การกรวดน้ำ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 6.8K views



 

การกรวดน้ำ

 

 

มือขวาจับภาชนะ มือซ้ายประคอง รินน้ำใส่ภาชนะรองรับ พระสงฆ์สวดบท ยถา...เป็นอาการคุ้นเคยของพระพุทธศาสนิกชนผู้เคยร่วมพิธีประกอบการบุญการกุศลในทางพระพุทธศาสนา รับรู้โดยทั่วไป ว่าอาการเช่นนี้ เรียก “กรวดน้ำ”

 

กรวดน้ำ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า “แผ่ส่วนบุญด้วยวิธีหลั่งน้ำ” การกรวดน้ำก็คือการหลั่งน้ำ ตามประเพณีไทยใช้หลั่งลงในภาชนะอย่างใดอย่างหนึ่ง ในเวลาประกอบการกุศล เช่น การให้ทานเสร็จแล้ว ตอนที่พระอนุโมทนา คือ สวดบท ยถา วาริวหา ฯลฯ ก็เริ่มกรวดไปหยุดตอนถึง มณิ โชติรโส ยถา ก็นำน้ำที่กรวดแล้วนั้นไปเทลงบนแผ่นดิน

 

ในตำราเก่าๆ รวบรวมไว้โดยนาค ใจอารีย์ กล่าวถึงจุดประสงค์ของการกรวดน้ำเพื่อแสดงเจตนาบริจาค อย่างแท้จริง และเด็ดขาด ปราศจากความตระหนี่เหนี่ยวแน่น เป็นการบริจาคด้วยน้ำใจอันบริสุทธิ์ มิได้หวังผลใดๆ ตอบแทนจากผู้รับบริจาคเลย เหมือนน้ำใสสะอาดปราศจากมลทิน ที่ได้หลั่งออกนั้น เพราะคำว่า กรวดน้ำ ตามความหมายในภาษาไทย บางที่เราก็ใช้เลยไปถึงหมายความว่าตัดขาดก็มี เช่นในเมื่อมีใครมายืมเงินหรือสิ่งของของเราแล้ว เผอิญผู้นั้นไม่ได้ใช้แล้วตายไป เมื่อเราจะสละให้เขาเสียเด็ดขาด ไม่ทวงถามอีกต่อไป เรามักจะกล่าวกันว่า กรวดน้ำคว่ำขันให้เขาไปเสีย แม้จะเป็นการจำใจยอมสละก็ต้องถือว่าเป็นการให้เด็ดขาดไปแล้ว จิตใจไม่มีที่จะคิดเรียกคืนอีก ถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็ถือว่า วิญญาณของผู้ตายจะเป็นห่วงไม่ได้ไปเกิดไปขาน เดี๋ยวจะมาวนเวียนหลอกหลอนอยู่ ไม่รู้จบ เพราะฉะนั้น จะให้อะไรก็ตาม เมื่อมีการกรวดน้ำแล้วจึงถือว่าให้โดยเด็ดขาด ต่อมาคำว่ากรวดน้ำนี้จะกรวดจริงหรือไม่ก็ตาม เมื่อให้โดยเด็ดขาดแล้ว ก็เท่ากับว่าได้กรวดน้ำไปด้วย

 

เพื่อแสดงความปรารถนาอันเป็นความตั้งใจมั่นซึ่งเรียกว่า อธิษฐาน ที่ตนต้องการผลสำเร็จอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น พระเวสสันดรบริจาคพระโอรสและพระธิดาแก่ตาเฒ่าชูชกก็ตั้งปรารถนาว่า  “ด้วยเดชผลทานในครั้งนี้ จงสำนึก จงสำเร็จแก่พระสร้อยสรรเพชรพุทธรัตนอนาวรญาณในอนาคตกาลโน้นเถิด”

 

เพื่อแสดงถึงความเป็นผู้มีใจกว้างขวาง  ประกอบด้วยเมตตาธรรม  โดยตั้งใจอุทิศส่วนกุศลที่ตนได้ทำนี้  เผื่อแผ่ไปในญาติมิตร  สหาย  และสรรพสัตว์ทั่วไป  ไม่เลือกหน้าดังจะเห็นได้ว่าในบทกรวดน้ำทุกบทจะมีคำแผ่ส่วนกุศล  ให้คนและสัตว์ตลอดถึงเทพเจ้าทั่วไป  ให้ได้มีส่วนได้รับผลบุญที่ตนได้กระทำเสมอ  เท่ากับเป็นการฝึกหัดใจให้มีน้ำใจ  คือให้เยือกเย็นชื่นฉ่ำอยู่ด้วยน้ำ  คือเมตตาเป็นนิจ

 

อีกประการหนึ่งเชื่อกันว่า  น้ำที่กรวดนี้เมื่อนำไปเทลงบนแผ่นดินแล้วแม่พระธรณีจะรับด้วยมวยผมเก็บรักษาไว้ให้เพื่อเป็นพยานว่า  ผู้นั้นได้ทำบุญกุศลไว้มากน้อยเท่าไหร่  เมื่อถึงคราวคับขันที่มีความจำเป็นจะต้องขอความช่วยเหลือให้ขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย  ก็จะได้อ้างเป็นพยาน  ช่วยปราบปรามเหล่าปัจจามิตรให้พินาศพ่ายแพ้ไปได้  เช่น  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราได้เคยทรงอ้างมาแล้ว  แม่พระธรณีก็ได้มารีดมวยผมให้น้ำท่วมเหล่ามารร้ายพ่ายแพ้ไป  นี่ท่านกล่าวเปรียบเทียบให้เห็นเป็นตัวบุคคลขึ้น  แต่ถ้าจะกล่าวเป็นทางธรรมแม่พระธรณีนั้นก็คือ  บารมีอันได้แก่คุณงามความดีต่างๆที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญสะสมมาในอเนกชาติ  แม้ด้วยการกรวดน้ำเพียงนิดหน่อย  แต่ละครั้งที่ทำบุญกุศล  แต่อาศัยที่ทำบ่อยครั้งและมากครั้งก็มากมายเหลือเกินจนเทียบได้กับน้ำในมหาสมุทร

ขอบคุณเนื้อหาจาก www.dhammathai.org
 

Tag :