บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง พลเมืองดี
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 40.7K views



 พลเมืองดี

 

 

การเป็นพลเมืองดี
พลเมืองดี หมายถึง บุคคลที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและศีลธรรม มีส่วนร่วมกับกิจกรรมของชุมชน และมีความรู้ในเรื่องการเมือง ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาสังคม
เยาวชน คือ คนหนุ่มสาวที่มีพัฒนาการจากความเป็นเด็กไปสู่ผู้ใหญ่ (อายุระหว่าง 14 – 25 ปี) เยาวชนควรปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีเพื่อพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ จากพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก และพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในหนังสือชื่อ รัตนพินิจ นิทิศการศึกษา ได้สรุปคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของเด็กและเยาวชนไทยไว้ 3 ประการ คือ
1. การมีความเพียรบริสุทธิ์ คือ ความขยันหมั่นเพียรไม่ท้อถอยในกิจการที่ทำ ซึ่งจะต้องมีทั้งความสามารถ มีคุณธรรม และจิตสำนึกในการกระทำ
2. การมีปัญญาที่เฉียบแหลม คือ ความฉลาดรู้และสติปัญญา ความคิด ซึ่งเป็นคุณลักษณะของการรู้จริง รู้ครบถ้วน รู้เหตุรู้ผล รู้เท่าทัน รู้เชื่อมโยงความเป็นไทยกับความรู้สากล รู้จักตนเอง รู้จักสังคม

 

 

ความขยันหมั่นเพียร

 

 


3. การมีกำลังกายที่สมบูรณ์ คือ การมีสุขภาวะทั้งกายและจิต
ในด้านความสำนึกต่อส่วนรวมหรือ “จิตสาธารณะ” หมายถึง การแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อส่วนรวม พร้อมที่จะเสียสละและอุทิศตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มีความปรารถนาที่จะช่วยแก้ไขปัญหาให้ผู้อื่นด้วยความเต็มใจ พฤติกรรมที่แสดงถึงจิตสาธารณะ ได้แก่ การรับผิดชอบต่อสาธารณสมบัติและทรัพยากรธรรมชาติ การทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของส่วนรวม และการรับรู้และตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมและมีการแก้ไขร่วมกัน

 

 

พิธีบวชป่า

 

 

บทบาทและหน้าที่ของเยาวชนที่มีต่อสังคมและประเทศชาติ
บทบาทและหน้าที่ของเยาวชนที่มีต่อสังคมและประเทศชาติ ประกอบด้วย
1. การเคารพกติกาของสังคม ได้แก่
     1.1 การปฏิบัติตนตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับ เพื่อมิให้สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น
     1.2 การเคารพในสิทธิของตนเองและผู้อื่นในลักษณะล่วงเกิน ลวนลาม ดูหมิ่น ฝ่าฝืนจารีตประเพณี ฝ่าฝืนกฎหมาย และกระทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
     1.3 การปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณี ได้แก่ การกตัญญูรู้คุณต่อพ่อแม่ การแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยเหมาะสมกับกาลเทศะ และการมีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโส

 

 

ทำบุญตักบาตร

 

 

การไหว้

 

 

2. การมีส่วนร่วมและรับผิดชอบในกิจกรรมทางสังคม มีหลักปฏิบัติดังนี้
     2.1 การรับข้อมูลข่าวสารเพื่อวิเคราะห์ความจริง
     2.2 การแสดงความคิดเห็น
     2.3 การปรึกษาหารือ อภิปรายขอความคิดเห็นหรือคำแนะนำ
     2.4 การวางแผนร่วมกัน โดยกำหนดเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และระยะเวลา
     2.5 การร่วมปฏิบัติ คือ การดำเนินการตามเป้าหมายและระยะเวลาเพื่อให้เกิดผลตามที่กำหนดไว้ในแผน
     2.6 ควบคุมติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมาย
3. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สามารถทำได้โดยการถนอม คือ รักษาไว้ให้ใช้ได้ยาวนาน เช่น ประกาศเขตป่าสงวน การบูรณะ คือ การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมสภาพให้ดีขึ้น เช่น การแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม การปรับปรุง คือ การปรับปรุงทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้หรือใช้ได้น้อยให้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น การผลิตและใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ทำไม้อัดจากเศษไม้ การนำกลับมาใช้ใหม่ คือ การดัดแปลงทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วเพื่อใช้ประโยชน์ใหม่หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่น และการใช้สิ่งทดแทน โดยใช้สิ่งที่มีมากหรือหาได้ง่ายแทนสิ่งที่มีจำกัด

 

 

การสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ

 

 

ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติ

 

 

4. การรักษาสาธารณประโยชน์ สาธารณประโยชน์ คือ บริการสาธารณะที่รัฐนำเงินภาษีมาจัดสร้างให้แก่ประชาชน การรักษาสาธารณประโยชน์สามารถทำได้โดยการไม่ทำลายหรือทำให้สาธารณประโยชน์เสียหาย ไม่นำสาธารณประโยชน์มาใช้เป็นการส่วนตัว ดูแลสาธารณประโยชน์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และคอยสอดส่องไม่ให้ผู้ใดทำลายสาธารณประโยชน์

 

 

เครื่องหมายจราจร

 

 

5. การเคารพในสิทธิและเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น ทำได้โดยการใช้สิทธิและเสรีภาพในทางสร้างสรรค์ มีคุณค่า และอยู่ในขอบเขตของกฎหมายและศีลธรรม


Key Word  พลเมืองดี  เยาวชน  จิตสาธารณะ  บทบาท  หน้าที่ 

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th