ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
ความขัดแย้ง
“ความขัดแย้ง” หมายถึง ความคับข้องใจหรือความไม่เข้าใจกันและตกอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถหาข้อยุติเป็นที่พอใจได้ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากความไม่เห็นพ้องต้องกันในเรื่องของความคิด ความเชื่อ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ทัศนคติ ความต้องการ ค่านิยม บทบาทหน้าที่ การสื่อสารที่ไม่ถูกต้อง และผลประโยชน์ที่พึงได้รับ
องค์ประกอบของความขัดแย้ง ได้แก่
1. ความต้องการ เมื่อเราละเลยความต้องการที่จำเป็นของอีกฝ่ายหนึ่ง
2. ความเข้าใจ ความต้องการที่ไม่ตรงกันทำให้เกิดความขัดแย้งได้ง่าย
3. อำนาจ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพยายามบังคับให้อีกฝ่ายทำตามหรือยอมรับในผลประโยชน์ที่จัดสรรอย่างไม่เป็นธรรม
4. คุณค่า เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับการให้คุณค่าความหมายที่อีกฝ่ายเชื่อถือ
5. อารมณ์ความรู้สึก เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับรู้และเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง
ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมไทย ได้แก่ ปัจจัยด้านการเมืองการปกครอง ปัจจัยทางเศรษฐกิจ และปัจจัยด้านสังคม
1. ปัจจัยด้านการเมืองการปกครอง ได้แก่ สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ และความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝักฝ่ายที่ตรงข้าม
2. ปัจจัยทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคมไทย ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่
1) การจัดสรรการใช้ทรัพยากรกับการกระจายรายได้ เกิดจากการที่รัฐบาลจัดเก็บภาษี ผู้มีรายได้มากจะต้องเสียภาษีสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บุคคลเหล่านั้นทำงานน้อยลง หรือขาดแรงจูงใจในการทำงาน ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อการจัดสรรการใช้ทรัพยากร
2) การกระจายรายได้กับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ กรณีเกิดภาวะเงินเฟ้อและรัฐบาลต้องใช้มาตรการภาษีอากรเพื่อทำให้การใช้จ่ายรวมของประเทศลดลงมา โดยการจัดเก็บภาษีอากรผู้มีรายได้ต่ำซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมากขึ้น เพื่อลดการบริโภคของบุคคลเหล่านั้น การใช้มาตรการดังกล่าวอาจช่วยลดเงินเฟ้อ แต่จะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมมากขึ้น แสดงถึงความขัดแย้งระหว่างหน้าที่การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจกับหน้าที่ในการกระจายรายได้
3) การส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกับการกระจายรายได้ อาจมาจากการที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมให้ประชาชนทำการออมและลงทุนมากขึ้นโดยใช้มาตรการทางภาษี มาตรการนี้อาจช่วยให้การขยายตัวหรือการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเติบโตเร็วขึ้น แต่จะทำให้กลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำต้องแบกรับภาระภาษีจนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งขัดกับเป้าหมายในการสร้างความเป็นธรรมหรือการกระจายรายได้ของสังคม
4) การบุกรุกทำลายป่า เมื่อความต้องการใช้ที่ดินเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า ส่วนผู้ที่รับสัมปทานทำป่าไม้ก็มักจะไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ทำให้อัตราการทำลายป่าไม้สูงขึ้นเรื่อย ๆ
5) การเข้ามาของแรงงานต่างชาติ ปัจจุบันแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทำให้ถูกละเลยและไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ
3. ปัจจัยด้านสังคม ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นและจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุในอีก 15 ปีข้างหน้า ทำให้เกิดการขาดแคลนกำลังแรงงานในอนาคต ขณะเดียวกันคุณภาพการศึกษามีปัญหา ทำให้การเพิ่มความสามารถของแรงงานทำได้ยาก นอกจากนี้สังคมไทยปัจจุบันกลายเป็นสังคมแบบต่างคนต่างอยู่ และรับวัฒนธรรมต่างประเทศโดยไม่มีการกลั่นกรอง ส่งผลทำให้คุณธรรมจริยธรรมเสื่อมถอย ครอบครัวขาดความอบอุ่น ส่วนชนชั้นกลางซึ่งมีความรู้และเป็นกำลังแรงงานสำคัญยังเป็นกลุ่มก้อนที่ไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รายได้ของคนรวยกับคนจนต่างกันมากจนนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม
ปัจจุบันสังคมไทยกำลังปรับเปลี่ยนจากสังคมไมตรีสัมพันธ์ไปสู่สังคมสัมฤทธิ์สัมพันธ์ สังคมไมตรีสัมพันธ์ คือ สังคมที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มีไมตรีสัมพันธ์เป็นเหตุและเป็นผล ส่วนสังคมสัมฤทธิ์สัมพันธ์ หมายถึง สังคมที่เน้นค่านิยมของสัมฤทธิผลเป็นหลัก มุ่งประสิทธิภาพในการทำงาน มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์เป็นพื้นฐานของบุคลิกภาพ
การลดความขัดแย้งและการสร้างความสมานฉันท์
การไก้ไขปัญหาความขัดแย้งทำได้โดยการสร้างความสมานฉันท์ “ความสมานฉันท์ในชุมชน” คือ การที่คนในชุมชนมีความสามัคคี มีค่านิยมร่วมกัน ยอมรับเหตุผล ตลอดจนความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ความคิด และความเชื่อไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา วิธีการสร้างความสมานฉันท์ในชุมชน ได้แก่ การร่วมมือร่วมใจกัน ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างโดยไม่มีอคติ พร้อมทั้งปฏิบัติตามกฎหมายและเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม
ปัญหาทางสังคม
ปัญหาทางสังคม คือสภาวการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อบุคคลจำนวนหนึ่ง ซึ่งมากพอสมควรและมีความรู้สึกว่าควรจะแก้ไขในรูปการกระทำร่วมกันเพื่อให้ปัญหานั้นบรรเทาเบาบางลงหรือทำให้ดีขึ้น ปัญหาทางสังคมเกิดจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม สิ่งแวดล้อมทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ รวมทั้งการจัดระเบียบสังคมที่ไม่จริงจัง
ปัญหาสังคมของประเทศไทย ได้แก่
1. ปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ปัญหาคุณภาพอากาศ กากของเสีย และของเสียอันตราย มีแนวทางการแก้ไข เช่น การตรวจวัดคุณภาพอากาศตามจุดต่าง ๆ การควบคุมกระบวนการผลิต การขนส่ง การใช้ และการทำลายให้เกิดของเสียน้อยที่สุด และการควบคุมแหล่งกำเนิดกากของเสียอันตรายให้เกิดของเสียน้อยที่สุด เป็นต้น
2. ปัญหายาเสพติด การแก้ไขปัญหายาเสพติดต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน โดยเฉพาะสถาบันครอบครัวที่ต้องสร้างความรักความอบอุ่นภายในครอบครัว พร้อมทั้งปลูกฝังให้บุตรหลานห่างไกลจากยาเสพติด
3. ปัญหาการทุจริต ได้แก่ การทุจริตเชิงนโยบาย การทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง การทุจริตในการให้สัมปทาน และการทุจริตโดยการทำลายระบบตรวจสอบอำนาจรัฐ แนวทางการแก้ปัญหาการทุจริต ได้แก่ การปลูกจิตสำนึกและการสร้างค่านิยมต่อต้านการทุจริตกับทุกภาคส่วนการรวมกลุ่มเป็นองค์การทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของภาคประชาชน และการประสานความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ
4. ปัญหาอาชญากรรม แนวทางในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ได้แก่ การแก้ไขปัญหาสภาวะหรือเงื่อนไขทางสังคม เช่น ปัญหาการว่างงาน การศึกษา การแก้ไขปัญหาสภาวะหรือเงื่อนไขทางจิตใจ เช่นการพยายามเข้าใจตนเอง กล้าเผชิญความจริง ยอมรับและอดทนต่อความวิตกกังวล และการแก้ไขปัญหาสภาวะสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านที่อยู่
การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
การที่บุคคลจะอยู่ร่วมกันในสังคมได้นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีทักษะการอยู่ร่วมกัน ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม ได้แก่ การควบคุมตนเอง การมีความรับผิดชอบ การมีวินัยในตนเอง การช่วยเหลือผู้อื่น การเสียสละต่อสังคม และการมุ่งมั่นพัฒนาสังคม การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขมีหลักปฏิบัติดังนี้
1. หลักการอยู่ร่วมกันอย่างมีขันติธรรม
ขันติธรรม หมายถึง การอดทนอดกลั้น ความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างในสังคมการเมืองจะมี 2 ระดับ คือ ระดับบุคคล ความอดทนในระดับนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า สมาชิกในสังคมทุกคนมีความเท่าเทียมกันในสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินชีวิตที่ตนเห็นว่าดีที่สุดภายใต้กฎกติกาของสังคม และระดับรัฐบาล ผู้ใช้อำนาจปกครองรัฐจะต้องมีความเป็นกลาง มีความอดทนต่อความแตกต่างของกลุ่มคนภายใต้การปกครอง เพื่อจัดสรรผลประโยชน์แก่ทุกฝ่ายอย่างเสมอภาค หลักการอยู่ร่วมกันอย่างมีขันติธรรมประกอบด้วย
หลักการอยู่ร่วมกันในสังคม มีดังนี้
1. มีการรู้จักตัวเองและยอมรับตัวเอง คือ มีสุขภาพจิตดี ทำให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี
2. มีการยอมรับและเข้าใจตนเองและผู้อื่น ควรทำความเข้าใจว่าไม่มีบุคคลใดที่สมบูรณ์แบบ
3. มีความจริงใจ จะช่วยให้สัมพันธภาพดำเนินไปได้ด้วยดี
4. มีความซื่อตรง คือ มีลักษณะตรงไปตรงมา
5. มีความร่วมมือ เป็นสิ่งที่จำเป็นในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
6. มีความรับผิดชอบ คือ มีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน รวมทั้งแบ่งเบาความทุกข์ของผู้อื่น
7. มีความยืดหยุ่น คือ ยอมที่จะเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงข้อบกพร่องต่าง ๆ
นอกจากนี้ยังต้องมีความสามารถในการประสานความสัมพันธ์กัน ดังนี้
1. มีเมตตากายกรรม ได้แก่ ให้เกียรติและเคารพกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง
2. มีเมตตาวจีกรรม ได้แก่ การพูดจาติดต่อกันด้วยความเมตตา แจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน
3. มีสาธารณโภคี ได้แก่ การแบ่งปันผลประโยชน์โดยชอบธรรมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
4. มีศีลสามัญญตา ได้แก่ การประพฤติดีตามกฎเกณฑ์ และมีวินัยในตนเอง
5. มีทิฏฐิสามัญญตา ได้แก่ การปรับความเห็นให้เข้ากัน และมีสัมมาคารวะ
2. หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเพื่อแนะแนวทางการปฏิบัติตนในทุกระดับ ความพอเพียง หมายถึง ความพอเพียง ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันตัวที่ดีพอสมควรต่อผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน โดยต้องอาศัยความรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน ขณะเดียวกันก็ต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติให้มีคุณธรรม ความรอบรู้ และความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีหลักพิจารณา 5 ส่วน คือ
1. กรอบแนวคิด เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการปฏิบัติตน โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย มุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืนของการพัฒนา
2. คุณลักษณะ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในทุกระดับ เน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน
3. คำนิยาม ความพอเพียงต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว
4. เงื่อนไข ได้แก่ เงื่อนไขความรู้ และเงื่อนไขคุณธรรม
5. แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ ได้แก่ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน
3. การเห็นคุณค่าในตนเอง การเห็นคุณค่าในตนเองเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของเราเป็นอย่างมาก การสร้างคุณค่าในตนเองสามารถทำได้โดยการตั้งเป้าหมายและพยายามทำให้สำเร็จ
4. การมองโลกในแง่ดี
การมองโลกในแง่ดี หมายถึง การมองโลกในแง่ดีบนพื้นฐานของความเป็นจริง ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง กล้าเสี่ยง กล้าตัดสินใจ และมีความสุขมากกว่าคนที่มองคนในแง่ร้าย
5. การสร้างทักษะทางอารมณ์
ทักษะทางอารมณ์ หมายถึง ความสามารถลักษณะหนึ่งของบุคคลที่จะตระหนักถึงความรู้สึก ความคิด และอารมณ์ของตนและผู้อื่น สามารถควบคุมอารมณ์และแรงกระตุ้นภายในได้อย่างเหมาะสม
ทักษะทางอารมณ์มีองค์ประกอบที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่ การตระหนักรู้ตนเอง การบริหารจัดการกับอารมณ์ตนเอง การจูงใจตนเอง การหยั่งรู้อารมณ์ของผู้อื่น และการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
6. การบริโภคด้วยปัญญา
ผู้บริโภคควรตระหนักรู้ความจริงต่อไปนี้
1) เป็นบุคคลที่เป็นส่วนในสังคม ผู้มีความต้องการที่ถูกกระตุ้นโดยอิทธิพลทางสังคม
2) เป็นชีวิตที่เป็นส่วนในธรรมชาติ ผู้มีความต้องการที่ถูกกำหนด โดยเหตุปัจจัยในธรรมชาติที่จะต้องบริโภคเพื่อให้ชีวิตอยู่ได้
7. การเลือกรับและปฏิเสธข้อมูลข่าวสาร
การเลือกรับข้อมูลข่าวสารสามารถทำได้โดยการเลือกรับเฉพาะข้อมูลข่าวสารที่เชื่อถือได้และเหมาะสมกับตนเอง เลือกรับข้อมูลข่าวสารที่รับมีความทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ในปัจจุบัน และพิจารณาความถูกต้อง เที่ยงตรง และความสมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร
8. การปรับปรุงตนเอง
การพัฒนาตนเองเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในสังคมแห่งการเรียนรู้ต้องปลูกฝังระเบียบวินัยเกี่ยวกับการเป็นนายของตนเอง การมีแบบแผนความคิด การมีวิสัยทัศน์ร่วม การเรียนรู้ของกลุ่ม และการคิดอย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้บุคคลยังควรพัฒนาตนเองให้มีสมรรถนะในการปฏิบัติงานตามวิธีดังต่อไปนี้
1. การพัฒนาตนเอง หมายถึง การที่บุคคลใฝ่รู้และพยายามพัฒนาตนเองด้วยวิธีการต่าง ๆ
2. การพัฒนาตนเองในขณะปฏิบัติงาน หมายถึง การที่บุคคลได้เรียนรู้เทคนิคการทำงานจนเกิดทักษะ ฝึกหรือทดลองปฏิบัติจนมีความชำนาญ
3. การพัฒนาตนเองนอกเวลาการปฏิบัติงาน หมายถึง การที่บุคคลต้องหยุดการทำงานปกติของตนเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมตามหลักสูตรหรือโครงการต่าง ๆ
Keyword ความขัดแย้ง ปัญหาทางสังคม ขันติธรรม เศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาตนเอง
แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th