บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง ทวีปอเมริกาเหนือ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 1M views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้






1. ลักษณะทางกายภาพของทวีปอเมริกาเหนือ
          ทวีปอเมริกาเหนือเป็นดินแดนที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักเดินเรือชาวอิตาลีค้นพบเมื่อ ค.ศ. 1492 โดยบริเวณที่ค้นพบคือ หมู่เกาะเวสอินดีส เชื่อกันว่ามีมนุษย์เข้าไปตั้งหลักแหล่งอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือเมื่อประมาณ 30,000 ปีมาแล้ว โดยอพยพมาจากไซบีเรียผ่านช่องแคบเบริงเข้าสู่ทะเลอะแลสกาแล้วจึงขยายเผ่าพันธุ์ไปทั่วทั้งทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ดังที่ปรากฏร่องรอยของอารยธรรมหลายแห่ง





ที่ตั้ง อาณาเขต และขนาด
          ทวีปอเมริกาตั้งอยู่ในซีกโลกเหนือ มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
                    ทิศเหนือ จดมหาสมุทรอาร์กติก น่านน้ำทางทิศเหนือ ได้แก่ ทะเลโบฟอร์ต อ่าวแบฟฟิน อ่าวฮัดสัน ช่องแคบเดวิส และทะเลแลบราดอร์ ดินแดนที่อยู่ทางตอนเหนือสุด คือ แหลมมอร์ริสเจซัป ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะกรีนแลนด์
                    ทิศตะวันออก จดมหาสมุทรแอตแลนติก ดินแดนทางตะวันออกสุดในส่วนภาคพื้นทวีป คือ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของชายฝั่งแลบราดอร์ในประเทศแคนาดา
                    ทิศใต้ ติดต่อกับทวีปอเมริกาใต้ มีคลองปานามาเป็นแนวแบ่งเขตทวีป ดินแดนทางใต้สุด ได้แก่ บริเวณทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศปานามา
                    ทิศตะวันตก จดมหาสมุทรแปซิฟิก ทางตอนเหนือของทวีปมีช่องแคบเบริงคั่นระหว่างทวีปอเมริกาเหนือกับเอเชีย ดินแดนทางตะวันตกสุดของภาคพื้นทวีป คือ แหลมพรินซ์ออฟเวลส์ รัฐอะแลสกา ประเทศสหรัฐอเมริกา
          ทวีปอเมริกาเหนือ มีเนื้อที่ 24,247,039 ตารางกิโลเมตร รูปร่างของทวีปคล้ายกับรูปสามเหลี่ยมหัวกลับ





การแบ่งภูมิภาคของทวีปอเมริกาเหนือ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
          1. แองโกลอเมริกา ได้แก่ ดินแดนที่อยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำรีโอแกรนด์ขึ้นไป ประกอบด้วยประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ประชากรส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชาวอังกฤษ
          2. ลาตินอเมริกา ได้แก่ ดินแดนของประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำรีโอแกรนด์ลงมาประเทศในกลุ่มนี้ประกอบด้วย อเมริกากลาง ได้แก่ ประเทศเม็กซิโก เบลีซ คอสตาริกา เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส นิการากัว และปานามา และหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน ได้แก่ ประเทศบาฮามาสบาร์เบโดส คิวบา สาธารณรัฐโดมินิกัน เกรเนดา เฮติ จาเมกา แอนติกาและบาร์บูดา โดมินิกาเซนต์คิตส์และเนวิส เซนต์ลูเซีย และเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์

ลักษณะภูมิประเทศ แบ่งได้ 4 เขต ดังนี้




          1. เขตเทือกเขาสูงภาคตะวันตก ได้แก่ พื้นที่ชายฝั่งตะวันตกด้านมหาสมุทรแปซิฟิก เทือกเขาสูงภาคตะวันตกเริ่มตั้งแต่เทือกเขาตอนเหนือสุดบริเวณช่องแคบเบริงลงมาถึงประเทศปานามา และมีแนวต่อไปจนถึงเทือกเขาแอนดีสในทวีปอเมริกาใต้






          2. เขตที่ราบภาคกลาง มีอาณาเขตตั้งแต่ด้านชายฝั่งมหาสมุทรอาร์กติกตอนเหนือลงมาจนถึงอ่าวเม็กซิโก และทางตะวันตกจดแนวเทือกเขาร็อกกีมาทางตะวันออกถึงแนวเทือกเขาแอปพาเลเชียน เป็นที่ราบกว้างใหญ่ เป็นที่ราบลูกคลื่น โดยมีที่สูงอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งติดต่อกับเทือกเขาร็อกกี พื้นผิวดินในเขตนี้มี กรวด ทราย และดินเหนียว ที่เกิดจากการกระทำของธารน้ำแข็ง ที่ราบภาคกลางอาจแบ่งเป็น 6 เขตย่อย ดังนี้




                    ที่ราบลุ่มแมกเคนซี เป็นที่ราบแคบ ๆ บริเวณลุ่มแม่น้ำแกเคนซี




                    ที่ราบแพรรีแคนาดา เป็นที่ราบใหญ่ทางภาคกลางของแคนาดา




                    ที่ราบลุ่มทะเลสาบเกรตเลกส์ และลุ่มน้ำเซนต์ลอว์เรนซ์ ทะเลสาบเกรตเลกส์เป็นแหล่งน้ำที่มีอาณาเขต ติดต่อกัน ระหว่างทะเลสาบอิรีและออนแทรีโอมีน้ำตกขนาดใหญ่ชื่อ ไนแองการา และมีแม่น้ำเซนต์ลอว์เรนซ์เป็นทางระบายน้ำจากทะเลสาบเกรตเลกส์ลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก
                    ที่ราบลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี–มิสซูรี เกิดจากเขตภูเขาในสหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่ใกล้พรมแดนแคนาดาและไหลลงสู่อ่าวเม็กซิโก มีน้ำอุดมสมบูรณ์




                    ที่ราบชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกและมหาสมุทรแอตแลนติก ได้แก่ พื้นที่ชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ภูมิประ เทศทางตะวันตกของเขตนี้มีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขาแอปพาเลเชียนและลาดเทลงมากลายเป็นที่ราบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกและอ่าวเม็กซิโกทางด้านตะวันออกและทางตอนใต้ ซึ่งทางตอนใต้มีอากาศร้อน
                    ที่ราบบนที่สูง ได้แก่ พื้นที่ทางด้านตะวันออกของเทือกเขาร็อกกี เป็นเขตอับฝน
          3. เขตหินเก่าแคนาดา ได้แก่ พื้นที่บริเวณรอบ ๆ อ่าวฮัดสันลงมาถึงกลุ่มทะเลสาบเกรตเลกส์ ประกอบด้วยหินเปลือกโลกที่มีอายุเก่าแก่และผ่านการสึกกร่อนมาเป็นเวลาหลายร้อยล้านปีจึงมีแร่หลายชนิดทับถมกัน ลักษณะของพื้นที่เป็นที่ราบสูงเกือบทั้งหมดเรียกว่า ที่ราบสูงลอเรนเชียน พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยธารน้ำแข็ง บางแห่งเป็นทะเลสาบ และมีทะเลสาบแคสกิลส์ที่ตื้นเขินจนมีป่าสนขึ้น
          4. เขตภูเขาภาคตะวันออก เป็นเขตภูเขาหินเก่าและที่ราบสูง มีอาณาเขตตั้งแต่เกาะนิวฟันด์แลนด์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของแคนาดาลงมาถึงภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสูงไม่มากเพราะผ่านการสึกกร่อนมานาน

แหล่งน้ำในทวีปอเมริกาเหนือ ได้แก่
          แหล่งน้ำจืด ได้แก่
                    1. แม่น้ำ
                              แม่น้ำมิสซิสซิปปี
                              แม่น้ำมิสซูรีหรือ แม่น้ำมิสซิสซิปปี
                              แม่น้ำรีโอแกรนด์
                              แม่น้ำยูคอน
                              แม่น้ำซัสแคตเชวัน
                              แม่น้ำโคลัมเบีย
                              แม่น้ำโคโลราโด
                              แม่น้ำเซนต์ลอว์เรนซ์
                              แม่น้ำเฟรเซอร์




                    2. ทะเลสาบ มีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเกิดจากการสร้างเขื่อน ทะเลสาบขนาดใหญ่ ได้แก่ กลุ่มทะเลสาบเกรตเลกส์ ทะเลสาบวินนิเพก ทะเลสาบเกรตสเลฟ ทะเลสาบเกรตแบร์ ทะเลสาบเกรตซอลต์

ภูมิอากาศ
          ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสภาพภูมิอากาศ
                    1. ที่ตั้ง มีอาณาเขตตั้งแต่ใกล้ขั้วโลกจนถึงใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้มีภูมิอากาศทั้งเขตหนาว เขตอบอุ่น และเขตร้อน
                    2. ลักษณะภูมิประเทศ ด้านที่มีแนวเทือกเขาสูงกั้นทิศทางลมจะมีภูมิอากาศแห้งแล้งแบบทะเลทรายและทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย ส่วนด้านที่ภูเขาที่ไม่สูงมาก ซึ่งไม่ขวางกั้นทิศทางลม จะมีภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้น อุณหภูมิปานกลางและมีฝนตกตลอดปี
                    3. กระแสน้ำ ชายฝั่งตะวันออกด้านมหาสมุทรแอตแลนติกมีกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมไหลผ่านจึงทำให้ชายฝั่งด้านนี้มีภูมิอากาศไม่หนาวเย็นมากนัก ส่วนชายฝั่งแลบราดอร์ของประเทศแคนาดามีกระแสน้ำเย็นจากแถบขั้วโลกเหนือไหลผ่านและพบกับกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมแถบเกาะนิวฟันด์แลนด์ ทำให้มีหมอกจัดและมีภูเขาน้ำแข็งล่องลอยมาตามกระแสน้ำจนเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ แต่บริเวณดังกล่าวก็มีปลาชุกชุม เรียกว่า แกรนด์แบงส์ ชายฝั่งตะวันตกด้านมหาสมุทรแปซิฟิกมีกระแสน้ำอุ่นแปซิฟิกเหนือไหลผ่าน จึงมีภูมิอากาศอบอุ่น ส่วนทางตอนใต้ด้านชายฝั่งตะวันตกมีกระแสน้ำเย็นแคลิฟอร์เนียไหลเลียบชายฝั่ง ทำให้ฤดูร้อนไม่ร้อนจัด
                   4. ทิศทางลมประจำ ส่วนใหญ่เป็นลมค้าตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกเข้าสู่ทวีป นำความชื้นเข้าสู่บริเวณชายฝั่งตะวันออก
          เขตภูมิอากาศ ภูมิอากาศและพืชพรรณธรรมชาติของทวีปอเมริกาเหนือเป็น 12 เขต ดังนี้
                   1. ภูมิอากาศแบบป่าฝนเขตร้อน พืชพรรณธรรมชาติจะมีใบเขียวตลอดทั้งปี มีความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ
                   2. ภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าเมืองร้อน พืชพรรณธรรมชาติเป็นสะวันนา




                   3. ภูมิอากาศแบบทะเลทราย พืชพรรณธรรมชาติประกอบด้วยพืชจำพวกกระบองเพชร ไม้ประเภทมีหนาม และหญ้าใบแข็ง
                   4. ภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย พืชพรรณธรรมชาติเป็นทุ่งหญ้าสเตปป์
                   5. ภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้น พืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าไม้ผลัดใบชนิดมีใบกว้างและป่าไม้สนที่ไม่มีฤดูผลัดใบ ส่วนดินแดนถัดเข้าไปในทวีปจะมีฝนตกน้อยลง พืชพรรณธรรมชาติเป็นทุ่งหญ้าแพรรี
                   6. ภูมิอากาศแบบภาคพื้นสมุทรชายฝั่งตะวันตก พืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าดิบชื้นในเขตอบอุ่น ประกอบด้วยป่าไม้ผลัดใบผสมกับป่าสน และมีมอสเป็นพืชผิวดิน
                   7. ภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน พืชพรรณธรรมชาติเป็นทุ่งหญ้าสลับป่าไม้พุ่มเตี้ย เรียกว่า ป่าแคระ
                   8. ภูมิอากาศแบบชื้นภาคพื้นทวีป พืชพรรณธรรมชาติมีทั้งป่าผลัดใบชนิดใบกว้าง และป่าไม้ที่ไม่ผลัดใบชนิดที่มีใบแหลม หรือป่าสนผสมป่าไม้ผลัดใบ
                   9. ภูมิอากาศแบบกึ่งขั้วโลกหรือไทกา พืชพรรณธรรมชาติเป็นพวกป่าสน จึงเป็นแหล่งไม้เนื้ออ่อน
                   10. ภูมิอากาศแบบทุนดรา พืชพรรณธรรมชาติเป็นพวกสาหร่าย ตะไคร่น้ำ และหญ้ามอสส์
                   11. ภูมิอากาศแบบทุ่งน้ำแข็ง มีน้ำแข็งปกคลุมจนไม่มีพืชชนิดใดเจริญเติบโตได้
                   12. ภูมิอากาศแบบที่สูง พืชพรรณธรรมชาติจะน้อยลง อุณหภูมิลดลง มีหิมะตก และมีน้ำแข็งปกคลุมยอดเขาและเทือกเขาสูงอยู่ตลอดเวลา

ทรัพยากรธรรมชาติ
          1. ดิน มีดินที่ไม่เหมาะกับการเกษตร ได้แก่ ดินในเขตภูมิอากาศหนาวเย็นทางภาคเหนือของประเทศแคนาดาและรัฐอะแลสกาของประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนบริเวณอื่นมีดินที่อุดมสมบูรณ์ ส่วนในเขตลุ่มน้ำก็เป็นดินตะกอนที่เหมาะแก่การเพาะปลูก
          2. ป่าไม้ เขตป่าไม้สำคัญ ได้แก่ ป่าไม้สน ซึ่งมีทั้งป่าสนผสมป่าไม้ผลัดใบ และ ป่าไม้เมืองร้อน




          3. สัตว์ป่า ปัจจุบันสัตว์ป่าของทวีปนี้มีจำนวนลดลงทั้งชนิดและจำนวน เนื่องจากมีการบุกเบิกพื้นที่ป่ามากขึ้น
          4. พลังงาน ทวีปอเมริกาเหนือมีแหล่งพลังงานสำคัญ ได้แก่ ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ พลังงานน้ำ และ แร่




2. ลักษณะทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของทวีปอเมริกาเหนือ
          ประชากร
          จำนวนประชากรสถิติในปี ค.ศ. 2011 ระบุว่าทวีปอเมริกาเหนือมีประชากรประมาณ 544 ล้านคน อัตราความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่เท่ากับ 22 คนต่อตารางกิโลเมตร
          เชื้อชาติ
          ประกอบด้วยกลุ่มชนหลายเชื้อชาติ ดังนี้
                    1. พวกผิวเหลือง เป็นชนเผ่าดั้งเดิมที่อพยพมาจากทวีปเอเชีย




                    2. พวกผิวขาว เป็นประชากรที่อพยพมาจากทวีปยุโรป
                    3. พวกผิวดำ เป็นประชากรที่ถูกนำเข้ามาเพื่อใช้แรงงานในไร่นาของประเทศสหรัฐอเมริกา
                    4. พวกเลือดผสม เป็นพวกเลือดผสมระหว่างเชื้อชาติ




          ภาษา
          ส่วนใหญ่อยู่ในตระกูลภาษาอินโดยูโรเปียน ประกอบด้วย
                    1. กลุ่มภาษาอังกฤษ เป็นภาษาประจำชาติและภาษาราชการของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา
                    2. กลุ่มภาษาสเปน เป็นภาษาราชการของประเทศเม็กซิโกและประเทศในอเมริกากลาง
                    3. กลุ่มภาษาฝรั่งเศส ใช้กันมากในรัฐควิเบกของแคนาดา และในเฮติ

          ศาสนา
          ส่วนใหญ่นับถือคริสต์ศาสนา 2 นิกาย คือ
                    1. นิกายโปรเตสแตนต์ นับถือกันมากในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดา
                    2. นิกายโรมันคาทอลิก นับถือกันมากในรัฐควิเบกของแคนาดา กลุ่มลาตินอเมริกา และประชากรในเมืองของสหรัฐอเมริกาที่เคยเป็นอาณานิคมของสเปน
          การกระจายของประชากร ประเทศในกลุ่มแองโกลอเมริกามักอยู่ในเขตเมือง ส่วนประชากรในกลุ่มลาตินอเมริกามักอยู่ในเขตชนบท
                     1. บริเวณที่มีประชากรหนาแน่น ได้แก่ ทางภาคตะวันออกของทวีป มีปัจจัยดังนี้
                               ภูมิประเทศเป็นที่ราบ
                               ปริมาณฝนเพียงพอ
                               แร่ที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมมีจำนวนมาก
                               การคมนาคมขนส่งสะดวก







                     2. บริเวณที่มีประชากรเบาบาง ได้แก่ พื้นที่ที่มีภูมิประเทศและภูมิอากาศเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต เช่น เขตที่สูง และมีภูมิอากาศหนาวเย็น

เศรษฐกิจ อาชีพสำคัญ ได้แก่




          1. การเกษตร ประกอบด้วย
                    การเพาะปลูก พืชที่ใช้เพาะปลูก ได้แก่
                              ข้าวโพด เป็นพืชเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ปลูกมากบริเวณที่ราบภาคกลาง
                              ข้าวสาลี ปลูกมากในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา
                              ฝ้าย เป็นสินค้าออกที่สำคัญของทวีปอเมริกาเหนือ
                              ถั่วเหลือง บริเวณที่ปลูกมาก ได้แก่ เขตที่ราบภาคกลางของสหรัฐอเมริกา
                              อ้อย เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศคิวบาและหมู่เกาะเวสต์อีส
                              ผักและผลไม้ต่าง ๆ ปลูกมากในเขตร้อนของสหรัฐอเมริกา
                              ข้าวเจ้า จะปลูกในเขตที่ปลอดหิมะและมีระบบชลประทานที่ดี
                              กล้วยและกาแฟ เป็นพืชเมืองร้อนที่ปลูกมาในแถบอเมริกากลาง

                    การเลี้ยงสัตว์ สัตว์ที่นิยมเลี้ยงกันมาก ได้แก่
                              โคเนื้อ เลี้ยงกันมาในเขตอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง โดยเลี้ยงแบบคอกปศุสัตว์ขนาดใหญ่
                              โคนม แหล่งเลี้ยงโคนมที่สำคัญ ได้แก่ ที่ราบภาคกลางและภาคตะวันออก




                               สุกร เป็ด และไก่ เลี้ยงในเขตเดียวกับโคนม
                               แกะ ส่วนใหญ่เลี้ยงเพื่อใช้ขน นิยมเลี้ยงในเขตแห้งแล้งและเขตภูเขา

          2. การทำป่าไม้ ไม้สำคัญ คือ ไม้สนและไม้ผลัดใบอื่น ๆ เขตป่าไม้สำคัญอยู่ทางตะวันตกของประเทศแคนาดา
          3. การทำประมง แหล่งประมงสำคัญ ได้แก่ เขตน้ำตื้นใกล้ชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก มีกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมและกระแสน้ำเย็นแลบราดอร์ไหลมาบรรจบกัน ทำให้มีแพลงก์ตอนอุดมสมบูรณ์จึงจับปลาได้มาก
          4. การทำเหมืองแร่ ทวีปอเมริกาเหนืออุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ถ่านหิน ปิโตรเลียม เหล็ก ทองคำและเงิน ทองแดง ตะกั่ว และสังกะสี และ บ็อกไซต์
          5. อุตสาหกรรม อุดมไปด้วยทรัพยากรที่ส่งเสริมด้านอุตสาหกรรม
          6. การค้า ประเทศที่มีมูลค่าทางการค้ากับภูมิภาคอื่นมากที่สุด คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศแคนาดา ตลอดจนประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกา ยกเว้นคิวบาและนิการากัว สินค้าเข้าส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบ ส่วนสินค้าออกที่สำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ น้ำมันเชื้อเพลิง เหล็ก เหล็กกล้า ถ่านหินเครื่องจักรกล ไม้ ยาสูบ ยานยนต์ เครื่องบิน อาวุธยุทโธปกรณ์ ผลิตภัณฑ์อาหาร และเคมีภัณฑ์

การคมนาคมขนส่ง มีลักษณะดังนี้
          1. ทางบก สหรัฐอเมริกาและแคนาดามีเส้นทางกระจายติดต่อกันอย่างทั่วถึง มีทั้งทางรถยนต์ ซึ่งมีความก้าวหน้าเฉพาะในเขตเมือง และ ทางรถไฟ ส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา และมักมีอยู่อย่างหนาแน่นบริเวณชายฝั่งตะวันออกของทวีป
          2. ทางน้ำ ได้แก่ ทะเลและมหาสมุทร ประกอบด้วยเส้นทางเดินเรือทั้งด้านมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิก และ แม่น้ำ ลำคลอง และทะเลสาบ พื้นที่ที่มีเส้นทางคมนาคมประเภทนี้หนาแน่น ได้แก่ บริเวณชายฝั่งตะวันออก มีการขุดคลองที่คอคอดปานามา เพื่อใช้เป็นเส้นทางลัดระหว่างมหาสมุทรทั้งสองฝั่งโดยไม่ต้องผ่านแหลมฮอร์นในทวีปอเมริกาใต้
          3. ทางอากาศ ทวีปอเมริกาเหนือโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและแคนาดามีเส้นทาง ทางอากาศกว้างขวาง
          4. ทางท่อ ใช้เพื่อขนส่งก๊าซธรรมชาติ น้ำมันถ่านหินผง และน้ำ



 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th