดือน ปีที่เขียนจดหมาย
       ๓. เรื่อง
       ๔. คำขึ้นต้น
       ๕. อ้างถึง (ถ้ามี)
       ๖. สิ่งที่ส่งมาด้วย (ถ้ามี)
       ๗. ใจความจดหมาย
       ๘. คำลงท้าย
       ๙. ลงชื่อผู้เขียนและตำแหน่ง


   จดหมายสั่งซื้อสินค้า
   จดหมายสั่งซื้อสินค้า คือ จดหมายธุรกิจ สามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงสำหรับตรวจสอบและป้องกันความผิดพลาดในการสั่งซื้อได้ จดหมายสั่งซื้อสินค้าที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
       ๑. ระบุรายละเอียดของสินค้าครบถ้วน เช่น ขนาด สี รุ่น แบบ เลขที่สินค้า ราคา จำนวน เป็นต้น
       ๒. กำหนดวิธีการส่ง เช่น ไปรษณีย์ รถส่งสินค้าของบริษัท รถไฟ เป็นต้น
       ๓. ระบุเวลารับสินค้า
       ๔. ระบุวิธีการชำระเงิน เงื่อนไขการชำระเงิน
       ๕. ระบุวันที่สั่งซื้อให้ชัดเจน เพื่อยืนยันหากได้รับสินค้าช้ากว่ากำหนด
       ๖. ลงชื่อผู้สั่งซื้อเรียบร้อยชัดเจน

ตัวอย่าง 

 
 

 

 


   ๕. การเขียนจดหมายราชการ
   
จดหมายราชการหรือหนังสือราชการ คือ เอกสารที่ใช้ติดต่อระหว่างหน่วยงานราชการ หน่วยงานราชการกับเอกชนหรือบุคคลทั่วไป ข้อความถือเป็นหลักฐานทางราชการ จะเก็บรักษาไว้ในระเบียบว่าด้วยงานสารบรรณ แบ่งเป็น ๖ ประเภท ดังนี้

       ๑. หนังสือภายนอก คือ หนังสือที่เขียนติดต่อระหว่างหน่วยงานราชการ หน่วยงานราชการกับเอกชนหรือบุคคลทั่วไป จะใช้กระดาษตราครุฑ
       ๒. หนังสือภายใน คือ หนังสือหรือจดหมายที่ใช้ติดต่อภายในหน่วยงานราชการ จะใช้กระดาษบันทึกข้อความ
       ๓. หนังสือประทับตรา คือ หนังสือหรือจดหมายที่ใช้ตราประทับแทนการลงชื่อของหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมขึ้นไป แล้วให้หัวหน้าส่วนราชการระดับกองหรือผู้ได้รับมอบหมายลงชื่อย่อกำกับ
       ๔. หนังสือสั่งการ ได้แก่
          ๔.๑ คำสั่ง คือ ข้อความที่ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมาย ใช้กระดาษตราครุฑ
          ๔.๒ ระเบียบ คือ ข้อความที่ผู้บังคับบัญชากำหนดให้เป็นหลักปฏิบัติโดยอาศัยอำนาจกฎหมายหรือไม่ก็ได้ ใช้กระดาษตราครุฑ
          ๔.๓ ข้อบังคับ คือ ข้อความที่ผู้มีอำนาจให้ปฏิบัติด้วยอำนาจกฎหมาย ใช้กระดาษตราครุฑ
       ๕. หนังสือประชาสัมพันธ์ ได้แก่
          ๕.๑ ประกาศ คือ ข้อความที่ทางราชการประกาศแจ้งให้ทราบ ใช้กระดาษตราครุฑ
          ๕.๒ แถลงการณ์ คือ ข้อความที่ทางราชการแถลงเพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมหรือการปฏิบัติงานของทางราชการ ใช้กระดาษตราครุฑ
          ๕.๓ ข่าว คือ ข้อความที่ทางราชการเห็นว่าสมควรให้เผยแพร่แก่ประชาชนทั่วไป

       ๖. หนังสือที่เจ้าหน้าที่จัดทำขึ้นหรือรับไว้เป็นหลักฐานทางราชการ คือ หนังสือที่บุคคลทั่วไปมีมาถึงหน่วยงานราชการ หรือหนังสือที่หน่วยงานราชการจัดทำขึ้นเองเพื่อใช้เป็นหลักฐาน มี ๔ ชนิด คือ
          ๖.๑ หนังสือรับรอง คือ หนังสือที่หน่วยงานราชการออกให้บุคคล นิติบุคคล หรือหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อรับรองโดยมีวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง ใช้กระดาษตราครุฑ
          ๖.๒ รายงานการประชุม คือ การบันทึกคำพูด คำอภิปราย และมติที่ประชุมเพื่อใช้เป็นหลักฐาน
          ๖.๓ บันทึก คือ ข้อความที่ผู้บังคับบัญชาใช้ติดต่อผู้ใต้บังคับบัญชา หรือข้อความที่หน่วยงานระดับต่ำกว่าส่วนราชการระดับกรมใช้ติดต่อกัน ใช้กระดาษบันทึกข้อความ
          ๖.๔ หนังสืออื่น คือ เอกสารหรือหลักฐานอื่นที่เกิดจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เช่น ภาพถ่าย แถบบันทึกเสียง และหนังสือที่บุคคลอื่นมอบให้เจ้าหน้าที่และได้รับเข้าในทะเบียนรับหนังสือแล้ว ซึ่งต้องมีรูปแบบตามที่กำหนดไว้ ยกเว้นมีแบบตามกฎหมายเฉพาะเรื่อง เช่น แผนที่ โฉนดที่ดิน สัญญา

 

   หนังสือราชการนั้นมีหลายประเภท ในระดับชั้นนี้นักเรียนจะศึกษาหนังสือราชการประเภทหนังสือภายนอก


   ส่วนประกอบของหนังสือภายนอก
   ๑. ที่ ลงอักษรย่อและเลขรหัสประจำส่วนราชการเจ้าของเรื่องทับเลขทะเบียนหนังสือที่ออก
   ๒. ชื่อส่วนราชการเจ้าของหนังสือ โดยปกติให้ลงชื่อส่วนราชการ ที่ตั้ง และรหัสไปรษณีย์ด้วย เพื่อความสะดวกของผู้รับที่จะติดต่อ
   ๓. วัน เดือน ปี โดยลงเฉพาะตัวเลขวันที่ ชื่อเต็มของเดือน และเลขปีพุทธศักราชที่ออกหนังสือ
   ๔. เรื่อง ให้ลงใจความสำคัญที่กะทัดรัดที่สุดในลักษณะประโยคหรือวลี กรณีหนังสือตอบ ไม่ควรใช้เรื่องซ้ำกับฉบับที่มีมาก่อน
   ๕. คำขึ้นต้น ใช้ตามฐานะของผู้รับ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ
   ๖. อ้างถึง (ถ้ามี) อ้างถึงหนังสือที่ติดต่อกันมาก่อนหรือเท้าความถึง โดยลงชื่อส่วนราชการเจ้าของหนังสือนั้น เลขที่ และวันเดือนปีที่ส่งหนังสือออก
   ๗. สิ่งที่ส่งมาด้วย (ถ้ามี) ลงรายการเอกสารหรือสิ่งของที่ส่งไปพร้อมหนังสือ หากไม่ได้ส่งไปในซองเดียวกัน ต้องแจ้งว่าส่งไปทางใด
   ๘. ข้อความ แบ่งออกเป็น ๒ ตอน คือ
     ตอนที่ ๑ อ้างเหตุผลที่มีหนังสือไป หากเท้าความเรื่องที่เคยมีควรขึ้นต้นด้วยคำว่า ตาม ตามที่ อนุสนธิ และลงท้ายด้วยคำว่า นั้น
     ตอนที่ ๒ จุดประสงค์ของเรื่อง ให้ขึ้นบรรทัดใหม่และใช้คำว่า จึง นำหน้า เช่น จึงเรียนมาเพื่อทราบ จึงเรียนมาเพื่อขอให้พิจารณา จึงเรียนมาเพื่อปฏิบัติ ข้อความส่วนนี้จะต้องอยู่ต่อจากข้อความที่เป็นผลต่อเนื่องของข้อความที่เป็นเหตุผลในตอนที่ ๑ เท่านั้น เช่น


       ตามหนังสือที่อ้างถึงกรม_____________________ขอใช้_____________________นั้น
       กรม________________________ยินดีให้ความอนุเคราะห์ตามที่ประสงค์ทุกประการ
       จึงเรียนมาเพื่อทราบ


   ๙. คำลงท้าย ใช้ตามฐานะของผู้รับ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ
   ๑๐. ลงชื่อ ให้ลงลายมือชื่อของเจ้าของหนังสือ และพิมพ์ชื่อ-นามสกุลพร้อมคำนำหน้าชื่อไว้ในวงเล็บใต้ลายมือชื่อ สำหรับผู้มียศให้พิมพ์ยศไว้หน้าลายมือชื่อ
   ๑๑. ตำแหน่ง ลงตำแหน่งของเจ้าของหนังสือไว้ใต้วงเล็บชื่อ-นามสกุล
   ๑๒. ส่วนราชการเจ้าของเรื่อง ลงชื่อหน่วยงานที่ออกหนังสือ ถ้าเป็นกระทรวงหรือทบวงให้ลงชื่อหน่วยงานทั้งระดับกรมและกอง ถ้าส่วนราชการเจ้าของเรื่องอยู่ในระดับกรมลงมา ให้ลงชื่อกองหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ
   ๑๓. โทร. ลงหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานที่ออกหนังสือไว้ใต้ส่วนราชการเจ้าของเรื่อง หากมีหมายเลขโทรสารก็ให้ลงต่อจากหมายเลขโทรศัพท์
   ๑๔. สำเนาส่ง (ถ้ามี) ลงชื่อเต็มหรือชื่อย่อของหน่วยงานหรือบุคคลที่ส่งสำเนาไปให้ หากมีรายชื่อที่ส่งมาก ให้พิมพ์เอกสารรายชื่อแนบไปต่างหาก พร้อมระบุในหนังสือว่าส่งไปตามรายชื่อที่แนบ
   ๑๕. ชั้นความเร็ว ประทับไว้เหนือที่ของหนังสือ และเหนือส่วนราชการที่ออกหนังสือบนซองถัดจากตัวครุฑ แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ ด่วนที่สุด ด่วนมาก ด่วน (ลำดับความสำคัญเรียงจากซ้ายมาขวา)
   ๑๖. ชั้นความลับ ใช้เพื่อสงวนความลับในราชการที่พิเศษกว่าปกติ ประทับข้อความไว้เหนือครุฑและส่วนล่างสุดของหนังสือ เหนือชื่อผู้รับและใต้รหัสไปรษณีย์ของผู้รับบนหน้าซอง แบ่งเป็น
   ลับ สำหรับข้อความที่รับรู้ได้เฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติเท่านั้น และ ลับเฉพาะ สำหรับข้อความที่รับรู้ได้เฉพาะผู้มีชื่อหรือตำแหน่งปรากฏในหน้าซอง ส่วนราชการอาจกำหนดใช้คำอื่น เช่น ปกปิดหรือลับที่สุด
   ๑๗. หนังสือเวียน คือ หนังสือที่มีผู้รับจำนวนมาก ในการเขียนให้เพิ่มพยัญชนะ ว หน้าเลขทะเบียนหนังสือส่ง

 

 

คำขึ้นต้น สรรพนาม คำลงท้าย ในหนังสือราชการและคำที่ใช้ในการจ่าหน้าซอง

 







 

หมายเหตุ
 
 (๑) ผู้ที่เชิญกระแสพระบรมราชโองการไปยังผู้ใด ไม่ต้องใช้คำลงท้ายในหนังสือนั้น

   (๒) คำที่ใช้ในหนังสือถึงพระราชวงศ์ พระภิกษุตาม ๑ และ ๒ ให้ใช้คำราชาศัพท์หรือถ้อยคำสุภาพ ซึ่งเป็นไปตามขนบธรรมเนียมประเพณี หรือตามที่ราชการกำหนด
   (๓) ในกรณีที่มีหนังสือถึงผู้รับระบุเฉพาะตำแหน่ง ให้ใช้คำขึ้นต้น สรรพนาม คำลงท้ายในหนังสือราชการ และคำที่ใช้ในการจ่าหน้าซองตามตำแหน่ง

 

 


   การจ่าหน้าซอง
   มาตรฐานซอง ใช้กระดาษสีขาวหรือน้ำตาล หนัก ๘๐ กรัมต่อตารางเมตร นิยมใช้ขนาดดีแอล กว้าง ๑๑ เซนติเมตร ยาว ๒๒ เซนติเมตร มีตราครุฑที่มุมซ้ายบน สำหรับบรรจุหนังสือตราครุฑพับ ๓

   การจ่าหน้าซอง มีองค์ประกอบและตำแหน่งดังตัวอย่างดังต่อไปนี้

ตัวอย่างการจ่าหน้าซองหนังสือราชการภายนอก
 

 

 

 

 



ตัวอย่างหนังสือราชการภายนอก (หน่วยงานราชการไปยังหน่วยงานราชการ)

 


 

 

 

   ๖. การกรอกแบบรายการ
   
แบบรายการหรือแบบฟอร์ม คือ เอกสารที่บุคคลหรือหน่วยงานจัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ติดต่อธุระได้กรอกข้อมูลลงในช่องว่างที่กำหนด ซึ่งแบบรายการที่นักเรียนควรศึกษา ได้แก่
       ๑. ใบสมัครงาน
   
   ใบสมัครงาน คือ เอกสารที่จัดทำไว้สำหรับผู้ประสงค์จะสมัครงาน เพื่อใช้พิจารณาคัดเลือกผู้สมัคร ซึ่งหลักทั่วไปในการกรอกใบสมัครงาน มีดังนี้
          ๑. อ่านรายละเอียดในใบสมัครให้เข้าใจ

          ๒. ใช้ปากกาหมึกสีสุภาพ เช่น สีดำหรือน้ำเงิน หากกลัวเขียนผิดให้ร่างด้วยดินสอดำก่อน
          ๓. เขียนด้วยตัวบรรจงสวยงาม ไม่ขีดฆ่าหรือทำใบสมัครสกปรก
          ๔. กรอกข้อมูลตามความเป็นจริงให้ครบถ้วนสมบูรณ์
          ๕. หากมีข้อสงสัยให้ถามเจ้าหน้าที่รับสมัคร


       ๒. แบบสอบถาม
      
 แบบสอบถาม คือ เอกสารที่จัดทำขึ้นเพื่อให้บุคคลอื่นกรอกข้อมูลเพื่อเสนอแนะหรือบอกความต้องการ เพื่อให้หน่วยงานนั้น ๆ ได้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์


       ๓. แบบคำร้อง
       
แบบคำร้อง คือ เอกสารที่จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้มาติดต่อกรอกข้อความและข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานนั้น ๆ ดำเนินการให้ตรงตามความต้องการ


ตัวอย่างใบสมัครงาน

 


 

ตัวอย่างแบบสอบถาม

 


 

ตัวอย่างแบบคำร้อง

 



 

   ๗. การเขียนอธิบาย
 
 การเขียนอธิบาย คือ การเขียนอธิบายให้ผู้อ่านเกิดความรู้ความเข้าใจ มีหลักการเขียนดังนี้
       ๑. ควรอธิบายเรื่องที่น่ารู้ น่าสนใจ

       ๒. ใช้ภาษากระชับรัดกุม อ่านเข้าใจง่าย ไม่ใช้ศัพท์วิชาการที่ตีความได้หลายอย่าง
       ๓. หากเนื้อหายาวควรอธิบายเป็นข้อ ๆ เพื่อให้อ่านง่ายขึ้น
       ๔. ข้อมูลต้องถูกต้อง เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน
       ๕. อธิบายตามลำดับขั้นตอน เรียงลำดับก่อนหลังให้ถูกต้อง

ตัวอย่าง


       วิตามินและเกลือแร่เป็นสารที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และเป็นสารที่ร่างกายของเราต้องการในปริมาณเล็กน้อย ซึ่งเหตุนี้เองบางครั้งจึงเรียกวิตามินและเกลือแร่ว่า ไมโครนิวเทรียน ทั้งวิตามินและเกลือแร่นี้มีความจำเป็นสำหรับการคงไว้ซึ่งสุขภาพที่ดี และกระบวนการทำงานอย่างปกติต่าง ๆ ในร่างกาย เราสามารถแบ่งวิตามินออกได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ วิตามินที่ละลายได้ในไขมัน เช่น วิตามินเอ วิตามินดี และวิตามินอี วิตามินอีกกลุ่มหนึ่ง คือ วิตามินที่ละลายได้ในน้ำ เช่น วิตามินบีและวิตามินซี

 


   ๘. การเขียนชี้แจง
   
การเขียนชี้แจง คือ การเขียนที่เน้นให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ว่ามีอะไร เกิดที่ไหน เมื่อไร อย่างไร


ตัวอย่าง


       “ตามที่คณะกรรมการของชมรมรักษ์ภาษาลงมติว่า ควรจัดเก็บเงินค่าสมัครเข้าเป็นสมาชิกของชมรมซึ่งเป็นเงินจำนวน ๕๐.๐๐ บาท ต่อผู้สมัคร ๑ คน และได้ประกาศให้ทราบโดยทั่วไปแล้วนั้น บัดนี้ทางคณะกรรมการได้ประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้ง และได้มีกรรมการเกินกว่าครึ่งลงความเห็นว่าเงินจำนวน ๕๐.๐๐ บาทนั้นเป็นจำนวนเงินที่มากเกินความจำเป็น ดังนั้น คณะกรรมการของชมรมจึงลงมติใหม่ว่า ควรจะลดจำนวนเงินค่าสมัครเข้าเป็นสมาชิกชมรมรักษ์ภาษาลง ซึ่งทางคณะกรรมการได้พิจารณาแล้วเห็นว่าควรลดจำนวนเงินลงจำนวน ๒๐.๐๐ บาท ดังนั้น จำนวนเงินที่ต้องเก็บเป็นค่าสมัครเข้าเป็นสมาชิกชมรมรักษ์ภาษา คือ ๓๐.๐๐ บาท”

 


   ๙. การเขียนโต้แย้ง
 
 การเขียนโต้แย้ง คือ การเขียนที่เสนอความคิดของตนที่ต่างกับบุคคลอื่น โดยใช้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ มีเหตุผลสนับสนุน และปราศจากอคติ อารมณ์ก้าวร้าว และเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์


ตัวอย่าง


       “...คำกล่าวที่ว่า “คนอีสานทุกคนไม่จำเป็นต้องชอบส้มตำทุกคน” นั่นก็ถูกต้องเพราะคงเป็นไปไม่ได้ที่คนทั้งร้อยคนจะต้องชอบอะไรเหมือน ๆ กัน แต่ฉันกล้ายืนยันได้ว่าคนเชื้อสายลาวส่วนใหญ่ (น่าจะเกิน ๘๐ คนขึ้นไปใน ๑๐๐ คน) ชอบ “ตำหมากส้ม” ซึ่งคนอีสานก็น่าจะเข้าทำนองเดียวกัน...”
“...แม้ชาวภาคกลางจะคิดสูตรส้มตำสำหรับรับประทานกับ “ข้าวมัน” ขึ้นมาอีกก็ไม่เป็นการลบล้างว่า ส้มตำของภาคกลางจะต้องเกิดขึ้นพร้อมกันหรือเกิดทีหลังก็ได้...”

 


   ๑๐. การเขียนรายงานการศึกษาค้นคว้า
   
การเขียนรายงาน คือ การเขียนเสนอผลโดยใช้ข้อมูลที่มีเหตุผลและน่าเชื่อถือ สามารถนำไปประกอบการค้นคว้าและอ้างอิงได้ มีหลักการเขียน ดังนี้

       ๑. รูปแบบ ต้องจัดให้เป็นระเบียบแบ่งเป็นบท ตอน หรือย่อหน้าตามลำดับเนื้อหาที่เชื่อมโยงกัน พร้อมระบุบอกแหล่งที่มาของข้อมูล
       ๒. เนื้อหา เน้นความรู้มากกว่าความคิดเห็น หากมีความคิดเห็นต้องผ่านการพิสูจน์ว่าไม่มีข้อขัดแย้ง
       ๓. ระดับภาษา ใช้ภาษามาตรฐาน เป็นทางการ บางคำอาจใช้ศัพท์ทางวิชาการโดยเฉพาะ
       ๔. กลวิธีในการเขียน ควรเขียนให้เหมาะสมกับผู้อ่าน และชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน เช่น เป็นการเขียนเชิงวิชาการล้วน ๆ หรือกึ่งวิชาการ
       ๕. การอ้างอิง คือ การเขียนแหล่งที่มาของข้อมูลเพื่อให้เกียรติเจ้าของความรู้เดิม ทำได้ ๓ วิธี ได้แก่
          ๕.๑ การกล่าวแทรกในเนื้อหา คือ การอ้างอิงที่บอกชื่อผู้แต่ง ปีที่พิมพ์ และเลขหน้าไว้ในวงเล็บหลังข้อความที่ยกมา แล้วเขียนรายการเอกสารเป็นบรรณานุกรมไว้ตอนท้ายเรื่อง
          ๕.๒ การกล่าวโดยวิธีทำเชิงอรรถ คือ การอ้างอิงที่ใส่เลขกำกับไว้ที่ข้อความ แล้วบอกแหล่งที่มาไว้ด้านล่างสุดของหน้านั้น ๆ ตามลำดับตัวเลข ข้อความที่อยู่ล่างสุดนี้เรียกว่า เชิงอรรถ
          ๕.๓ อ้างอิงด้วยการทำบรรณานุกรม คือ การอ้างอิงรายชื่อแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการเขียน โดยเรียงลำดับจากชื่อผู้แต่ง (ลำดับตามพจนานุกรม) ชื่อหนังสือ ครั้งที่พิมพ์ (ยกเว้นพิมพ์ครั้งแรก) สถานที่พิมพ์ สำนักพิมพ์ และปีที่พิมพ์


   ส่วนประกอบของรายงาน
   ๑. ส่วนต้นหรือส่วนนอก ประกอบด้วย ๔ ส่วน คือ ปกนอก ปกใน คำนำ และสารบัญ
   ๒. ส่วนเนื้อหา ประกอบด้วย ๓ ส่วน คือ บทนำ เนื้อหา และสรุป
   ๓. ส่วนท้าย ประกอบด้วย ภาคผนวก บรรณานุกรม และอภิธานศัพท์


   ขั้นตอนการเขียนรายงาน เรียงตามลำดับดังต่อไปนี้
   ขั้นที่ ๑ เลือกหัวข้อเรื่อง
   ขั้นที่ ๒ กำหนดจุดมุ่งหมายและขอบเขตของเรื่อง
   ขั้นที่ ๓ ค้นคว้าและรวบรวมข้อมูล
   ขั้นที่ ๔ วางโครงเรื่อง
   ขั้นที่ ๕ ลงมือเขียนรายงาน
   ขั้นที่ ๖ เขียนเชิงอรรถและบรรณานุกรม
   ขั้นที่ ๗ การนำเสนอรายงาน

 


   ๑๑. การเขียนรายงานโครงงาน
   โครงงาน คือ กิจกรรมที่เกิดจากการศึกษาและลงมือปฏิบัติเพื่อให้ได้คำตอบเรื่องที่สงสัย โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และมีครูคอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดจนดำเนินงานได้บรรลุเป้าหมาย


   ประเภทของโครงงาน
   ๑. โครงงานประเภทสำรวจและรวบรวมข้อมูล จะเก็บข้อมูลเพื่อหาสาเหตุของปัญหาหรือสำรวจความคิดเห็น แล้วนำมาจัดหมวดหมู่แสดงความสัมพันธ์ในเรื่องอย่างชัดเจน
   ๒. โครงงานประเภทการทดลอง ต้องออกแบบการทดลองเพื่อศึกษาว่าผลลัพธ์จะเป็นไปตามที่ตั้งสมมุติฐานไว้หรือไม่ จากนั้นจึงสรุปความรู้เป็นหลักการหรือแนวทางปฏิบัติ
   ๓. โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ เป็นการนำความรู้ ทฤษฎี หลักการมาประยุกต์สู่กระบวนการปฏิบัติ โดยอาศัยวัสดุอุปกรณ์เพื่อประดิษฐ์ชิ้นงานใหม่ขึ้นมา
   ๔. โครงงานประเภททฤษฎี เป็นการเสนอความรู้ใหม่ ๆ โดยรวบรวมข้อมูลที่เกิดจากความสงสัย หรืออาจนำข้อมูลที่มีอยู่เดิมมาขยายเพิ่มเติมให้ได้ความรู้ในแง่มุมที่กว้างและลึกมากขึ้น


   ขั้นตอนการทำโครงงาน
   ๑. การคิดและเลือกหัวข้อเรื่อง ควรเป็นเรื่องที่สำคัญ มีแหล่งข้อมูล เหมาะสมกับระดับความรู้ มีวัสดุอุปกรณ์ มีระยะเวลา และมีงบประมาณที่เหมาะสม เมื่อได้หัวข้อเรื่องแล้วควรตั้งชื่อเรื่องให้ชัดเจน
   ๒. การวางแผน ทำเป็นเค้าโครงของโครงงาน เพื่อแสดงแนวคิดและขั้นตอนในการทำ
   ๓. การดำเนินงาน ให้ปฏิบัติไปตามขั้นตอนที่ระบุไว้ โดยคำนึงถึงผลกระทบ พร้อมกับบันทึกผลที่เกิดขึ้น ปัญหา หรือข้อคิดเห็นต่าง ๆ
   ๔. การเขียนรายงาน เป็นการเขียนนำเสนอผลการศึกษาโดยใช้ภาษาที่ชัดเจน และครอบคลุม
   ๕. การนำเสนอผลงาน ทำได้หลายรูปแบบ เช่น รายงานหน้าชั้นเรียน จัดนิทรรศการ ฯลฯ


   การเขียนรายงานโครงงาน ประกอบด้วยหัวข้อต่อไปนี้
   ๑. ชื่อโครงงาน ต้องชัดเจนและครอบคลุมเนื้อหาที่นำเสนอ
   ๒. ชื่อผู้ทำโครงงานและชื่อครูที่ปรึกษา เพื่อให้ทราบผู้รับผิดชอบโครงงานและผู้ที่ให้คำปรึกษา
   ๓. โรงเรียนและวัน เดือน ปี ที่ทำโครงงาน เพื่อระบุเวลาและสถานที่
   ๔. บทคัดย่อ เป็นการสรุปเนื้อหาของโครงงานอย่างสั้น ๆ และชัดเจน
   ๕. กิตติกรรมประกาศ เป็นข้อความที่กล่าวขอบคุณผู้ให้ความช่วยเหลือในการทำโครงงาน
   ๖. ที่มาและความสำคัญของโครงงาน เป็นการอธิบายให้เข้าใจสาเหตุในทำโครงงาน ประโยชน์ที่ได้จากการทำโครงงาน
   ๗. วัตถุประสงค์ เป็นการกำหนดจุดมุ่งหมายในการทำโครงงาน ซึ่งต้องสอดคล้องกับชื่อโครงงาน
   ๘. สมมุติฐานของการศึกษาค้นคว้า เป็นการคาดคะเนผลการศึกษาอย่างมีเหตุผลตามหลักทฤษฎี
   ๙. เอกสาร คือ แหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการทำโครงงาน
   ๑๐. วิธีดำเนินงาน ต้องเรียบเรียงกิจกรรมที่ต้องทำอย่างชัดเจน เพื่อจะได้นำไปปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องและถูกต้อง
   ๑๑. ผลการศึกษาค้นคว้า เป็นการเขียนถึงความคาดหวังของผลจากการศึกษาค้นคว้า
   ๑๒. สรุปผล คือ การสรุปผล ประโยชน์ที่ได้รับ และข้อเสนอแนะ หลังจากทำโครงงานแล้ว
   ๑๓. เอกสารอ้างอิง คือ รายชื่อเอกสารที่ใช้ประกอบการทำโครงงาน

 


   ๑๒. การเขียนบทความ
   บทความ คือ ความเรียงประเภทหนึ่งที่นำข้อเท็จจริงมาเขียนเพื่อนำเสนอความรู้ ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อวิพากษ์วิจารณ์ ประกอบด้วยส่วนคำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป


   วัตถุประสงค์ของการเขียนบทความ
   ๑. เพื่อนำเสนอเรื่องราวข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน
   ๒. เพื่อขยายความ ตีความ หรือนำเสนอรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนที่ผู้อ่านยังไม่ทราบชัดเจน
   ๓. เพื่อแสดงความคิดเห็น พร้อมให้เหตุผลและมีหลักฐานอ้างอิงต่าง ๆ
   ๔. เพื่อชี้แนะแนวทาง แนะนำ กระตุ้นให้เกิดการกระทำ หรือเชิญชวนให้สนใจในสิ่งที่มองข้ามไป


   ประเภทของบทความ
   ๑. บทความเชิงวิชาการ คือ บทความที่ผู้เชี่ยวชาญเขียนเพื่อเผยแพร่ความรู้ ข้อมูลนำมาใช้อ้างอิงได้
   ๒. บทความกึ่งวิชาการ คือ บทความที่เผยแพร่ความรู้ให้ผู้อ่าน แต่อาจแทรกความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะได้ และจะไม่เน้นการใช้ศัพท์วิชาการหรือภาพที่เป็นทางการมากนัก
   ๓. บทความเชิงสัมภาษณ์ คือ บทความที่เขียนโดยใช้ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้มีความรู้ โดยเรียบเรียงด้วยสำนวนภาษาง่าย ๆ ชัดเจน และครบถ้วน
   ๔. บทความแสดงความคิดเห็น คือ บทความที่ผู้เขียนหยิบปัญหามาวิพากษ์วิจารณ์ โดยทำความเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ เพื่อดำเนินการในขั้นตอบอื่นได้อย่างเหมาะสมและน่าเชื่อถือ
   ๕. บทความเชิงปกิณกะและบทความประเภทสาระเบา ๆ คือ บทความที่มุ่งให้เกิดความเพลิดเพลิน ผ่อนคลายที่แทรกสาระลงไปด้วย นิยมใช้ภาษากึ่งทางการหรือภาษาปาก เพื่อความเป็นกันเองกับผู้อ่าน


   ส่วนประกอบของบทความ
   ๑. คำนำหรือส่วนนำ จะกล่าวถึงเหตุผลที่เขียนบทความ
   ๒. เนื้อเรื่อง จะแสดงรายละเอียดและความคิดเห็นของผู้เขียน
   ๓. สรุป จะสรุปเนื้อหาพร้อมเสนอแนวทางแก้ไขหรือทางออกของปัญหา


   หลักในการเขียนบทความ
   ๑. เลือกหัวข้อที่ผู้เขียนถนัด และเป็นที่สนใจในปัจจุบัน
   ๒. ใช้ภาษาให้เหมาะสมกับเรื่อง มีความชัดเจน น่าอ่าน
   ๓. มีคำนำ เนื้อเรื่อง สรุป และลำดับเหตุการณ์ได้ถูกต้อง
   ๔. การอ้างอิงมีหลักฐานและมีเหตุผลน่าเชื่อถือ
   ๕. สอดแทรกความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์และเหมาะสม
   ๖. ตั้งชื่อเรื่องให้น่าสนใจและสัมพันธ์กับเนื้อหา

ตัวอย่างบทความกึ่งวิชาการ


การออกกำลังกายแบบแอโรบิก


       ในวงการแพทย์ถือว่าการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เป็นการออกกำลังกายที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากที่สุด สมบูรณ์แบบที่สุด หรือทำให้ร่างกายแข็งแรงได้อย่างแท้จริงนั้น ทั้งนี้เป็นเพราะการออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นการออกกำลังกายชนิดเดียวที่ทำให้ปอด หัวใจ หลอดเลือด ตลอดจนระบบไหลเวียนของเลือดทั่วรางกายแข็งแรง ทนทาน และทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
       การออกกำลังกายแบบแอโรบิก ไม่ได้หมายถึงการเต้นแอโรบิก ที่นิยมกันมากในบรรดาหญิงสาวทั้งหลาย ที่ไปออกกำลังกายตามสวนสาธารณะต่าง ๆ คำว่า แอโรบิก (aerobic) เป็นภาษาลาติน หมายถึง อากาศ (air) หรือก๊าซ (gas) เป็นคำที่ใช้กันทั่วไปในทางวิทยาศาสตร์และผู้ที่ทำให้คำว่าการออกกำลังการแบบแอโรบิก หรือ aerobic exercise เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางก็คือนายแพรย์เคนเน็ธ คูเปอร์ ซึ่งได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการออกกำลังกายชื่อ Aerobics เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ซึ่งเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดในยุคนั้น
       การออกกำลังกายแบบแอโรบิกตามความหมายของนายแพทย์คูเปอร์นั้น เป็นการออกกำลังกายที่ร่างกายต้องใช้ออกซิเจนจำนวนมากและต้องทำติดต่อกันเป็นเวลาค่อนข้างนานและจะมีผลให้ระบบการทำงานของหัวใจ ปอด หลอดเลือด และการไหลเวียนของเลือดทั่วร่างกายแข็งแรงขึ้น มีประสิทธิภาพในการทำงานดีกว่าเดิมอย่างชัดเจน ซึ่งนายแพทย์คูเปอร์เรียกผลดีที่เกิดขึ้นนี้ว่า เทรนนิ่ง เอฟเฟ็กต์ (training effect) หรือผลจากการฝึก
การออกกำลังกายแบบแอโรบิกนี้ ส่วนของร่างกายจะต้องปรับตัวให้ทันกันก็คือ
       ๑. ระบบหายใจจะต้องเร็วและแรงมากขึ้น เพื่อจะได้นำเอาออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายให้ได้มากที่สุดและพอที่จะนำเอาไปฟอกเลือดหมุนเวียนมากขึ้น
       ๒. หัวใจต้องเต้นเร็วและแรงขึ้น เพื่อจะสูบฉีดเลือดได้มากขึ้น เพราะขณะที่ออกกำลังกายอย่างหนักนั้น กล้ามเนื้อจะต้องการเลือดมากขึ้นประมาน ๑๐ เท่า
       ๓. หลอดเลือดทั้งใหญ่และเล็กจะต้องขยายตัวเพื่อให้สามารถนำเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
       ด้วยจุดมุ่งหมายสำคัญของการออกกำลังกายแบบแอโรบิกก็คือ ทำร่างกายให้ได้ออกซิเจน การออกกำลังกายหลายประเภทไม่ถือว่าเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เพราะทำไปแล้วไม่เกิดผลจากการฝึก เช่น การวิ่งระยะสั้น แม้ผู้วิ่งจะเหนื่อยมากระหว่างที่วิ่ง แต่ก็ด้วยเวลาที่สั้นมากหรือการยกน้ำหนักร้อยกิโลกรัมซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่หนักมาก แต่ใช้เวลาเพียงอึดใจเดียว
       สรุปว่าการออกกำลังกายแบบแอโรบิกนั้นจะต้องทำให้หนักพอให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นจนถึงอัตราที่เป็นเป้าหมาย และทำติดต่อกันประมาน ๑๕ ถึง ๔๕ นาที (ถ้าน้ำหนักมากก็ใช้เวลาน้อย แต่ถ้าน้ำหนักน้อยก็ใช้เวลามาก) ต้องทำบ่อยพอ คืออย่างน้อยที่สุดสัปดาห์ละ ๓ ครั้ง ถึง ๕ ครั้ง อย่างไรก็ตาม การจะเลือกออกกำลังกายแบบไหนก็มีผลดีต่อร่างกายโดยรวมได้มากที่สุดเท่าที่ร่างกายจะใช้ได้ ในเวลาที่กำหนดซึ่งในแต่ละคนจะไม่เท่ากัน จึงทำให้การออกและดีกว่าการไม่ออกกำลังกายเลยอย่างแน่นอน


   ข้อควรคำนึงในการเขียนบทความ
   ๑. มีจุดมุ่งหมายในการเขียนที่แน่นอน
   ๒. มีเนื้อหาที่อ่านแล้วได้ความรู้หรือความคิดสร้างสรรค์
   ๓. ผู้เขียนต้องวางใจเป็นกลาง ไม่ระบายความรู้สึกส่วนตัวลงไปในบทความ
   ๔. ไม่ตำหนิเรื่องใด ๆ หากไม่ทราบข้อมูลแน่ชัด
   ๕. เขียนบรรยายให้ผู้อ่านรู้ว่าเนื้อหาตอนใดเป็นความรู้และตอนใดเป็นความคิดเห็นของผู้เขียน
   ๖. วางตัวเป็นผู้เสนอแนะอย่างมีเหตุผล ไม่วางตัวเป็นผู้สอน

 


   ๑๓. การแต่งร้อยกรอง
   ร้อยกรอง คือ การเขียนเรื่องตามฉันทลักษณ์ของคำประพันธ์ชนิดต่าง ๆ ให้มีความไพเราะ มีข้อคิดหรือคติเตือนใจ ซึ่งจะประกอบด้วยลักษณะบังคับ ดังนี้
       ๑. พยางค์ หรือคำ ที่ร้อยกรองแต่ละชนิดกำหนดไว้ต่างกัน
       ๒. คณะ คือ ข้อกำหนดว่าบทร้อยกรองแต่ละชนิดจะมีจำนวนคำ จำนวนวรรค จำนวนบาท และจำนวนบทเท่าไร
       ๓. สัมผัส คือ ลักษณะของคำที่มีเสียงคล้องจองกัน แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
          – สัมผัสใน คือ คำที่มีเสียงคล้องจองในวรรคเดียวกัน เป็นได้ทั้งสัมผัสสระ และสัมผัสพยัญชนะ
          – สัมผัสนอก คือ สัมผัสสระที่คล้องจองกันระหว่างวรรคของบทร้อยกรอง ถือเป็นสัมผัสบังคับ
       ๔. คำครุ คำลหุ คำครุ คือ คำเสียงหนัก เป็นคำที่ประสมสระเสียงยาวในแม่ ก กา คำที่มีตัวสะกด หรือคำที่ประสมด้วยสระอำ ไอ ใอ เอา ส่วนคำลหุ คือ คำเสียงเบา ประสมสระเสียงสั้นในแม่ ก กา ยกเว้นสระอำ ไอ ใอ เอา
       ๕. คำเอก คำโท คำเอก คือ คำที่มีรูปวรรณยุกต์เอก หรือคำตาย คำโท คือ คำที่มีรูปวรรณยุกต์โท ส่วนคำเอกโทษ คือ คำที่ปกติมีรูปวรรณยุกต์โท แต่เปลี่ยนมาใช้รูปวรรณยุกต์เอกแทน เช่น ค่อ แทน ข้อ และคำโทโทษ คือ คำที่ปกติมีรูปวรรณยุกต์เอก แต่เปลี่ยนมาใช้รูปวรรณยุกต์โทแทน เช่น เหล้น แทน เล่น
       ๖. คำเป็น คำตาย คำเป็น คือ คำที่ประสมสระเสียงยาว คำที่มีตัวสะกดในมาตราแม่ กง กน กม เกย เกอว หรือคำที่ประสมด้วยสระอำ ไอ ใอ เอา ส่วนคำตาย คือ คำที่ประสมสระเสียงสั้น หรือคำที่มีตัวสะกดในมาตราแม่กก กด กบ
       ๗. เสียงวรรณยุกต์ สัมพันธ์กับความไพเราะ โดยเฉพาะกับการลงท้ายวรรค
       ๘. คำสร้อย คือ คำท้ายวรรคหรือท้ายบท ใช้เพื่อการเอื้อนเสียงหรือเพิ่มความให้สมบูรณ์ มักใช้กับโคลงหรือร่าง และต้องเป็นคำเป็นเท่านั้น
   ในชั้นเรียนนี้ นักเรียนจะได้ศึกษาคำประพันธ์ประเภทกลอนสุภาพและโคลงสี่สุภาพ


   การแต่งกลอน
   กลอนมีทั้งหมด ๓ ชนิด คือ กลอนสุภาพ กลอนลำนำ และกลอนตลาด แต่ในชั้นนี้จะกล่าวเฉพาะกลอนสุภาพหรือกลอนแปด ซึ่งเป็นกลอนที่ไพเราะและนิยมแต่งมากที่สุด
   กลอนสุภาพหรือกลอนแปด
   กลอนทั่วไป ๑ บท จะมี ๔ วรรค แต่ละวรรคมีชื่อเรียกว่า วรรคสดับ วรรครับ วรรครอง และวรรคส่ง ตามลำดับโดยมีลักษณะบังคับดังแผนผังต่อไปนี้

 

 

 

   เสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรคที่ควรคำนึงถึง ได้แก่
       – คำสุดท้ายของวรรคสดับ จะใช้เสียงวรรณยุกต์ใดก็ได้ แต่ไม่นิยมเสียงจัตวา
       – คำสุดท้ายของวรรครับ ต้องใช้เสียงเอก โท หรือจัตวา แต่นิยมเสียงจัตวามากที่สุด
       – คำสุดท้ายของวรรครองและวรรคส่ง ต้องใช้เสียงสามัญ หรือตรี แต่นิยมเสียงสามัญมากที่สุด


   การแต่งโคลงสี่สุภาพ
   การแต่งโคลงสี่สุภาพจะต้องคำนึงถึงคณะ สัมผัส และคำเอก ๗ แห่ง คำโท ๔ แห่ง มีลักษณะบังคับดังแผนผังต่อไปนี้

 

 

 

การคัดลายมือ
   การคัดลายมือ คือ การคัดตัวอักษรตามแบบการเขียนตัวอักษรไทยเพื่อความสวยงามและปลูกฝังความภาคภูมิใจในชาติ
   จุดมุ่งหมายของการคัดลายมือ
   ๑. เขียนตัวอักษรไทย การวรรคตอน และการสะกดคำได้ถูกต้องตามเกณฑ์ของภาษาไทย
   ๒. เขียนตัวหนังสือได้เป็นระเบียบ ชัดเจน เข้าใจง่าย
   ๓. ฝึกความคล่องแคล่วในการเขียน
   ๔. ฝึกวางท่านั่ง การจับดินสอ และวิธีเขียนที่ถูกต้องตามลักษณะการเขียน
   ๕. ฝึกสมาธิและความประณีตในการทำงาน


   หลักการคัดลายมือที่ถูกวิธี
   ๑. เริ่มเขียนที่หัวของตัวอักษร โดยทำหัวให้กลมและมีขนาดพอดี
   ๒. เขียนให้ตัวอักษรตั้งตรง สวยงาม ไม่โย้ไปข้างหน้าหรือข้างหลัง
   ๓. ขนาดตัวอักษรมีสัดส่วนตามลักษณะของตัวอักษร
   ๔. วางสระและวรรณยุกต์ให้ถูกที่
   ๕. ทิศทางการเขียนถูกต้อง คือ เริ่มที่หัวตัวอักษรก่อนเสมอ
   ๖. เว้นช่องไฟให้เท่ากัน ไม่ชิดหรือห่างจนเกินไป



มารยาทในการเขียนและนิสัยรักการเขียน
มารยาทในการเขียน
   ๑. ควรเขียนโดยมีความรู้ในเรื่องที่เขียนเพื่อป้องกันความผิดพลาดของเนื้อหา
   ๒. ใช้ถ้อยคำสุภาพ เหมาะสมกับระดับภาษาและประเภทของงานเขียน
   ๓. ไม่เขียนเรื่องที่มีผลต่อความมั่นคงของชาติหรือสถาบันเบื้องสูง
   ๔. ไม่เขียนโดยมุ่งให้บุคคลหรือหน่วยงานอื่นเสื่อมเสีย หรือสร้างผลประโยชน์แก่พวกพ้องของตน
   ๕. ไม่ใช้อารมณ์ส่วนตัวเป็นบรรทัดฐานในการเขียน
   ๖. บอกแหล่งที่มาของข้อมูลเดิมเสมอ เพื่อให้เกียรติเจ้าของข้อมูล
   ๗. ไม่คัดลอกข้อความมาโดยที่เจ้าของเรื่องไม่อนุญาต


นิสัยรักการเขียน
   ๑. หมั่นศึกษาหาความรู้ด้วยการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาใช้ประกอบการเขียน
   ๒. หมั่นฝึกฝนการเขียนรูปแบบต่าง ๆ โดยทบทวน ปรับปรุง และประเมินค่างานเขียนอยู่เสมอ
   ๓. เปิดโอกาสให้ผู้อื่นแสดงความคิดเห็น แนะนำ ติชมผลงานของตนเองอย่างใจกว้าง เพื่อนำมาปรับปรุงงานเขียนให้ดียิ่งขึ้น



สรุป
   การเขียนเป็นทักษะที่ผู้เขียนจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับหลักการเขียน รูปแบบของงานเขียน การใช้ถ้อยคำสำนวน แล้วจึงหมั่นฝึกฝนเขียนอย่างสม่ำเสมอ จึงจะสามารถเขียนงานเขียนได้อย่างมีคุณภาพ

 

 


แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th