ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
1. วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย
วัฒนธรรมไทย คือสิ่งที่คนไทยยอมรับและยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นแบบแผน ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ความเชื่อ และค่านิยม ซึ่งมีความสำคัญดังนี้
1. การศึกษาวัฒนธรรมทำให้เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่
2. ทำให้เกิดความเรียบร้อยในสังคม
3. สร้างความเจริญให้แก่สังคมไทย
4. สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแก่สังคมไทย
5. แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย
วัฒนธรรมไทยมีที่มาจากปัจจัย ดังนี้
1. สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ไทยมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม วัฒนธรรมจึงถือกำเนิดมาจากความผูกพันกับสายน้ำ
2. เกษตรกรรม ประชากรไทยนิยมประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำให้มีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร
3. การรับวัฒนธรรมจากต่างประเทศ
ประเภทของวัฒนธรรมไทย สภาวัฒนธรรมแห่งชาติได้จำแนกเป็น 4 ประเภท คือ
1. คติธรรม เป็นวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิต มีความเกี่ยวข้องกับจิตใจ
2. เนติธรรม เป็นวัฒนธรรมทางกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ
3. สหธรรม เป็นวัฒนธรรมเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต เพื่อให้สมาชิกในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
4. วัตถุธรรม เป็นวัฒนธรรมทางวัตถุที่เกิดจากการประดิษฐ์
ระดับของวัฒนธรรมไทย แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ
1. วัฒนธรรมพื้นบ้าน เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนนั้นๆ
2. วัฒนธรรมประจำชาติ หมายถึง วัฒนธรรมที่รัฐกำหนดและมอบหมายให้คนในชาติปฏิบัติร่วมกัน
3. วัฒนธรรมสากลหรือวัฒนธรรมนานาชาติ เป็นวัฒนธรรมที่นิยมกันอย่างกว้างขวางและเป็นที่ยอมรับ
ภูมิปัญญาไทย
ภูมิปัญญาไทย หมายถึง ความรู้ ความสามารถ และทักษะของคนไทยที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ ซึ่งมีความสำคัญดังนี้
1. ช่วยสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่น
2. สร้างความภาคภูมิใจและศักดิ์ศรีเกียรติภูมิแก่คนไทย
3. ประยุกต์หลักธรรมคำสอนทางศาสนาใช้กับวิถีชีวิตของคนไทยได้อย่างเหมาะสม
4. สร้างความสมดุลระหว่างคนในสังคมและธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
5. ช่วยเปลี่ยนแปลงปรับปรุงวิถีชีวิตของคนไทยให้เหมาะสมตามยุคสมัย
ประเภทของภูมิปัญญา แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ
1. ภูมิปัญญาระดับชาติ เกิดจากภูมิปัญญาเฉพาะถิ่นที่ยอมรับโดยทั่วไปเป็นภูมิปัญญาไทยทั้งภาค
2. ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาชาวบ้าน เกิดจากการเรียนรู้ด้วยตนเองหรือได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ
ภูมิปัญญาไทยแบ่งเป็น 9 ด้าน คือ
1. ด้านเกษตรกรรม หมายถึง ความสามารถผสมผสานความรู้ ทักษะ และเทคนิคด้านการเกษตรกับเทคโนโลยี
2. ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม หมายถึง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการแปรรูปผลผลิต
3. ด้านการแพทย์แผนไทย หมายถึง ความสามารถในการจัดการป้องกันและรักษาสุขภาพคนในชุมชน
4. ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมายถึง ความสามารถในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
5. ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน หมายถึง ความสามารถในด้านการสะสมและบริหารกองทุน และสวัสดิการชุมชน
6. ด้านศิลปกรรม หมายถึง ความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะ
7. ด้านภาษาและวรรณกรรม หมายถึง ความสามารถในการอนุรักษ์และสร้างสรรค์ผลงานด้านภาษา
8. ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี หมายถึง ความสามารถในการประยุกต์และปรับใช้หลักธรรมทางศาสนา ปรัชญา ความเชื่อ และประเพณี
9. ด้านโภชนาการ หมายถึง ความสามารถในการเลือกสรร ประดิษฐ์ และปรุงแต่งอาหารและยา
การอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย
การอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย มีแนวทางสำคัญดังนี้
- รักษา สืบทอดวัฒนธรรมของชาติ และความหลากหลายของวัฒนธรรมไทยท้องถิ่นให้อยู่อย่างมั่นคง
- สร้างค่านิยม จิตสำนึก ให้ตระหนักในคุณค่าของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย
- นำทุนทางวัฒนธรรมของประเทศมาสร้างคุณค่าทางสังคมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
- บริหารจัดการองค์ความรู้ด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังกำหนดสิทธิให้บุคคลอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยได้ เช่น
1. ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม สิทธิจัดการและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
2. ชุมชนและชุมชนท้องถิ่น มีสิทธิอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือมีส่วนร่วมบำรุงและได้รับประโยชน์จาก
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผ่านกลไกการปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรของรัฐ
การอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย ทำได้ดังนี้
อนุรักษ์ ทำได้โดยการปลูกจิตสำนึกและสร้างค่านิยมของคนไทยให้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น
การฟื้นฟู ทำได้โดยการเลือกสรรภูมิปัญญาที่สูญหายไปหรือกำลังจะสูญหายแล้วนำกลับมาทำให้มีคุณค่าและมีความสำคัญ
การพัฒนา ทำได้โดยการพัฒนาภูมิปัญญาไทยให้เหมาะกับยุคสมัย
การสืบทอดภูมิปัญญา แบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ
การได้ปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน
การศึกษาเล่าเรียน
การได้รับความรู้จากอิทธิพลภายนอก
การเผยแพร่แลกเปลี่ยน มีการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพของชาวบ้าน
การส่งเสริมภูมิปัญญาไทย ทำได้ดังนี้
1. ยกย่องครูภูมิปัญญาไทย
2. จัดให้มีศูนย์ภูมิปัญญาไทย
3. มีการจัดตั้งสภาภูมิปัญญาไทย
4. จัดตั้งกองทุนส่งเสริมภูมิปัญญาไทย
5. การคุ้มครองลิขสิทธิ์ของภูมิปัญญาไทย
2. วัฒนธรรมสากล
วัฒนธรรมสากล หมายถึง แนวคิด แบบแผน รูปแบบการประพฤติปฏิบัติที่นานาประเทศยอมรับ
ความสำคัญ ปรากฏอยู่ในทุกสังคม เช่น
1. ภาษาที่นิยมใช้ติดต่อสื่อสารจนเป็นภาษาสากล ได้แก่ ภาษาอังกฤษ
2. ศาสนา ศาสนาที่มีผู้นับถือมากจนเป็นวัฒนธรรมสากล ได้แก่ คริสต์ศาสนา ศาสนาอิสลาม และพระพุทธศาสนา
3. ระบบเศรษฐกิจ ที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน คือ ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
4. อินเทอร์เน็ต เป็นเทคโนโลยีสารสนเทศที่ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญ
5. กีฬา เช่น ฟุตบอล เทนนิส
6. ดนตรี เป็นการให้ความบันเทิงและคลายเครียดที่เป็นที่ยอมรับ
การเลือกรับวัฒนธรรมสากลอย่างเหมาะสม
1. ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล เราจึงต้องเรียนรู้เพื่อนำมาใช้ในการติดต่อสื่อสารและใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้
2. ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เป็นระบบเศรษฐกิจที่ประเทศส่วนใหญ่ใช้ เราจึงควรมีความรู้ความเข้าใจ เพื่อเตรียมประกอบอาชีพ
3. การปกครองระบอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เราต้องปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับรูปแบบการปกครอง
4. การแต่งกายแบบสากล เราควรเรียนรู้วัฒนธรรมการแต่งกายเพื่อใช้ให้ถูกกาลเทศะ และไม่ละทิ้งวัฒนธรรมการแต่งกายของไทย
แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th