บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง แผนที่และเครื่องมือทางภูมิศาสตร์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 27.9K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้





1. แผนที่
          เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ทราบสถิติ ข้อมูลและความสัมพันธ์ของพื้นที่
          ชนิดของแผนที่ จะแบ่งตามเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งที่ในชั้นนี้ ได้แก่
                    การแบ่งแผนที่ตามลักษณะการใช้ แบ่งได้ 3 ประเภท คือ
                              – แผนที่อ้างอิง ได้แก่ แผนที่ภูมิประเทศ และแผนที่ชุด
                              – แผนที่เฉพาะเรื่อง
                              – แผนที่เล่ม จะรวมแผนที่หลายชนิดไว้ในเล่มเดียวกัน
                    แผนที่แบ่งตามมาตราส่วน ไทยมีกรมแผนที่ทหารกำหนดไว้ดังนี้
                              – แผนที่แสดงมาตราส่วนขนาดใหญ่ จะใช้เขียนแผนที่ของพื้นที่ขนาดเล็ก เพื่อบรรจุรายละเอียดได้มากตามที่ต้องการ
                              – แผนที่มาตราส่วนขนาดกลาง จะใช้เขียนแผนที่ที่กว้างใหญ่เพื่อแสดงรายละเอียดที่สำคัญ
                              – แผนที่มาตราส่วนขนาดเล็ก จะใช้เขียนแผนที่บริเวณที่อาณาเขตกว้างใหญ่ แสดงเฉพาะลักษณะที่สำคัญเท่านั้น

          องค์ประกอบของแผนที่ ได้แก่
                    ชื่อแผนที่ เป็นส่วนที่บอกว่าแผนที่แสดงข้อมูลอะไร
                    ชื่อภูมิศาสตร์ เป็นตัวอักษรที่บอกชื่อเฉพาะที่มีความสำคัญในแผนที่
                    ทิศ แผนที่ทุกระวางจะต้องกำหนดทิศทาง เพื่อให้รู้ความสัมพันธ์ของสิ่งต่างได้ถูกต้อง ซึ่งแนวทิศเหนือมี 3 ชนิด คือ
                              – ทิศเหนือจริง ได้แก่ ทิศทางของเส้นเมริเดียนหรือแนวลองจิจูด
                              – ทิศเหนือแม่เหล็ก ได้แก่ แนวที่ปลายของเข็มทิศชี้ไปขั้วเหนือของแม่เหล็กโลก ใช้สัญลักษณ์รูปปลายลูกศรครึ่งซีก
                              – ทิศเหนือกริด ได้แก่ แนวทิศเหนือตามเส้นฉากทางดิ่ง ใช้สัญลักษณ์เป็นขีดตรง มีอักษร GN ข้างบน และยังบอกทิศทางอื่นได้ ได้แก่
                                        – การบอกทิศทางแบบแบริง มีขนาดมุมไม่เกิน 90 องศา
                                        – การบอกทิศแบบแอซิมัท ไม่เกิน 360 องศา
                    มาตราส่วน จะแสดงความสัมพันธ์ระหว่างระยะทางบนแผนที่กับระยะทางจริง ที่นิยมใช้มี 3 ชนิด ดังนี้
                              – มาตราส่วนคำพูด
                              – มาตราส่วนเส้น หรือ มาตราส่วนรูปแท่ง
                              – มาตราส่วนแบบเศษส่วน
                    สัญลักษณ์ จะใช้แทนสิ่งต่าง ๆ ในพื้นที่จริง แบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้
                              – สัญลักษณ์ที่เป็นจุด ใช้แทนสถานที่ และกำหนดสถานที่ตั้ง
                              – สัญลักษณ์ที่เป็นเส้น ใช้แทนสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นเส้นมีระยะทาง
                              – สัญลักษณ์ที่เป็นพื้นที่ ใช้แทนพื้นที่ที่ปรากฏในภูมิประเทศ
                              – สี ใช้ในแผนที่มี 5 สี ได้แก่ สีดำ แทนสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น สีแดง แทนถนนและรายละเอียดพิเศษ สีน้ำเงิน แทนบริเวณที่เป็นน้ำ สีน้ำตาล แทนความสูง และ สีเขียว แทนพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่การเกษตร
          แผนที่ภูมิประเทศ มีระดับทะเลปานกลางกำหนดความสูง เพื่อบอกระดับความสูงของภูมิประเทศ ซึ่งนิยมแสดงระดับความสูง 4 รูปแบบ ดังนี้
                    – เส้นชั้นความสูง คือ เส้นที่สมมติลากผ่านบริเวณที่มีความสูงเท่ากัน โดยมีตัวเลขกำกับ
                    – การใช้แถบสี คือ การจำแนกความแตกต่างของลักษณะภูมิประเทศของพื้นน้ำและพื้นดิน
                    – เส้นลายขวานสับหรือเส้นลาดเขา เป็นเส้นขีดสั้น ๆ เรียงกันตามความลาดเอียงของพื้นดินเพื่อแสดงความสูงของภูมิประเทศ
                    – การแรเงา เป็นการแสดงความสูงของพื้นที่ด้วยการแรเงาให้เป็นภาพสามมิติหรือมีทรวดทรง




          ประโยชน์ของแผนที่ มีดังนี้
                    – ทำให้รู้จักและเข้าใจสถานที่ที่ไม่เคยรู้จัก
                    – อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว
                    – ช่วยวางแผนหรือตัดสินใจในพื้นที่นั้น ๆ
                    – ช่วยในการเดินทางไปยังสถานที่ที่ไม่เคยไป

2. รูปถ่ายทางอากาศ
          รูปถ่ายทางอากาศ หมายถึง รูปภาพลักษณะของภูมิประเทศที่ปรากฏอยู่บนพื้นผิวโลก
          ประโยชน์ของรูปถ่ายทางอากาศ รูปถ่ายทางอากาศมีมาตราส่วนที่ตายตัว แต่มีค่าอัตราส่วนเปลี่ยนแปลงตามระดับความสูง และมุมมองจากกล้อง มีประโยชน์ด้านยุทธศาสตร์การทหารตั้งแต่อดีต จนปัจจุบันรูปถ่ายทางอากาศจะใช้ในการทำแผนที่ และสำรวจ ใช้วางแผนทรัพยากรธรรมชาติ การวางผังเมือง และระบบการจราจร




3. ภาพจากดาวเทียม
          จะบันทึกข้อมูลเชิงตัวเลขด้วยพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทย คือ ดาวเทียมธีออส ปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ซึ่งภาพจากดาวเทียมจะนำมาประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ ดังนี้
                    – ลักษณะภูมิประเทศ ดาวเทียมจะมองเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา จึงศึกษาลักษณะภูมิประเทศที่เป็นปัจจุบันได้
                    – ด้านการเกษตร นำข้อมูลดาวเทียมไปจัดการพื้นที่เพาะปลูก คาดคะเนผลผลิต และวางแผนการใช้ประโยชน์ของที่ดิน
                    – ด้านป่าไม้ นำข้อมูลดาวเทียมไปจำแนกชนิดของป่า หรือประเมินหาความเสียหายได้
                    – ด้านการวางผังเมือง นำข้อมูลดาวเทียมไปศึกษาการขยายตัวของชุมชนได้
                    – ด้านอื่น ๆ ภาพดาวเทียมใช้ประโยชน์ด้านการบริหาร อุทกวิทยา ธรณีวิทยา และภัยพิบัติได้




 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th