ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
1. ปัญหาสิ่งแวดล้อมในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้
ปัญหาสิ่งแวดล้อมในทวีปอเมริกาเหนือ ได้แก่
1. การตัดไม้ทำลายป่า มีผลกระทบโดยตรงต่อการสูญพันธุ์และการลดจำนวนของสัตว์ป่า รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและทำให้ปัญหามลพิษ
2. การเกษตรที่ผิดวิธีและการขยายตัวของพื้นที่ การพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรทำให้ดินและน้ำเกิดความเสื่อมโทรม ส่วนการเกษตรได้ขยายตัวของพื้นที่ ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย ทรัพยากรดินเสื่อมโทรม สัตว์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพถูกคุกคาม
3. การขยายตัวของเขตเมืองและพื้นที่อุตสาหกรรม ส่งผลให้มีขยะของเสียจากบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น เกิดมลพิษทางน้ำ และที่อยู่ของสัตว์ป่าลดลง ขณะที่มีการขยายตัวของเขตเมืองและการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชากรมีปัญหาสุขภาพ
4. สัตว์ทะเลลดลง เกิดจากการจับสัตว์น้ำด้วยวิธีการที่รุนแรงและปัญหามลพิษทางน้ำ
5. ฝนกรด ในทวีปอเมริกาเหนือเกิดจากก๊าซไนโตรเจนที่ได้จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของรถยนต์ และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม
6. สารเคมีและของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ใน ค.ศ. 2004 โรงงานอุตสาหกรรมในทวีปอเมริกาเหนือปล่อยสารเคมีและขยะมากถึง 5 ล้านตัน แม้ว่าต่อมาจะมีปริมาณสารลดลง แต่ยังคงมีผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด
7. ปัญหามลพิษทางน้ำ ในทวีปอเมริกาเหนือมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มของจำนวนประชากร ทำให้มีการปล่อยของเสียและเกิดความต้องการใช้พลังงานมากขึ้น
8. ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก ทวีปอเมริกาเหนือปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง สาเหตุมาจาก การใช้และการผลิตไฟฟ้า ไอเสียจากระบบคมนาคม และการเผาไหม้เชื้อเพลิง ทำให้เกิดคลื่นความร้อน ภัยแล้ง พายุเฮอร์ริเคน ธารน้ำแข็งละลายและชายฝั่งถูกกัดเซาะ
9. ปัญหาคราบน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก เกิดเหตุระเบิดที่แท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัท บริติช ปิโตรเลียม หรือบีพี กลางอ่าวเม็กซิโก ทำให้น้ำมันดิบรั่วไหลลงสู่อ่าว ส่งผลกระทบต่อหญ้าทะเล ระบบนิเวศ ตลอดจนการประมงในรัฐลุยเซียนา อีกทั้งยังทำให้ราคาน้ำมันในตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นรวดเร็ว
ปัญหาสิ่งแวดล้อมในทวีปอเมริกาใต้ ได้แก่
1. การตัดไม้ทำลายป่า เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ขยายพื้นที่ทางการเกษตร และการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้ ทรัพยากรดิน น้ำ และอากาศเสื่อมโทรม ขาดแคลนแหล่งต้นน้ำ และสัตว์ป่าสูญพันธุ์
2. การขยายตัวของเขตเมืองและอุตสาหกรรม เกิดจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและส่วนใหญ่มีความยากจน
3. มลพิษในดินและการพังทลายของหน้าดิน เกิดจากการทำเกษตรยังขาดประสิทธิภาพและใช้สารเคมีจำนวนมาก ส่งผลให้ดินเสื่อมสภาพและเกิดสารพิษตกค้าง
4. การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าและเผาป่า ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
2. สิ่งแวดล้อมใหม่ทางสังคมในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้
สิ่งแวดล้อมใหม่ทางสังคมในทวีปอเมริกาเหนือ กลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีบทบาททำให้เกิดความตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งแวดล้อมใหม่ทางสังคมของทวีปอเมริกาเหนือส่วนใหญ่มาจากการพัฒนาของเทคโนโลยีในอดีต สรุปได้ดังนี้
1. อาคารสีเขียว เป็นการพัฒนาอาคารให้ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยสร้างจากวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ มีระบบที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ และประหยัดพลังงาน ผลการดำเนินงานพบว่าในปีเดียวกันนี้อาคารสีเขียวในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก ส่วนใหญ่ช่วยลดการใช้พลังงานได้ร้อยละ 35 ลดการใช้น้ำประมาณร้อยละ 50 และลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะได้ถึงร้อยละ 90
2. ชาวต่างถิ่นในสหรัฐอเมริกา การเพิ่มจำนวนประชากรก่อให้เกิดการผสมผสานทางสังคมและวัฒนธรรมจนเกิดคนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกผสม ซึ่งโอกาสทางการศึกษาทำให้กลุ่มลูกผสมมีโอกาสแสดงความสามารถจนเป็นที่ยอมรับ
3. สำนึกสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ชาวอเมริกันส่วนใหญ่หันมาสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความนิยมสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
4. การเกษตรอินทรีย์ มีคุณสมบัติต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืช และทนต่อสภาพดินเสื่อมโทรมและความแห้งแล้งได้ดี ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในทวีปอเมริกาเหนือ
สิ่งแวดล้อมใหม่ทางสังคมในทวีปอเมริกาใต้
1. ชุมชนแออัด เกิดจากการเจริญเติบโตของเขตเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาสังคม คือ เกิดพื้นที่ชุมชนแออัดหรือสลัม
2. เส้นทางคมนาคมในเขตป่าฝน
3. การเกษตรอินทรีย์ จากผลกระทบของสารเคมีทางการเกษตร ทำให้เกษตรกรในทวีปอเมริกาใต้ปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกมาเป็นการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมมากขึ้น
3. แนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้
การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทวีปอเมริกาเหนือ
1. การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ตั้งแต่ ค.ศ. 1991ทั้ง 2 ประเทศพยายามลดระดับการขยายตัวของฝนกรด ด้วยการทำสนธิสัญญาเพื่อลดจำนวนรถยนต์และเปลี่ยนมาใช้รถที่ใช้พลังงานหมุนเวียน มีการออกกฎหมายเพื่อลดมลพิษในกลุ่มทะเลสาบเกรตเลกส์ เพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ และเชื่อมโยงอุทยานต่าง ๆ เพื่ออพยพสัตว์ป่า
2. พลังงานทดแทนในทวีปอเมริกาเหนือ สหรัฐอเมริกาและแคนาดามีการใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ ได้แก่ เอทานอล มากที่สุดในทวีปนี้
3. สหรัฐอเมริกากับการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน มีร่างกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกและการใช้พลังงานสะอาดของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีสาระสำคัญ 2 ประการ คือ กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 17 จากระดับใน ค.ศ. 2005 ให้ได้ภายใน ค.ศ. 2020 และ กำหนดให้ตั้งแต่ ค.ศ. 2020 ต้องมีมาตรการภาษีต่อสินค้าบางประเภทที่มาจากประเทศที่ไม่ได้มีการกำหนดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
หลังเสร็จสิ้นการประชุมเจรจาอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อวันที่ 17-18 ธันวาคม ค.ศ. 2009 ประเทศต่าง ๆ ตั้งข้อสังเกต เนื่องจากสหรัฐอเมริกายังคงยืนกรานว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 17 ซึ่งเพิ่มขึ้น แค่ร้อยละ 4 เท่านั้น และมีท่าทีไม่รับพิธีสารโตเกียว รวมทั้งเรียกร้องให้จีนและอินเดียร่วมรับผิดชอบในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังไม่กล่าวถึงเรื่องเงินสนับสนุนในการรับมือกับปัญหาของประเทศด้อยพัฒนา
4. การลดปัญหาชุมชนแออัดในเมืองเม็กซิโกซิตี ด้วยการสนับสนุนการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มรายได้จากภาคบริการ ลดอัตราการว่างงาน สนับสนุนระบบเกษตรเพื่อให้ประชาชนกลับสู่ถิ่นฐาน ลดจำนวนรถยนต์ เพิ่มเส้นทางคมนาคมและรถสาธารณะ ปรับเปลี่ยนระบบขนส่งน้ำ และวางแผนปลูกต้นไม้ในเขตเมือง
การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทวีปอเมริกาใต้
1. พลังงานทดแทนในประเทศบราซิล มีการออกแบบรถยนต์เพื่อใช้กับเอทานอล และต่อมาได้มีการออกแบบรถยนต์ที่สามารถใช้ทั้งน้ำมันและเอทานอลเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งได้รับความนิยมจากชาวบราซิลมาก
2. การลดอัตราการทำลายพื้นที่ป่าฝน ในเขตป่าแอมะซอนพยายามลดอัตราการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อลดความแออัดของชุมชนและให้ประชาชนมีส่วนร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
3. บทบาทของทวีปอเมริกาใต้ในการลดภาวะโลกร้อน หลังสิ้นสุดการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้ตกลงจะลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 39 และลดการทำลายพื้นที่ป่าแอมะซอน
แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th