ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
1. การพัฒนาท้องถิ่นตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
สภาพปัญหาท้องถิ่นในปัจจุบัน ได้แก่
1. ปัญหาด้านเศรษฐกิจ
2. ปัญหาด้านสังคม เกิดจากการได้รับผลกระทบจากวัฒนธรรมภายนอกและเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับชุมชน
3. ปัญหาด้านสุขภาพ เกิดจากความยากจนและขาดความรู้
4. ปัญหาด้านภัยธรรมชาติ เป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกชุมชน แต่ละชุมชนจึงควรหาวิธีป้องกัน
5. ปัญหาด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน เกิดจากการขาดวินัยและกฎเกณฑ์ในการดำเนินชีวิตของคนไทย
แนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การสร้างแรงผลักดัน โดยมุ่งหาทางแก้ปัญหาให้แก่ตนเองและชุมชน
ขั้นตอนที่ 2 การปรับเปลี่ยน โดยมีการปรับเปลี่ยนตามขั้นตอนกระบวนการพัฒนาชุมชนที่สามารถเชื่อมโยงกับหลักการทรงงานประเด็นต่าง ๆ คือ
1. ระเบิดจากข้างใน เป็นการเสริมสร้างชุมชนท้องถิ่นให้มีความพร้อมก่อนที่จะได้รับการพัฒนา
2. แก้ปัญหาที่จุดเล็ก
3. ทำตามลำดับขั้นตอน จะต้องคำนึงถึงปัจจัยเรื่องระยะเวลาที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เกิดผลอย่างมั่นคงและยั่งยืน
4. พออยู่พอกิน
ขั้นตอนที่ 3 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับหลักการทรงงานในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1. ขาดทุนคือกำไร ประโยชน์จากการเรียนรู้ทั้งจากแหล่งภายในและนอกชุมชนท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคิดเป็นมูลค่าเงินได้
2. ไม่ติดตำรา คือการไม่ยึดติดกับวิชาการและเทคโนโลยี
3. การมีส่วนร่วม เกิดจากการจัดเวทีระดมความคิดเห็นของสมาชิกชุมชนท้องถิ่นและจากภายนอก
ขั้นตอนที่ 4 การจัดทำแผนชุมชน สามารถเชื่อมโยงกับหลักการทรงงานในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1. ระเบิดจากข้างใน คือเน้นเรื่องการใช้คนและความต้องการที่แท้จริงของคนในชุมชนเป็นศูนย์กลางในการวางแผนการพัฒนา
2. มุ่งประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นหลัก
3. ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้ข้อมูลถูกต้อง ตรวจสอบได้ และเหมาะกับการจัดทำแผนชุมชน
4. การมีส่วนร่วม คือการที่ประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชนทุกระดับร่วมกันแสดงความคิดเห็นหรือวิเคราะห์ถึงเหตุผลและความต้องการที่แท้จริงของประชาชน
5. องค์รวม คือการคิดอย่างองค์รวมหรือมองการพัฒนาอย่างครบวงจร
ขั้นตอนที่ 5 การประยุกต์ปฏิบัติจริง เชื่อมโยงกับหลักการทรงงานในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1. ภูมิสังคม ควรคำนึงถึงความแตกต่าง
2. ทำให้ง่าย
3. ตามลำดับขั้น เริ่มจากระดับเล็ก ๆ ไปสู่ระดับใหญ่ ๆ
4. ไม่ติดตำรา เพราะการลงมือปฏิบัตินั้นเงื่อนไขอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาจึงต้องมีการประยุกต์ใช้อยู่เสมอ
5. ทำงานอย่างมีความสุข
ขั้นตอนที่ 6 วิถีการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับหลักการทรงงานในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1. รู้ รัก สามัคคี
2. ประโยชน์ส่วนรวม หากคนในชุนชมนึกถึงประโยชน์ส่วนรวม ชุมชนก็จะมั่งคง
3. ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด
4. ไม่ติดตำรา การพัฒนาที่แท้จริงของแต่ละชุมชนต้องเหมาะกับสภาพแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจในชุมชน
2. ความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงกับระบบสหกรณ์
แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนา ประกอบด้วย
1. การพัฒนาศักยภาพคน ทั้งในด้านร่างกาย สติปัญญา และคุณธรรมจริยธรรม
2. การพัฒนาแบบองค์รวม เป็นการพัฒนาที่บูรณาการทุกด้านเข้าด้วยกัน
3. การพัฒนาตามแนวพระราชดำริ โดยเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาเป็นการพัฒนาคนทั้งในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาและผู้ได้รับประโยชน์หรือผลกระทบโดยตรง ส่วนเศรษฐกิจอยู่ในฐานะเป็นเครื่องมือในการพัฒนา
หลักการสำคัญของระบบสหกรณ์ มี 7 ประการ ได้แก่
ประการที่ 1 การเป็นสมาชิกโดยสมัครใจและเปิดกว้าง
ประการที่ 2 การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย
ประการที่ 3 การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสมาชิก
ประการที่ 4 การปกครองตนเองและความเป็นอิสระ
ประการที่ 5 การศึกษา ฝึกอบรม และสารสนเทศ
ประการที่ 6 การร่วมมือระหว่างสหกรณ์
ประการที่ 7 การเอื้ออาทรต่อชุมชน
ประเภทของสหกรณ์ ไทยแบ่งตามกฎของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็น 7 ประเภท ดังนี้
1. สหกรณ์การเกษตร เกษตรกรเป็นผู้จัดตั้งและจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต่อนายทะเบียนสหกรณ์ เพื่อให้สมาชิกดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือกันในการประกอบอาชีพและยกระดับความเป็นอยู่ของสมาชิก
2. สหกรณ์ประมง ชาวประมงจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาในการประกอบอาชีพ
3. สหกรณ์นิคม จะดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกิน สร้างปัจจัยพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้อาศัยคู่กับการทำการเกษตร ส่งเสริมอาชีพ และให้บริการสาธารณูปโภคแก่สมาชิก
4. สหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นสถาบันการเงินที่ส่งเสริมให้สมาชิก ออมทรัพย์ และบริการเงินกู้ให้สมาชิกที่มีความจำเป็น
5. สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน สมาชิกของสหกรณ์ต้องสะสมเงินตามความสามารถเสมอตามที่สหกรณ์กำหนด เมื่อสมาชิกมีความจำเป็นก็สามารถกู้ยืมเงินไปใช้และชำระคืนในรูปเงินสะสมของตน
6. สหกรณ์ร้านค้า จัดตั้งเพื่อผดุงฐานะทางเศรษฐกิจของสมาชิก
7. สหกรณ์บริการ เป็นการรวมตัวกันโดยยึดหลักการประหยัด การช่วยเหลือตนเองและการช่วยเหลือกันเพื่อแก้ไขปัญหา และส่งเสริมอาชีพให้มั่นคง
สหกรณ์ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้หลักการของสหกรณ์มาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร ซึ่งทรงมีพระราชประสงค์ให้นำระบบสหกรณ์ไปใช้ในสถาบันทุกหมู่เหล่าตามแนวทางการแก้ปัญหา 4 ขั้น คือ
ขั้นที่ 1 จะให้ความช่วยเหลือด้านทรัพย์สินให้เกษตรกรพอมีกิน มีอยู่
ขั้นที่ 2 จัดหาที่ดินที่รกร้างว่างเปล่ามาจัดสรรให้ราษฎร
ขั้นที่ 3 ให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่
ขั้นที่ 4 ส่งเสริมให้รวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์
การส่งเสริมสหกรณ์ในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างจากสหกรณ์ในพื้นที่ปกติเพราะมีปัจจัยพื้นฐานต่างกัน การส่งเสริมโครงการดังกล่าวต้องคำนึงถึง 4 ด้านสำคัญ คือ
1. ด้านสมาชิกสหกรณ์ ต้องเน้นให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจและเห็นความสำคัญของสหกรณ์ บทบาทหน้าที่ และให้ความสำคัญกับการนำความรู้เรื่องทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติ
2. ด้านการจัดการองค์กรสหกรณ์ คณะกรรมการดำเนินการต้องดำเนินงานของสหกรณ์โดยนำเกณฑ์การจัดมาตรฐานสหกรณ์ในพื้นที่โครงการในพระราชดำริหรือโครงการหลวงมาส่งเสริมสหกรณ์
3. ด้านธุรกิจสหกรณ์ การสร้างธุรกิจสหกรณ์ให้เข้มแข็งจะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองกับระบบการค้าในตลาด
4. ด้านสวัสดิการสมาชิกสหกรณ์ หากสมาชิกสหกรณ์เข้มแข็งก็จะช่วยให้เกิดการจัดสรรผลตอบแทนคืนแก่สมาชิกและสังคมในรูปของสวัสดิการ ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว
แนวพระราชดำริที่เป็นแนวทางการส่งเสริมสหกรณ์ในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีดังนี้
1. ปฏิบัติตามแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาชนบท เน้นการพัฒนาอย่างน้อย 2 ประการ คือ
ประการที่ 1 การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนด้วยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลักที่จำเป็นต่อการผลิต
ประการที่ 2 การส่งเสริมหรือเสริมสร้างสิ่งที่ขาดแคลนและต้องการในเรื่องความรู้เรื่องการทำมาหากิน การใช้เทคโนโลยี
แนวพระราชดำริทั้ง 2 ประการ ทรงยึดหลักการพัฒนาโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมของพื้นที่และคนเป็นหลัก
2. ปฏิบัติตามแนวพระราชดำริในการพัฒนาการเกษตร พระองค์มีพระราชประสงค์ คือ
ประการที่ 1 การทำให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้
ประการที่ 2 มิให้เกษตรกรพึ่งพาอยู่กับพืชเกษตรอย่างเดียว
ประการที่ 3 ให้เกษตรกรได้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ประการที่ 4 เน้นให้มีการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ
ประการที่ 5 ทำการเกษตรโดยวิธีประหยัด
ประการที่ 6 การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ประการที่ 7 พัฒนาการเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปกับการเพาะปลูกในรูปของเกษตรแบบผสมผสาน
แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงกับระบบสหกรณ์ มีความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดจำแนกได้ดังนี้
1. การพึ่งตนเอง เศรษฐกิจพอเพียง เป็นการเดินทางสายกลางจะป้องกันการเปลี่ยนแปลงความไม่มั่นคงของประเทศ ซึ่งสัมพันธ์กับหลักการที่ว่าด้วยการปกครองตนเองและความเป็นอิสระของสหกรณ์
2. การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นให้ใช้หลักการของสหกรณ์มาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร
3. การสร้างพลังให้เข้มแข็ง การรวมตัวของเกษตรกรในรูปของสหกรณ์ ช่วยให้เกษตรกรรู้จักช่วยเหลือตนเอง พัฒนาอาชีพ และร่วมมือร่วมใจกัน
การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงกับระบบสหกรณ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจชุมชนเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียง จึงควรพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนตามแนวทางต่อไปนี้
1. การยึดชุมชนเป็นหลัก โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชาวบ้านเป็นหลัก
2. การใช้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก
3. การสร้างเครือข่าย โดยจัดทำผังองค์กรเครือข่ายเพื่อให้ภาครัฐสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นฐาน
4. การจัดตลาดนัดชุมชน เพื่อให้มีตลาดขายผลผลิตในราคาที่เป็นธรรม และ ช่วยพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น
5. การจัดประชุมประชาชน เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน มี 3 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 การสร้างความเชื่อ โดยอาศัยปัจจัยการพัฒนาเศรษฐกิจสำคัญ 4 ประการ คือ
1. การบริหารจัดการ ให้ความรู้ความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพและมีคุณธรรม
2. การใช้ทุน ควรให้กลุ่มได้รู้จักใช้ทุนจากแหล่งทุนนอกชุมชน
3. การผลิต ควรเน้นการผลิตที่มีประสิทธิภาพ
4. การตลาด ควรให้ความสำคัญกับตลาดที่เป็นกลไกผลักดันโครงการและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชนให้เคลื่อนไหวและสร้างขีดความสามารถในการระดมปัจจัย เพื่อให้ครอบครัว กลุ่ม องค์กร และชุมชน ได้เป็นเจ้าของธุรกิจและดำเนินการทางเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง ซึ่งมีเป้าหมาย 3 ระดับ คือ
ระดับพื้นฐาน คือ การพัฒนาให้ชุมชนพออยู่พอกิน
ระดับปานกลาง คือ การพัฒนาให้ชุมชนอยู่ดีกินดี
ระดับก้าวหน้า คือ การพัฒนาให้ชุมชนมั่งมีศรีสุข
ส่วนที่ 2 แนวทางการพัฒนา ประกอบด้วยกิจกรรมหลักและกิจกรรมย่อย ดังนี้
1. การพัฒนาการบริหารจัดการ
2. การพัฒนาเงินทุน
3. การพัฒนาการผลิต
4. การพัฒนาตลาด
ส่วนที่ 3 การดำเนินงาน
แนวทางการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงกับสหกรณ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ใช้แนวทางการพึ่งตนเอง ซึ่งประกอบด้วย
1. การพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ ตามแนวเกษตรอินทรีย์
2. การพึ่งพาตนเองด้านสังคม ชุมชนต้องพึ่งพาตนเองอย่างเป็นระบบ เช่น มีระบบการจัดการทุนของตนเอง
3. การพึ่งตนเองด้านทรัพยากรธรรมชาติ เป็นการพึ่งพาตนเองบนพื้นฐานองค์ประกอบคน ความรู้ และทรัพยากร
4. การพึ่งตนเองด้านเทคโนโลยี เพื่อลดต้นทุนและไม่ทำให้เสียดุลการค้า
5. การพึ่งพาตนเองด้านจิตใจ โดยยึดหลักธรรมทางศาสนาหรือนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจมาใช้
แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th