ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
วัฒนธรรมและภูมิปัญญา
วัฒนธรรมไทย
วัฒนธรรม หมายถึง สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อความเจริญก้าวหน้าจนเป็นเอกลักษณ์ของสังคมนั้น ๆ และถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นหลัง แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ วัฒนธรรมทางวัตถุและวัฒนธรรมทางจิตใจ ทั้งนี้ สภาวัฒนธรรมแห่งชาติได้จำแนกวัฒนธรรมไทยออกเป็น 4 ประเภท คือ
1. คติธรรม มีความเกี่ยวข้องกับจิตใจ ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากหลักธรรมทางศาสนา
2. เนติธรรม เป็นวัฒนธรรมทางกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ที่เป็นกรอบป้องกันมิให้สมาชิกละเมิดต่อระเบียบกฎเกณฑ์ของสังคม เช่น กฎหมาย และกฎระเบียบของสถาบัน
3. สหธรรม เป็นวัฒนธรรมเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต เพื่อให้สมาชิกในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณีและมารยาททางสังคม
4. วัตถุธรรม เป็นวัฒนธรรมเกิดจากการประดิษฐ์ของสมาชิกในสังคม เช่น ที่อยู่อาศัย และเครื่องใช้
วัฒนธรรมไทยมีความสำคัญในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. ช่วยให้มนุษย์สามารถปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมในสังคม
2. การศึกษาวัฒนธรรมทำให้เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ เจตคติ ความคิดเห็น และความเชื่อ
3. ทำให้เกิดความเรียบร้อยในสังคม
4. ช่วยสร้างความเจริญให้แก่สังคมไทย
5. ช่วยสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแก่สังคมไทย
6. ช่วยแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติ
ภูมิปัญญาไทย
ภูมิปัญญาไทย หมายถึง ความรู้ ความสามารถ และทักษะในการดำรงชีวิตของคนไทย ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม เหมาะสมกับยุคสมัย และมีเอกลักษณะเป็นของตนเอง
ความสำคัญของภูมิปัญญาไทย ได้แก่
1. ช่วยสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่น
2. สร้างความภาคภูมิใจและศักดิ์ศรีเกียรติภูมิแก่คนไทย
3. ช่วยส่งเสริมให้การประยุกต์หลักธรรมคำสอนทางศาสนาใช้กับวิถีชีวิตของคนไทยได้อย่างเหมาะสม
4. สร้างความสมดุลระหว่างคนในสังคมและธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
5. ช่วยเปลี่ยนแปลงปรับปรุงวิถีชีวิตของคนไทยให้เหมาะสมตามยุคสมัย
ภูมิปัญญาไทยแบ่งเป็น 9 ประเภท ได้แก่ ด้านเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ด้านการแพทย์แผนไทย ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ด้านศิลปกรรม ด้านภาษาและวรรณกรรม ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี และด้านโภชนาการ
แนวทางในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย ได้แก่
1. การรักษา สืบทอดวัฒนธรรมของชาติ และความหลากหลายของวัฒนธรรมท้องถิ่นให้อยู่อย่างมั่นคง
2. สร้างค่านิยม จิตสำนึก ให้ตระหนักในคุณค่าของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย
3. การนำทุนทางวัฒนธรรมของประเทศมาสร้างคุณค่าทางสังคมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
4. การบริหารจัดการองค์ความรู้ด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
รัฐธรรมนูญกำหนดสิทธิและหน้าที่ให้บุคคลอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังนี้
1. ทุกคนในท้องถิ่นมีสิทธิใช้ จัดการ บำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและ ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นได้
2. ชุมชนและชุมชนท้องถิ่นมีสิทธิดำเนินการอนุรักษ์ภูมิปัญญาและได้รับประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผ่านกลไกการปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรของรัฐ โดยไม่ขัดแย้งกับสิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม
3. บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์ปกป้องและสืบสานวัฒนธรรมของชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น
การอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย สามารถทำได้ดังนี้
1. อนุรักษ์ ได้แก่ การปลูกจิตสำนึกให้ตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น
2. การฟื้นฟู ทำได้โดยการเลือกสรรภูมิปัญญาที่สูญหายหรือกำลังจะสูญหายแล้วนำกลับมาทำให้มีคุณค่าและมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต
3. การพัฒนา ทำได้โดยการพัฒนาภูมิปัญญาไทยให้เหมาะกับยุคสมัย และนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยในการผลิต การตลาด และการบริหาร
4. การสืบทอดภูมิปัญญา แบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ การถ่ายทอดประสบการณ์ที่สั่งสมกันมาจากพ่อแม่ไปสู่ลูก การเรียนจากตำรา แล้วฝึกปฏิบัติ หรือทำเครื่องมือใช้เอง และการประยุกต์ความรู้จากสังคมอื่นมาใช้กับสังคมของตน โดยอาจจะซื้อ ลอกเลียนแบบ หรือเรียนรู้จากสื่อมวลชน
5. การแพร่แลกเปลี่ยน มีการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพของชาวบ้าน โดยประกาศเกียรติคุณในลักษณะต่าง ๆ
วัฒนธรรมสากล
วัฒนธรรมสากล หมายถึง แนวคิด แบบแผน รูปแบบของการประพฤติปฏิบัติที่นานาประเทศให้การยอมรับโดยทั่วไป ส่วนใหญ่มีถิ่นกำเนิดทางซีกโลกตะวันตกซึ่งมีความเจริญทางด้านเทคโนโลยีและวิทยาการ ทำให้เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปและกลายเป็นวัฒนธรรมสากลในที่สุด
วัฒนธรรมสากลที่พบเห็นโดยทั่วไป ได้แก่
1. ด้านการแต่งกาย ผู้หญิงจะสวมเสื้อและกระโปรงเป็นชิ้นเดียวกันหรือหลายชิ้น ส่วนผู้ชายนิยมสวมเสื้อเชิ้ตแขนยาว ผูกเนกไท สวมสูทสากลทับชั้นนอก กางเกงขายาว บางครั้งอาจมีเสื้อกั๊กซึ่งจะเปลี่ยนไปตามความนิยม
2. ด้านอาหาร ส่วนใหญ่เป็นอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดที่มีความสะดวกรวดเร็ว และประเภทขนมปัง ซุปใสหรือซุปข้นต่าง ๆ ปลา สลัดผัก อาหารจานหลักจำพวกเนื้อวัว แกะ ไก่ เป็ด อาหารทะเล ผลไม้ ของหวาน เช่น เค้ก ไอศกรีม กาแฟหรือชา
3. ด้านที่อยู่อาศัย นิยมสร้างบ้านโดยใช้อิฐและปูนซึ่งมีความแข็งแรงทนทาน
4. ด้านการรักษาโรค มีการนำวิทยาการทางการแพทย์ จากตะวันตกเข้ามาใช้
5. ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ทิศทางของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสหัสวรรษใหม่มี 3 ด้าน คือ ด้านพลังงาน ด้านสุขภาพและอาหาร และด้านการติดต่อสื่อสาร ส่วนเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่มี 4 กลุ่ม คือ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี รวมทั้งเทคโนโลยีวัสดุและเทคโนโลยีอื่น สำหรับเทคโนโลยีสารสนเทศที่แพร่หลายและมีความจำเป็นในการติดต่อสื่อสาร ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
เราควรเลือกรับวัฒนธรรมสากลและนำมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมตามแนวทางต่อไปนี้
1. การเชื่อและปฏิบัติตามหลักของเหตุผล รู้จักเลือกรับวัฒนธรรมสากลที่เข้ากับสภาพสังคมเดิม
2. ยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
3. การทำให้เกิดความสมดุล ควรปรับเทคโนโลยีและวัฒนธรรมใหม่ที่รับเข้ามาให้มีความสมดุล ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งพัฒนาวัฒนธรรมเดิมให้เหมาะสมและสอดคล้องกัน
4. การเลือกรับวัฒนธรรมต่างชาติที่มีคุณค่า เหมาะสมกับสังคมไทย ควรเรียนรู้วัฒนธรรมจนเข้าใจคุณค่าและประโยชน์ในทุก ๆ ด้าน เพื่อจะได้เลือกรับและปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมกับสังคมไทย
Keyword วัฒนธรรม วัฒนธรรมไทย คติธรรม เนติธรรม สหธรรม วัตถุธรรม ภูมิปัญญาไทย วัฒนธรรมสากล
แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th