บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 134.6K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้






1. การค้าระหว่างประเทศ
          ความหมายของการค้าระหว่างประเทศ การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการผ่านเขตแดนของชาติ ซึ่งการค้าระหว่างประเทศมีบทบาทต่อการพัฒนาประเทศใน 2 ลักษณะ คือ
                    1. การส่งสินค้าออก




                    2. การนำสินค้าเข้า




          สาเหตุของการค้าระหว่างประเทศ มีสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่
                    1. ความแตกต่างด้านภูมิศาสตร์
                    2. ความแตกต่างด้านทรัพยากรธรรมชาติ
                    3. ความได้เปรียบด้านการผลิต




          สาเหตุและวิธีการกีดกันทางการค้าในการค้าระหว่างประเทศ
                    ความหมายของการกีดกันทางการค้า เป็นการค้าที่มุ่งคุ้มกันตลาดสินค้าในประเทศ โดยพยายามไม่ให้ประเทศอื่นเข้ามาแข่งขันกับผู้ผลิตในประเทศ

          สาเหตุของการกีดกันทางการค้า ได้แก่
                    1. การพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศมากเกินไป ทำให้ดุลการค้ามีปัญหาและไม่สามารถทำได้ตลอด
                    2. รายได้จากการส่งสินค้าออกขึ้นอยู่กับสินค้าเพียงชนิดเดียวหรือไม่กี่ชนิด ทำให้มีความผันผวนในรายได้จากการส่งออกสินค้า
                    3. ความได้เปรียบในการผลิตที่ไม่ยั่งยืน
                    4. การแบ่งผลประโยชน์ทางการค้าไม่เท่าเทียมกัน

          วิธีการกีดกันทางการค้าในการค้าระหว่างประเทศ มีดังนี้
                    1. การผลิตสินค้าหลายชนิดหรือหลายสาขา คือ เน้นหลักการพึ่งตนเอง มีสินค้าบริโภคอย่างเพียงพอทั้งชนิดและปริมาณ
                    2. การคุ้มกันสินค้าที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ โดยใช้กำแพงภาษีขาเข้าในอัตราสูง เพื่อให้สินค้าจากต่างประเทศเข้ามาแข่งขันกับสินค้าในประเทศไม่ได้
                    3. การเก็บภาษีหลายอัตรา เพื่อกีดกันหรือให้สิทธิพิเศษกับสินค้าที่ผลิตจากประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ
                    4. การกำหนดข้อจำกัดทางการค้า เพื่อสร้างอุปสรรคในการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งวิธีกีดกันทางการค้าที่นิยมปฏิบัติ ได้แก่ มาตรการทางภาษีศุลกากร คือ ภาษีหรืออากรที่เรียกเก็บแก่ผู้ส่งสินค้าเข้ามาในประเทศ และ มาตรการอื่น

2. การลงทุนระหว่างประเทศ
          ความหมายของการลงทุนระหว่างประเทศ เป็นการเคลื่อนย้ายเงินทุน หรือ เงินกู้ ซึ่งเป็นปัจจัยในการผลิต
          ประเภทของการลงทุนระหว่างประเทศ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
                    1. การลงทุนระหว่างประเทศทางตรง มีผู้ที่ได้รับประโยชน์ ได้แก่
                              ประเทศผู้ลงทุน จะรักษาตลาดสินค้าและบริการที่ส่งออกให้มีสภาพคงเดิมหรือป้องกันการถูกกีดกันทางการค้าจากประเทศคู่ค้า และเป็นการย้ายแหล่งผลิตไปยังแหล่งที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ
                              ประเทศผู้รับการลงทุน จะเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรม เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิต แรงงานเกิดความชำนาญในการผลิตสินค้าและบริการ และมีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด




                    2. การลงทุนระหว่างประเทศทางอ้อม เป็นการลงทุนระยะสั้นเพื่อแสวงหาผลตอบแทนจากการซื้อขายหลักทรัพย์ การลงทุนประเภทนี้เหมาะกับประเทศผู้ลงทุนที่ต้องการหาผลกำไรในระยะสั้น และต้องการลดความเสี่ยงจากการร่วมลงทุนในกิจการของธุรกิจในประเทศผู้รับการลงทุน




          ประโยชน์ของการลงทุนระหว่างประเทศทางอ้อมที่สำคัญ ได้แก่
                    - จัดสรรทรัพยากรทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                    - ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
                    - ประเทศผู้รับการลงทุนมีการพัฒนาเศรษฐกิจ

3. การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
          บทบาทความสำคัญของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มีหลักการและเป้าหมายของการรวมกลุ่ม ได้แก่
                    1. การแก้ไขระบบภาษีศุลกากร เพื่อปรับปรุงระบบภาษีศุลกากรแต่ละประเทศให้เหมือนกัน
                    2. การจัดตั้งเขตการค้าเสรี เพื่อยกเลิกข้อจำกัดทางการค้า
                    3. การเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตอย่างเสรี ทำให้ปัจจัยการผลิตของประเทศสมาชิกเคลื่อนย้ายไปยังประเทศสมาชิกอื่นได้ทุกประเทศ
                    4. การกำหนดนโยบายร่วมกัน เพื่อให้นโยบายทางเศรษฐกิจสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

          ลักษณะการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ มี 5 ระดับ ดังนี้
                    1. เขตการค้าเสรี มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศสมาชิกกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากรหรือข้อจำกัดทางการค้าที่มิใช่ภาษีศุลกากรกับประเทศนอกกลุ่มได้อย่างเสรี และไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต ตลอดจนข้อตกลงด้านนโยบายทางการเมืองของกลุ่มประเทศสมาชิก
                    2. สหภาพศุลกากร คล้ายกับเขตการค้าเสรี แต่ประเทศสมาชิกจะร่วมกันกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากรในอัตราเดียวกัน
                    3. ตลาดร่วม เหมือนกับสหภาพศุลกากร แต่เคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตระหว่างประเทศได้อย่างเสรี
                    4. สหภาพเศรษฐกิจ เหมือนกับตลาดร่วม แต่ให้ประเทศสมาชิกกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจร่วมกัน
                    5. สหภาพเหนือชาติ เป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจขั้นสูงสุด มีเป้าหมายเพื่อรวมเป็นชาติเดียวกัน สหภาพจะเป็นผู้กำหนดนโยบายให้ประเทศสมาชิกดำเนินการ

          กลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ
                     กลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย เช่น
                               ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก ก่อตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2532 ณ กรุงแคนเบอร์รา ในออสเตรเลีย ซึ่งความยืดเยื้อของการเจรจาการค้าหลายฝ่ายรอบอุรุกวัย ทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียต้องพึ่งพาการค้ากัน และต้องการให้เจรจาการค้ารอบอุรุกวัยประสบผลโดยเร็ว เพื่อให้การค้ามีการเปิดเสรีจึงจัดตั้งเอเปกขึ้น ซึ่งมีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี เขตบริหารพิเศษฮ่องกง อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย ไต้หวัน และเวียดนาม




                               1. หลักการความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก มี 3 ประการ คือ
                                         - หลักการเป็นเวทีปรึกษาหารือประเด็นทางเศรษฐกิจ
                                         - หลักฉันทามติในการดำเนินการ โดยยอมรับความเสมอภาคของประเทศสมาชิก
                                         - หลักผลประโยชน์ร่วมกัน
                               2. วัตถุประสงค์ของความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก
                                         - การพัฒนาและส่งเสริมระบบการค้าในระดับพหุภาคี
                                         - การสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
                                         - การลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกทางการค้า รวมถึงการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกโดยเสรีและสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก
                               3. ผลกระทบของความร่วมมือทางเศรษฐกิจของไทยกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก สรุปได้ดังนี้
                                         - ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิก
                                         - ได้รับประโยชน์จากโครงการความร่วมมือ
                                         - ไทยมีโอกาสเจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของตน และเอเปกยังเพิ่มอำนาจต่อรองรองจากเวทีการค้าโลก
                               สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ก่อตั้งวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ในปัจจุบันมีสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา
                               1. หลักการของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีดังนี้
                                         - การให้ความเคารพแก่เอกราช อำนาจอธิปไตย
                                         - ประเทศสมาชิกมีสิทธิที่จะปลอดจากการแทรกแซงจากภายนอก
                                         - จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศสมาชิก
                                         - การยอมรับในความแตกต่างระหว่างกัน หรือแก้ปัญหาอย่างสันติ
                                         - การประณามหรือไม่ยอมรับการคุกคาม
                                         - การให้ความร่วมมือระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพ
                               2. วัตถุประสงค์ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
                                         - ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
                                         - ส่งเสริมเสถียรภาพ สันติภาพ และความมั่นคงของภูมิภาค
                                         - ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิชาการ วิทยาศาสตร์ และการบริหาร
                                         - ส่งเสริมความร่วมมือในการฝึกอบรมและวิจัย
                                         - ส่งเสริมความร่วมมือในด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม การค้า การคมนาคม การสื่อสาร และการปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีวิต
                                         - ร่วมมือกับองค์กรระดับภูมิภาคและองค์กรระหว่างประเทศ
                               3. ผลกระทบของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สรุปได้ดังนี้
                                         - ไทยได้รับประโยชน์ในด้านการเสริมสร้างความมั่นคง
                                         - เพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้ไทย
                                         - เมื่อสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้กลายเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน จะเปิดโอกาสให้สินค้า บริการ แรงงานฝีมือ และเงินทุน เคลื่อนย้ายได้เสรียิ่งขึ้น
                                         - ช่วยให้ไทยมีความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคเมื่อต้องเผชิญกับภัยคุกคาม
                                         - ช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองของไทยในเวทีโลก
                    ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งและกว้างขวางกว่าการดำเนินงานที่ผ่านมาของอาเซียน มีเป้าหมายให้บรรลุผลภายใน พ.ศ. 2563 และต่อมาผู้นำอาเซียนเร่งเวลาเป็น พ.ศ. 2558
                               1. หลักการของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือ การมุ่งให้เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจและการอำนวยความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน เพื่อให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่งคั่งและแข่งขันกับภูมิภาคอื่นได้
                               2. วัตถุประสงค์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มี 4 ประการ คือ
                                         - ส่งเสริมให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว และ มีความเสรีมากขึ้น
                                         - ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน
                                         - ลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก
                                         - ส่งเสริมการรวมตัวกับประชาคมโลก
                               3. ผลกระทบของความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศไทยกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
                                         กลุ่มประชาชน ในฐานะผู้บริโภคสินค้าและบริการ
                                                   - โอกาสเลือกซื้อหรือใช้บริการในราคาที่เป็นธรรม
                                                   - ได้รับความคุ้มครองจากการบริโภค
                                         กลุ่มเกษตรกร ในฐานะผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร
                                                   - ส่งออกสินค้าเกษตรได้มากขึ้น
                                                   - มีโอกาสสร้างเครือข่ายการผลิตในอาเซียนและได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีทันสมัย
                                         กลุ่มนักธุรกิจ ในฐานะผู้ผลิต ผู้ส่งออก-ผู้นำเข้า นักลงทุน และบุคลากรวิชาชีพ
                                                   - กระตุ้นให้มีการปรับโครงสร้างการผลิต
                                                   - ผู้ผลิตใช้ประโยชน์จากโซ่อุปทานได้
                                                   - ส่งออก - นำเข้ามีโอกาสเข้าถึงตลาดกว้างขึ้น
                                                   - นักธุรกิจมีโอกาสสร้างพันธมิตรกับผู้ประกอบการในประเทศอื่นของอาเซียน
                                                   - นักธุรกิจใช้ระบบจากระบบโลจิสติกส์ได้สะดวกและถูกลง
                                                   - นักลงทุนหรือบุคลากรวิชาชีพเข้าไปจัดตั้งธุรกิจและให้บริการในประเทศอาเซียนอื่นได้ง่ายขึ้น

          กลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรป เช่น
                    สหภาพยุโรป หรืออียู เป็นกลุ่มที่รวมองค์การทางเศรษฐกิจ 3 องค์การ คือ ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรป ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป และประชาคมพลังงานปรมาณูแห่งยุโรป เพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจยุโรป มีสมาชิก 27 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยียม อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร กรีซ โปรตุเกส สเปน ออสเตรีย ฟินแลนด์ สวีเดน ไซปรัส เช็ก เอสโตเนีย ฮังการี ลัตเวีย ลิทัวเนีย มอลตา โปแลนด์ สโลวาเกีย สโลวีเนีย บัลแกเรีย และโรมาเนีย
                              1. วัตถุประสงค์ของสหภาพยุโรป ได้แก่
                                        - การรวมระบบเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกให้เป็นหนึ่งเดียว
                                        - การยกระดับการดำรงชีวิตของประชากรยุโรป
                                        - การจัดตั้งสหภาพศุลกากรโดยขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ
                              2. ผลกระทบของความร่วมมือทางเศรษฐกิจของไทยกับสหภาพยุโรป
                                        - ไทยให้ความสำคัญกับสหภาพยุโรป เพราะสหภาพยุโรปมีอำนาจต่อรองสูงและมีบทบาทในการกำหนดทิศทางการค้าระหว่างประเทศ
                                        - สหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับประเทศไทยว่าเป็นหุ้นส่วนสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะมิติด้านการเมืองและความมั่นคง
                                        - ยุทธศาสตร์ประเทศไทยต่อสหภาพยุโรป คือ การเน้นว่าไทยยึดมั่นในคุณค่าประชาธิปไตยและระบบการค้าเสรีเหมือนสหภาพยุโรป เพื่อให้สหภาพยุโรปเชื่อมั่นและเห็นไทยเป็นหุ้นส่วนหลัก





          กลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอเมริกา จะกล่าวถึงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือซึ่งสรุปได้ดังนี้
                    เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือนาฟตา มีสมาชิก 3 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก จัดตั้งเพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้า การลงทุน และการบริการระหว่างประเทศสมาชิก และร่วมมือกันเพื่อเพิ่มมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและจัดตั้งกลไกการยุติข้อพิพาททางการค้า




                              1. วัตถุประสงค์ของเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ มีดังนี้
                                        - แสวงหาตลาดสินค้าออกในภูมิภาคอื่น
                                        - ส่งเสริมการจ้างงาน เคลื่อนย้ายแรงงานที่ผลิตสินค้าให้ราคาถูกและมีคุณภาพ
                              2. หลักการของเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ ประกอบด้วย
                                        - ลดและยกเลิกมาตรการภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษีศุลกากรระหว่างประเทศภาคี
                                        - ประเทศภาคีกำหนดอัตราภาษีอากรหรือข้อจำกัดทางการค้ากับประเทศนอกกลุ่มได้อย่างเสรี
                              3. ผลกระทบของความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศไทยกับเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ มีดังนี้
                                        - เม็กซิโกซึ่งเป็นผู้ส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปยังสหรัฐอเมริกาได้มากขึ้น ทำให้เม็กซิโกได้เปรียบไทยมากขึ้น
                                        - เนื่องจากเม็กซิโกมีค่าแรงงานถูกกว่าสหรัฐอเมริกาจึงดึงดูดให้ลงทุนและถ่ายทอดเทคโนโลยี ทำให้สินค้าเม็กซิโกมีคุณภาพและมาตรฐานสูงขึ้น เม็กซิโกจึงเป็นคู่แข่งสำคัญในการแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด
 


 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th