บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง วัฒนธรรม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 22.5K views



 วัฒนธรรม

 

 

วัฒนธรรมไทย
พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2485 ให้ความหมายของ “วัฒนธรรม” ไว้ว่า ลักษณะที่แสดงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติ และศีลธรรมอันดีของประชาชน จำแนกเป็น 2 ประเภท (ตามหลักการของพระยาอนุมานราชธน) คือ วัฒนธรรมทางวัตถุและวัฒนธรรมทางจิตใจ สำหรับวัฒนธรรมไทย คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติแบ่งออกเป็น 5 สาขา คือ

 

 

การไหว้เป็นวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย

 

 

วัฒนธรรมทางวัตถุ

 

 

1. วัฒนธรรมทางภาษาและวรรณคดี
2. วัฒนธรรมทางวัตถุ ได้แก่ ปัจจัย 4

 

 

อาหารไทยเป็นวัฒนธรรมทางวัตถุ

 

 

เรือนไทยในภาคต่าง ๆ

 

 

การใช้สมุนไพรต่าง ๆ มารักษาอาการเจ็บป่วย

 

 

ยาสามัญประจำบ้าน

 

 

3. วัฒนธรรมทางจิตใจ ได้แก่ ศาสนา ศีลธรรม และคติธรรม

 

 

พระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งทางจิตใจ

 

 

4. วัฒนธรรมทางจารีตหรือขนบธรรมเนียมประเพณี
5. วัฒนธรรมสุนทรียะ ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม ดุริยางคศิลป์ และนาฏศิลป์

 

 

จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์

 

 

รำวงมาตรฐานเป็นนาฏศิลป์ของไทย

 

 

ความคล้ายคลึงและความแตกต่างทางวัฒนธรรมของไทยกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วัฒนธรรมของไทยมีทั้งส่วนที่คล้ายคลึงและแตกต่างกับวัฒนธรรมของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดังนี้


1. วัฒนธรรมทางภาษา
ประเทศกลุ่มอาเซียนมีความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมประการหนึ่งคือ มีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง โดยเฉพาะภาษาราชการ แต่บางประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาก็นิยมใช้ภาษาอังกฤษอีกภาษาหนึ่ง วัฒนธรรมทางภาษาของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คล้ายคลึงกับไทย ได้แก่ อักษรลาวที่มีลักษณะใกล้เคียงกับอักษรไทยและมีภาษาพูดคล้ายคลึงกับภาษาถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ขณะเดียวกันตัวอักษรและตัวเลขเขมรของกัมพูชาก็คล้ายกับตัวเลขไทย เนื่องจากได้รับอิทธิพลทางภาษาบาลีและสันสกฤตจากพระพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู


2. วัฒนธรรมทางศาสนา
ประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับไทย ได้แก่ ลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม (รัฐธรรมนูญของกัมพูชาและพม่ากำหนดให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ โดยกัมพูชากำหนดให้พระสงฆ์มีสิทธิเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญไทย) ส่วนประเทศอื่น ๆ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม (รัฐธรรมนูญของอินโดนีเซียและมาเลเซียกำหนดให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ มาเลเซียได้ส่งเสริมประชาชนให้ยึดมั่นในศาสนาอิสลามโดยกำหนดให้ชาวมุสลิมมีสิทธิพิเศษได้รับเงินอุดหนุนทางด้านศึกษา การรักษาพยาบาล การแต่งงาน และงานศพ) ขณะที่ฟิลิปปินส์ประชาชนส่วนใหญ่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกมากเป็นอันดับ 4 ของโลก ส่วนสิงคโปร์มีการนับถือศาสนาอย่างเสรี ไม่กำหนดศาสนาประจำชาติ


3. วัฒนธรรมการแต่งกาย
ประชากรในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่นิยมใช้ผ้าที่บางเบา เช่น ผ้าฝ้าย เพื่อให้เหมาะกับสภาพอากาศที่ร้อนชื้น ประเทศที่มีการแต่งกายคล้ายกับไทยได้แก่ ผู้หญิงลาวที่นิยมนุ่งผ้าซิ่น เกล้าผม ห่มสไบเฉียง ผู้หญิงพม่าที่นิยมแต่งกายด้วยการสวมเสื้อผ่าอก แขนยาว เอวสั้น เรียกว่า “หยิ่งโพงอิงจี่” และ นุ่งซิ่นผ้าปาเต๊ะ พร้อมพาดผ้าคลุมไหล่เสมอ ส่วนผู้ชายนิยมสวมเสื้อผ่ากลาง (เสื้อพุงแตก) เป็นเสื้อนอกและนุ่งโสร่ง และในงานพิธีจะสวมเสื้อเชิ้ตปกตั้งพร้อมกับเสื้อนอก เรียกว่า “ไต้โป่งอิงจี่” ถ้าเป็นชุดประจำชาติจะมีผ้าโพกศีรษะ เรียกว่า “คองบอง” และสวมรองเท้าคีบหรือรองเท้าแตะ และกัมพูชามีการใช้ “ผ้ากร็อมา” หรือผ้าขาวม้าที่ทอเป็นลายหมากรุกแดงสลับขาวหรือน้ำเงินสลับขาว เช่นเดียวกับไทย นอกจากนี้ชาวอินโดนีเซียและมาเลเซียยังมีการแต่งกายคล้ายคลึงกับชาวมุสลิมทางภาคใต้ของไทย คือ ผู้หญิงนิยมนุ่งผ้าปาเต๊ะ สวมเสื้อบานงหรือบายอ หรือกุรง หรือเสื้อประเภทท่อนที่ตัดเย็บแบบสากล หรือเสื้อยืด เมื่อออกจากบ้านต้องคลุมศีรษะ ขณะที่ผู้ชายนิยมสวมเสื้อตือโละบางอ (คอกลม อาจมีคอตั้งแบบคอจีน ผ่าหน้าครึ่งหนึ่ง ติดกระดุมโลหะ 1 เม็ด แขนเสื้อทรงกระบอกยาวจดข้อมือแต่พับชายขึ้นมาเล็กน้อย) สวมกางเกงขายาวแบบสากล สวมหมวกซอเก๊าะที่ทำด้วยกำมะหยี่หรือหมวกกะปิเยาะแบบทรงกลมซึ่งใส่ในวันนักขัตฤกษ์หรือวันสำคัญทางศาสนา

 

 

การแต่งกายของผู้หญิงชาวลาว

 

 

การแต่งกายของชาวพม่า

 

 

การแต่งกายของชาวบรูไนฯ

 

 

การแต่งกายของชาวอินโดนีเซีย ชาวมาเลเซีย ชาวสิงคโปร์

 

 

การแต่งกายของสตรีชาวติมอร์-เลสเต สตรีชาวกัมพูชา การแต่งกายของชาวไทย

 

 

การแต่งกายของสตรีชาวเวียดนาม

 

 

การแต่งกายของชาวฟิลิปปินส์

 

 

การแต่งกายที่แตกต่างจากไทย ได้แก่ ชาวเวียดนามที่ผู้หญิงนิยมสวมชุดประจำชาติ เรียกว่า อ๊าว ส่าย แปลว่า ชุดยาว โดยสวมกางเกงแพรยาวแบบกางเกงจีน มีเสื้อชั้นในยาวสีขาว สวมทับด้วยเสื้อชั้นนอกที่ยาวถึงกลางน่อง แขนยาว รัดตัวจากตรงกลางคอผ่าข้างมาถึงใต้รักแร้ แล้วผ่าตรงลงมาจนสุดชายเสื้อ ติดกระดุมแค่เอว และสวมหมวกกุบไต ซึ่งเป็นหมวกสานทรงฝาชีปักลวดลายสวยงาม และชาวฟิลิปปินส์ที่ ผู้ชายจะสวมเสื้อบารองตากาล็อก (มีลายปักด้านหน้าและข้อมือ มีปก คอตั้งสูงทำด้วยใยสับปะรด ปล่อยชายไว้นอกกางเกง) ส่วนผู้หญิงสวมกระโปรงยาว สวมเสื้อแขนสั้นจับจีบยกขึ้นตั้งเหนือไหล่คล้ายปีกผีเสื้อ เรียกว่า บาลินตาวัก


4. วัฒนธรรมด้านอาหาร
ประชาชนส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก ประกอบกับพืชผัก สมุนไพร และเครื่องเทศ ประเทศที่มีวัฒนธรรมทางอาหารใกล้เคียงกันได้แก่ ลาว ซึ่งอาหารมีรสจัด เช่น ข้าวเหนียว ส้มตำ และลาบ ประเทศอินโดนีเซีย ใช้สมุนไพรพวกพริก หอมแดง ตะไคร้ ข่า มาเป็นส่วนประกอบของอาหาร ประเทศมาเลเซียใช้สมุนไพร เครื่องเทศ พริก และกะทิ ประเทศกัมพูชาที่อาหารมีรสชาติและหน้าตาคล้ายคลึงกับอาหารไทย เช่น ข้าวห่อใบบัว อามก (ห่อหมก) ขนมจีนน้ำยา และประเทศเวียดนามที่ประกอบอาหารด้วยพืชผักและสมุนไพรในท้องถิ่น เช่น แหนมเนือง เฝอ ส่วนวัฒนธรรมอาหารที่แตกต่างจากไทย ได้แก่ การไม่รับประทานเนื้อหมูของชาวมุสลิม และบางประเทศที่รับวัฒนธรรมด้านอาหารจีน เช่น สิงคโปร์

 

 

ข้าวเหนียว ส้มตำ ไก่ย่าง

 

 

อาหารเวียดนาม

 

 

สะเต๊ะเป็นอาหารของมาเลเซีย

 

 

5. วัฒนธรรมด้านศิลปะและการละเล่น
ประเทศที่มีศิลปะและการละเล่นคล้ายคลึงกับไทย ได้แก่ มาเลเซีย ซึ่งมีการเล่นว่าว เซปักตะกร้อ และการรำเทียน ประเทศกัมพูชา มีสถาปัตยกรรม ศิลปะ และการละเล่นที่คล้ายคลึงกับไทยมาก คือ การแสดงข็วล (โขน) เนื่องจากในอดีตไทยรับวัฒนธรรมจากกัมพูชา ขณะที่ประเทศลาว มีการฟ้อนรำ การแสดงคล้ายกับภาคอีสานของไทย เช่น หมอลำ และประเทศฟิลิปปินส์ มีการเต้นตินิคลิ่ง (Tinikling) ที่คล้ายกับลาวกระทบไม้ สำหรับประเทศที่มีมีศิลปะและการละเล่นที่แตกต่างจากไทย ได้แก่ วัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตก เช่น การร่ายรำของฟิลิปปินส์ที่ได้รับอิทธิพลจากสเปน การเต้นรำยอเก็ตของมาเลเซียที่มีต้นกำเนิดมาจากการเต้นพื้นเมืองของโปรตุเกส และประเทศสิงคโปร์ ที่มีวัฒนธรรมผสมผสาน 3 รูปแบบ คือ จีน อินเดีย และมาเลเซีย (ปัจจุบันมีการนำเอานาฏศิลป์ตะวันตกเข้าไปผสมผสานด้วย)

 

 

การละเล่นของไทยมีลักษณะคล้ายคลึงกับ

 

 

การเต้นตินิคลิ่งของฟิลิปปินส์

 

 

วัฒนธรรมที่สร้างความสัมพันธ์ที่ดี
วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีหรืออาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ดังนี้
1. วัฒนธรรมเกี่ยวกับภาษา เป็นวัฒนธรรมที่สามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์ได้ เช่น ภาษาลาวกับภาษาไทยที่มีความใกล้เคียงกันจนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยสะดวก ขณะเดียวกันการใช้ภาษาต่างวัฒนธรรมก็อาจทำให้เข้าใจผิดได้
2. วัฒนธรรมเกี่ยวกับการทักทาย เราควรเรียนรู้รูปแบบการทักทายในแต่ละวัฒนธรรม เช่น วัฒนธรรมไทยใช้การไหว้และพูดสวัสดี ขณะที่การจับมือเป็นวัฒนธรรมสากล
3. วัฒนธรรมที่เกี่ยวกับธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ได้แก่ มารยาททางสังคมทั่วไป เช่น การให้เกียรติ การเสียสละ สังคมไทยมีวัฒนธรรมที่แสดงความเป็นมิตร คือ การยิ้ม ขณะเดียวกันก็มีวัฒนธรรมบางอย่างที่อาจสร้างความเข้าใจผิด เช่น ชาวมุสลิมจะไม่รับประทานหรือแตะต้องสุนัข สุกร และงู และชาวฮินดูจะไม่รับประทานเนื้อวัว เป็นต้น


Keyword  วัฒนธรรม  วัฒนธรรมไทย  วัฒนธรรมทางภาษา  วัฒนธรรมทางศาสนา  วัฒนธรรมการแต่งกาย  วัฒนธรรมด้านอาหาร  วัฒนธรรมด้านศิลปะและการละเล่น

 

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th