ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
ลักษณะของคำภาษาต่างประเทศที่ยืมมาใช้ในภาษาไทย
๑. สาเหตุที่ทำให้เกิดการยืมภาษา
๑. ด้านภูมิศาสตร์ อาณาเขตใกล้กันทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนภาษา
๒. ด้านการค้า การติดต่อกันเป็นหนึ่งในปัจจัยการรับภาษา
๓. ด้านศาสนาและวัฒนธรรม การรับศาสนาและวัฒนธรรมจะแฝงคำศัพท์จากสิ่งเหล่านั้นมาด้วย
๔. ด้านการศึกษา การเรียนในต่างแดน ความรู้ในแขนงต่าง ๆ ที่เพิ่มเติมเป็นที่มาของศัพท์
๕. ด้านเทคโนโลยี การรับความเจริญหรือสิ่งประดิษฐ์มาใช้เป็นการรับเอาภาษาของชาตินั้น ๆ มาด้วย
๒. อิทธิพลของภาษาต่างประเทศที่มีผลต่อภาษาไทย
๑. คำไทยมีหลายพยางค์ จากเดิมที่เป็นคำพยางค์เดียวก็เพิ่มจำนวนพยางค์เพิ่มขึ้นโดยผสมกับภาษาอื่น
๒. คำไทยเป็นคำควบกล้ำมากขึ้น ปัจจุบันมีคำควบกล้ำที่มีเสียงควบต่างจากเดิมเพิ่มมากขึ้น
๓. มีตัวสะกดหลายตัวที่ไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด ทำให้มีการเขียนและการออกเสียงที่หลากหลาย
๔. มีคำศัพท์ใช้ในภาษามากขึ้น ทำให้เลือกใช้ได้เหมาะสมกับโอกาส
๓. วิธีการนำคำภาษาต่างประเทศมาใช้ในภาษาไทย
๑. ใช้ตามคำเดิมที่ยืมมา เช่น เมตร (อังกฤษ) หมายถึง หน่วยวัดความยาว แข (เขมร) หมายถึง ดวงเดือน
๒. เปลี่ยนตัวสะกดให้ผิดไปจากเดิม เพื่อให้ออกเสียงได้สะดวก เช่น เผอิลฺ (เขมร) เปลี่ยนเป็น เผอิญ
๓. เปลี่ยนรูปและเสียงให้ผิดไปจากเดิม เพื่อให้เหมาะกับการออกเสียงภาษาไทย เช่น ฮวงโล้ว (จีน) เป็น อั้งโล่
๔. ตัดคำให้มีเสียงสั้นลง เช่น อุโบสถ (บาลีสันสกฤต) เป็น โบสถ์
๕. แผลงสระและพยัญชนะให้ผิดไปจากเดิม เช่น กีรติ (บาลีสันสกฤต) ไทยใช้ เกียรติ
๖. เปลี่ยนความหมายไปจากเดิมให้เข้ากับความหมายของภาษาไทย เช่น โมโห (บาลีสันสกฤต) หมายถึง ความลุ่มหลง ความโง่เขลา ไทยใช้ โกรธ
๗. บัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่ คือ การสร้างศัพท์ใหม่ที่มีความหมายตรงกับภาษาเดิม เพื่อไม่ทำให้ภาษาไทยวิบัติ ซึ่งการบัญญัติศัพท์มักใช้กับคำภาษาบาลีสันสกฤตและภาษาอังกฤษ
คำที่มาจากภาษาต่างประเทศ
๑. ภาษาเขมร
ไทยได้รับอิทธิพลจากภาษาเขมรจากการค้า การสงคราม การเมือง และวัฒนธรรม โดยมีสาเหตุการนำมาใช้ดังนี้
สาเหตุที่ไทยนำคำเขมรมาใช้
๑. รูปแบบและการออกเสียงคล้ายคลึงกัน
๒. อดีตเขมรมีความรุ่งเรืองและมีสัมพันธไมตรีต่อกัน
๓. ไทยและเขมรปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงรับคำเขมรมาใช้เป็นราชาศัพท์
๔. นักปราชญ์ราชบัณฑิตนำคำเขมรมาใช้ในวรรณกรรมด้านศาสนาและพิธีกรรม และยังใช้ในจารึกต่างๆ
๕. คนไทยและคนเขมรต่างนับถือและนิยมใช้ภาษาของกันและกัน
ลักษณะคำเขมรที่นำมาใช้ในภาษาไทย
๑. ใช้ตัวสะกดไม่ตรงตามมาตรา เช่น แม่กด มักใช้ ด จ ส เป็นตัวสะกด เช่น โปรด เผด็จ ตรัส และแม่กน มักใช้ น ญ ร ล เป็นตัวสะกด เช่น ผสาน เพ็ญ ขจร ตำบล
๒. พยัญชนะต้นมักเป็นคำควบกล้ำและคำที่ใช้อักษรนำ คำควบกล้ำ เช่น ขลาด กระบือ เพลาไพร คำที่มีอักษรนำ เช่น ขจัด โขนง พนม เสวย
๓. นิยมเติมคำหน้าหรืออุปสรรค ลงหน้าคำกริยาหรือวิเศษณ์เพื่อให้ความหมายของคำเปลี่ยนไปบ้าง
๓.๑ ใช้ บัง บัน บำ นำหน้าคำต่าง ๆ ซึ่งขึ้นต้นด้วยพยัญชนะวรรค
บัง นำหน้าคำที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะวรรค ก และเศษวรรค เช่น เกิด เป็น บังเกิด คม เป็น บังคม
บัน นำหน้าคำที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะวรรค ต และเศษวรรค เช่น เทิง เป็น บันเทิง ดาล เป็น บันดาล
บำ (บํ) นำหน้าคำที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะวรรค ป เช่น บัด เป็น บำบัด เพ็ญ เป็น บำเพ็ญ
๓.๒ ใช้พยัญชนะ ป ผ นำหน้าคำ เช่น ราบ เป็น ปราบ จญ เป็น ผจญ, ประจญ
๓.๓ ใช้ กำ นำหน้าคำ เช่น บัง เป็น กำบัง
๓.๔ ใช้พยัญชนะ ปร นำหน้าคำ เช่น ชุม เป็น ประชุม มูล เป็น ประมูล
๔. ใช้คำเติมกลาง ลงในคำนาม คำกริยา หรือคำวิเศษณ์ เพื่อให้ความหมายเปลี่ยนไปบ้าง
วิธีนำคำเขมรมาใช้ในภาษาไทย
๑. เลือกคำที่ออกเสียงได้สะดวก สอดคล้องกับภาษาไทยโดยไม่ต้องเปลี่ยนรูปและเสียงของคำ เช่น ฉบับ เขนย กราบ ปรุง ฉลอง ตรัส เกิด
๒. เปลี่ยนแปลงเสียงสระหรือพยัญชนะ ทั้งในด้านการออกเสียงและการสะกดคำ
– เปลี่ยนแปลงการออกเสียง เช่น ฏํรา เขมรอ่าน ตอม-รา ไทยใช้ ตำรา
– เปลี่ยนแปลงการสะกดคำ เช่น ถฺนล ไทยใช้ ถนน แขฺส ไทยใช้ กระแส (กระแสน้ำ)
๓. เปลี่ยนแปลงความหมาย เพื่อความเหมาะสมในภาษาไทย เช่น ฉฺลอง เขมร หมายถึง ข้าม ไทย หมายถึง พิธีฉลอง กรอง เขมร หมายถึง กำไล ไทยหมายถึง ถัก, ร้อย
๔. กำหนดความหมายขึ้นใหม่ แต่ยังใกล้เคียงความหมายเดิม เช่น ทบวง ความหมายเดิมคือ หัว ความหมายใหม่คือ หน่วยงานที่มีฐานะต่ำกว่ากระทรวงแต่สูงกว่ากรม
๕. แผลงอักษรให้มีรูปร่างต่าง ๆ ทั้งพยัญชนะ สระ ตัวสะกด และให้อ่านออกเสียงอย่างไทย เช่น โสฺวย แผลงเป็น เสวย ผฺทม แผลงเป็น ประทม, บรรทม ขฺจก แผลงเป็น กระจอก
ตัวอย่างคำยืมภาษาเขมร
กระทรวง กระบือ ขนม เขนย เขม่า ปรุง เพลิง ควาญ กระแส ทบวง เดิน โคม สำราญ สไบ เฉลียว ฉะเชิงเทรา กำเนิด กระโปรง ทลาย ทหาร บำเรอ บรรทัด ผลาญ กระเพาะ ฉลอง สนิม สำเนา จรวด ขจาย
๒. ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต
ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตเข้ามาในไทยผ่านการเผยแผ่ศาสนา โดยภาษาบาลีใช้ในงานเขียนทางศาสนา ส่วนภาษาสันสกฤตใช้เป็นภาษาทางวรรณคดีและวิชาการ นอกจากนี้ยังใช้ในคำราชาศัพท์อีกด้วย
ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตมีลักษณะแตกต่างกัน เทียบตามตารางดังนี้
วิธีการนำคำภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตมาใช้ในภาษาไทย
๑. เลือกคำที่ออกเสียงได้สะดวก คำใดออกเสียงสะดวกก็จะรับมาใช้ เช่น บาลีใช้ ขนฺติ สันสกฤตใช้ กษานฺติ ไทยเลือกใช้ ขันติ
๒. เปลี่ยนแปลงเสียงสระหรือพยัญชนะ เลือกให้เหมาะสมกับเสียงในภาษาไทย เช่น ไวทฺย เปลี่ยนเป็น แพทย์
๓. เพิ่มและลดเสียงของคำ
– ตัดส่วนหน้าของคำออก เช่น สามเณร ตัดเป็น เณร อุโบสถ ตัดเป็น โบสถ์
– ตัดส่วนหลังของคำออก เช่น พินิจฉัย ตัดเป็น พินิจ พาราณสี ตัดเป็น พารา
– ตัดทั้งส่วนหน้าและส่วนหลังออก ใช้เฉพาะส่วนกลาง เช่น อักโขภิณี ตัดเป็น โข อักโข
๔. เปลี่ยนแปลงความหมายให้แตกต่างจากความหมายเดิม โดยยังเค้าเดิมอยู่ เช่น อนาถ บาลีสันสกฤต หมายถึง ไม่มีที่พึ่ง ไทย หมายถึง น่าสงสาร, น่าสลดใจ
๕. กำหนดความหมายใหม่ มีคำภาษาบาลีและสันสกฤตที่ไทยรับมาใช้ทั้งคู่ แต่กำหนดความหมายใหม่ให้ต่างกัน เช่น โทรทัศน์ (คำบาลี) หมายถึง กระบวนการถ่ายทอดเสียงและภาพได้พร้อมกันจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โดยวิธีเปลี่ยนคลื่นเสียงและภาพให้เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกสู่อากาศ ส่วน โทรทรรศน์ (คำสันสกฤต) หมายถึง กล้องส่องดูสิ่งที่อยู่ไกลให้เห็นใกล้
ตัวอย่างคำยืมภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต
กบาล กมล การณ์ คณะ คุณ จร จีวร ชฎา ชล ชัย ชีวะ ชีวิต เดช ทวาร ทายาท ธน ธานี ธูป นคร นารี นิล นิติ บรม บาท บาป พสุธา พาณิช พิฆาต พิรุธ เพดาน ภาชนะ ภาพ โภค มณี มรณะ รัตนะ รส ราชา รูป โรค ลิขิต เลขา โลก โลภ วาจา วาตะ วาทะ วานร วารี วาสนา วิมล วิลาส วิหาร เวลา สมัย สมาธิ สาธารณะ สาโรช สุข หงส์ หิมะ เหตุ โหร อดีต อภัย อาฆาต อาวรณ์ อุดม อุทัย อุบาย อุปกรณ์ อุปมา
๓. ภาษาอังกฤษ
ภาษาอังกฤษสำหรับคนไทยทวีบทบาทมากขึ้นควบคู่กับความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยมีหลักการยืมคำต่าง ๆ มาใช้ ดังนี้
๑. เปลี่ยนเสียงภาษาอังกฤษที่ไม่มีใช้ในภาษาไทยให้ออกเสียงสะดวกขึ้น เช่น sign เป็น เซ็น
๒. ลากเข้าความเพื่อเปลี่ยนเสียงภาษาอังกฤษให้คุ้นหูคนไทยหรือแปลความหมายได้ด้วย เช่น coffee เป็น กาแฟ
๓. ใช้ตามคำเดิมโดยไม่เปลี่ยนรูปและเสียง เช่น fasion เป็น แฟชั่น
๔. บัญญัติศัพท์โดยกำหนดคำภาษาไทยขึ้นใช้แทนคำภาษาอังกฤษ เช่น bank บัญญัติว่า ธนาคาร
๕. ตัดคำให้สั้นลงเพื่อสะดวกในการออกเสียง เช่น champion เป็น แชมป์
๖. เปลี่ยนความหมายของคำให้กว้าง แคบ หรือเปลี่ยนความหมายไป เช่น free ความหมายเดิม คือ อิสระ, ไม่ต้องเสียเงิน, ว่างจาก ไทยใช้หมายถึง สะดวก, ได้เปล่า
ตัวอย่างคำยืมภาษาอังกฤษ
เทคโนโลยี วัคซีน โน้ต เค้ก ไอศกรีม เบเกอรี บาสเกตบอล เทนนิส สไตล์ ยีน เชิ้ต ฟิล์ม แฟลต คอนโดมิเนียม ปลั๊ก นีออน
๔. ภาษาจีน
ภาษาจีนเข้ามีอิทธิพลกับภาษาไทยผ่านการเจริญสัมพันธไมตรีและการค้า โดยเฉพาะภาษาจีนแต้จิ๋วและภาษาจีนฮกเกี้ยน
ตัวอย่างคำยืมภาษาจีน
ก๊ก กงเต๊ก บะฉ่อ แป๊ะเจี๊ยะ โพย จับกัง ตังเก ขึ้นฉ่าย ฮวงซุ้ย เป็นต้น
๕. ภาษาชวา–มลายู
ภาษาชวาเข้ามาในช่วงสมัยอยุธยาและเด่นชัดผ่านบทละครเรื่องดาหลัง (เจ้าฟ้ากุณฑล) และอิเหนา (ฉบับเจ้าฟ้ามงกุฎ และ ร.๒) ตามลำดับ ส่วนภาษามลายูนั้นเริ่มเผยแพร่เข้ามาทางจังหวัดชายแดนภาคใต้
ตัวอย่างคำยืมภาษาชวา–มลายู
การะบุหนิง กรรไกร กระยาหงัน กำยาน กุญแจ ตุนาหงัน โนรี บุหงา แบหลา ยาหยี ระยำ มาลาตี เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีภาษาอื่นเข้ามาปะปนในภาษาไทยอีก เช่น
ภาษาญี่ปุ่น เช่น กิโมโน เกอิชา คาราเต้ ชินโต ซากุระ ซูโม่ ยูโด สาเก สุกียากี้
ภาษาเปอร์เชีย เช่น กุหลาบ ตรา ตาด บัดกรี ปั้นหยา สุหร่าย วิลาศ องุ่น
ภาษาอาหรับ เช่น การบูร โกหร่าน ฝิ่น อัตลัด อำพัน
ภาษาฝรั่งเศส เช่น กงสุล กรัม กาเฟอีน กาสิโน ครัวซองต์ คูปอง ชีฟอง ปาร์เกต์
ศัพท์บัญญัติ
ศัพท์บัญญัติ คือ คำใหม่ที่สร้างขึ้นให้มีความหมายสอดคล้องกับคำเดิมเพื่อใช้ในวงการต่าง ๆ
ขั้นตอนการบัญญัติศัพท์
หลักการบัญญัติศัพท์ แบ่งเป็น ๓ ขั้นตอน ดังนี้
(หากขั้นตอนใดไม่สำเร็จจะใช้ขั้นตอนถัดไป)
สรุป
การยืมคำในภาษาอื่นมาใช้ในภาษาไทย ทำให้เราสามารถเลือกใช้คำได้หลากหลาย แต่การใช้คำยืมต้องมีความรู้และความเข้าใจเป็นพื้นฐานเพื่อให้ใช้ได้อย่างถูกต้อง
แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th