ภาษาไทย ม. 3 เรื่อง การพัฒนาทักษะการอ่าน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 196K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

 

 

การอ่านออกเสียงร้อยแก้ว
   การอ่านออกเสียงร้อยแก้ว ผู้อ่านต้องทำความเข้าใจเนื้อเรื่องและเจตนาเพื่อให้ถ่ายทอดได้อย่างเหมาะสมตามแต่ละประเภท
   ๑. การอ่านบทความ
   การอ่านบทความ ผู้อ่านควรเน้นเสียงหนักเบาและการทอดจังหวะที่เหมาะสม เพื่อสร้างความน่าสนใจ


   ๒. การอ่านนิทาน
   นิทาน คือ เรื่องแต่งหรือเรื่องที่เล่าต่อกันมา เพื่อความสนุกสนาน แฝงข้อคิด มีวิธีการอ่านดังนี้
       ๑. เลือกนิทานที่มีเนื้อหาและภาษาที่ยากง่ายเหมาะสมกับวัย เพศ และรสนิยมของผู้ฟัง
       ๒. ใช้น้ำเสียงที่ไพเราะนุ่มนวล มีความเป็นธรรมชาติ เน้นเสียงหนักเบา สอดคล้องกับอารมณ์ของตัวละคร เช่น ใช้เสียงขาดห้วงไม่สม่ำเสมอเมื่อตัวละครรู้สึกกลัว หรือหยุดเว้นจังหวะเพื่อสร้างความน่าติดตาม
       ๓. แสดงสีหน้าท่าทางสอดคล้องกับอารมณ์ของตัวละคร เพื่อให้ผู้ฟังมีอารมณ์คล้อยตาม
       ๔. ผู้อ่านควรสบตากับผู้ฟังเป็นระยะ ๆ และทั่วถึงทุกคน


   ๓. การอ่านเรื่องตลก
   เรื่องตลก คือ เรื่องมุ่งให้เกิดความขบขันเพื่อความผ่อนคลายทั้งทางกายและใจ มีวิธีการอ่านดังนี้
       ๑. ผู้อ่านควรคุมสีหน้าและท่าทางให้เป็นปกติไม่หลุดหัวเราะก่อน เพราะจะทำให้ผู้ฟังฟังไม่รู้เรื่อง
       ๒. ใช้น้ำเสียงมีชีวิตชีวา เน้นตรงคำสำคัญให้ชัดเจน
       ๓. หากผู้ฟังสนุกสนานและหัวเราะออกมา ผู้อ่านควรหยุดสักระยะ เพื่อรอให้ผู้ฟังรวบรวมสมาธิในการฟังต่อไป


   ๔. การอ่านเรื่องเศร้า
   เรื่องเศร้า คือ เรื่องที่แสดงความผิดหวัง ความพลัดพราก และความตาย มีวิธีการอ่านดังนี้
       ๑. ผู้อ่านจินตนาการเป็นตัวละครนั้น เลือกใช้น้ำเสียงแผ่วเบาคล้ายคนสะอื้น และเน้นตรงคำสำคัญที่เป็นต้นเหตุของความเศร้า
       ๒. ผู้อ่านต้องควบคุมอารมณ์ ไม่สะอื้นจนอ่านออกเสียงต่อไม่ได้



การอ่านออกเสียงร้อยกรอง
   การอ่านออกเสียงร้อยกรอง คือ การอ่านตามจังหวะและท่วงทำนองของบทร้อยกรองแต่ละประเภท มุ่งให้ผู้ฟังได้อรรถรสทางภาษา มีวิธีการออกเสียงได้ ๒ แบบ ดังนี้
   ๑. ออกเสียงอย่างร้อยแก้ว จะออกเสียงเหมือนการพูดปกติ แต่จะมีจังหวะตามลักษณะของบทร้อยกรองแต่ละประเภท
   ๒. ออกเสียงอย่างทำนองเสนาะ จะเล่นเสียงสูง–ต่ำ หนัก–เบา สั้น–ยาว การเอื้อนเสียง การทอดเสียง การเน้นเสียง ตามท่วงทำนองของบทร้อยกรองแต่ละประเภท
   การอ่านออกเสียงร้อยกรอง มีหลักการดังนี้
       ๑. อ่านออกเสียงให้ดังเหมาะสมกับสถานที่และจำนวนผู้ฟัง
       ๒. อ่านคล่อง ออกเสียง ร ล และคำควบกล้ำถูกต้อง ชัดเจน
       ๓. กำหนดจังหวะการอ่านถูกต้องตามรูปแบบฉันทลักษณ์
       ๔. เลือกใช้น้ำเสียงให้สัมพันธ์กับเนื้อหาของบทร้อยกรอง
       ๕. อ่านด้วยความรู้สึกซาบซึ้งในคุณค่าของบทร้อยกรองแต่ละชนิด ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น

   ๑. กลอน
   กลอนบทละคร
   กลอนบทละคร เป็นกลอนที่ใช้แสดงละครรำ มีลักษณะบังคับเหมือนกลอนสุภาพ


   กลอนเสภา
   กลอนเสภา เป็นกลอนลำนำใช้ขับร้อง มีลักษณะบังคับเหมือนกลอนสุภาพ แต่จะใช้คำขึ้นต้นว่า ครานั้น หรือ จะกล่าวถึง
   กลอนบทละครและกลอนเสภา มีวิธีการอ่านเหมือนกลอนสุภาพ ดังนี้
       ๑. แบ่งการออกเสียงเป็น ๓ จังหวะ คือ ๓ คำ ๒ คำ และ ๓ คำ ตามลำดับ
       ๒. คำสุดท้ายของวรรคที่เป็นเสียงจัตวา ต้องเอื้อนเสียงสูงเป็นพิเศษ
       ๓. คำสุดท้ายของบทต้องเอื้อนเสียงต่ำเป็นพิเศษ
       ๔. หากมีพยางค์เกินแผนบังคับต้องรวบเสียงคำนั้น ๆ ให้สั้น

ตัวอย่าง
 

                             กลอนสุภาพ/แปดคำ/ประจำบ่อน         อ่านสามตอน/ทุกวรรค/ประจักษ์แถลง
                          ตอนต้นสาม/ตอนสอง/สองแสดง           ตอนสามแจ้ง/สามคำ/ครบจำนวน
                          กำหนดบท/ระยะ/กะสัมผัส                    ให้ฟาดฟัด/ชัดความ/ตามกระสวน
                          วางจังหวะ/กะทำนอง/ต้องกระบวน         จึงจะชวน/ฟังเสนาะ/เพราะจับใจ


                                                                              (ประชุมลำนำ ของ หลวงธรรมาภิมนฑ์ (ถึก จิตรกถึก))


   ๒. โคลง
   โคลงสี่สุภาพ

   โคลงสี่สุภาพ มีวิธีอ่านดังนี้

       ๑. วรรคหน้าของแต่ละบาทให้อ่านออกเสียง ๒ จังหวะ คือ ๒ คำ และ ๓ คำ วรรคหลังบาทที่ ๑ และ ๓ อ่าน ๑ จังหวะ จังหวะละ ๒ คำ แต่ถ้ามีคำสร้อยก็เพิ่มอีก ๑ จังหวะ จังหวะละ ๒ คำ วรรคหลังบาทที่ ๒ อ่าน ๑ จังหวะ จังหวะละ ๒ คำ และวรรคหลังบาทที่ ๔ อ่าน ๒ จังหวะ จังหวะละ ๒ คำ
       ๒. คำท้ายวรรคที่เป็นเสียงจัตวาต้องเอื้อนเสียงสูงเป็นพิเศษ
       ๓. เอื้อนวรรคหลังบาทที่ ๒ ให้เสียงต่ำกว่าปกติ
       ๔. หากมีพยางค์เกินแผนบังคับต้องรวบเสียงคำนั้น ๆ ให้สั้น

ตัวอย่าง
 

                                            เจ็ดวัน/เว้นดีดซ้อม               ดนตรี
                                         อักขระ/ห้าวันหนี                      เนิ่นช้า
                                         สามวัน/จากนารี                      เป็นอื่น
                                         วันหนึ่ง/เว้นล้างหน้า                อับเศร้า/ศรีหมอง


                                                              (โคลงโลกนิติ ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร)


   ๓. กาพย์
   กาพย์ฉบัง ๑๖

   กาพย์ฉบัง มีวิธีอ่านดังนี้

       ๑. วรรคแรกอ่าน ๓ จังหวะ จังหวะละ ๒ คำ วรรคสองอ่าน ๒ จังหวะ จังหวะละ ๒ คำ และวรรคสุดท้ายอ่าน ๓ จังหวะ จังหวะละ ๒ คำ
       ๒. คำท้ายวรรคที่เป็นเสียงจัตวาต้องเอื้อนเสียงสูงเป็นพิเศษ
       ๓. หากมีพยางค์เกินแผนบังคับต้องรวบเสียงคำนั้น ๆ ให้สั้น

ตัวอย่าง
 

                                    เห็นกวาง/ย่างเยื้อง/ชำเลืองเดิน      เหมือนอย่าง/นางเชิญ
                               พระแสง/สำอาง/ข้างเคียง


                                                                                      (กาพย์พระไชยสุริยา ของ สุนทรภู่)



   กาพย์ยานี ๑๑
   กาพย์ยานี มีวิธีอ่านดังนี้
       ๑. วรรคหน้าอ่าน ๒ จังหวะ คือ ๒ คำ และ ๓ คำ วรรคหลังอ่าน ๒ จังหวะ จังหวะละ ๓ คำ
       ๒. คำท้ายวรรคที่เป็นเสียงจัตวาต้องเอื้อนเสียงสูงเป็นพิเศษ
       ๓. หากมีพยางค์เกินแผนบังคับต้องรวบเสียงคำนั้น ๆ ให้สั้น

ตัวอย่าง
 

                                          มัสมั่น/แกงแก้วตา                หอมยี่หร่า/รสร้อนแรง
                                       ชายใด/ได้กลืนแกง                 แรงอยากให้/ใฝ่ฝันหา


                                                                               (กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ของ รัชกาลที่ ๒)



   กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘
   กาพย์สุรางคนางค์ มีวิธีอ่านดังนี้
       ๑. บทหนึ่งมี ๗ วรรค แบ่งอ่านวรรคละ ๒ จังหวะ จังหวะละ ๒ คำ
       ๒. คำท้ายวรรคที่เป็นเสียงจัตวาต้องเอื้อนเสียงสูงเป็นพิเศษ
       ๓. หากมีพยางค์เกินแผนบังคับต้องรวบเสียงคำนั้น ๆ ให้สั้น

ตัวอย่าง
 

                                           วันนั้น/จันทร     มีดา/รากร     เป็นบ/ริวาร
                                    เห็นสิ้น/ดินฟ้า     ในป่า/ท่าธาร     มาลี/คลี่บาน     ใบก้าน/อรชร


                                                                                              (กาพย์พระไชยสุริยา ของ สุนทรภู่)



   ๔. ฉันท์
 
 ฉันท์ คือ บทร้อยกรองที่บังคับสัมผัส จำนวนคำ และใช้คำลหุ ครุ แทนคำธรรมดา โดยคำลหุ (ใช้สัญลักษณ์ ) คือ พยางค์ที่ประสมสระเสียงสั้นในแม่ ก กา เช่น กะ คุ เจอะ บ บ่ ยกเว้นพยางค์ที่ประสมสระ ใอ ไอ เอา ส่วนคำครุ (ใช้สัญลักษณ์ ) คือ พยางค์ที่ประสมสระเสียงยาวในแม่ ก กา เช่น กา ตี ปู พยางค์ที่มีตัวสะกด เช่น กัด คุย เจิม หรือพยางค์ที่ประสมสระอำ ใอ ไอ เอา

   ในบทเรียนนี้จะยกตัวอย่างอินทรวิเชียร์ฉันท์ ซึ่งมีวิธีอ่านดังนี้
       ๑. ทำความเข้าใจคำลหุ ครุ และคณะของฉันท์เพื่อให้อ่านได้ถูกต้อง
       ๒. หากมีคำลหุหลายพยางค์ ควรถือคำอ่านสามัญเป็นหลักในการอ่านก่อน แล้วจึงฝึกอ่านให้เป็นเสียงสั้น ๆ ตามคณะของฉันท์
       ๓. แบ่งอ่านวรรคหน้า ๒ จังหวะ คือ ๒ คำ และ ๓ คำ และวรรคหลัง ๒ จังหวะ จังหวะละ ๓ คำ ส่วนคำที่มีเครื่องหมายยัติภังค์คั่น ต้องอ่านเต็มคำก่อน แล้วจึงอ่านตามคณะฉันท์ เช่น


สูงลิ่วละลานนั-          ยนพ้นประมาณหมาย

       อ่านว่า สูง-ลิ่ว, ละ-ลาน-นัย ยะ-นะ-พ้น, ประ-มาน-หมาย

       ๔. อ่านออกเสียงลหุ ครุ ให้ถูกต้องตามคณะของฉันท์ บางคำตามปกติต้องออกเสียงหนัก แต่เมื่อมาอยู่ในตำแหน่งลหุก็ต้องอ่านแยกที่ละตัว เช่น บท อ่านเป็น บะ-ทะ
       ๕. ทอดเสียงและเอื้อนเสียงตามลีลาของฉันท์แต่ละชนิด ไม่เอื้อนเสียงคำลหุ เพราะเสียงสั้นและเบา
       ๖. อ่านให้ได้อารมณ์ตามเนื้อหาของเรื่อง
       ๗. อ่านเอื้อนเสียงตอนจบบทและทอดจังหวะให้ช้าลงจนกระทั่งจบบาท

ตัวอย่าง 
 

                                          พรรณพฤก/ษทรงผล            ตะละต้น/จะอ่อนเอียง
                                       พวงย้อย/ระย้าเพียง                จะเผด็จ/สะดวกดาย
                                       สุกเหลือง/อร่ามลิ้น                 รสเลิศ/อร่อยหลาย
                                       หลากหลาก/และมากมาย         บมิรู้/จะรำพัน


                                                                   (อิลราชคำฉันท์ ของ พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ์))



   ๕. ร้อยกรองปัจจุบัน
   ร้อยกรองปัจจุบันมีรูปฉันทลักษณ์ถูกปรับเปลี่ยนให้ต่างจากเดิม เช่น เพิ่มจำนวนคำ หรือเปลี่ยนสัมผัส การอ่านจึงอาศัยการรวบและยืดเสียงให้ใกล้เคียงกับแบบแผนบังคับของร้อยกรองแต่ละชนิด เช่น


ท้องน้ำยามสายัณห์

                                        งามเอย/งามท้องน้ำ                ยามใกล้ค่ำ/ย่ำสุริย์ศรี
                                     ลดลอย/ถอยรัศมี                       อำลาพราก/จากท้องธาร
                                     เรืองรอง/ดุจทองทาบ                วะวับวาบ/ซาบตาลาน
                                     มือมนุษย์/สุดบันดาล                 ต้องเทพฤทธิ์/ประดิษฐ์สวรรค์
                                     คลื่นน้อย/เพียงฝอยทอง            เรืองรังรอง/ท่องตามกัน
                                     เหลือนับ/จับตาทัน                    กระทบฝั่ง/กระทั่งใจ


                                                                                                         (เสนีย์ วิลาวรรณ)

       บทร้อยกรองนี้ควรแบ่งวรรคตอนการออกเสียงเช่นเดียวกับกาพย์ยานี ๑๑ แต่จำนวนคำในแต่ละจังหวะอาจไม่เท่ากัน จังหวะใดมีคำน้อยต้องยืดเสียงให้ยาวเต็มจังหวะ จังหวะใดมีคำมากก็ต้องรวบเสียงให้พอดีกับจังหวะ



การท่องจำคำประพันธ์
   
การท่องจำคำประพันธ์ คือ การฝึกท่องบทร้อยกรองที่ไพเราะ มีคติ เพื่อสร้างความซาบซึ้งด้านความงดงามทางภาษาและคุณค่าของวรรณคดีไทย ตลอดจนกล่อมเกลาจิตใจผู้ฝึก ซึ่งบทอาขยานที่นำมาให้ท่องมีดังนี้

 

โคลงโลกนิติ
 

                                            พระสมุทรสุดลึกล้น                     คณนา
                                         สายดิ่งทิ้งทอดมา                          หยั่งได้
                                         เขาสูงอาจวัดวา                            กำหนด
                                         จิตมนุษย์นี้ไซร้                              ยากแท้หยั่งถึง

...

                                             ก้านบัวบอกลึกตื้น                      ชลธาร
                                          มารยาทส่อสันดาน                        ชาติเชื้อ
                                          โฉดฉลาดเพราะคำขาน                 ควรทราบ
                                          หย่อมญ่าเหี่ยวแห้งเรื้อ                    บอกร้ายแสลงดิน

...

                                             โคควายวายชีพได้                      เขาหนัง
                                          เป็นสิ่งเป็นอันยัง                           อยู่ไซร้
                                          คนเด็ดดับสูญสัง-                         ขารร่าง
                                          เป็นชื่อเป็นเสียงได้                        แต่ร้ายกับดี

...

                                              เพื่อนกินสิ้นทรัพย์แล้ว                แหนงหนี
                                           หาง่ายหลายหมื่นมี                        มากได้
                                           เพื่อนตายถ่ายแทนชี-                    วาอาตม์
                                           หายากฝากผีไข้                            ยากแท้จักหา

...

                                                                           (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเดชาดิศร)


ภาษิตอิศรญาณ


                          ชายข้าวเปลือกหญิงข้าวสารโบราณว่า        น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอัชฌาสัย
                      เราก็จิตคิดดูเล่าเขาก็ใจ                                รักกันไว้ดีกว่าชังระวังการ
                      ผู้ใดดีดีต่ออย่าก่อกิจ                                     ผู้ใดผิดผ่อนพักอย่าหักหาญ
                      สิบดีก็ไม่ถึงกับกึ่งพาล                                   เป็นชายชาญอย่าเพ่อคาดประมาทชาย
                      รักสั้นนั้นให้รู้อยู่เพียงสั้น                                รักยาวนั้นอย่าให้เยิ่นเกินกฎหมาย
                      มิใช่ตายแต่เขาเราก็ตาย                                แหงนดูฟ้าอย่าให้อายแก่เทวดา
                      อย่าดูถูกบุญกรรมว่าทำน้อย                           น้ำตาลย้อยมากเมื่อไรได้หนักหนา
                      อย่านอนเปล่าเอากระจกยกออกมา                  ส่องดูหน้าเสียทีหนึ่งแล้วจึงนอน


                                                                                                              (หม่อมเจ้าอิศรญาณ) 


พระอภัยมณีตอน พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร
 

                             พระโฉมยงองค์อภัยมณีนาถ                      เพลินประพาสพิศดูหมู่มัจฉา
                         เหล่าฉลามล้วนฉลามตามกันมา                    ค่อยเคลื่อนคลาคล้ายคล้ายในสายชล
                         ฉนากอยู่คู่ฉนากไม่จากคู่                              ขึ้นฟ้องฟูพ่นฟองละอองฝน
                         ฝูงพิมพาพาฝูงเข้าแฝงวน                            บ้างผุดพ่นฟองน้ำบ้างดำจร
                         กระโห้เรียงเคียงกระโห้ขึ้นโบกหาง                ลอยสล้างกลางกระแสแลสลอน
                         มังกรเกี่ยวเลี้ยวลอดกอดมังกร                       ประชุมซ่อนแฝงชลขึ้นวนเวียน
                         ฝูงม้าน้ำทำท่าเหมือนม้าเผ่น                         ขึ้นลอยเล่นเลี้ยวลัดฉวัดเฉวียน
                         ตะเพียนทองท่องน้ำนำตะเพียน                    ดาษเดียรดูเพลินจนเกินมา
                         เห็นละเมาะเกาะเขาเขียวชอุ่ม                       โขดตะคุ่มเคียงเคียงเรียงรุกขา
                         จะเหลียวซ้ายสายสมุทรสุดสายตา                จะแลขวาควันคลุ้มกลุ้มโพยม
                         จะเหลียวดูสุริย์แสงเข้าแฝงเมฆ                     ให้วิเวกหวาดองค์พระทรงโฉม
                         ฟังสำเนียงเสียงคลื่นดังครื้นโครม                  ยิ่งทุกข์โทมนัสในฤทัยทวี


                                                                                                                       (สุนทรภู่)



การอ่านในใจ
   การอ่านในใจ คือ การอ่านที่ไม่ออกเสียง เน้นเก็บใจความสำคัญเพื่อทำความเข้าใจ
   การอ่านในใจได้เร็ว
   การอ่านในใจได้เร็ว คือ การอ่านสารให้เข้าใจเนื้อความในเวลาน้อยที่สุด การอ่านลักษณะนี้ได้ผู้อ่านต้องมีประสบการณ์ มีความสามารถทางภาษา ซึ่งสามารถฝึกฝนได้โดยการฝึกอ่านในใจเป็นประจำ
   หลักการอ่านในใจได้เร็ว
       ๑. อ่านหนังสือเป็นประจำเมื่อมีเวลาว่าง เป็นการฝึกการสังเกตคำ สำนวนต่าง ๆ แล้วทำความเข้าใจ
       ๒. อ่านเรื่องที่ง่ายแล้วพัฒนาอ่านเรื่องที่ยากขึ้นตามลำดับ เพื่อพัฒนาความเร็วในการอ่าน
       ๓. มีสมาธิ คิดตามสิ่งที่อ่าน ไม่วอกแวกคิดออกนอกเรื่อง
       ๔. กวาดสายตา ขณะที่อ่านให้กวาดสายตาล่วงหน้าไปจนจบบรรทัด แล้วจึงขึ้นบรรทัดใหม่


   ๑. การอ่านจับใจความ
   การจับใจความ คือ การจับประเด็นว่าผู้เขียนจะเสนอแนวคิดใดมายังผู้อ่าน มีหลักการอ่านดังนี้
       ๑. อ่านเรื่องให้ละเอียด จับประเด็นให้ได้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร
       ๒. พิจารณาประโยคใจความสำคัญของแต่ละย่อหน้า ซึ่งอาจปรากฏอยู่ตอนต้น ตอนกลาง หรือตอนท้ายของย่อหน้า บางย่อหน้าอาจต้องสรุปใจความสำคัญเอง
       ๓. เรียบเรียงความคิดจากประโยคใจความสำคัญทั้งหมดเพื่อสรุปเป็นใจความสำคัญของเรื่อง

ตัวอย่าง
 

       ถ่านถังนั้นแหละคือค่าแรงละจำไว้ว่าคนที่ทำงานไม่เคยมีใครขาดทุนหรอกเพียงแต่จะได้ผลตอบแทนเป็นอะไรหรือมากน้อยเพียงใดค่าแรงหรือกำไรไม่ได้มาสู่เราในรูปแบบของเงินเสมอไป


                                                                                          (เศรษฐศาสตร์ในห้องแถวของ หยก บูรพา)

       ตำแหน่งใจความสำคัญอยู่ที่ประโยคต้นและประโยคท้าย สรุปใจความได้ว่า หยกได้ค่าแรงเพียงถ่านถังเดียว จะไม่ได้เป็นเงินอีก ส่วนข้อความอื่นที่ไม่ใช่ใจความสำคัญเรียกว่า พลความ ได้แก่ จำไว้ว่าคนที่ทำงานไม่เคยมีใครขาดทุนหรอก เพียงแต่จะได้ผลตอบแทนเป็นอะไร หรือมากน้อยเพียงใด 

 

   ๒. การอ่านสรุปความ
   การอ่านสรุปความ คือ การอ่านเพื่อสรุปสาระสำคัญของเรื่อง ผู้อ่านต้องมีสมาธิ พิจารณาให้ได้ว่าเรื่องที่อ่านกล่าวถึงใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร และอย่างไร

ตัวอย่าง
 

       เป็นที่ทราบกันโดยทั่วกันว่าพฤติกรรมการแสดงออกของวัยรุ่นในปัจจุบันมีแนวโน้มไปในทางที่ไม่พึงปรารถนาของพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือบุคคลในสังคม
       พฤติกรรมการแสดงออกของวัยรุ่นที่ไม่พึงปรารถนาเหล่านี้อาจเกิดจากสภาพแวดล้อมรอบข้าง การเลียนแบบแสดงพฤติกรรมของผู้อื่น ตลอดจนการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ไม่ได้อบรมบ่มนิสัยใจคอของลูกตั้งแต่เด็ก ๆ หรือพ่อแม่อาจจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมาให้ลูกได้เห็นและลูกซึมซับพฤติกรรมเหล่านั้นเข้าไปและแสดงพฤติกรรมนั้นออกมา ทำให้เป็นปัญหาต่อตนเองและสังคม
       ทั้งนี้มีนักวิจัยหลายท่านได้วิจัยถึงความสัมพันธ์ของพ่อแม่และลูกพบว่าเพลงกล่อมเด็กที่พ่อแม่ขับกล่อมให้ลูกฟังในวัยเด็กเป็นส่วนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของลูก เนื่องจากเพลงกล่อมเด็กเป็นส่วนสำคัญที่จะแสดงออกถึงความรักความห่วงใยที่พ่อแม่มีต่อลูกและลูกสามารถซึมซับความรักความห่วงใยและความอ่อนโยนของพ่อแม่ผ่านทางเพลงกล่อมเด็กทำให้ลูกมีนิสัยที่อ่อนโยนและไม่ก้าวร้าว
       ข้อความนี้สรุปความได้ว่า เพลงกล่อมเด็กมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและนิสัยของลูก

   การเขียนแผนผังความคิดจากเรื่องที่อ่าน
   แผนผังความคิด คือ แผนภาพที่เชื่อมโยงข้อมูลความคิดหลัก ความคิดรอง และความคิดย่อยไว้ด้วยกัน มีประโยชน์สำหรับการอ่านเพราะเป็นการสรุปความเข้าใจของเรื่องที่อ่านอย่างกะทัดรัด
   แผนผังความคิดมีหลายรูปแบบ ที่นิยมใช้มีดังนี้
   ๑. แผนผังความคิดแบบจัดกลุ่มหรือกิ่งไม้ จะวางความคิดหลักไว้ตรงกลาง แล้วเชื่อมโยงไปสู่ความคิดรองอื่น มักใช้กับการแสดงคุณสมบัติ คุณลักษณะ
 


   ๒. แผนผังความคิดแบบใยแมงมุม จะวางความคิดหลักไว้ตรงกลาง แล้วเขียนความคิดรองในลักษณะใยแมงมุมล้อมรอบความคิดหลัก



   ๓. แผนผังก้างปลา จะเขียนประเด็นหลักไว้ด้านหน้า แล้วนำเสนอสาเหตุหรือผลที่เกี่ยวข้องเป็นรูปก้างปลา



   ๔. แผนผังความคิดเปรียบเทียบ จะเปรียบเทียบหรือจัดกลุ่มสองเรื่องในประเด็นเดียวกัน อาจใช้ตารางหรือรูปวงกลมก็ได้



   ๕. แผนภาพความคิดเพื่อตัดสินใจ จะนำเสนอข้อมูลที่มีการวิเคราะห์ผลดีผลเสียเพื่อสรุปประเด็นหรือช่วยในการตัดสินใจ



ตัวอย่าง แผนผังความคิดเรื่อง ผลของความร้อน


       เมื่อความร้อนแผ่กระจายออกมาจากแหล่งกำเนิดความร้อนจะมีการถ่ายเทความร้อนอยู่เสมอ มีผลทำให้วัตถุมีการเปลี่ยนแปลงหลายประการ คือ ทำให้วัตถุมีอุณหภูมิสูงขึ้น เช่น การหุงต้มอาหารหรือการเติมน้ำลงในน้ำเย็น จะทำให้อุณหภูมิน้ำเย็นสูงขึ้น ในทำนองกลับกันวัตถุใดคายความร้อนออกมาจะทำให้วัตถุนั้นมีอุณหภูมิลดลง ทำให้สสารเปลี่ยนสถานะจากของแข็งเป็นของเหลว เป็นก๊าซตามลำดับเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น และสามารถเปลี่ยนจากก๊าซเป็นของเหลวและเป็นของแข็งในที่สุดเมื่ออุณหภูมิลดลงถึงระดับเหมาะสม ทำให้วัตถุขยายตัว สสารทุกชนิดเมื่อได้รับความร้อนแล้วจะทำให้เกิดการขยายตัว คือโมเลกุลมีระยะห่างกันมากขึ้น ในทำนองกลับกัน ถ้ามีการคายความร้อนก็จะทำให้สสารมีการหดตัว นอกจากนี้ผลของความร้อนยังสามารถทำให้เกิดพลังงานไฟฟ้าหรือทำลายอำนาจแม่เหล็กได้อีกด้วย


 

 


   ๓. การอ่านตีความ
   การอ่านตีความ คือ การพิจารณาเรื่องที่อ่านถึงจุดมุ่งหมายของผู้เขียน ซึ่งอาจมีการใช้ความหมายโดยนัย ผู้อ่านต้องตีความความหมายที่แฝงอยู่ในถ้อยคำโดยอาศัยประสบการณ์ ความรู้ และความสามารถในการคิด มีหลักการอ่านดังนี้
       ๑. ทำความเข้าใจเรื่อง จับประเด็นให้ได้ว่าเรื่องที่อ่านกล่าวถึงสิ่งใด มีแนวคิดอย่างไร
       ๒. ทำความเข้าใจศัพท์ สำนวน ว่ามีความหมายตรงหรือความหมายแฝงอย่างไร
       ๓. พิจารณาข้อความที่อ่านโดยใช้ความรู้และประสบการณ์ว่าข้อความนั้น ๆ มีความหมายอย่างไร
       ๔. บอกจุดมุ่งหมายของผู้แต่งว่ามีเจตนาใดที่จะสื่อมายังผู้อ่าน
       ๕. อธิบายท่าทีหรือน้ำเสียงของผู้แต่งว่าเป็นอย่างไร

ตัวอย่าง
 

                                  กระแสชลวนเชี่ยวเรือเลี้ยวลด              ดูค้อมคดขอบคุ้งคงคาไหล
                               แต่สาชลเจียวยังวนเป็นวงไป                  นี่หรือใจที่จะตรงอย่าสงกา


                                                                                                    (นิราศเมืองแกลงของ สุนทรภู่)

 

       คำประพันธ์กล่าวการเดินทางของสุนทรภู่เมื่อพบกระแสน้ำที่ไหลคดเคี้ยว จึงนำมาเปรียบเทียบกับจิตใจคนที่ไม่ซื่อตรงว่าเหมือนกับสายน้ำ

 


   ๔. การอ่านวิเคราะห์
   การอ่านวิเคราะห์ คือ การอ่านเพื่อประเมินคุณค่า เป็นการอ่านระดับสูงกว่าการอ่านเพื่อความรู้หรือความเพลิดเพลิน มีหลักการอ่านดังนี้
       ๑. อ่านเรื่องอย่างละเอียด พิจารณาเรื่องว่าเป็นงานเขียนประเภทใด มีองค์ประกอบใดบ้าง
       ๒. พิจารณาว่าองค์ประกอบของงานเขียนแต่ละส่วนเป็นอย่างไร
       ๓. พิจารณาว่าผู้แต่งใช้กลวิธีการนำเสนออย่างไร
       ๔. สรุปว่าผู้เขียนต้องการเสนอแนวคิดใดแก่ผู้อ่าน และมีจุดประสงค์ใด
       ๕. พิจารณาสำนวนภาษาว่าเหมาะสมกับประเภทของงานเขียนหรือไม่ อย่างไร
       ๖. ประเมินค่าเรื่องที่อ่านว่าดีหรือไม่ อย่างไร มีคุณค่าด้านใด

ตัวอย่าง


                                  อันชาติใดไร้ศานติสุขสงบ                  ต้องมัวรบราญรอนหาผ่อนไม่
                               ณชาตินั้นนรชนไม่สนใจ                       ในกิจศิลปะวิไลละวาดงาม
                               แต่ชาติใดรุ่งเรืองเมืองสงบ                    ว่างการรบอริพลอันล้นหลาม
                               ย่อมจำนงศิลปาสง่างาม                        เพื่ออร่ามเรืองระยับประดับประดา
                               อันชาติใดไร้ช่างชำนาญศิลป์                 เหมือนนารินไร้โฉมบรรโลมสง่า
                               ใครใครเห็นไม่เป็นที่จำเริญตา                เขาจะพากันเย้ยให้อับอาย
                               ศิลปกรรมนำใจให้สร่างโศก                    ช่วยบรรเทาทุกข์ในโลกให้เหือดหาย
                               จำเริญตาพาใจให้สบาย                         อีกร่างกายก็จะพลอยสุขสราญ
                               แม้ผู้ใดไม่นิยมชมสิ่งงาม                        เมื่อถึงยามเศร้าอุราน่าสงสาร
                               เพราะขาดเครื่องระงับดับรำคาญ             โอสถใดจะสมานซึ่งดวงใจ
                               เพราะการช่างนี้สำคัญอันวิเศษ               ทุกประเทศนานาทั้งน้อยใหญ่
                               จึงยกย่องศิลปกรรม์นั้นทั่วไป                  ศรีวิไลวิลาสดีเป็นศรีเมือง


                                                                            (บทเสภาสามัคคีเสวกตอน วิศวกรรมา ของ รัชกาลที่ ๖)
 

       เนื้อหากล่าวถึงคุณค่าของศิลปะที่สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชาติ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของศิลปะที่มีต่อบุคคลและชาติบ้านเมือง เป็นเครื่องชักนำให้เกิดความสุข ใช้วิธีกล่าวถึงข้อเสียของศิลปะสลับกับข้อดีของศิลปะ มีการใช้ภาพพจน์อุปมาที่แยบคาย ทำให้บทประพันธ์มีความหนักแน่นและชัดเจน
       ในด้านภาษา ผู้แต่งเลือกใช้ถ้อยคำที่หลากหลาย มีคำเข้าใจง่าย เช่น เขาจะพากันเย้ยให้อับอาย และถ้อยคำภาษากวีที่ไพเราะงดงาม เช่น อร่ามเรืองระยับประดับประดา เพื่อให้เห็นถึงความงามของศิลปะ

 


   ๕. การอ่านวิจารณ์
   การอ่านวิจารณ์ คือ การอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ใช้ความรู้และสติปัญญาพิจารณาข้อดี – ข้อด้อยแสดงเหตุผลประกอบ มีหลักการอ่านดังนี้
       ๑. อ่านเก็บใจความสำคัญ จับประเด็นสำคัญของเรื่องให้ได้
       ๒. วิเคราะห์และแยกแยะส่วนประกอบของเรื่องที่อ่านอย่างละเอียด
       ๓. วิจารณ์ข้อดี ข้อด้อยของเรื่องที่อ่านโดยแสดงเหตุผลประกอบ
       ๔. ประเมินเรื่องที่อ่านว่ามีคุณค่าเพียงใด มีประโยชน์หรือไม่

ตัวอย่าง


       จากการอ่านและศึกษาวรรณคดีไทยประเภทกลอนนิราศมาหลายเรื่อง พอจะนับได้ว่านิราศภูเขาทองนั้นเป็นวรรณคดีเรื่องหนึ่งที่มีผู้กล่าวขานถึงทั้งยังนิยมอ่านกันมากเป็นอันดับต้น ๆ ของบรรดากลอนนิราศทั้งหลาย
       ในบรรดานิราศทั้ง ๙ เรื่องของสุนทรภู่ ได้แก่ นิราศพระบาท นิราศเมืองแกลง นิราศเมืองเพชร นิราศภูเขาทอง นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศอิเหนา นิราศพระประธม นิราศสุพรรณ และรำพันพิลาป นิราศภูเขาทองนับเป็นนิราศเรื่องเอกที่ดีเด่นของสุนทรภู่และวงการกวีไทยซึ่งมีความดีเด่นทั้งด้านเนื้อความและสำนวนโวหารถือเป็นแบบอย่างที่ดีของการแต่งกลอนนิราศได้อย่างหนึ่ง
       แม้เนื้อความในนิราศภูเขาทองจะเสนอถึงช่วงชีวิตที่ตกต่ำที่สุดของสุนทรภู่เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตทำให้ชีวิตของสุนทรภู่เปลี่ยนแปลงไป แต่หากมองให้ลึกลงไปอีกสักนิดจะพบว่านิราศภูเขาทองของสุนทรภู่เป็นนิราศที่เน้นอารมณ์ความรู้สึกเศร้าสร้อยเป็นหลัก อาจมีเหตุเนื่องมาจากสุนทรภู่อยู่ในช่วงหมดบุญหมดวาสนาขาดที่พึ่ง การกล่าวถึงสิ่งใดก็มักจะอิงอารมณ์เศร้าไว้ด้วยเสมอ ดังนั้นเมื่อได้อ่านนิราศเรื่องนี้ก็จะรู้สึกเห็นอกเห็นใจกวีเอกของไทยท่านนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
       สิ่งหนึ่งที่ผู้อ่านสามารถจับความได้นั่นคือนิราศภูเขาทองเป็นวรรณคดีเรื่องหนึ่งที่มีคุณค่าทางด้านวรรณศิลป์ คือ มีความดีเด่นด้วยการสรรคำที่ไพเราะเชิงการแต่งที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความสะเทือนใจและสะท้อนสัจธรรมและความจริงของชีวิต ด้วยเหตุนี้นิราศภูเขาทองจึงนิยมนำมากล่าวอ้างต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ดังเช่นบทกลอนที่ว่า


                                  ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง              มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
                               โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา                 ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย
                               ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ                   พระสรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย
                               ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย                         ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป
                               ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก                สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
                               ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป                    แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน


       ในด้านคุณค่าทางความรู้สามารถอธิบายหรือเล่าถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์ได้อย่างมีศิลปะและชัดเจน ทั้งด้านสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านวัฒนธรรม และศิลปะแขนงต่าง ๆ เช่น


                                  ถึงบ้านญวนล้วนแต่โรงแลสะพรั่ง            มีข้องขังกุ้งปลาไว้ค้าขาย
                               ตรงหน้าโรงโพงพางเขาวางราย                พวกหญิงชายพร้อมเพรียงมาเมียงมอง


       ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกเลยที่นิราศเรื่องนี้จะได้รับการยกย่องว่าเป็นนิราศเรื่องเยี่ยมของวงการและเป็นวรรณคดีเอกเรื่องหนึ่งที่คนไทยควรหามาอ่าน

 


   ๖. การอ่านเพื่อประเมินค่า
   การอ่านเพื่อประเมินค่า คือ การอ่านเพื่อตัดสินคุณค่าของเรื่องว่ามีข้อดีหรือด้อยอย่างไร โดยพิจารณาเนื้อหา วิธีการนำเสนอ และการใช้ภาษา พร้อมแสดงข้อมูลหรือเหตุผลประกอบการอธิบาย มีหลักการอ่านดังนี้

       ๑. อ่านงานเขียนแล้วพิจารณาว่าได้ความรู้ ความบันเทิง หรือข้อคิดอะไรบ้าง
       ๒. พิจารณาการใช้ภาษาว่าเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร
       ๓. พิจารณาเนื้อเรื่องว่าเหมาะสมหรือไม่ สร้างสรรค์เพียงใด
       ๔. บอกข้อดีและข้อบกพร่องของงานเขียนได้ชัดเจน

ตัวอย่าง


                                         ฟังใดได้รู้เรื่อง                     ก็ปราดเปรื่องปรีชาชาญ
                                      เปรียบลิ้นชินน้ำตาล                รสหวานซาบซ่านใจ
                                      ฟังใดได้รู้ความ                       วิชาทรามจะงามไฉน
                                      เปรียบจวักตักใดใด                  ไป่รู้รสหมดทั้งมวล


                                                                                         (ฟังใดได้รู้เรื่องของ ชิต บุรทัต)


       บทร้อยกรอง ฟังใดได้รู้เรื่อง แสดงความสำคัญของการฟังว่าเมื่อฟังสารใดต้องเข้าใจ จึงจะเป็นผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญ แต่หากรับฟังสารแล้วไม่เข้าใจก็จะไม่เกิดความรู้ ดังนั้นเราจึงควรฝึกฝนการฟังของตนเอง
       บทร้อยกรองนี้มีคุณค่าด้านเนื้อหา คือ กล่าวว่าเราต้องฟังให้เข้าใจจึงจะเกิดประโยชน์ และมีการใช้คำเปรียบเทียบ “เปรียบลิ้นชินน้ำตาล เปรียบจวักตักใดใด ไป่รู้รสหมดทั้งมวล” ทำให้เห็นภาพชัดเจน 



การอ่านและพิจารณาวรรณกรรม
   การพิจารณาวรรณกรรม คือ การอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ช่วยให้จับใจความ สรุปความ ประเมินค่า และติชมวรรณกรรม แบ่งเป็น ๓ ส่วน ดังต่อไปนี้
   ๑. การพิจารณาวรรณกรรมร้อยแก้ว
   บันเทิงคดี
       ๑. โครงเรื่อง ควรมีลักษณะดังนี้
          ก. มีความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์และตัวละครในเรื่อง
          ข. มีข้อขัดแย้ง อาจเกิดขึ้นระหว่างตัวละครด้วยกัน ตัวละครกับสิ่งแวดล้อม หรือเกิดภายในจิตใจตัวละครเอง
          ค. มีการขมวดปมเพื่อสร้างความอยากรู้ในตอนต่อ ๆ ไป แล้วจึงค่อย ๆ คลายปมนั้นในภายหลัง
          ง. มีความสมจริง สมเหตุสมผล แม้เรื่องบังเอิญบางอย่างอาจเกิดได้ในชีวิตจริง แต่ก็ไม่ควรนำมาใช้ เช่น คนจนกำลังจะอดตาย พยายามหาเงินซื้อข้าวเท่าไรก็หาไม่ได้ แต่สุดท้ายเก็บเงินที่ตกได้


       ๒. การดำเนินเรื่อง อาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่งตามความเหมาะสม ดังนี้
          ก. ดำเนินเรื่องตามลำดับเวลา คือ เรียงจากเหตุการณ์ที่เกิดก่อนไปสู่เหตุการณ์ที่เกิดหลัง
          ข. ดำเนินเรื่องย้อนต้น คือ เริ่มจากตอนท้าย ย้อนไปหาจุดเริ่มต้นแล้วดำเนินไปตามลำดับเวลา
          ค. ดำเนินเรื่องสลับกัน คือ เริ่มจากตอนใดตอนหนึ่งก่อน แล้วตัดเรื่องไปอีกช่วงเวลาหรือสถานที่


       ๓. ตัวละคร ควรมีนิสัย พฤติกรรม และวิธีการสนทนาอย่างบุคคลธรรมดา คือควรมีลักษณะดังนี้
          ก. มีลักษณะเป็นปุถุชน ไม่ดีหรือเลวจนเกินไป
          ข. มีความรู้สึกรัก โลภ โกรธ หลง เหมือนคนทั่วไป
          ค. มีการกระทำที่สอดคล้องกับนิสัยไปตลอดทั้งเรื่อง การเปลี่ยนแปลงบุคลิกลักษณะของตัวละครต้องมีเหตุผลพอสมควร มิใช่กล่าวลอย ๆ
          บทสนทนาที่ดี ควรมีลักษณะดังนี้
          ก. แสดงลักษณะนิสัยของตัวละคร
          ข. มีความสมจริงตามฐานะและบทบาทของตัวละคร
          ค. ช่วยดำเนินเรื่องแทนการบรรยายตรง ๆ หรือเสริมการบรรยายเรื่อง
          ง. ช่วยทำให้เรื่องมีชีวิตชีวา


       ๔. ฉาก คือ สถานที่ เวลา และเหตุการณ์แวดล้อม ควรมีลักษณะดังนี้
          ก. มีความสอดคล้องและช่วยบรรยายเรื่อง เช่น ฉากฆาตกรรมควรเป็นสถานที่เปลี่ยวปลอดคน
          ข. มีความสมจริง เช่น ฉากของนวนิยาย เรื่องละครแห่งชีวิตใช้นครหลวงใหญ่ ๆ ของโลกตามสภาพที่เป็นจริง


       ๕. สำนวนภาษา ต้องมีความสละสลวย กะทัดรัด และคมคาย ควรมีลักษณะเฉพาะดังนี้
          ก. เหมาะสมแก่ตัวละครและบทบาทของตัวละครแต่ละตัว
          ข. ใช้โวหารที่เหมาะสม ซึ่งโดยทั่วไปมี ๓ อย่าง คือ อธิบายโวหาร พรรณนาโวหาร และบรรยายโวหาร นอกจากนี้อาจใช้เทศนาโวหาร เพื่อการสั่งสอน ชี้แจง สาธกโวหาร เพื่อยกตัวอย่าง และอุปมาโวหาร เพื่อการเปรียบเทียบ


       ๖. แนวความคิด วรรณกรรมประเภทบันเทิงคดีควรมีแนวคิดที่สร้างสรรค์ ยกระดับจิตใจ และให้ความรู้ความเข้าใจชีวิตยิ่งขึ้น



   สารคดี
       ๑. เนื้อหาสาระ ต้องมีความถูกต้องสมบูรณ์ มีความน่าสนใจและเป็นประโยชน์ โดยเนื้อหาของสารคดีแต่ละประเภทควรมีลักษณะดังนี้
          ก. ประเภทวิชาการ ต้องให้ข้อเท็จจริงที่แสดงความก้าวหน้า และอาจมีส่วนประกอบอื่นที่ให้รายละเอียด เช่น ภาพ ตาราง แผนภูมิ
          ข. ประเภทประวัติศาสตร์ ต้องถูกต้องตามทฤษฎีปัจจุบัน ข้อสันนิษฐานมีหลักฐานสนับสนุน มีภาพหรือแผนที่ประกอบตามความเหมาะสม
          ค. ประเภทชีวประวัติ ต้องแสดงส่วนดีและส่วนบกพร่อง โดยพิจารณาว่าเรื่องใดควรเปิดเผยบ้าง 
          ง. ประเภทท่องเที่ยว ต้องถูกต้องตามความเป็นจริง ให้ความรู้ ความบันเทิง และความแปลกใหม่
          จ. ประเภทความคิดเห็นหรือปรัชญา ต้องมีเนื้อหาน่าสนใจ มีเหตุผลหนักแน่น และเที่ยงธรรม


       ๒. กลวิธีการเขียน มีลักษณะเดียวกับการเขียนความเรียงทั่วไป ดังนี้
          ก. โครงเรื่อง มีเอกภาพและสัมพันธภาพ
          ข. องค์ประกอบ มีคำนำ เนื้อเรื่อง สรุป
          ค. โวหาร ใช้โวหารต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
          ง. สำนวนภาษา ต้องมีความชัดเจน กระชับรัดกุม และสละสลวย


       ๓. ส่วนประกอบ ควรคำนึงถึงส่วนประกอบของหนังสือดังต่อไปนี้
          ก. ชื่อผู้แต่ง ควรเป็นชื่อจริงมากกว่านามแฝง เพราะแสดงถึงความรับผิดชอบของผู้แต่ง
          ข. คำนำ ควรแสดงความมุ่งหมาย สรุปสาระสำคัญหรือวิธีใช้หนังสือ
          ค. สารบัญ ถ้าเรื่องยาวควรมีรายละเอียดย่อย เพื่อแสดงเค้าโครงของหนังสือและสะดวกแก่การเลือกอ่านตอนใดตอนหนึ่ง
          ง. เชิงอรรถ อยู่ส่วนล่างของหน้าหนังสือ ใช้อธิบายความหมายหรือที่มาของข้อความ
          จ. บรรณานุกรม คือรายการเอกสารที่ใช้อ่านประกอบ มีไว้เพื่อประโยชน์ในการค้นคว้าเพิ่มเติม
          ฉ. ดัชนี เป็นส่วนประกอบอื่นที่ช่วยให้เข้าใจเรื่องได้มากขึ้น เช่น อภิธานศัพท์ ภาพ แผนภูมิ

ตัวอย่างการพิจารณาวรรณกรรม 


คำวิงวอนของมนุษยชาติ

 

 

       คำวิงวอนของมนุษยชาติ เป็นเรื่องสั้นเรื่องที่ ๑๐ ในหนังสือรวมเรื่องสั้นคำวิงวอนของมนุษยชาติซึ่งเป็นหนังสือเล่มหนึ่งในจำนวน ๘๘ เล่ม ที่ได้รับยกย่องให้เป็นหนังสือดีด้านวิทยาศาสตร์จากคณะวิจัยโครงการหนังสือดีวิทยาศาสตร์
       คำวิงวอนของมนุษยชาติเป็นเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ที่ผู้แต่งจินตนาการสภาพความเป็นอยู่ของโลกอนาคตโดยอาศัยแนวโน้มของสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ของสังคมปัจจุบันแล้วคาดการณ์ถึงภัยที่กำลังจะมาถึงตัวมนุษย์
       แนวคิดสำคัญของเรื่องแสดงถึงความทุกข์ยากของมนุษย์ในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษที่เกิดขึ้นในโลกอนาคต เนื้อเรื่องกล่าวถึงการดำเนินชีวิตของคนในครอบครัวหนึ่งที่ต้องเผชิญกับภัยที่เกิดขึ้นจากฝีมือของมนุษย์ ครอบครัวนี้อาศัยอยู่ในสังคมที่มีความเจริญทางด้านเทคโนโลยีแต่สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม สมาชิกในครอบครัวต้องเจ็บป่วยและพิการเพราะมลพิษจากสิ่งแวดล้อมผู้คนในสังคมอยู่กันอย่างแก่งแย่งเพื่อความอยู่รอดของตนเอง ไม่มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันตลอดจนความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่จะหยิบยื่นแก่กัน
       คำวิงวอนของมนุษยชาติเป็นเรื่องสั้นที่ไม่เน้นโครงเรื่อง เป็นเพียงการนำเหตุการณ์หนึ่งที่น่าสนใจและสะเทือนอารมณ์มาเล่าโดยให้ผู้แต่งเป็นผู้เล่าเรื่องเริ่มตั้งแต่เหตุการณ์ที่ชายชราเหม่อออกไปนอกหน้าต่างที่เต็มไปด้วยบรรยากาศที่เป็นพิษ สภาพหลานชายพิการของชายชรา ลูกสะใภ้ที่ป่วยและจบลงด้วยเหตุการณ์อันน่าสลดใจและน่าเวทนาที่ศูนย์จำหน่ายอากาศบริสุทธิ์ซึ่งแสดงให้เห็นความเย็นชาของคนในสังคม แม้มีคนกำลังจะตายอยู่ตรงหน้าก็ไม่มีใครให้ความช่วยเหลือเป็นการจบที่ทำให้ผู้อ่านสะเทือนอารมณ์และย้ำแนวคิดสำคัญของเรื่อง
       ตัวละครเด่นในเรื่องคือชายชราผู้ที่แต่งเล่าเรื่องราวชีวิตของเขาและคนใกล้ตัวของเขาคือ หลานชาย ลูกชาย และลูกสะใภ้ ผู้แต่งไม่ได้แสดงลักษณะนิสัยและบุคลิกของตัวละครอย่างเด่นชัดเนื่องจากผู้แต่งเน้นไปที่เหตุการณ์ความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อมของตัวละครมากกว่า ตัวละครในเรื่องเป็นเพียงตัวแทนของคนในโลกอนาคตที่ผู้แต่งต้องการนำเสนอชีวิตและความเป็นอยู่เท่านั้น
       ฉากจากเรื่องคำวิงวอนของมนุษยชาติมีเพียงฉากในบ้านของชายชราที่มองออกไปนอกหน้าต่างแล้วเห็นมลพิษจากสิ่งแวดล้อมและฉากศูนย์จำหน่ายอากาศบริสุทธิ์ที่เกิดจากจินตนาการซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการบรรยายเรื่อง ผู้แต่งบรรยายฉากท้องถนนที่มองออกมาจากหน้าต่างของบ้านชายชราได้อย่างชัดเจน ผู้อ่านเห็นภาพความแออัดความตึงเครียดและมลพิษจนสามารถเข้าถึงความรู้สึกอึดอัดของคนในโลกอนาคตได้อย่างแท้จริง
       เรื่องคำวิงวอนของมนุษยชาติมีข้อคิดที่เป็นประโยชน์ต่อสภาพแวดล้อมของสังคม หากคนในสังคมไม่รักษาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่มีอยู่เช่น ป่า เขา ต้นไม้ แหล่งน้ำ เป็นต้น ในอนาคตสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเหล่านี้ก็อาจหมดไปเหลือแต่มลพิษที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก ทำให้มนุษย์ต้องเดือดร้อน สภาพความเป็นอยู่ และการดำเนินชีวิตอาจเป็นเช่นเดียวกับในเรื่องคำวิงวอนของมนุษยชาติก็เป็นได้

 

 

บทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูก


       เรื่องเห็นแก่ลูก พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประกอบด้วยคุณสมบัติเหมาะสมแก่บทละครพูดอย่างเพียบพร้อมแสดงอัจฉริยภาพอันล้ำเลิศในชั้นเชิงของการประพันธ์ขององค์ผู้ทรงพระราชนิพนธ์
เรื่องเห็นแก่ลูกเป็นบทละครพูดองก์เดียวจบมีฉากเดียว คือ ห้องรับแขกบ้านของพระยาภักดีฯ เค้าโครงของเรื่องผูกขึ้นจากสภาพความเป็นจริงของสังคมเป็นการยืนยันคำกล่าวที่ว่าวรรณคดีเป็นกระจกส่องชีวิตสังคมได้อย่างชัดแจ้ง บุคคลอย่างนายล้ำเป็นตัวแทนของผู้ชายอีกมากมายหลายคน การไม่รับผิดชอบในความผาสุกของครอบครัวอันมีบุตรภรรยา เป็นต้น การเสพสุราเป็นอาจิณ การคดโกงเงินราชการ การประกอบอาชีพละเมิดกฎหมายบ้านเมือง การไม่สำนึกในผลแห่งกรรมชั่วการหวังพึ่งพิงใบบุญของบุตรธิดาอย่างชุบมือเปิบอันเป็นบทบาทของนายล้ำ ทำให้กระทบกระเทือนจิตใจใครหลายคนซึ่งได้ประพฤติตนหรือกำลังจะประพฤติตนเจริญรอยนายล้ำอย่างใกล้ชิด
       ตัวละครในเรื่องเห็นแก่ลูกมีบุคลิกลักษณะพิเศษเฉพาะของตนเอง แต่ละตัวได้ทำ ได้พูดและได้คิดอย่างมีชีวิตจิตใจทั้งนี้เพราะองค์ผู้ทรงพระราชนิพนธ์ได้กำหนดบทสนทนาอันเหมาะสมให้แก่ตัวละครนั้น ๆ ถึงแม้จะเจรจากันเพียงไม่กี่ประโยคก็ทำให้ทราบอัธยาศัยใจคอของผู้พูดได้ทันที เช่น อ้ายคำมีบทเจรจาน้อยที่สุด ลออรองลงมา แต่ทุกคนก็ทราบได้ดีว่าอ้ายคำเป็นคนซื่อสัตย์ต่อนายแต่ไม่มีไหวพริบ ลออเป็นคนอ่อนหวานแจ่มใสร่าเริงน่ารักน่าเอ็นดูมากเพียงไร
       เรื่องเห็นแก่ลูกประกอบด้วยเหตุการณ์สะเทือนใจหลายตอนที่รุนแรง ได้แก่ ตอนพระยาภักดีฯ จะใช้แส้ม้าบังคับให้นายล้ำออกจากบ้านไป ทุกคนพลอยใจหายใจคว่ำไปกับเหตุการณ์ตอนนี้ ถ้าพระยาภักดีฯ ตีนายล้ำด้วยแส้จริง ๆ ทุกคนจะต้องหลับตานึกล่วงหน้าไปว่านายล้ำจะต่อสู้ป้องกันตัวหรือไม่เพียงใด ตอนที่อ่อนหวานที่สุดเห็นจะเป็นตอนที่ลออเข้ามามีบทบาทเป็นการผ่อนคลายอารมณ์ซึ่งกำลังเคร่งเครียดกับเหตุการณ์ที่เพึ่งผ่านไปลงได้อย่างมากและขณะที่กำลังอิ่มเอมเปรมใจอยู่กับความแช่มช้อยของลออ ความเศร้าจนตื้นตันใจก็เข้ามาแทนที่ความสำนึกผิดชอบของนายล้ำในตอนท้ายสามารถเรียกร้องความเห็นใจจากทุกคนคำพูดและท่าทางของนายล้ำภายหลังที่ได้เปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดอย่างกับหน้ามือเป็นหลังมือจะตรึงอยู่ในความทรงจำของเราไม่รู้ลืม
       เรื่องเห็นแก่ลูกจบลงอย่างเหมาะสมที่สุดเป็นการแสดงให้เห็นพระปรีชาญาณขององค์ผู้ทรงพระราชนิพนธ์ที่ทรงเข้าพระทัยถึงสภาพอันแท้จริงของจิตใจมนุษย์ว่าผู้เป็นบิดาถึงจะเลวแสนเลวในด้านอื่นก็ตามแต่ในส่วนลึกของหัวใจย่อมแฝงไว้ซึ่งความเห็นแก่ลูก จากทั้งหมดที่กล่าวมาจึงเห็นได้ว่าลักษณะเด่นที่สุดของเรื่องเห็นแก่ลูก คือแนวคิดที่แสดงคติธรรมที่ว่าไม่มีความรักใดที่บริสุทธิ์และยิ่งใหญ่เท่ากับความรักของบุพการีที่มีต่อลูก สัญชาตญาณของมนุษย์ประการนี้เป็นความจริงตลอดมาและเป็นปัจจัยสำคัญที่คอยค้ำจุนสังคมมนุษย์ให้พัฒนามาได้จนทุกวันนี้
       ความดีเด่นของเรื่องเห็นแก่ลูกเท่าที่พรรณนามาจะไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ถ้าไม่ได้กล่าวถึงคติธรรมซึ่งเป็นพระราชประสงค์อันแท้จริงขององค์ผู้ทรงพระราชนิพนธ์ที่ให้ข้อคิดประการสำคัญเกี่ยวกับความรักว่าไม่มีความรักใดที่บริสุทธิ์และให้ความชุ่มชื่นแก่ชีวิตเท่ากับความรักตามธรรมชาติระหว่างผู้บังเกิดเกล้ากับลูก



   ๒. การพิจารณาส่วนประกอบของหนังสือ
   หนังสือทั่วไปประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ซึ่งช่วยเพิ่มความเข้าใจเนื้อหาของเรื่อง ดังนี้
       ๑. ชื่อเรื่องหรือชื่อหนังสือ จะบอกสาระของเรื่อง
       ๒. ชื่อผู้แต่ง แสดงภูมิหลังทางความรู้
       ๓. สถานที่พิมพ์ สำนักพิมพ์ หรือโรงพิมพ์ แต่ละแห่งจะมีศักยภาพในการพิมพ์ที่แตกต่างกัน
       ๔. ครั้งที่พิมพ์และปีที่พิมพ์ หนังสือที่พิมพ์ล่าสุดย่อมมีความถูกต้องมากกว่า
       ๕. จำนวนหน้า แสดงความละเอียดของเนื้อหา
       ๖. ราคา โดยทั่วไปยิ่งแพงยิ่งมากคุณภาพ ยกเว้นบางกรณี เช่น หนังสือของส่วนราชการหรือองค์กรที่มักจัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่ในราคาถูกหรือให้เปล่า
       ๗. ส่วนประกอบเนื้อเรื่อง ถ้ามีส่วนนี้มากก็จะช่วยให้อ่านเข้าใจง่าย เช่น คำนำ สารบัญ จะช่วยแสดงรายละเอียดของหนังสือ ภาพประกอบ แผนภูมิ ตาราง จะขยายความเนื้อเรื่องให้ชัดเจนขึ้น ศัพทานุกรม จะช่วยอธิบายศัพท์ที่เข้าใจยาก ดัชนี จะแสดงรายละเอียดของเรื่องที่ปรากฏในหน้าต่าง ๆ ภาคผนวก จะให้ความรู้ในส่วนที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม และบรรณานุกรม จะแสดงรายการอ้างอิงต่าง ๆ ที่ผู้เขียนนำมาใช้


   การอ่านเพื่อบรรณนิทัศน์ (Annotation)
   บรรณนิทัศน์ คือ คำอธิบายสาระสำคัญของหนังสือโดยย่อ เพื่อให้ผู้อ่านรู้เนื้อหาโดยสังเขปและใช้ร่วมกับระบบห้องสมุดเพื่อความสะดวกในการสืบค้น โดยบรรณนิทัศน์จะบอกส่วนต่าง ๆ ของหนังสือ ดังนี้
   ส่วนประกอบของบรรณนิทัศน์ ได้แก่ ชื่อผู้แต่ง, ชื่อเรื่องหรือชื่อหนังสือ (กรณีที่เรื่องที่อ่านเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือต้องบอกทั้งชื่อเรื่องและชื่อหนังสือ), สถานที่พิมพ์, สำนักพิมพ์หรือโรงพิมพ์, ครั้งที่พิมพ์ (ถ้ามี), ปีที่พิมพ์, จำนวนหน้า, ราคา และข้อความ


   ลักษณะข้อความในบรรณนิทัศน์ ควรมีดังนี้
   ๑. บอกประเภทของเรื่องว่าเป็นบทความ สารคดี เรื่องสั้น บทละครพูด บทร้อยกรอง
   ๒. บอกเนื้อเรื่องโดยสังเขป
   ๓. บอกส่วนประกอบที่ควรทราบ
   ๔. บอกส่วนดี ส่วนบกพร่อง และคุณค่าที่แท้จริงของหนังสือโดยปราศจากอคติ
   ๕. ใช้สำนวนภาษาที่เข้าใจง่าย
   ๖. มีความยาวพอสมควร
   การเรียงลำดับรายการในบรรณนิทัศน์ มีลำดับและการใช้เครื่องหมายวรรคตอนแตกต่างกันตามประเภทของเรื่อง ดังนี้
   หนังสือเล่ม
   ผู้แต่ง. ชื่อหนังสือ. เล่มที่ (ถ้ามี). ครั้งที่พิมพ์ (ถ้ามี). สถานที่พิมพ์: สำนักพิมพ์หรือโรงพิมพ์, ปีที่พิมพ์, จำนวนหน้า, ราคา.
   เนื้อเรื่องย่อ....

ตัวอย่างการเขียนบรรณนิทัศน์หนังสือเล่ม
       พระคลัง (หน), เจ้าพระยา. ราชาธิราช. พิมพ์ครั้งที่ ๖. พระนคร: ศิลปาบรรณาคาร, ๒๕๑๒, จำนวน ๖๗๒ หน้า, ราคา ๔๕ บาท.
       เป็นความเรียงดำเนินเรื่องพิสดารออกไปจากพงศาวดารมอญมาก ตอนต้นกล่าวถึงการสร้างเมืองเมาะตะมะ กำเนิดมะกะโท ความสัมพันธ์ระหว่างมะกะโทกับพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ตอนที่สองกล่าวถึงกำเนิดพระเจ้าราชาธิราช (พระยาน้อย) การทำสงครามระหว่างพระเจ้าราชาธิราชกษัตริย์มอญกับพระเจ้ามณเฑียรทอง (ฝรั่งมังฆ้อง) กษัตริย์พม่าฝ่ายมอญได้อาศัยความสามารถของอำมาตย์และนายทหารสำคัญ เช่น อำมาตย์ทินมณีกรอดสมิงพ่อเพชรสมิงพระราม สมิงนครอินทร์และพลายประกายมาศซึ่งเป็นช้างแสนรู้รักคนเลี้ยง ส่วนใหญ่ฝ่ายมอญมีชัยชนะ ตอนสุดท้ายกล่าวถึงการรักษาอำนาจและแผ่อำนาจของพระเจ้ามหาปิฎกธรกษัตริย์มอญด้วยสติปัญญา บ้านเมืองว่างศึกพระเจ้าเชียงใหม่ถวายพระราชธิดาเป็นอัครมเหสี ต่อมาประสูติพระโอรสชิวหาเป็นปานดำทรงนามว่ามณีนิล บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข
       ราชาธิราชเป็นวรรณกรรมแปลใช้สำนวนโวหารสละสลวยเช่นเดียวกับเรื่องสามก๊ก เนื้อเรื่องเกี่ยวกับชั้นเชิงภูมิปัญญาทางการรบและการเมืองเป็นที่ติดใจคนทั่วไปมีการนำบางตอนไปผูกเป็นบทละครบทลิเก และบทมโหรี


   บทความหรือเรื่องย่อยในหนังสือรวมเรื่อง
   ผู้เขียนบทความหรือเรื่องย่อย. ชื่อบทความหรือเรื่องย่อย. ในชื่อหนังสือ. ครั้งที่พิมพ์. เลขหน้า. ชื่อผู้รวบรวมเรื่องหรือจัดพิมพ์. สถานที่พิมพ์: สำนักพิมพ์หรือโรงพิมพ์, ปีที่พิมพ์, จำนวนหน้า, ราคา.
   เนื้อเรื่องย่อ....

ตัวอย่างการเขียนบรรณนิทัศน์บทความ
       ศิราพร ณ ถลาง. ชาดกพื้นบ้านในการรับรู้ของชนชาติไท. ในภาษาไทยและวรรณคดีไทย. หน้า ๒๑๗–๒๒๘. ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๒, ๒๘๗ หน้า, ราคา ๑๒๐ บาท.
       ชาดกพื้นบ้านในการรับรู้ของชนชาติไทเป็นบทความจากการศึกษาเกี่ยวกับชาดกพื้นบ้านที่คนไทยในประเทศไทยและคนไทใหญ่ ไทเขิน ไทลื้อ ไทยวนล้านนา ไทอีสาน และลาวรับรู้ร่วมกัน ในตอนต้นของบทความเป็นบทคัดย่อและความนำของเรื่อง เนื้อหาบทความกล่าวถึงความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับนิทานชาดกแล้วกล่าวถึงนิทานชาดกที่คนไทยและคนไทกลุ่มต่าง ๆ รับรู้ร่วมกัน ในตอนท้ายเรื่องเป็นการสรุปเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของคนไทยกับคนไทกลุ่มต่าง ๆ ที่สะท้อนให้เห็นจากนิทานชาดก
       การนำเสนอเนื้อหาของบทความด้วยการมีบทคัดย่อและความนำก่อนถึงเนื้อหา ทำให้ผู้อ่านเข้าใจความคิดรวบยอดที่ผู้แต่งต้องการนำเสนอและเข้าใจเรื่องได้ง่ายประกอบกับเนื้อเรื่องที่มีสาระน่ารู้และภาษาที่เข้าใจได้ไม่ยาก ทำให้บทความนี้เป็นบทความที่น่าสนใจ


   ๓. การพิจารณาวรรณกรรมร้อยกรอง
   วรรณกรรมร้อยกรอง คือ หนังสือที่มีลักษณะบังคับในการทางฉันทลักษณ์
   ประเภทของวรรณกรรมร้อยกรอง
   ๑. แบ่งตามลักษณะการแต่ง เช่น กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ร่าย ซึ่งแต่ละประเภทก็ยังแยกย่อยลงไปอีก เช่น กาพย์สุรางคนางค์ กลอนแปด โคลงดั้น อินทรวิเชียรฉันท์ เป็นต้น บางครั้งอาจมีการรวมร้อยกรองหลาย ๆ ประเภทไว้ด้วยกัน เช่น ลิลิต ประกอบด้วย ร่าย โคลงสอง โคลงสาม และโคลงสี่ ส่วนกาพย์ห่อโคลงและกาพย์เห่เรือ ก็ประกอบด้วยโคลงสี่สุภาพและกาพย์ยานี


   ๒. แบ่งตามวัตถุประสงค์ในการใช้
       ๒.๑ เล่าเรื่อง เล่านิทาน เช่น พระอภัยมณี เล่าเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เช่น ลิลิตตะเลงพ่าย สดุดีเฉลิมพระเกียรติ เช่น โคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์
       ๒.๒ บันทึกเหตุการณ์ เช่น โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์
       ๒.๓ พรรณนาความรู้สึก เช่น นิราศภูเขาทอง
       ๒.๔ สอน เช่น กฤษณาสอนน้องคำฉันท์
       ๒.๕ แสดงการละเล่น เช่น บทละครรำ บทพากย์โขน
       ๒.๖ เป็นบทร้อง เช่น บทมโหรีเรื่องกากี
       ๒.๗ แสดงความคิด เช่น โคลงโลกนิติ
       ๒.๘ บันทึกวิชาการ เช่น ตำรายา ตำราดูม้า


   หลักการพิจารณาบทร้อยกรอง
   ๑. รูปแบบการแต่ง ต้องพิจารณาว่าแต่งได้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์หรือไม่ สำหรับร้อยกรองปัจจุบันผู้พิจารณาต้องเข้าใจฉันทลักษณ์บทร้อยกรองในอดีตเพื่อใช้เปรียบเทียบกันว่าแตกต่างกันอย่างไร


   ๒. กลวิธีการแต่ง
       ๒.๑ การกำหนดโครงเรื่อง ในบทร้อยกรองเดิมเป็นบทละครหรือนิทาน มีตัวละครทั้งคนและสัตว์ที่พูดได้ เรื่องจะกล่าวถึงครอบครัวและความรัก เริ่มเรื่องด้วยปมปัญหาตัวละครจะใช้ธรรมะชนะอธรรมในการคลี่คลายเรื่อง ส่วนความรักจะชิงรักหักสวาทและใช้มนต์ดำ ตอนท้ายมีผู้วิเศษช่วยคลี่คลายเหตุการณ์ ส่วนบทสดุดีบุคคลจะเป็นการกล่าวยกย่อง มักกล่าวถึงการสู้รบหรือพระราชกรณียกิจที่สำคัญ โดยเปรียบเทียบกับเทพต่าง ๆ เช่น พระนารายณ์ หรือพระอิศวร นิราศจะเล่าถึงการเดินทางและใช้ฉากหรือภูมิประเทศคร่ำครวญถึงคนรักด้วยความอาลัยอาวรณ์ที่ต้องจากมา
       ๒.๒ การสร้างตัวละคร ตัวละครเอกมักเป็นคนดี มีความสามารถ มีของวิเศษหรืออาวุธประจำกาย เมื่อตกอยู่ในเวลาที่ลำบากจะมีเทวดาหรือฤๅษีมาช่วย
       ๒.๓ การสร้างฉากและบรรยากาศ ได้แก่ สถานที่ เวลา และเหตุการณ์ ซึ่งจะสร้างขึ้นจากจินตนาการหรือใช้สถานที่ที่มีอยู่จริงก็ได้


   ๓. เนื้อหาสาระ ควรดูว่าเรื่องเป็นไปในทิศทางใด เช่น สร้างสรรค์ ยกระดับจิตใจผู้อ่าน สะท้อนสังคม แสดงแง่คิดปรัชญาต่าง ๆ ทำให้รู้จักชีวิตและโลกกว้างขึ้น รู้จักวิธีอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเป็นสุข หรือฉุดจิตใจผู้อ่านให้ต่ำลง


   ๔. ความงามและความไพเราะของบทร้อยกรองมีองค์ประกอบดังนี้
       ๔.๑ คำที่เลือกสรรใช้ มักมีการเลือกใช้คำที่มีความหมายลึกซึ้ง สะเทือนอารมณ์ ไม่ใช้ภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เรียกหญิงที่รักว่าดวงใจ เยาวมาลย์ ดวงสุดา เป็นต้น

       ๔.๒ ภาพพจน์ คือ การใช้ถ้อยคำเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพและเกิดอารมณ์คล้อยตาม ได้แก่
          ๑) อุปมา จะเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งว่าเหมือนหรือคล้ายอีกสิ่งหนึ่ง มีคำเชื่อมว่า ดุจ ประหนึ่ง เหมือน เปรียบ แม้น ราวกับ เช่น


                                น้ำใจนางเปรียบอย่างชลาสัย               ไม่เลือกไหลห้วยหนองคลองละหาน
                             เสียดายทรงวิไลแต่ใจพาล                     ประมาณเหมือนหนึ่งผลอุทุมพร


                                                                                     (กากีคำกลอน ของ เจ้าพระยาพระคลัง (หน))


          ๒) อุปลักษณ์ จะกล่าวเปรียบเทียบโดยนัยให้เข้าใจเอาเอง เช่น


                                              พฤษภกาสร                       อีกกุญชรอันปลดปลง
                                           โททนต์เสน่งคง                    สำคัญหมายในกายมี
                                           นรชาติวางวาย                      มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
                                           สถิตทั่วแต่ชั่วดี                     ประดับไว้ในโลกา


                                                               (กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ของ สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส)


          ๓) อุทาหรณ์หรือเปรียบเทียบความ จะเปรียบเทียบโดยใช้สุภาษิตหรือนิทาน เช่น


                                              รู้น้อยว่ารู้มาก                      เริงใจ
                                           กลกบเกิดอยู่ใน                      สระจ้อย
                                           ไป่เห็นชเลไกล                      กลางสมุทร
                                           ชมว่าน้ำบ่อน้อย                     มากล้ำลึกเหลือ


                                                                                 (โคลงโลกนิติ ของ สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร)


          ๔) สัญลักษณ์ จะใช้คำแทนความหมายอีกสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นที่เข้าใจหรือยอมรับโดยทั่วไป เช่น


                                ในลักษณ์นั้นว่าน่าประหลาด                เป็นเชื้อชาตินักรบกลั่นกล้า
                             เหตุไฉนย่อท้อรอรา                               ฤาจะกล้าแต่เพียงวาที
                             เห็นแก้วแวววับที่จับจิต                          ไยไม่คิดอาจเอื้อมให้ถึงที่
                             เมื่อไม่เอื้อมจะได้อย่างไรมี                      อันมณีฤๅจะโลดไปถึงมือ


                                                                                                    (ท้าวแสนปม ของ รัชกาลที่ ๖)


          ๕) การเปรียบเทียบเกินจริง เพื่อสร้างอารมณ์และความรู้สึกให้ผู้อ่าน เช่น


                                ถึงต้องง้าวหลาวแหลนสักแสนเล่ม         ให้ติดเต็มตัวฉุดพอหลุดถอน
                             แต่ต้องตาพาใจอาลัยวรณ์                        สุดจะถอนทิ้งขว้างลงข้างกัน


                                                                                                      (นิราศวัดเจ้าฟ้า ของ สุนทรภู่) 

 

          ๖) บุคลาธิษฐาน กำหนดให้สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์แสดงกิริยาเหมือนมนุษย์ เช่น


                                ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว            ทั้งเกดแก้วพิกุลยี่สุ่นสี
                            จะโรยร่างห่างสิ้นกลิ่นมาลี                        จำปีเอ๋ยกี่ปีจะมาพบ
                            ที่มีกลิ่นก็จะคลายหายหอม                       จะพลอยตรอมเหือดสิ้นกลิ่นตลบ
                            ที่มีดอกก็จะวายระคายครบ                       จะเหี่ยวแห้งเซาซบสลบไป


                                                                                                               (ขุนช้างขุนแผน)


          ๗) สัทพจน์ จะเลียนเสียงธรรมชาติ ให้ความรู้สึกเหมือนได้ยินเสียงนั้นจริง ๆ เช่น


                                           วังเอ๋ยวังเวง                           หง่างเหง่ง ! ย่ำค่ำระฆังขาน
                                        ฝูงวัวควายผ้ายลาทิวากาล          ค่อยค่อยผ่านท้องทุ่งมุ่งถิ่นตน
                                        ชาวนาเหนื่อยอ่อนต่างจรกลับ      ตะวันลับอับแสงทุกแห่งหน
                                        ทิ้งทุ่งให้มืดมัวทั่วมณฑล             และทิ้งตนตูเปลี่ยวอยู่เดียวเอย 


                                                                       (กลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้า ของ พระยาอุปกิตศิลปสาร)


          ๘) นามนัย จะเรียกสิ่งหนึ่งโดยใช้คำอื่นแทน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำที่รู้จักกันโดยทั่วไป เช่น


                                       ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด             คิดถึงบาทบพิตรอดิศร
                                   โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร       แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น


                                                                                                       (นิราศพระบาท ของ สุนทรภู่)


          ๙) ปฏิพากย์ จะใช้ถ้อยคำที่ขัดแย้งกันมากล่าวอย่างกลมกลืน เพื่อเพิ่มน้ำหนักให้ความหมาย เช่น เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย
          ๑๐) ปฏิปุจฉาจะใช้ข้อความที่เป็นคำถามแต่ไม่ต้องการคำตอบ เป็นเพียงการดึงดูดความสนใจ เช่น


                                       แล้วว่าอนิจจาความรัก                  เพิ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล
                                   ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป               ที่ไหนเลยจะไหลคืนกลับมา


                                                                                                           (อิเหนา ของ รัชกาลที่ ๒)


          ๑๑) อุปมานิทัศน์ เป็นการอธิบายขยายความหรือแนะนำโดยนัยเพื่อให้ชัดเจนขึ้น เช่น นิทานเรื่องราชสีห์กับหนู แสดงให้เห็นว่าคนที่อ่อนแอก็สามารถช่วยเหลือคนที่แข็งแรงกว่าได้

 
   ๕. คุณค่าของบทร้อยกรอง
       ๕.๑ คุณค่าด้านวรรณศิลป์ คือ การพิจารณาความไพเราะของบทร้อยกรอง ความงามทางภาษา การเลือกใช้ถ้อยคำ สุนทรียรสทางเสียง ความหมาย สำนวนโวหาร ความเพลิดเพลิน ฯลฯ
       ๕.๒ คุณค่าด้านจิตใจ คือ การแฝงข้อคิดหรือแง่มุมในการดำเนินชีวิต เพื่อให้ผู้อ่านดำรงชีวิตในแนวทางที่ถูกต้อง
       ๕.๓ คุณค่าด้านความรู้ คือ การให้ความรู้ด้านภาษา ประวัติศาสตร์ และตำนานต่าง ๆ ฯลฯ
       ๕.๔ คุณค่าด้านสังคม คือ การสะท้อนปัญหาและสภาพสังคม ทำให้ผู้อ่านเข้าใจสังคมมากขึ้น
       ๕.๕ คุณค่าด้านอารมณ์ คือการให้ความเพลิดเพลิน สนุกสนาน

ตัวอย่างการพิจารณาบทร้อยกรอง


       เรื่องเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอน กำเนิดพลายงาม
       ผู้แต่งสุนทรภู่
       เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” เป็นวรรณคดีที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ ๖ ว่าเป็นยอดของกลอนสุภาพ
       เรื่องขุนช้างขุนแผนจัดเป็นนิยายพื้นบ้านขนาดยาวที่เชื่อกันว่ามีเค้าโครงเรื่องจริงจากชีวิตของชาวบ้านในจังหวัดกาญจนบุรีและสุพรรณบุรี มีการนำประวัติศาสตร์ไทยตอนที่เกี่ยวข้องกับเชียงใหม่และล้านช้างในการทำสงครามมาเป็นหลัก
       เนื้อหาของเรื่องเป็นการชิงรักหักสวาทระหว่างผู้ชายสองคน คือขุนช้างกับขุนแผนซึ่งหลงรักและปรารถนาผู้หญิงคนเดียวกันคือ นางพิมหรือนางวันทอง
       เรื่องขุนช้างขุนแผนมีขอบเขตของเรื่องราวกว้างขวางจึงมีผู้แต่งหลายคน เฉพาะตอนกำเนิดพลายงามมีสุนทรภู่เป็นผู้แต่ง ใจความสำคัญกล่าวถึงนางวันทองเมื่อขุนแผนถูกจำคุกก็ถูกขุนช้างฉุดมาอยู่ด้วยจนนางวันทองคลอดลูกชายและได้ตั้งชื่อว่า “พลายงาม” เมื่อขุนช้างรู้ว่าพลายงามไม่ใช่ลูกของตนก็พยายามลวงไปฆ่า นางวันทองจึงให้พลายงามหนีภัยจากขุนช้างโดยให้พลายงามดินทางไปหาย่าชื่อนางทองประศรี ซึ่งอยู่ที่กาญจนบุรีเมื่ออยู่กับย่าพลายงามได้มีโอกาสไปเยี่ยมบิดาคือขุนแผนที่ถูกจำคุก กลับจากเยี่ยมบิดาแล้วนางทองประศรีให้พลายงามศึกษาวิชาต่าง ๆ ของขุนแผน พออายุครบ ๑๓ ปีให้ทำพิธีโกนจุกจนผมยาวตัดผมทรงมหาดไทยแล้วก็ลาย่าไปหาบิดาหวังจะถวายตัวเป็นมหาดเล็ก เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ขุนแผน
       สุนทรภู่เป็นกวีที่ผ่านบประสบการณ์ชีวิตทั้งในด้านดีและร้ายมามาก ท่านได้สอดแทรกชีวิตของท่านไว้ในเรื่องนี้หลายตอน เช่น พลายงามกำพร้าพ่อ ซึ่งคล้ายกับชีวิตของสุนทรภู่ที่พ่อและแม่หย่าร้างกันตั้งแต่ท่านยังเด็ก สุนทรภู่อยู่กับแม่ซึ่งมีสามีใหม่ ตอนหลังสุนทรภู่ได้เดินทางไปเยี่ยมพ่อซึ่งบวชอยู่ที่เมืองแกลง และตอนขุนแผนติดคุกใกล้เคียงกับชีวิตจริงของสุนทรภู่ที่ต้องจำคุกเพราะเมาสุราและทำร้ายญาติผู้ใหญ่
       สาระสำคัญของเสภาขุนช้างขุนแผนตอนนี้ได้แสดงถึงความสำคัญของการศึกษา เช่น เมื่อนางวันทองจำเป็นต้องให้พลายงามไปอยู่กับย่าที่กาญจนบุรีนางสอนลูกว่า


                               “อุตส่าห์ไปให้ถึงเหมือนหนึ่งว่า               ให้คุณย่าเป็นอาจารย์สอนอ่านเขียน”


       เมื่อนางทองประศรีนำวิชาความรู้ของขุนแผนมาสอนพลายงามก็ยังเน้นให้เห็นความสำคัญของการศึกษาอีกว่า


                                “ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ                    เจ้าจงอุตส่าห์ทำสม่ำเสมียน”


       เมื่อพลายงามได้พบขุนแผนขุนแผนก็ยังสอนพลายงามอีกว่า


                               “แล้วลูบหลังสั่งความพลายงามน้อย        เจ้าจงค่อยร่ำเรียนเขียนคาถา
                             รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา                                      ไปเบื้องหน้าเติบใหญ่จะให้คุณ”


       การดำเนินเรื่องเป็นไปเพลิดเพลินมีครบทุกรสชาติ ทั้งรัก โศกโกรธ ตลกขบขัน ฯลฯ ทั้งนี้สุนทรภู่สามารถได้สร้างฉากและบรรยากาศได้อย่างเหมาะสมกลมกลืนกับเรื่อง เช่น ตอนนางวันทองตามหาพลายงาม เมื่อถูกขุนช้างลวงไปฆ่าในป่าดังนี้


                              “ตะโกนเรียกพลายงามทรามสวาท           ใจจะขาดคนเดียวเที่ยวตามหา
                            สะอื้นโอ้โพล้เพล้เดินเอกา                        สกุณานอนรังสะพรั่งไพร
                            เห็นฝูงนกกกบุตรยิ่งสุดเศร้า                      โอ้ลูกเราไม่รู้ว่าอยู่ไหน
                            ชะนีโหวยโหยหวนรัญจวนใจ                     ยิ่งอาลัยแลหาน้ำตานอง”


       สุนทรภู่สร้างลักษณะนิสัยของตัวละครทุกตัวให้มีความสมจริง เช่น พ่อเลี้ยงอย่างขุนช้างที่เกลียดชังลูกเลี้ยงซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง ความห่วงหาอาทรระหว่างแม่กับลูกที่ต้องจากกัน ลักษณะนิสัยเด็กที่อารมณ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็วดังเช่นพลายงามที่ร้องไห้คร่ำครวญหาแม่โศกเศร้าระหว่างการเดินทางและกลายเป็นสนุกเมื่อได้พบเพื่อนและปีนขึ้นต้นมะยม
เสภาขุนช้างขุนแผนตอนกำเนิดพลายงามมีกลวิธีการแต่งที่ดีเด่นหลายประการ เช่น


       ๑. กระบวนกลอนไพเราะมีสัมผัสในทั้งสัมผัสสระและพยัญชนะ


                              “แม่รักลูกลูกก็รู้อยู่ว่ารัก                          คนอื่นสักหมื่นแสนไม่แม้นเหมือน
                            จะกินนอนวอนว่าเมตตาเตือน                   จะจากเรือนร้างแม่ไปแต่ตัว”


       ๒. สำนวนโวหารสะเทือนใจทั้งรัก น้อยใจ อาลัย โกรธ ฯลฯ เช่น
       น้อยใจพลายงามน้อยใจที่ขุนช้างไม่รักตน


                              “เสียแรงลูกผูกใจจะได้พึ่ง                      พ่อโกรธขึ้งสิ่งใดเป็นใหญ่หลวง
                           โอ้มีพ่อก็ไม่เหมือนเพื่อนทั้งปวง                  มีแต่ลวงลูกรักไปหักคอ”


       อาลัยนางวันทองและพลายงามต้องจากกันอย่างอาลัยอาวรณ์ซึ่งกันและกัน


                              “เหลียวหลังยังเห็นแม่แลเขม้น                แม่ก็เห็นลูกน้อยละห้อยหา
                            แต่เดี๋ยวเดี๋ยวเลี้ยวลับวับวิญญาณ์              โอ้เปล่าตาต่างสะอื้นยืนตะลึง”


       โกรธนางวันทองโกรธขุนช้างที่ลูกชายหายไปแต่ขุนช้างที่รู้สึกเดือดร้อน


                              “วันนี้ค่ำจำจะไปให้ถึงบ้าน                     สับกระบาลหัวเชือดให้เลือดไหล
                             ลูกผู้ชายตายไหนก็ตายไป                      แล้วขัดใจฮึดฮัดกัดฟันฟาง”


       ๓. การพรรณนาเห็นภาพพจน์ เช่น


                              “ดูครึ้มครึกพฤกษาป่าสงัด                     ไม่แกว่งกวัดก้านกิ่งประวิงไหว
                            จิ้งหรีดร้องก้องเสียงเคียงเรไร                   ทั้งลองในเรื่อยแร่แวแววับ
                            ดุเหว่าร้องมองเมียงเสียงว่าแม่                  ยืนชะแง้แลดูเงี่ยหูตรับ
                            อยู่นี่แน่แม่จ๋าจงมารับ                               วิ่งกระสับกระสนวนเวียนไป”

 

       เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอน กำเนิดพลายงาม ได้ถูกนำมาอ่านประกอบการเรียนวิชาภาษาไทยหลายต่อหลายครั้งทั้งนี้เป็นเพราะมีคุณค่าในหลายประการ นอกจากคุณค่าทางการประพันธ์ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นยังมีคุณค่าอีก เช่น
       ๑. ให้ความรู้เรื่องวัฒนธรรมและประเพณีไทยเรื่องต่าง ๆ เช่น การรับขวัญ การตัดจุก การศึกษา การรับราชการ ฯลฯ
       ๒. ได้ศึกษาสังคมไทยในอดีตในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ค่านิยม ความเชื่อต่าง ๆ 
       ๓. ให้ข้อคิดคติธรรมเพื่อเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต เช่น


                               “รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา                                 ไปเบื้องหน้าเติบใหญ่จะให้คุณ”


                               “โบราณท่านสมมติมนุษย์นี้                   ยากแล้วมีใหม่สำเร็จถึงเจ็ดหน
                             ที่ทุกข์โศกโรคร้อนค่อยผ่อนปรน              คงจะพ้นโทษทัณฑ์ไม่บรรลัย”


       ๔. ให้ความรู้ภาษาลาวและภาษามอญ มีภาษาลาวและภาษามอญที่ปรากฏในตอนนี้ เช่น

                          ภาษาลาว                                                    ภาษามอญ
                   เมื้อ แปลว่า ไป, กลับ                               ย่องกะเหนาะ    แปลว่า  เหมือนอย่างนี้
                   อึด     ”       อด                                       ย่ายเตาะ              ”       พวกเรา, พี่น้อง
                   เผือ    ”       ฉัน, เรา                                ออระหน่าย           ”       พ่อ (คำเรียกผู้ชาย)
                   เมิน    ”       ช้านาน                                 กกกะเนียงเกรียง   ”       เรียกให้กลับ
                   พ้อม   ”       ภาชนะสานขนาดใหญ่            เกลิง                   ”       มา
                                    สำหรับบรรจุข้าวเปลือก           จะเปิง                  ”       กินข้าว

 

มารยาทในการอ่านและนิสัยรักการอ่าน
   มารยาทในการอ่าน
       ๑. ไม่อ่านเสียงดังรบกวนผู้อื่น
       ๒. ไม่ทำลายหนังสือโดยการขูด ขีด หรือฉีกหน้าหนังสือ หากต้องการข้อมูลควรถ่ายเอกสาร
       ๓. ไม่ใช้สถานที่อ่านหนังสือทำกิจกรรมอื่น เช่น นอนหลับ รับประทานอาหารหรือหยอกล้อกัน
       ๔. เมื่ออ่านหนังสือเสร็จแล้วควรเก็บเข้าที่เดิม
       ๕. เลือกอ่านหนังสือที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม
       ๖. เมื่อคัดลอกข้อมูลของผู้อื่นมาอ้างอิง ควรอ้างแหล่งที่มาเพื่อเป็นการให้เกียรติผู้เขียน


   นิสัยรักการอ่าน
       ๑. เข้าร่วมกิจกรรมการอ่านอยู่เสมอ
       ๒. เลือกอ่านหนังสือที่ตนเองชอบ จึงจะอ่านได้อย่างต่อเนื่องและไม่เบื่อหน่าย
       ๓. เริ่มอ่านหนังสือจากระยะเวลาสั้น ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มเวลาในการอ่าน
       ๔. มีสมาธิในการอ่าน เพื่อจับใจความหรือสารประโยชน์ของเรื่อง
       ๕. จดบันทึกเรื่องที่อ่านไว้สำหรับทบทวน นำไปศึกษาเพิ่มเติมหรือใช้อ้างอิง
       ๖. จัดตารางเวลาอ่านหนังสือเป็นประจำเพื่อให้เกิดความเคยชิน และเกิดเป็นนิสัยรักการอ่าน



สรุป
   การอ่านออกเสียงใด ๆ ให้น่าฟัง ผู้อ่านต้องอาศัยความรู้และการฝึกฝนจึงจะทำให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์คล้อยตามได้ ส่วนการอ่านเพื่อพิจารณาคุณค่าหนังสือ ผู้อ่านต้องมีความเข้าใจองค์ประกอบและกลวิธีการแต่งหนังสือประเภทต่าง ๆ จึงจะสามารถจับใจความสำคัญ สรุปความ ประเมินค่า และวิจารณ์ติชมเรื่องได้




แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th