พิธีบรรพชาอุปสมบท
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 146.6K views



ศัพท์ว่า "บวช" มาจากศัพท์บาลีว่า “ปัพพัชชา” (ซึ่งมาจาก ป + วัช + ธาตุ) หมายความว่า ออก หรือเว้นจากความพันพัวกับการครองเรือน ตลอดไปถึงจากความประพฤติชั่ว ได้แก่การหลีกออกจากบ้านเรือนไปหาที่สงัด ที่ไกลจากบ้านเรือน เช่น ในป่า ทำที่พักพออาศัยอยู่ได้ เช่น บรรณศาลา (ทับใบไม้) เพื่อทำความสงบระงับชั่วคราวบ้าง ตลอดไปบ้าง เขาถือกันว่าเป็นการประกอบการกุศลหรือบุญอย่างสูง มีมาก่อนแต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้นาน

ชาวพุทธเรานิยมบรรพชาอุปสมบทกันเมื่ออายุครบ ๒๐ ปี จัดเป็นการฝึกประพฤติพรมจรรย์ที่ได้ผลดียิ่งวิธีหนึ่ง จึงควรที่พวกเราจะได้ทราบเรื่องเกี่ยวกับการบวชไว้บ้าง ดังนี้
       ๑.อายุขณะบวช เยาวชนชายถ้ามีเวลา ควรหาโอกาสบรรพชาเป็นสามเณรกันสักช่วงหนึ่ง ระหว่างอายุ ๑๕-๒๐ ปี เพราะช่วงนี้ภาระยังน้อย ยังไม่ค่อยมีกังวล จะมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมเร็ว หรือไม่เช่นนั้นก็ควรหาเวลาที่เหมาะสมบวชเป็นพระเมื่ออายุ ๒๐-๒๕ ปี หรือเวลาอื่นที่สะดวก แต่ไม่ควรอายุมากเกินไป เพราะสังขารจะไม่อำนวย จะลุกจะนั่งจะฝึกสมาธิก็ไม่สะดวก ยิ่งกว่านั่นเมื่อมีอายุมากแล้วมักจะมีทิฏฐิ ว่ายากสอนยาก เหมือนไม้แก่ดัดยาก
       ๒.ระยะเวลาที่จะบวช อาจบวชในช่วงเข้าพรรษา ๓ เดือน หรือบวชภาคฤดูร้อน ๑-๒ เดือน บวชในเวลาที่ลางานได้ หรือบวชตลอดชีวิตก็ได้ แต่ควรบวชนานกว่า ๑ เดือน จะได้มีเวลาศึกษาพระธรรมวินัยพอสมควร
       ๓.การเลือกสำนักบวช ข้อนี้สำคัญมาก การบวชจะได้ผลแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสำนักบวชนี่เอง การเลือกจงเลือกสำนักที่มีการกวดขันการประพฤติธรรมและกวดขันพระวินัย สำนักที่ดีพระอุปัชฌาย์อาจารย์จะมีการอบรมสั่งสอนพระใหม่อย่างใกล้ชิด มีการให้โอวาทเคี่ยวเข็นให้ปฏิบัติธรรมจนไม่มีเวลาไปฟุ้งซ่านเรืองอื่นอย่างนี้ดี ส่วนสำนักไหนปล่อยปะละเลย บวชแล้วไม่มีใครสนใจ ปล่อยให้อยู่ตามสบาย บางทีตั้งแต่บวชจนสึก พระใหม่ไม่ได้สนทนาธรรมกับพระอุปัชฌาอาจารย์เลย อย่างนี้ใช้ไม่ได้ ป่วยการบวช ที่เราบวชก็มุ่งจะฝากตัวให้ท่านอบรม แต่ถ้าท่านไม่เอาใจใส่เราบวชแล้วก็จะได้กุศลไม่เต็มที่
       ๔.การรักษาวิน้ย ต้องคิดไว้เสมอว่า เราจะเป็นพระได้เพราะวินัย ถ้าถอดวินัยออกจากตัวเสียแล้วแม้จะโกนผมนุ่งผ้าเหลืองก็ไม่ใช่พระ นอกจะไม่ใช่พระแล้ว ชาวพุทธยังถือว่าผู้นั้นเป็นโจรปล้นศาสนาอีกด้วย เพราะฉะนั้นต้องศึกษาพระวินัยและรักษาโดยเคร่งครัด ไม่อย่างนั้นศึกออกมาแล้วจะเสียใจจนตายว่าบวชเสียผ้าเหลืองเปล่าๆ
       ๕.การปฏิบัติธรรม ควรใช้เวลาทั้งหมดในการศึกษาพระธรรมวินัยและทำสมาธิ ศึกษาธรรมะ งดคุยเฮฮาไร้สาระ
       ๖.การสงเคราะห์สังคม พระบวช ๓ เดือน ควรเน้นประโยชน์ตน คือ การประพฤติปฏิธรรมเป็นหลัก และก็หาเวลาช่วยเหลืองานหมู่คณะด้วย แต่ต้องไม่ให้เสียการปฏิบัติธรรม ถ้าจะสงเคราะห์ญาติโยม ก็ขอให้ตั้งใจปฏิบัติตัวให้ดี บิณฑบาตรก็ให้เป็นระเบียบ จะเดินจะเหินมีกิริยาสำรวมเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา ให้ญาติโยมเขาได้เห็นเป็นตัวอย่างในการมีวินัยและสำรวมตน


การเตรียมการ
       ๑. บริขาร ๘  ได้แก่ ผ้าจีวร, ผ้าสังฆาฏิ , ผ้าจีวร, บาตรพร้อมด้วยถลกบาตร (ถุงบาตร) , มีดโกน , เข็มเย็บผ้าพร้อมด้าย , ประคตเอว , กระบอกกรองน้ำ ( ธรรมกรก )
       ๒. เครื่องบริวาร  ได้แก่เครื่องใช้ส่วนตัวอื่นๆ จะมีมากน้อยเพียงไรสุดแต่ความจำเป็นของแต่ละคนเช่น เสื่อ ที่นอน (ไร้นุ่น) หมอน มุ้ง ผ้าห่มนอน ผ้าสบง และผ้าจีวร (เอาไว้ผลัดเปลี่ยน) รองเท้า ( ชนิดคีบไม่หุ้มส้น ) ร่มกันแดดกันฝน ผ้าเช็ดตัว สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน เป็นต้น
       ๓. ไทยธรรม สำหรับถวายพระอุปัชฌาย์
       ๔. เครื่องสักกาะ ( ธูปเทียนแพและดอกไม้กระทง)
       ๕. เครื่องสักการะขอนิสัยจากพระอุปัชฌาย์ ( ธูปเทียนแพและดอกไม้กระทง)
       ๖. ผ้าไตร ( มีหรือไม่มีก็ได้ )
       ๗. ซองใส่ปัจจัยหรือใบปวารณา


ไทยธรรมถวายพระคู่สวด ประกอบด้วย
       ๑. ผ้าไตร (มีหรือไม่มีก็ได้)
       ๒. เครื่องสักการะ ( ดอกไม้ธูปเทียน ๒ ชุด สำหรับขอศีลและถวายท่าน)
       ๓. เครื่องไทยธรรม ๒ ชุด
       ๔. ซองปัจจัยหรือซองใบปวารณา

 ไทยธรรมถวายพระอันดับ ประกอบด้วย
       ๑. เครื่องไทยธรรม
       ๒. ดอกไม้ธูปเทียน
       ๓. ซองปัจจัยหรือซองใบปวารณา (ทั้งหมดนี้จัดตามจำนวนพระอันดับ)

 เครื่องประกอบ
       ๑. ผ้านุ่งนาค
       ๒. พานแว่นฟ้าวางผ้าไตร
       ๓. ตาลปัตร
       ๔. ย่าม
       ๕. ดอกไม้คลุมไตร
       ๖. เหรียญบาทโปรยทาน ( พอสมควร )
       ๗. ดอกบัว ๓ ดอก พร้อมธูป ๓ ดอก เทียน ๒ เล่ม ( สำหรับนาค )

 การปฏิบัติ ( กรณีนี้เป็นการอุปสมบทนาคหมู่ของข้าราชการกองทัพอากาศ )
       ๑. พิธีโกนผมนาค
       ๒. พิธีมอบผ้าไตรนาค ( บิดามารดาเป็นผู้มอบ )
       ๓. พิธีแห่นาครอบอุโบสถ
       ๔. พิธีวันทาเสมา

พิธีอุปสมบท โดยมีขั้นตอนปฏิบัติดังนี้
       ๑. ประธาน ฯ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย กราบ ๓ ครั้ง ( ถ้าสถานที่ไม่อำนวย ประธานสงฆ์เป็นผู้จุด )
       ๒. อศจ.( อนุศาสนาจารย์ ) อาราธนาศีล - รับศีล
       ๓. ประธาน ฯ ทำพิธีมอบผ้าไตรแก่นาค ประมาณไม่เกิน ๕ คน พอเป็นพิธี
       ๔. ประธาน ฯ ประเคนเครื่องไทยธรรม และผ้าไตร แก่พระอุปัชฌาย์
       ๕. ผู้ใหญ่ ประเคนเครื่องไทยธรรมและผ้าไตรแก่พระคู่สวด
       ๖. พระสงฆ์  อนุโมทนา
       ๗. ประธานฯ กรวดน้ำ ( เมื่อเสร็จขั้นตอนนี้แล้ว ประธานจะอยู่ร่วมพิธีหรือกลับก่อนก็ได้ )
       ๘. พระสงฆ์ ดำเนินพิธีกรรมอุปสมบทต่อไปจนกว่าจะเสร็จ

การปฏิบัติ ( พิธีอุปสมบทกรรมทั่ว ๆไป )
       ๑. โกนผมนาค
       ๒. แห่นาครอบพระอุโบสถ
       ๓. วันทาเสมา
       ๔. นำนาคเข้าอุโบสถ
       ๕. นาคนั่งคุกเข่า กราบพระ ๓ ครั้ง
       ๖. ได้เวลาอันสมควร นาครับผ้าไตรจากบิดามารดา ( หันหน้าไปทางบิดามารดา คุกเข่า กราบ ๓ ครั้ง แล้วยื่นมือไปรับผ้าไตรจากบิดามารดา )
       ๗. นาคอุ้มผ้าไตร ถือเครื่องสักการะเดินเข้าเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์
       ๘. พระอุปัชฌาย์ดำเนินกรรมวิธีของท่านเสร็จแล้ว
       ๙. นาคออกไปด้านหลังอุโบสถหรือพระอุโบสถ เปลี่ยนเสื้อผ้านุ่งห่มสบงจีวร
       ๑๐. บิดามารดามอบตาลปัตรแก่นาค
       ๑๑. นาคประเคนตาลปัตรและเครื่องสักการะแก่พระคู่สวดเพื่อขอศีล
       ๑๒. บิดามารดาประเคนตาลปัตรแก่สามเณร ๆ อุ้มประคองบาตรเดินเข่าเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์
       ๑๓. พระอุปัชฌาย์ และพระคู่สวดดำเนินพิธีอุปสมบทกรรมจนเสร็จ
       ๑๔. ประเคนเครื่องไทยธรรมแก่พระอุปัชฌาย์ พระคู่สวด และพระอันดับ
       ๑๕. พระสงฆ์อนุโมทนา
       ๑๖. พระใหม่และเจ้าภาพ กรวดน้ำ - รับพร

ขอขอบคุณเนื้อหาจาก www.dhammathai.org

Tag :