ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
หลักทั่วไปของการพูด
วาทศาสตร์ หรือวาทวิทยา เป็นศาสตร์แห่งการพูด แบ่งเป็นภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เมื่อฝึกฝนจะช่วยสร้างความมั่นใจและบุคลิกภาพที่ดี ทั้งนี้ผู้พูดที่ดีควรมีความรู้ในเรื่องต่อไปนี้
๑. ประเภทของการพูด
๑. แบ่งตามวัตถุประสงค์ของผู้พูด มี ๓ แบบ คือ
๑.๑ การพูดเพื่อให้ความรู้ มีเป้าหมายเพื่อบอกเล่าหรือชี้แจงความรู้และข้อเท็จจริงแก่ผู้ฟัง เช่น การบรรยาย การรายงาน ปาฐกถา แถลงการณ์ เป็นต้น
๑.๒ การพูดเพื่อจูงใจหรือโน้มน้าวใจ มีเป้าหมายเพื่อชักจูงผู้ฟังให้คล้อยตาม เช่น การโฆษณา การปราศรัยหาเสียง เป็นต้น
๑.๓ การพูดเพื่อจรรโลงใจ มีเป้าหมายเพื่อสร้างคุณค่าเรื่องที่พูด ยกระดับจิตใจและมอบความบันเทิงกับผู้ฟัง เช่น การเทศนา การกล่าวสดุดีวีรชน การเล่านิทาน เป็นต้น
๒. แบ่งตามวิธีการพูด มี ๔ แบบ คือ
๒.๑ การพูดแบบอ่านจากต้นฉบับ คือ พูดโดยอ่านต้นร่างทั้งหมด ใช้กับการพูดเป็นทางการ เช่น การกล่าวตามรายงาน การแถลงนโยบาย เป็นต้น ต้องอาศัยการฝึกซ้อมเพื่อการออกเสียง แบ่งวรรคตอน จังหวะ อารมณ์ และพยายามสบตาผู้ฟัง
๒.๒ การพูดแบบท่องจำ คือ การพูดโดยอาศัยการท่องจำต้นร่างที่เขียนไว้ มีข้อเสียคือขาดความเป็นธรรมชาติเพราะมักพะวงเนื้อหา
๒.๓ การพูดแบบการเตรียมตัวล่วงหน้า เป็นวิธีพูดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะผ่านการฝึกซ้อมอย่างดี จึงสร้างความประทับใจได้มาก ทั้งยังมีความยืดหยุ่นปรับเนื้อหาได้ตามสถานการณ์ ใช้เทคนิคจดหัวข้อสั้น ๆ เพื่อลำดับเรื่องพูด
๒.๔ การพูดแบบไม่มีการเตรียมตัวล่วงหน้า คือ การพูดฉับพลันต้องใช้ไหวพริบและประสบการณ์ของผู้พูด หากมีผู้พูดหลายคนให้พิจารณาประเด็นที่ขาดหายเพื่อพูดเสริม โอกาสสำหรับการพูดประเภทนี้ เช่น การได้รับเชิญเพื่อกล่าวอวยพร กล่าวแสดงความคิดเห็น ฯลฯ
๒. โอกาสที่ใช้ในการพูด
โอกาสที่ใช้ในการพูด คือ ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการพูดและบุคคลตามมารยาท โดยโอกาสที่ใช้ในการพูดแบ่งออกเป็น ๓ ลักษณะ ดังนี้
๑. การพูดกันเฉพาะในกลุ่ม เป็นโอกาสที่ทุกคนในกลุ่มเป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟัง เช่น การพูดสนทนา การประชุมกลุ่ม การอภิปราย เป็นต้น
๒. การพูดโดยมีผู้ฟังต่างหาก เป็นโอกาสที่พูดโดยมีกลุ่มผู้ฟังเฉพาะ สถานที่แยกพื้นที่ของผู้พูดและผู้ฟังอย่างชัดเจน เช่น การปาฐกถา การโต้วาที การอภิปราย เป็นต้น
๓. การพูดเพื่อดำเนินกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นโอกาสพูดที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น การเป็นพิธีกร โดยมีส่วนช่วยให้กิจกรรมนั้น ๆ ดำเนินไปอย่างราบรื่น
การพูดรายงานการศึกษาค้นคว้า
การพูดรายงานการศึกษาค้นคว้า คือ การรายงานความรู้จากการค้นคว้า โดยวางแผนการพูดเป็นระบบ อาจมีอุปกรณ์เสริมเพิ่มความชัดเจน เช่น รูปภาพ แผนภูมิ ฯลฯ หรือมีกิจกรรม เช่น เล่นเกม ฟังเพลง ซักถาม เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ
หลักการพูดรายงานการศึกษาค้นคว้า มีดังนี้
๑. นำเสนอเรื่องที่มีประโยชน์ น่าสนใจ และค้นคว้าข้อมูลได้ไม่ยาก
๒. กำหนดจุดมุ่งหมายและขอบเขตเนื้อหาให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ฟังและเวลาที่กำหนด
๓. ลำดับข้อมูลให้เป็นระเบียบและสัมพันธ์กัน ควรมีแหล่งอ้างอิงเพื่อความน่าเชื่อถือ และควรทำความเข้าใจเนื้อหาให้ถ่องแท้เพื่อประโยชน์ในการอธิบายและตอบข้อซักถาม
๔. จัดเตรียมอุปกรณ์ประกอบการพูดล่วงหน้า โดยเฉพาะเครื่องมือโสตทัศนูปกรณ์ ควรทดลองใช้ก่อนเริ่มการพูด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด
๕. พูดอธิบายให้ชัดเจน เลี่ยงการใช้ศัพท์เทคนิค แต่หากจำเป็นก็ควรอธิบายอย่างชัดเจน
๖. จดโครงเรื่องไว้ประกอบการพูดเพื่อไม่ให้สับสนในขณะพูด
การพูดในโอกาสต่าง ๆ
๑. การกล่าวต้อนรับ
การกล่าวต้อนรับ คือ การพูดเมื่อมีผู้มาใหม่ มีหลักการกล่าวดังนี้
๑. กล่าวแสดงความดีใจและความรู้สึกเป็นเกียรติต่อโอกาส
๒. กล่าวถึงความสำคัญของการเยี่ยมชม หรือความสำคัญของผู้มาใหม่
๓. กล่าวแสดงความยินดีต้อนรับและอำนวยความสะดวก
ตัวอย่าง
การกล่าวต้อนรับนักฟุตบอลโรงเรียนอื่นที่มาร่วมแข่งขัน
ผมในนามของคณะนักเรียนรู้สึกปลื้มปีติที่โรงเรียน.........ได้ให้เกียรติส่งนักกีฬามาร่วมแข่งขันฟุตบอลประเพณีซึ่งโรงเรียนของเราทั้งสองได้ริเริ่มจัดฟุตบอลประเพณีเพื่อเชื่อมความสามัคคีและได้หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพนับเป็นครั้งที่ ๕ แล้ว
ฟุตบอลประเพณีนี้บรรลุจุดประสงค์โดยสมบูรณ์เพราะมีส่วนเสริมสร้างกระชับความเข้าใจและการร่วมมือกันระหว่างครูอาจารย์และนักเรียนของโรงเรียน......กับโรงเรียน.......ด้วยดีตลอดมา หวังว่าการจัดแข่งขันฟุตบอลประเพณีจะดำรงอยู่คู่กับโรงเรียนของเราชั่วกาลนาน
คณะนักเรียนโรงเรียน.......ขอต้อนรับนักฟุตบอลและบรรดานักเรียนโรงเรียน.......ด้วยความยินดียิ่งจะรับผิดชอบจัดการแข่งขันฟุตบอลประเพณีครั้งนี้ให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยทุกประการ
๒. การกล่าวอำลา
การอำลา ใช้ในโอกาสพ้นวาระหน้าที่ หรือโยกย้ายสถานที่ของบุคคล มีหลักการกล่าวดังนี้
๑. กล่าวถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันที่ผ่านมา
๒. ขอบคุณผู้ร่วมงาน
๓. กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องจากไปหรือภาระหน้าที่ที่ต้องไปทำ
๔. แสดงความหวังว่าคงจะได้ร่วมมือกันจรรโลงสถาบันให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป
๕. กล่าวขอบคุณกรณีที่ได้รับมอบของที่ระลึก
ตัวอย่าง
การกล่าวอำลาในโอกาสพ้นวาระหน้าที่
ดิฉันในฐานะประธานกรรมการห้องสมุดซึ่งจะพ้นวาระหน้าที่ในวันนี้ ขอขอบใจเพื่อน ๆ ทุกคนที่ได้มอบความไว้วางใจและให้ความเอื้อเฟื้อเกื้อหนุนแก่ดิฉันด้วยดีตลอดมา ทำให้ห้องสมุดโรงเรียนของเราได้พัฒนามาจนอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์พอควรในปัจจุบัน แต่ห้องสมุดโรงเรียนจะหยุดเติบโตไม่ได้จะต้องก้าวหน้าต่อไปหวังว่าประธานกรรมการคนใหม่ซึ่งเราพร้อมใจกันเลือกเฟ้นได้แล้วคงจะเข้ารับภาระหน้าที่และดำเนินกิจกรรมของห้องสมุดให้เจริญรุดหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นมั่นใจว่าพวกเราทุกคนจะร่วมแรงร่วมใจกันสนับสนุนประธานกรรมการหองสมุดคนใหม่อย่างที่เคยช่วยเหลือดิฉันมา ส่วนดิฉันถึงแม้จะพ้นหน้าที่บริหารโดยตรงแล้วก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือแก่กิจกรรมห้องสมุดของเราเสมอ
๓. การกล่าวสดุดี
การกล่าวสดุดี คือ การพูดยกย่องในโอกาสสำคัญ เช่น ครบรอบวันเกิดหรือวันสิ้นชีวิต การเปิดอนุสาวรีย์หรืออนุสรณ์สถานบุคคลสำคัญ มีหลักการกล่าวดังนี้
๑. กล่าวถึงโอกาสที่กล่าวสดุดี
๒. กล่าวถึงความดีของบุคคลสำคัญ
๓. กล่าวเตือนใจให้ทุกคนประพฤติตนเจริญรอยตามบุคคลสำคัญ
ตัวอย่าง
กระแสพระราชดำรัส
ในพิธีเปิดศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจังหวัดพิษณุโลก
๒๕ มกราคม ๒๕๐๕
ข้าพเจ้าและพระราชินีมีความยินดีที่ได้มีโอกาสมาร่วมในพิธีเปิดศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ได้จัดสร้างขึ้นใหม่ในอาณาบริเวณซึ่งเป็นที่พระราชสมภพแห่งนี้
สมเด็จพระนเรศวรอดีตมหาราชพระองค์นี้ได้ทรงบากบั่นกอบกู้เอกราชและสร้างความมั่นคงแก่ชาติของเราด้วยพระวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่ง ดังที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวมาแล้วพระราชวีรกรรมของพระองค์เด่นชัดอยู่ในประวัติศาสตร์ ทรงมีพระคุณูปการแก่ชาติบ้านเมืองและพสกนิกรชาวไทยยิ่งนัก ฉะนั้นการที่ทางราชการได้ร่วมมือกับบรรดาพ่อค้าประชาชนจัดสร้างศาลของพระองค์ขึ้นใหม่แทนของเดิมให้เหมาะสมจึงควรอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นการแสดงความเพียรพยายามที่จะเทิดพระเกียรติทุกวิถีทางแล้วยังเป็นการแสดงกตัญญูกตเวทิตาธรรมอันควรแก่การสรรเสริญและอนุโมทนา
ในการกอบกู้เอกราชและเสริมสร้างความมั่นคงแก่ชาติบ้านเมืองเป็นลำดับมานั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและบรรพบุรุษของเราทั้งหลายต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานาประการด้วยความเหนื่อยยากและความเสียสละแล้วเพียงไรก็ทราบกันอยู่แล้ว ฉะนั้นควรที่เราทั้งหลายจะพยายามช่วยกันรักษามรดกอันล้ำค่าซึ่งได้ตกทอดมาถึงเราไว้ให้ดีอย่าให้สูญสลายไปได้
ได้เวลาแล้วข้าพเจ้าจะได้ประกอบพิธีเปิดศาล ขอให้ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนี้จงสถิตสถาพรเป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติ ณ เมืองนี้ในวีรมหาราชพระองค์นั้นชั่วกาลนานสมดังปณิธานที่ได้จัดสร้างขึ้นเทอญ
๔. การพูดไว้อาลัย
การพูดไว้อาลัย คือ การพูดแสดงความระลึกถึงบุคคลหรือสิ่งของที่เสียไป มีหลักการพูดดังนี้
๑. กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของบุคคลหรือสิ่งของนั้น ๆ
๒. กล่าวถึงสาเหตุของการเสียชีวิตหรือการเสื่อมสูญหาย
๓. กล่าวถึงความสำคัญของบุคคลหรือสิ่งนั้น ๆ
๔. แสดงความผูกพันและระลึกถึง
๕. แสดงความหวังว่าผู้เสียชีวิตจะไปสู่สุคติ หรือสิ่งที่สูญสลายให้ข้อเตือนใจอย่างไร
๖. กล่าวเชิญชวนให้ที่ประชุมยืนไว้อาลัย
ตัวอย่าง
คำกล่าวไว้อาลัยอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนถึงแก่กรรม
เมื่อได้ทราบข่าวอดีตผู้อำนวยการโรงเรียน.......นาย.......ถึงแก่กรรม พวกเราผู้บริหารโรงเรียน อาจารย์ นักเรียนตลอดจนพนักงานในโรงเรียนทุกคนรู้สึกเสียใจด้วยความอาลัยรักเป็นอย่างยิ่ง
นาย.......เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน.......ตั้งแต่พ.ศ. ...... จนถึงพ.ศ. ...... เป็นระยะเวลา....... ปีและได้เกษียณอายุราชการที่โรงเรียนแห่งนี้ ตลอดเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและนำชื่อเสียงมาสู่โรงเรียนของเราเสมอมา ถึงแม้ท่านเกษียณอายุราชการไปแล้วก็ยังคงให้ความอุปการะทุ่มเทกำลังกายและกำลังสติปัญญาเพื่อพัฒนาโรงเรียนของเรามาตลอด จนกระทั่งล้มป่วยเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคหัวใจหลายครั้งและครั้งหลังสุดนี้เองที่ท่านจากพวกเราไปอย่างไม่มีใครคาดคิด
ถึงแม้อดีตผู้อำนวยการผู้เป็นที่รักยิ่งของพวกเราได้จากไปแล้ว แต่คุณความดีของท่านยังคงอยู่ในความทรงจำของพวกเราทุกคน พวกเราจะระลึกไว้เสมอว่าครั้งหนึ่งโรงเรียนของเราเคยมีผู้อำนวยการที่มีคุณสมบัติของครูและผู้บริหารที่ดีพร้อม
ขอคุณความดีที่ท่านได้ทำไว้จงดลบันดาลให้ดวงวิญญาณของท่านไปสู่สุคติ ประสบแต่ความสุขชั่วนิรันดร์ในโอกาสนี้ขอให้พวกเรายืนสงบนิ่งไว้อาลัยให้แก่ท่านเป็นเวลา ๑ นาที
๕. การพูดให้โอวาท
โอวาท คือ คำแนะนำหรือตักเตือนที่ผู้ใหญ่มอบให้ผู้น้อยในโอกาสต่าง ๆ เช่น วันเปิดภาคการศึกษา วันสำเร็จการศึกษา มีหลักการพูดดังนี้
๑. กล่าวถึงความสำคัญของโอกาสที่ให้โอวาท
๒. เลือกประเด็นสำคัญให้เหมาะสมแก่โอกาสและผู้ฟัง
๓. ชี้แนวทางที่จะนำโอวาทไปใช้ประโยชน์ได้จริง
ตัวอย่าง
พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชทานแก่พระเจ้าลูกยาเธอ ๔ พระองค์ ในโอกาสเสด็จไปทรงศึกษาต่างประเทศ
จงรู้สึกตัวเป็นนิจเถิดว่าเกิดมาเป็นเจ้านายมียศบรรดาศักดิ์มากจริงอยู่ แต่ไม่เป็นการจำเป็นเลยที่ผู้ใดเป็นเจ้าแผ่นดินขึ้นจะต้องใช้ราชการอันเป็นช่องที่จะหาเกียรติยศชื่อเสียงและทรัพย์สมบัติ ถ้าจะว่าตามการซึ่งเป็นมาแต่ก่อนเจ้านายซึ่งจะหาช่องทำราชการได้ยากกว่าลูกขุนนางเพราะเหตุที่เป็นผู้มีวาสนาบรรดาศักดิ์มากจะรับราชการในตำแหน่งต่ำ ๆ ซึ่งเป็นกระไดขั้นแรกคือเป็นนายรองหุ้มแพรมหาดเล็ก เป็นต้น ก็ไม่ได้เสียแล้วจะไปแต่งตั้งให้ว่าการใหญ่โตสมแก่ยศศักดิ์ เมื่อไม่มีวิชาความรู้และสติปัญญาพอที่จะทำการในตำแหน่งนั้นไปได้ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเจ้านายจะเป็นผู้ได้ทำราชการมีชื่อเสียงดีก็อาศัยได้แต่สติปัญญาความรู้และความเพียรของตัว เพราะฉะนั้นจงอุตสาหะเล่าเรียนโดยความเพียรอย่างยิ่งเพื่อจะได้มีโอกาสที่ทำการให้เป็นคุณแก่บ้านเมืองของตัวและโลกที่ตัวได้มาเกิด ถ้าจะถือว่าเกิดมาเป็นเจ้านายแล้วนิ่ง ๆ อยู่จนตลอดชีวิตก็เป็นสบาย ดังนั้นจะไม่ผิดอันใดแก่สัตว์ดิรัจฉาน อย่างเลวนักสัตว์ดิรัจฉานมันเกิดมากิน ๆ นอน ๆ แล้วก็ตายแต่สัตว์บางอย่างยังมีหนังมีเขามีกระดูกเป็นประโยชน์ได้บ้าง แต่ถ้าคนประพฤติอย่างสัตว์ดิรัจฉานแล้วจะไม่มีประโยชน์อันใดยิ่งกว่าสัตว์ดิรัจฉานบางพวกไปอีก เพราะฉะนั้นจงอุตสาหะที่จะเรียนวิชาเข้ามาเป็นกำลังที่จะทำตัวให้ดีกว่าสัตว์ดิรัจฉานให้จงได้จึงจะนับว่าเป็นการได้สนองคุณพ่อซึ่งได้คิดทำนุบำรุงเพื่อจะให้ดีตั้งแต่เกิดมา
อย่าได้ถือตัวว่าตัวเป็นลูกเจ้าแผ่นดินพ่อมีอำนาจยิ่งใหญ่อยู่ในบ้านเมืองถึงจะเกะกะไม่กลัวเกรงคุมเหงผู้ใด เขาก็คงจะมีความเกรงใจพ่อไม่ต่อสู้หรือไม่อาจฟ้องร้องว่ากล่าว การซึ่งเชื่อใจดังนั้นเป็นการผิดแท้ทีเดียวเพราะความปรารถนาของพ่อไม่อยากจะให้ลูกมีอำนาจที่จะเกะกะอย่างนั้นเลย เพราะรู้เป็นแน่ว่าเมื่อรักลูกเกินไปปล่อยให้ไม่กลัวใครและประพฤติการชั่วเช่นนั้นคงจะเป็นโทษแก่ตัวลูกนั้นเองทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพราะฉะนั้นจงรู้เถิดว่าถ้าเมื่อได้ทำความผิดเมื่อใดจะได้รับโทษโดยทันที การที่มีพ่อเป็นเจ้าแผ่นดินนั้นจะไม่เป็นการช่วยเหลืออุดหนุนแก้ไขอันใดได้เลยอีกประการหนึ่งชีวิตสังขารของมนุษย์ไม่ยั่งยืนยืดยาวเหมือนเหล็กเหมือนศิลาถึงโดยว่าจะมีพ่ออยู่ในขณะหนึ่งก็คงจะมีเวลาที่ไม่มีได้ขณะหนึ่งเป็นแน่แท้ ถ้าประพฤติความชั่วเสียแต่ในเวลาที่มีพ่ออยู่แล้วโดยจะปิดบังซ่อนเร้นอยู่ได้ด้วยอย่างหนึ่งอย่างใดเวลาไม่มีพ่อ ความชั่วนั้นคงจะปรากฏเป็นโทษติดตัวเหมือนเงาตามหลังอยู่ไม่ขาด เพราะฉะนั้นจงเป็นคนอ่อนน้อมว่าง่ายสอนง่าย อย่าให้เป็นทิฐิมานะไปในทางที่ผิด จงประพฤติตัวหันมาทางที่ชอบที่ถูกอยู่เสมอเป็นนิจเถิด จงละเว้นเวลาที่ชั่วซึ่งรู้ได้เองแก่ตัวหรือมีผู้ตักเตือนแนะนำให้รู้แล้วอย่าให้ล่วงให้เป็นไปได้เลยเป็นอันขาด
(ตัดตอนจากพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพ.ศ. ๒๔๒๘)
๖. การพูดแสดงความเห็นใจหรือเสียใจ
ความเห็นใจ คือ ความรู้สึกร่วมในใจ ส่วนความเสียใจ คือ ความไม่สบายใจจากสิ่งที่ไม่ต้องการ การพูดประเภทนี้จึงนำไปใช้คราวที่คนรู้จักใกล้ชิดพบภาวะไม่พึงประสงค์ โดยมีหลักการพูดดังนี้
๑. เท้าความถึงการทราบเรื่องที่เกิดขึ้น
๒. แสดงความเห็นใจหรือเสียใจและรู้สึกร่วมในสภาพการณ์ด้วย
๓. ให้กำลังใจว่าสภาพการณ์คงไม่รุนแรงและคืนสู่ปกติโดยเร็ว
๔. กล่าวถึงความช่วยเหลือเกื้อกูลที่จะให้ต่อไป
ตัวอย่าง
การกล่าวแสดงความเห็นใจในโอกาสประสบอุบัติเหตุ
พอผมได้ทราบว่าคุณประสบอุบัติเหตุ.......รู้สึกไม่สบายใจมากได้แต่ภาวนาขออย่าให้อาการรุนแรง ผมและเพื่อน ๆ ทุกคนต่างห่วงใยและคอยเอาใจช่วย หวังว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมคุ้มครองและดลบันดาลให้คุณหายบาดเจ็บเป็นปกติโดยเร็วคุณไม่ต้องวิตกเรื่องการเรียน พวกเราได้รวบรวมเอกสารคำสอนที่อาจารย์กำหนดให้อ่านทุกครั้งไว้เผื่อคุณแล้วและยินดีอธิบายเรื่องที่คุณไม่เข้าใจ ผมและเพื่อน ๆ จะมาเยี่ยมคุณอีกและคงได้เห็นคุณมีสุขภาพสมบูรณ์เช่นเคย
๗. การพูดโน้มน้าวใจ
การพูดโน้มน้าวใจ คือ การพูดชักจูงให้ผู้ฟังรู้สึกร่วมหรือปฏิบัติตามคำของผู้พูด เช่น การโฆษณา การพูดหาเสียง เป็นต้น การพูดแนวนี้ผู้พูดต้องแสดงความจริงใจทุกแง่มุม จึงจะเกิดพลังในคำพูด
จุดมุ่งหมายของการพูดโน้มน้าวใจ แบ่งเป็น ๓ ลักษณะ คือ
๑. ให้ผู้ฟังเชื่อถือหรือปฏิบัติตาม
๒. ให้ผู้ฟังเลิกปฏิบัติในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
๓. ให้ผู้ฟังปฏิบัติสิ่งนั้นต่อไปเพราะเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว
การพูดโน้มน้าวใจสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับเทคนิควิธีของผู้พูด
หลักการพูดโน้มน้าวใจดังต่อไปนี้
๑. กำหนดจุดมุ่งหมายที่ต้องการจากผู้ฟัง เพื่อเตรียมเนื้อหาและวิธีการที่เหมาะสม
๒. เรียงลำดับเนื้อหาที่จะพูด ได้แก่ บทนำที่ดึงดูดใจ เนื้อเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นนำไปใช้ได้จริงและเชิญชวนให้ทำตาม บทสรุปที่เน้นให้ผู้ฟังประทับใจและเชื่อถือ เปลี่ยนแนวคิดและหันมาทำตาม
๓. เริ่มจากการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ฟัง แล้วจึงเชิญชวนด้วยความจริงจังสนับสนุนด้วยเหตุผล ชี้ข้อดีและโทษโดยอ้างอิงข้อมูลที่น่าเชื่อถือสนับสนุน ซึ่งต้องใช้ลีลาการพูดที่สุภาพเหมาะสม
ตัวอย่าง
ครูเป็นผู้มีภาระหน้าที่อันสำคัญที่สุด คือ จะต้องช่วยพัฒนาคนให้เป็นคนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นงานที่ยากลำบากต้องเหน็ดเหนื่อยและประสบกับปัญหาอุปสรรคมากมายในการทำหน้าที่นี้ แต่ครูจงรับรู้ว่าทุกคนภาคภูมิใจในการทำหน้าที่สร้างอนาคตของชาติเพื่อให้ไปช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ซึ่งถ้าไม่มีครูเป็นผู้สร้างสิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นมาไม่ได้ ขอชื่นชมและยกย่องให้ครูเป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญของชาติตลอดไป
๘. การพูดในฐานะพิธีกร
พิธีกร คือ ผู้ทำหน้าที่ดำเนินรายการให้ราบรื่นตามเป้าหมาย พิธีกรที่ดีควรทำตามหลักการ ดังนี้
๑. ศึกษาข้อมูลของงาน เช่น ลักษณะและวัตถุประสงค์ของงาน ผู้มาร่วมงาน เป็นต้น
๒. ลำดับข้อมูลโดยบันทึกเป็นโครงร่างเพื่อกันสับสน หรือหากมีสูจิบัตรของงานก็เตรียมตามนั้น
๓. ฝึกพูดให้ชัดเจน ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เหมาะสมกับกาลเทศะ เนื้อเรื่องมีความสัมพันธ์กัน
๔. ไม่พูดช้าหรือเร็วเกินไป ใช้น้ำเสียงที่น่าฟัง มีระดับสูงต่ำที่สอดคล้องกับเนื้อหา
๕. ฝึกอ่านชื่อ–นามสกุล ตำแหน่ง และยศผู้มาร่วมงานให้คล่อง เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด
๖. แสดงสีหน้าและท่าทางให้สอดคล้องกับเนื้อหา และสบสายตากับผู้ฟังอย่างทั่วถึง
๗. ฝึกบุคลิกภาพให้ดูสง่างาม เป็นธรรมชาติ เชื่อมั่นในตนเอง รู้จักยิ้มแย้มแจ่มใส
๘. แต่งกายสุภาพเรียบร้อย เหมาะสมกับกาลเทศะ
๙. มาก่อนเวลาเพื่อซักซ้อมและประสานงานกับผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนตรวจสอบอุปกรณ์ที่ต้องใช้ เช่น ไมโครโฟน
๑๐. มีปฏิภาณไหวพริบในการแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์เฉพาะหน้า
หน้าที่ของพิธีกรมีดังนี้
๑. กล่าวทักทายผู้ฟังตามลำดับความสำคัญโดยใช้คำให้เหมาะสมกับระดับของผู้ฟัง
๒. กล่าวจุดประสงค์ของงานสั้น ๆ หากมีข้อมูลกำหนดมาให้อ่านก็อ่านตามนั้น
๓. พูดแนะนำกิจกรรมและความน่าสนใจของกิจกรรมนั้น ๆ
๔. พูดแนะนำผู้มาร่วมรายการตามลำดับก่อนหลัง
๕. ซักถามหรือสนทนากับผู้มาร่วมรายการอย่างเป็นกันเองเพื่อให้คลายความตื่นเต้น
๖. ควบคุมกิจกรรมให้ตรงตามกรอบเวลา หากเกิดปัญหาขึ้นก็ต้องแก้ไขให้ลุล่วงไปอย่างเรียบร้อย
๗. สามารถนำสารประโยชน์ที่สอดคล้องกับกิจกรรมมาพูดเล่าสู่กันฟัง
๘. กล่าวปิดงาน โดยขอบคุณผู้มาร่วมงาน ผู้มีส่วนทำให้งานสำเร็จลงได้ด้วยดี คาดหวังว่าจะได้พบกันอีก และปิดท้ายด้วยคำว่า “สวัสดี"
๙. การอภิปราย
การอภิปราย คือ การประชุมหารือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มีลักษณะคล้ายการสนทนา แต่จะมีการกำหนดความมุ่งหมายไว้แน่นอน
จุดมุ่งหมายของการอภิปราย มีดังนี้
๑. เพื่อเสนอปัญหา หารือเรื่องที่จะอภิปรายและหาแนวทางแก้ไข
๒. เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นอย่างมีหลักเกณฑ์และเหตุผลตามหลักประชาธิปไตย
๓. เพื่อหาข้อยุติ ข้อตกลง หรือข้อวินิจฉัยของปัญหาให้หมดไปหรือลดน้อยลง
๔. เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะไปเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาครั้งต่อไป
ประเภทของการอภิปราย
๑. การอภิปรายกลุ่ม คือ การอภิปรายโดยสมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น จะมีประธานหรือไม่ก็ได้ ถ้ามีประธานก็จะเป็นผู้ดำเนินการอภิปราย และมีเลขานุการทำหน้าที่จดบันทึกผล การอภิปรายลักษณะนี้มักใช้กับเรื่องวิชาการ เช่น การประชุม สัมมนา หรือการประชุมของสมาคมหรือหน่วยงานต่าง ๆ
๒. การอภิปรายในที่ประชุม มักจัดอภิปรายบนเวที มีผู้ดำเนินการอภิปรายและคณะผู้ร่วมอภิปราย มีผู้ฟังจำนวนมาก เป็นการอภิปรายเพื่อให้ความรู้ ความคิดเห็น หรือวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ และในตอนท้ายมักเปิดโอกาสให้ผู้ฟังซักถาม แสดงความคิดเห็น หรือเสนอแนะเพิ่มเติม
องค์ประกอบของการอภิปราย
๑. ปัญหาหรือเรื่องที่จะนำมาอภิปราย ควรเป็นเรื่องในกระแส ที่เนื้อหาไม่กว้างเกินไปและมีประโยชน์ต่อส่วนรวม
๒. ผู้อภิปราย ควรเป็นผู้สนใจหรือเข้าใจปัญหานั้น ๆ โดยมีจำนวนบุคคลพอเหมาะ
ลักษณะและหน้าที่ของผู้อภิปราย
๑. ศึกษาข้อมูลและเตรียมข้อคิดเห็นตามหัวข้อที่จะอภิปรายไว้ล่วงหน้า
๒. แบ่งหัวข้อในการอภิปรายตามความถนัดบุคคล
๓. ตรงต่อเวลา และรักษาเวลาในการพูดของตน
๔. ตั้งใจฟังและคิดตามคำอภิปรายของผู้อื่น
๕. พูดให้กะทัดรัดและได้ใจความสมบูรณ์
๖. พูดให้ผู้ฟังได้ยินทั่วถึง
๗. แสดงความสนใจ ไม่ขัดจังหวะผู้ที่กำลังอภิปราย และควบคุมอารมณ์ สีหน้า และท่าทาง
๘. ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น
๓. ผู้ดำเนินการอภิปราย จะควบคุมการอภิปรายไม่ให้ออกนอกประเด็น และสรุปผลในตอนท้าย
ลักษณะและหน้าที่ของผู้ดำเนินการอภิปราย
๑. ติดตามคำพูดของผู้อภิปรายแต่ละคน และบันทึกสาระสำคัญไว้
๒. กล่าวซ้ำหรืออภิปรายประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน
๓. ควบคุมการอภิปรายให้ดำเนินไปอย่างราบรื่นและต่อเนื่อง
๔. ให้โอกาสทุกคนได้มีส่วนในการอภิปราย
๕. ควบคุมการอภิปรายให้อยู่ในประเด็นและเตือนผู้ที่ออกนอกประเด็นอย่างสุภาพ
๖. กล่าวสรุปการอภิปราย
หลักเกณฑ์สรุปการอภิปรายควรปฏิบัติดังนี้
๑. กล่าวถึงจุดประสงค์ในการอภิปราย
๒. กล่าวถึงประเด็นสำคัญที่มีผู้อภิปราย
๓. กล่าวถึงผลการอภิปราย
๔. สรุปข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นของผู้อภิปรายทุกคน
วิธีดำเนินการอภิปรายมีดังนี้
๑. กล่าวทักทายผู้ฟังและผู้ร่วมอภิปราย แนะนำหัวข้อที่จะอภิปรายให้เกิดความสนใจ
๒. แนะนำผู้ร่วมอภิปรายให้ผู้ฟังรู้จักคร่าว ๆ
๓. เชิญผู้อภิปรายขึ้นพูดตามลำดับ และรักษาเวลาการพูดของแต่ละคน
๔. สรุปเมื่อผู้ร่วมอภิปรายแต่ละคนพูดจบ และเชื่อมโยงไปสู่ผู้อภิปรายคนอื่น
๕. ต้องควบคุมสถานการณ์หากเกิดปัญหา เช่น การโต้เถียง การขัดแย้ง
๖. เพิ่มเติมหรือสรุปเรื่องที่อภิปรายให้ผู้ฟังเข้าใจยิ่งขึ้น
๗. สรุปผลการอภิปรายทั้งหมดเมื่อจบการอภิปราย
๘. กล่าวขอบคุณผู้ร่วมอภิปรายและผู้ฟัง และกล่าวปิดการอภิปราย
๑๐. การโต้วาที
การโต้วาที คือ การโต้คารมโดยใช้วาทศิลป์และเหตุผลสนับสนุนจากบุคคล ๒ ฝ่าย โดยมีจุดมุ่งหมายดังนี้
๑. เพื่อให้ผู้โต้วาทีรู้จักพูดอย่างมีเหตุผล สามารถแสดงความคิดเห็นของตนอย่างเป็นระบบ
๒. เพื่อให้ผู้โต้วาทีรู้จักค้นคว้าข้อมูลประกอบคำพูดให้มีน้ำหนัก ฟังแล้วน่าเชื่อถือ
๓. ส่งเสริมให้ผู้โต้วาทีรู้จักพูดโน้มน้าวให้ผู้ฟังมีความคิดเห็นคล้อยตาม
๔. ทำให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาหลักและศิลปะการพูด และฝึกฝนทักษะให้ดียิ่งขึ้น
๕. ฝึกทักษะการเป็นผู้ฟัง รู้จักคิดใคร่ครวญอย่างมีเหตุผล และไม่หลงเชื่อคำพูดของผู้อื่นโดยง่าย
องค์ประกอบการโต้วาที
๑. ญัตติ คือ ประเด็นที่นำมาโต้วาที มักเป็นเรื่องที่สังคมกำลังสนใจหรือมีประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่ขัดต่อขนบหรือเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายใด ทั้งนี้การตั้งญัตติควรใช้ข้อความง่าย ๆ กะทัดรัด ชัดเจน
๒. คณะผู้โต้วาที ประกอบด้วย
๑) ประธานการโต้วาที มีหน้าที่ดังนี้
๑. กล่าวนำ เปิดการโต้วาที เสนอญัตติ และบอกที่มาของปัญหาในการโต้วาที
๒. กล่าวแนะนำผู้ร่วมโต้วาทีและกรรมการ
๓. ชี้แจงกติกาและข้อตกลงร่วมกันของคณะผู้โต้วาที
๔. เชิญผู้โต้วาทีตามลำดับ และรักษาเวลาในการโต้วาทีไม่ให้ผู้โต้วาทีพูดเกินเวลา
๕. แจ้งผลการตัดสินเมื่อการโต้วาทีสิ้นสุดลง
๖. สรุปและกล่าวปิดการโต้วาที
๒) ผู้ร่วมโต้วาที แบ่งเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายเสนอและฝ่ายค้าน มีบทบาทดังนี้
๑. หัวหน้าฝ่ายเสนอ ต้องบอกขอบเขตของปัญหา คำจำกัดความ เสนอประเด็นสำคัญของญัตติพร้อมเหตุผล และกล่าวสรุปปิดท้ายข้อมูลทั้งหมดให้โดนใจผู้ฟัง
๒. หัวหน้าฝ่ายค้าน ต้องกล่าวคัดค้านฝ่ายเสนอโดยใช้เหตุผลหักล้าง และจูงใจให้ผู้ฟังเชื่อ
๓. ผู้สนับสนุน แบ่งเป็นผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอและผู้สนับสนุนฝ่ายค้าน มีหน้าที่นำเสนอข้อมูลสนับสนุนฝ่ายตนและหักล้างฝ่ายตรงข้ามเพื่อให้ผู้ฟังเชื่อ
๔. คณะกรรมการผู้ตัดสิน ไม่มีตำแหน่งตายตัวอาจเป็นประธานหรือผู้ฟังก็ได้ โดยทำหน้าที่ตัดสินผลโต้วาที โดยดูจากหลักเกณฑ์ต่าง ๆ แต่กรณีโต้วาทีเพื่อเชื่อมความสามัคคีจะไม่มีการตัดสิน
วิธีการดำเนินการโต้วาที
ประธานกล่าวเปิด เสนอญัตติ และแนะนำผู้เกี่ยวข้องในการโต้วาทีทั้งหมด พร้อมบอกกฎเกณฑ์การตัดสิน แล้วจึงเชิญผู้โต้วาทีขึ้นพูด จากนั้นหัวหน้าฝ่ายเสนอประเด็นฝ่ายตน ส่วนหัวหน้าฝ่ายค้านขึ้นมาค้านประเด็นของฝ่ายเสนอพร้อมเสนอประเด็นของตนเอง จากทั้งผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่ายผลัดกันเสนอข้อมูลฝ่ายตนและค้านฝ่ายตรงข้าม เมื่อนำเสนอเสร็จแล้วหัวหน้าทั้งสองฝ่ายกล่าวข้อสรุป ปิดท้ายด้วยประธานเชิญกรรมการขึ้นวิจารณ์ พร้อมทั้งประกาศผล กล่าวขอบคุณผู้โต้วาทีแล้วจึงกล่าวปิดงาน
มารยาทในการพูด
๑. แต่งกายสุภาพเหมาะสมกับโอกาสและสถานที่
๒. เลือกใช้ถ้อยคำเหมาะสมกับผู้ฟังและเรื่องที่จะพูด
๓. ยอมรับความคิดเห็นของผู้ฟัง ควบคุมอารมณ์ ไม่แสดงความก้าวร้าวหากความคิดเห็นไม่ตรงกัน
๔. ไม่พูดเรื่องส่วนตัวของผู้อื่นหรือเรื่องส่วนตัวของตนเองหากไม่มีผู้ใดถามถึง
๕. ไม่พูดกระทบ พูดข่มผู้อื่น หรือพูดหยาบคาย
๖. ควรเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้พูดบ้าง ไม่พูดอยู่เพียงฝ่ายเดียว
๗. ปฏิบัติตามธรรมเนียมการพูด เช่น กล่าวคำขึ้นต้น กล่าวคำลงท้าย กล่าวคำขอบคุณ เป็นต้น
สรุป
การพูดเป็นทักษะสำคัญในการสื่อสาร เพื่อให้การพูดสัมฤทธิ์ผลตรงตามวัตถุประสงค์เราจึงควรเรียนรู้หลักการพูดที่ถูกต้องเหมาะสมตามจุดมุ่งหมาย โอกาส และกาลเทศะ แล้วนำมาปฏิบัติตาม
แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th