ภาษาไทย ม. 2 เรื่อง ประโยคเพื่อการสื่อสาร
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 563.1K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้ 

 

ประโยคเพื่อการสื่อสาร 

 

ประโยคและส่วนประกอบของประโยค
๑. ความหมายของประโยค
ประโยค หมายถึง ถ้อยคำหรือข้อความที่มีใจความสมบูรณ์ ประกอบด้วย ๒ ส่วนสำคัญ คือ ภาคประธาน (ส่วนผู้กระทำอาการ) และภาคแสดง (ส่วนแสดงอาการ) เช่น พี่เดินเร็ว คนขับรถไม่สบาย

๒. ส่วนประกอบของประโยค ประโยคมีส่วนประกอบที่สำคัญ ๒ ส่วน คือ
     ๑. ภาคประธาน คือ ส่วนของผู้ทำอาการ หรือบทประธาน อาจมีส่วนขยายหรือไม่มีก็ได้ คำที่ทำหน้าที่ผู้กระทำอาการ ได้แก่ คำนาม หรือคำสรรพนาม เช่น พี่ร้องเพลงได้ไพเราะ ครูต้องอบรมให้นักเรียนเป็นคนดี
     ๒. ภาคแสดง คือ ส่วนที่แสดงอาการหรือบอกการกระทำของประธาน คำที่แสดงอาการ ได้แก่ คำกริยา และต้องประกอบด้วยบทอื่น ๆ เช่น บทกรรม บทประกอบกริยาหรือส่วนเติมเต็ม อาจมีส่วนขยายหรือไม่มีก็ได้
บทกริยา คือ ส่วนที่แสดงการกระทำของประธาน อาจมีกรรมมารองรับหรือไม่มีก็ได้ จะอยู่หลังประธานหรืออยู่หน้าประธานก็ได้ เช่น ม้ากระโดด ม้ากระโดดข้ามกำแพง
บทกรรม คือ ส่วนของผู้ถูกกระทำ กล่าวคือ ถ้ากริยายังไม่สมบูรณ์ในตัวเองจะต้องมีกรรมมารองรับ น้องคลาน (กริยา คลาน เป็นอกรรมกริยา) แม่ซื้อหนังสือ (กริยา ซื้อ เป็นสกรรมกริยาที่ต้องการกรรม)
บทประกอบกริยาหรือส่วนเติมเต็ม คือ ส่วนที่ทำหน้าที่เสริมใจความของประโยคให้สมบูรณ์ ทำหน้าที่คล้ายกรรมแต่ไม่ใช่กรรม เพราะไม่ได้ถูกกระทำ กริยาที่ใช้เป็นส่วนเติมเต็มจะไม่มีความหมายในตัวเอง ต้องมีคำนามหรือคำสรรพนามมาขยายจึงจะได้ใจความสมบูรณ์ ได้แก่ กริยา เป็น คล้าย เท่า คือ เหมือน เช่น แมวหน้าตาคล้ายเสือ เขาเป็นนักเทนนิส
เพราะฉะนั้นประโยคหรือกลุ่มคำที่มีใจความสมบูรณ์ ต้องประกอบด้วยส่วนสำคัญอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้

     ๑. บทประธาน + บทกริยาไม่มีกรรม
     ๒. บทประธาน + บทกริยามีกรรม + บทกรรม
     ๓. บทประธาน + บทกริยาอาศัยส่วนเติมเต็ม + บทประกอบกริยาหรือส่วนเติมเต็ม
ในประโยคหนึ่งต้องมีส่วนประกอบอย่างน้อย ๒ บท คือ บทประธานและบทกริยา จึงจะสมบูรณ์

 

ภาคประธาน

ภาคแสดง

ประธาน

ส่วนขยาย

กริยา

ขยายกริยา

กรรม

ขยายกรรม

ยาย

ของฉัน

แข็งแรง

มาก

 

 

เด็กไทย

รุ่นใหม่

สนใจ

 

สิ่งแวดล้อม

ในชุมชน

ยาย

ของฉัน

ทำ

 

ขนม

อร่อย

 

๓. ชนิดของประโยค
     ๑. ประโยคแบ่งตามลักษณะโครงสร้าง พิจารณาจากส่วนประกอบของประโยค มี ๓ ชนิด คือ ประโยคความเดียว ประโยคความรวม และประโยคความซ้อน
     ๒. ประโยคแบ่งตามลักษณะของประโยค พิจารณาจากคำที่แสดงความหมายรวมของประโยคว่ามีลักษณะแบบใด มี   ๔ ชนิด คือ ประโยคบอกเล่า ประโยคคำถาม ประโยคคำสั่ง และประโยคปฏิเสธ
     ๓. ประโยคแบ่งตามเจตนา พิจารณาจากความหมายของประโยคตามเจตนาของผู้พูด แบ่งเป็น ประโยคบอกให้ทราบ ประโยคเสนอแนะ ประโยคห้าม ประโยคคำสั่ง ประโยคชักชวน ประโยคขอร้อง ฯลฯ

 

ประโยคความเดียว
ประโยคความเดียวหรือเอกรรถประโยค คือ ประโยคที่มีใจความสำคัญใจความเดียว ประกอบด้วยภาคประธานและภาคแสดงอย่างละ ๑ ภาค
๑. ประโยคจำแนกตามบทกริยา มีดังนี้
     ๑. ประโยคที่ใช้กริยาไม่มีกรรม ประกอบด้วย บทประธานและบทกริยา นับเป็นประโยคเล็กที่สุด

บทประธาน

บทกริยา

ฉัน

วิ่ง

น้ำ

เดือด

 

     ๒. ประโยคที่ใช้กริยามีกรรม ประกอบด้วย บทประธาน บทกริยา และบทกรรม

บทประธาน

บทกริยา

บทกรรม

น้อง

สวม

รองเท้า

หิ่งห้อย

เกาะ

กิ่งไม้

 

     ๓. ประโยคที่ใช้กริยาอาศัยส่วนเติมเต็ม ประกอบด้วย บทประธาน บทกริยา และบทประกอบกริยาหรือส่วนเติมเต็ม

บทประธาน

บทกริยา

บทประกอบกริยาหรือส่วนเติมเต็ม

กีฬา

คือ

ยาวิเศษ

การเดิน

เป็น

การออกกำลังกาย

 

     ๔. ประโยคที่ใช้กริยาช่วย ประกอบด้วย บทประธาน บทกริยาช่วย บทกริยา บทกรรม และบทประกอบกริยาหรือส่วนเติมเต็ม

บทประธาน

บทกริยาช่วย

บทกริยา

บทกรรม

บทประกอบกริยาหรือส่วนเติมเต็ม

องอาจ

ได้

เป็น

-

ทหาร

นักเรียน

ต้อง

มี

ความรู้

-

 

๒. ประโยคจำแนกตามจุดประสงค์ของผู้ส่งสาร
     ๑. ประโยคบอกเล่า คือ ประโยคที่มีเนื้อความบอกให้ทราบหรือแจ้งเรื่องราว เช่น ยายบริจาคสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม นักเรียนเลือกประธานนักเรียน
     ๒. ประโยคปฏิเสธ คือ ประโยคที่บอกความปฏิเสธหรือไม่ตอบรับ จะมีวิเศษณ์บอกความปฏิเสธ เช่น ไม่ ไม่ได้ ไม่ใช่ มิใช่ หา...ไม่ หามิได้ อยู่หน้าหรือหลังกริยา เช่น การเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปด้วยบริสุทธิ์ยุติธรรม ฉันไม่ชอบอ่านหนังสือ
ข้อสังเกต ถ้าข้อความบ่งบอกว่าประธานทำกริยานั้น แต่ทำไม่ได้ ทำไม่สำเร็จ หรือประสงค์จะทำแต่มีเหตุขัดข้องไม่ได้ทำ ไม่จัดเป็นประโยคปฏิเสธแต่จัดเป็นประโยคบอกเล่า เช่น เขาไปไม่ได้ (ประสงค์จะไปแต่มีเหตุขัดข้อง) เขาสอบไล่ไม่ได้ (สอบแล้วแต่ไม่ได้)
กรณีที่ในประโยคมีวิเศษณ์บอกความปฏิเสธ แต่ไม่ได้ขยายกริยาโดยตรง ก็ถือเป็นประโยคบอกเล่า เช่น ฉันชอบอาหารรสไม่จัด คำว่า ไม่ ขยาย จัด ซึ่งเป็นวิเศษณ์
     ๓.ประโยคคำถาม คือ ประโยคที่ใช้ถามเพื่อต้องการคำตอบ มี ๒ ชนิด คือ
          - ประโยคคำถามที่ต้องการคำตอบอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เขาจะย้ายบ้านไปอยู่ที่ไหน พ่อรู้ได้อย่างไรว่าเขามาเยี่ยมยายในวันนี้
          - ประโยคที่ต้องการคำตอบเพียงการบอกรับหรือปฏิเสธ เช่น คุณชอบอาชีพครูไหม
     ๔. ประโยคคำสั่ง ขอร้อง หรือวิงวอน คือ ประโยคที่ใช้สั่งหรือขอร้องให้ทำตามที่ต้องการ ส่วนใหญ่จะละประธาน แล้วใช้กริยาขึ้นต้นประโยค และอาจมีกริยาช่วยเน้นเจตนาของผู้ส่งสาร แบ่งได้ดังนี้
          - เริ่มต้นด้วยคำแสดงคำสั่งหรือขอร้อง เช่น อย่า ให้ จง โปรด ช่วย เช่น ห้ามใส่รองเท้าแตะ
          - เริ่มต้นด้วยคำกริยา เช่น เข้ามาซิ กลับไปได้แล้ว
          - ขึ้นต้นด้วยคำเรียกขาน เช่น นักเรียนตรง หนูแดงมาหาแม่หน่อย
๓. ประโยคจำแนกตามลำดับองค์ประกอบ
     ๑. เริ่มด้วยผู้กระทำ โดยเรียงผู้กระทำไว้หน้ากริยา ซึ่งเป็นลักษณะของประโยคทั่วไป เช่น ชาวสวนกำลังเก็บผลไม้ (ชาวสวน เป็นผู้กระทำ) พระอภัยมณีชอบเป่าปี่ (พระอภัยมณี เป็นผู้กระทำ)
     ๒. เริ่มด้วยผู้ถูกกระทำ มีดังนี้
          - ผู้ถูกกระทำทำหน้าที่ประธาน โดยกล่าวถึงผู้กระทำ เช่น คนร้ายถูกตำรวจจับ (คนร้าย เป็นผู้ถูกกระทำ)
          - ผู้ถูกกระทำทำหน้าที่ประธาน โดยละผู้กระทำที่แท้จริง เช่น นักกีฬาถูกทำโทษเพราะไม่เคารพกติกา (นักกีฬา เป็นผู้ถูกกระทำ คือ ถูกทำโทษ)
          - ผู้ถูกกระทำทำหน้าที่กรรม เช่น รถยนต์พี่ชายขายไปเมื่อวานนี้ (รถยนต์ ทำหน้าที่กรรม)
     ๓. เริ่มด้วยกริยา โดยวางกริยาไว้หน้าประธาน เพื่อเน้นกริยา ได้แก่ ปรากฏ มี เกิด เช่น มีปลาในน้ำ ประโยคเดิม ในน้ำมีปลา หรือ ปลามีในน้ำ

 

ส่วนขยายของประโยค
ประโยคจะต้องมีส่วนประกอบอื่นมาขยายเพื่อให้มีเนื้อความชัดเจนขึ้น ส่วนที่นำมาขยายประกอบด้วย
บทประธาน มีส่วนขยายเรียกว่า บทขยายประธาน บทกริยามีส่วนขยายเรียกว่า บทขยายกริยา บทกรรม มีส่วนขยายเรียกว่า บทขยายกรรม และบทประกอบกริยา (ส่วนเติมเต็ม) มีส่วนขยายเรียกว่า บทขยายบทประกอบกริยา (บทขยายส่วนเติมเต็ม)
โดยทั่วไปบทขยายจะอยู่หลังและติดกับบทที่ขยาย ได้แก่
๑. ประโยคที่มีบทขยายประธาน บทขยายประธานอยู่หลังบทประธาน เช่น ทหารเรือว่ายน้ำ
๒. ประโยคที่มีบทขยายกริยา บทขยายกริยาอยู่หลังบทกริยา เช่น ทหารเรือว่ายน้ำเก่งมาก
๓. ประโยคที่มีบทขยายกรรม บทขยายกรรมอยู่หลังบทกรรม เช่น นกกินปลาตัวใหญ่
๔. ประโยคที่มีบทกรรมและบทขยายกริยา บทขยายกริยาอยู่หลังบทกรรม เช่น นกทำรังด้วยเศษไม้
๕. ประโยคที่มีบทขยายกรรมและบทขยายกริยา บทขยายกริยาอยู่หลังบทขยายกรรม เช่น นกกระจอกทำรังใหญ่ด้วยเศษไม้
๖. ประโยคที่มีบทขยายบทประกอบกริยาหรือบทขยายส่วนเติมเต็ม บทขยายบทประกอบกริยาอยู่หลังบทประกอบกริยา เช่น เขาเป็นพ่อค้าเพชรพลอย
๗. ประโยคที่มีบทขยายบทประกอบกริยาและบทขยายกริยา บทขยายกริยาอยู่หลังบทขยายกริยา เช่น บุหรี่เป็นอันตรายต่อชีวิตอย่างมาก
ข้อสังเกต บทขยายประธานบางทีอยู่หน้าบทประธาน ถ้าใช้วิเศษณ์ที่อยู่หน้านามหรือสรรพนาม เช่น น้อยคนจะชอบกินผักสด หลายคนชอบกินสลัดผัก บทขยายกริยาอยู่หน้ากริยา ถ้าใช้วิเศษณ์ที่อยู่หน้ากริยา เช่น ปลวกค่อย ๆ ทำรังทีละน้อย เมื่อวานนี้ฝนตก

 

ประโยคความรวม
ประโยคความรวม (อเนกรรถประโยค) คือประโยคความเดียวตั้งแต่ ๒ ประโยคขึ้นไปมารวมกัน โดยมีสันธานเชื่อมระหว่างประโยค
๑. ลักษณะของประโยคความรวม
     ๑. มีใจความแยกจากกันหรือมีใจความเป็นเอกเทศ ไม่ขยายซึ่งกันและกัน เช่น ลมพัดและน้ำท่วม ประกอบด้วย ๒ ประโยค คือ ประโยค ลมพัด และ น้ำท่วม แต่ละประโยคมีใจความเป็นเอกเทศ ไม่ได้ขยายซึ่งกันและกัน แล้วเชื่อมด้วยสันธาน และ

     ๒. ประโยคความรวมอาจเปลี่ยนรูปได้ ดังนี้
          ๑) รวมภาคแสดง ใช้สันธานเชื่อมภาคประธาน เช่น เนื้อสัตว์และนมมีประโยชน์ต่อร่างกาย
          ๒) รวมภาคประธาน ใช้สันธานเชื่อมภาคแสดง เช่น คนขี้เกียจมักจะกินและนอน
          ๓) รวมภาคประธานและบทกริยา ใช้สันธานเชื่อมบทประกอบกริยาหรือส่วนเติมเต็ม เช่น เยาวชนคืออนาคตที่ดีของชาติหรือผู้ใหญ่ที่ดีในวันหน้า
          ๔) ละประโยคท้าย คงไว้แต่สันธาน หรือ หรือไม่ เช่น ลูกนกเป็นนักร้องหรือไม่ (ลูกนกเป็นนักร้องหรือไม่เป็นนักร้อง)
หมายเหตุ ประโยคที่มีสันธานอาจไม่ใช่ประโยคความรวมเสมอไป ถ้าสันธานนั้นไม่ได้เชื่อมประโยคความเดียวตั้งแต่ ๒ ประโยคเข้าด้วยกัน หรือสันธานนั้นไม่ได้เชื่อมภาคประธาน ภาคแสดง หรือส่วนเติมเต็มของประโยคความรวม ซึ่งเปลี่ยนรูปตามที่กล่าวมาข้างต้น
สันธานที่เชื่อมบทกรรม บทวิเศษณ์ เชื่อมบทขยาย ซึ่งทำหน้าที่แทนบทประธาน และสันธานที่ทำหน้าที่บุพบท จะทำให้ข้อความนั้นเป็นข้อความเดียว ไม่ใช่ประโยคความรวม เช่น
     ๑. สันธานเชื่อมบทกรรม เช่น สุธีมีความสามารถและกล้าหาญ
     ๒. สันธานเชื่อมบทวิเศษณ์ เช่น เรือดำน้ำลำนี้แล่นได้ทั้งบนบกและในน้ำ
     ๓. สันธานเชื่อมบทขยาย ทำหน้าที่แทนบทประธานด้วย เช่น พิมพ์พรหัวหน้าชั้น ม.๒/๑ หรือประธานนักกีฬาได้รับรางวัล
     ๔. สันธานซึ่งทำหน้าที่บุพบท เช่น แม่กับลูกเล่นม้าหมุน (กับ ทำหน้าที่บุพบท)
๒.ชนิดของประโยคความรวม มีดังนี้
     ๑. มีเนื้อความคล้อยตามกัน คือ การนำประโยคความเดียวที่มีเนื้อความสอดคล้องกันมารวมกัน
          ๑) แสดงอาการร่วมกัน ใช้สันธาน ทั้ง...และ กับ และ เช่น คุณพ่อกับคุณแม่รักฉันมาก
          ๒) แสดงเวลาต่อเนื่องกัน ใช้สันธาน ครั้น...จึง ครั้น...ก็ แล้ว แล้ว...ก็ แล้ว...จึง ฯลฯ เช่น ฉันอาบน้ำอ่านหนังสือแล้วเข้านอน
          ๓) แสดงความคล้อยตามกันโดยมีเงื่อนไข ใช้สันธาน แม้ แม้ว่า แม้...ก็ ถ้า ถ้าว่า ถ้า...ก็ เช่น แม้เขาจะสอบได้คะแนนเต็ม เขาก็ยังขยันอ่านหนังสือ
     ๒. มีเนื้อความขัดแย้งกัน คือ การนำประโยคความเดียวที่มีเนื้อความขัดแย้งกันมารวมกัน จะใช้สันธาน แต่ แต่ทว่า แต่...ก็ กว่า...ก็ ถึง...ก็ เช่น สุวิมลเรียนเก่งมาก แต่ไม่ค่อยมีเพื่อนสนิท
ถ้าคำว่า แต่ ในประโยคไม่เป็นคำสันธาน ประโยคนั้นก็ไม่ใช่ประโยคความรวม เช่น เขาเริ่มทำงานตั้งแต่เช้า (แต่ เป็นบุพบท)
     ๓. มีเนื้อความเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ประโยคที่มีกริยา ๒ กริยาที่ต่างกัน ใช้สันธาน หรือ หรือไม่ก็ หรือมิฉะนั้น หรือมิฉะนั้นก็ หรือมิฉะนั้น...ก็ หรือไม่อย่างนั้น...ก็ เช่น เธอจะทนเจ็บหรือไปหาหมอ
หมายเหตุ คำสันธาน หรือ ในเนื้อความเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องใช้เป็นคำถามหรือต้องเชื่อมเฉพาะบทประธาน บทกริยา หรือบทประกอบกริยาเท่านั้น ถ้าเชื่อมบทอื่น หรือเป็นเพียงวิเศษณ์บอกคำถาม ไม่ได้เชื่อมประโยค ก็ถือว่าเป็นประโยคความเดียว เช่น นิพนธ์ถูกครูลงโทษหรือ (หรือ เป็นวิเศษณ์บอกคำถาม)
     ๔. มีเนื้อความเป็นเหตุเป็นผลแก่กัน ใช้สันธาน จึง เพราะ...จึง เพราะ เพราะฉะนั้น...จึง ด้วยเหตุว่า...จึง เพราะฉะนั้น เช่น อากาศเป็นพิษ เพราะฉะนั้นคนจึงเป็นโรคภูมิแพ้กันมาก

 

ประโยคความซ้อน

ประโยคความซ้อน (สังกรประโยค) คือ ประโยคที่ประกอบด้วยประโยคหลัก (มุขยประโยค) และประโยคย่อย (อนุประโยค) มารวมเป็นประโยคเดียวกัน โดยแบ่งตามหน้าที่ของอนุประโยคได้ ๓ ชนิด 
๑. นามานุประโยค คือ ประโยคย่อยที่ทำหน้าที่อย่างนาม โดยเป็นบทประธาน บทกรรม หรือส่วนเติมเต็มของประโยคหลัก เช่น
     ๑) ทำหน้าที่บทประธาน เช่น ภารดรเล่นเทนนิสถูกใจคนดู (ภารดรเล่นเทนนิสถูกใจคนดู เป็น มุขยประโยค, ภารดรเล่นเทนนิส เป็น นามานุประโยคทำหน้าที่บทประธาน, ถูกใจคนดู เป็น ภาคแสดง)
     ๒) ทำหน้าที่บทกรรม เช่น ก้อยไม่ชอบให้ใครมาว่าพ่อแม่ของเธอ (ก้อยไม่ชอบให้ใครมาว่าพ่อแม่ของเธอ เป็น มุขยประโยค, ให้ใครมาว่าพ่อแม่ของเธอ เป็น นามานุประโยคทำหน้าที่บทกรรม)
หมายเหตุ นามานุประโยคทำหน้าที่บทประธานหรือบทกรรม อาจใช้วิเศษณ์ ที่ ซึ่ง อัน ที่ว่า เชื่อมข้างหน้าก็ได้ เช่น ฉันดีใจที่เขาสอบผ่าน หรือทำหน้าที่บทกรรมโดยมีคำว่า ให้ และ ว่า เป็นคำเชื่อม เช่น ชาวบ้านเข้าใจว่าผู้ใหญ่บ้านเป็นคนร้ายตัวจริง
     ๓) ทำหน้าที่แทนบทประธานและบทขยายประธาน เช่น ข่าวที่ว่าน้ำมันพืชราคาแพงทำความลำบากใจให้กับพ่อค้าแม่ค้า
     ๔) ทำหน้าที่แทนบทกรรมและบทขยายกรรม เช่น พ่อค้าแม่ค้าได้ทราบข่าวที่ว่าน้ำมันพืชจะขึ้นราคา

๒. คุณานุประโยค
คุณานุประโยค คือ ประโยคย่อยที่ทำหน้าที่ขยายนามหรือสรรพนามในประโยคหลัก โดยทำหน้าที่ขยายบทประธาน บทกรรม หรือเป็นส่วนเติมเต็ม และมีประพันธสรรพนาม ที่ ซึ่ง อัน เป็นบทเชื่อม
     ๑) ใช้สรรพนามเชื่อมความแทนนามหรือสรรพนาม ซึ่งเป็นบทประธานของประโยคหลัก เช่น
ลุงคำรบพี่ชายของแม่ที่อยู่ต่างจังหวัดจะเดินทางมาพักที่บ้าน (ที่อยู่ต่างจังหวัด ที่ เป็นบทประธานของบทกริยา อยู่ เชื่อมกับคำ พี่ชายของแม่ แทนและขยายคำ พี่ชายของแม่)
มุขยประโยค คือ ลุงคำรบพี่ชายของแม่จะเดินทางมาพักที่บ้าน คุณานุประโยค คือ พี่ชายของแม่อยู่ต่างจังหวัด
     ๒) ใช้สรรพนามเชื่อมความแทนนามหรือสรรพนาม ซึ่งเป็นบทกรรมของประโยคหลัก เช่น
ทุ่งเลือดทุ่งลมแสดงชีวิตของโจร ซึ่งตกอยู่ในห้วงรักของหญิง (ซึ่ง เป็นบทประธานของบทกริยา ตกอยู่ เชื่อมกับคำ โจร แทนและขยายคำ โจร)
มุขยประโยค คือ ทุ่งเลือดทุ่งลมแสดงชีวิตของโจร คุณานุประโยค คือ โจรตกอยู่ในห้วงรักของหญิง
     ๓) ใช้สรรพนามเชื่อมความแทนนามหรือสรรพนาม ซึ่งเป็นส่วนเติมเต็มของประโยคหลัก เช่น
พิษณุต้องแสดงบทตัวตลกอันมีลักษณะตรงข้ามกับนิสัยของเขา (อัน เป็นบทประธานของบทกริยา มี เชื่อมกับคำ บทตัวตลก แทนและขยายคำ บทตัวตลก)
มุขยประโยค คือ พิษณุต้องแสดงบทตัวตลก คุณานุประโยค คือ บทตัวตลกมีลักษณะตรงข้ามกับนิสัยของเขา
หมายเหตุ ที่ ซึ่ง อัน ที่ไม่ใช่ประพันธสรรพนาม จะทำให้ประโยคนั้น ๆ ไม่เป็นประโยคความซ้อน เช่น ในตอนท้าย นายแก่นและนายเสริมต่างเข้าใจซึ่งกันและกัน (ซึ่ง เป็นบุพบท ซึ่งกันและกัน เป็นบุพบทวลี)
๓. วิเศษณานุประโยค
วิเศษณานุประโยค คือ ประโยคย่อยที่ทำหน้าที่อย่างวิเศษณ์ โดยขยายกริยาหรือวิเศษณ์ด้วยกัน มีคำเชื่อมได้แก่ ตั้งแต่ เมื่อ ขณะที่ เพราะ ก่อน หลังจาก เพื่อ เพราะว่า อย่างที่ ราวกับ จน จนกระทั่ง ฯลฯ
     ๑) วิเศษณานุประโยคขยายกริยา เช่น นกน้อยยกกระเป๋าหนีก่อนคุณยายจะรู้ตัว (คุณยายจะรู้ตัว เป็นวิเศษณานุประโยคขยายกริยา ยก)
เด็ก ๆ ปรบมือ ขณะที่ลุงบุญมาเล่านิทาน (ลุงบุญมาเล่านิทาน เป็นวิเศษณานุประโยคขยายกริยา ปรบมือ)
     ๒) วิเศษณานุประโยคขยายวิเศษณ์ เช่น นักมวยหลับสนิทอย่างที่เขาไม่อาจลุกขึ้นมาสู้ได้อีก (เขาไม่อาจลุกขึ้นมาสู้ได้อีก วิเศษณานุประโยคขยายวิเศษณ์ สนิท)
หมายเหตุ คำที่ใช้เชื่อมวิเศษณานุประโยคกับมุขยประโยค ถ้านำหน้านาม สรรพนาม หรือกริยาที่ทำหน้าที่นาม (กริยาสภาวมาลา) ก็ทำหน้าที่เป็นบุพบทและไม่ทำให้ประโยคนั้นเป็นประโยคความซ้อน เช่น คนเราไม่ได้อยู่เพื่อกิน (กิน เป็นกริยาสภาวมาลาทำหน้าที่เหมือนคำ การกิน)

 

การขยายส่วนต่าง ๆ ของประโยค
๑. การขยายส่วนต่าง ๆ ของประโยคด้วยคำ
การขยายบทประธานด้วยคำ คำที่ขยาย ได้แก่ นาม สรรพนาม กริยา และวิเศษณ์ เช่น เรือใบอยู่ในทะเล (ใบ เป็น นาม ขยายบทประธาน เรือ)
การขยายบทกริยาด้วยคำ คำที่ขยาย ได้แก่ วิเศษณ์ เช่น น้องพูดเก่ง (เก่ง เป็น วิเศษณ์ ขยายบทกริยา พูด)
การขยายบทกรรมด้วยคำ คำที่ขยาย ได้แก่ นาม สรรพนาม กริยา และวิเศษณ์ เช่น เรารักโรงเรียนเรา (เรา เป็น สรรพนาม ขยายบทกรรม โรงเรียน)
๒. การขยายส่วนต่าง ๆ ของประโยคด้วยกลุ่มคำ
การขยายบทประธานด้วยกลุ่มคำ กลุ่มคำหรือวลีที่ขยาย ได้แก่ นามวลี สรรพนามวลี กริยาวลี บุพบทวลี และวิเศษณ์วลี เช่น หนังสือในห้องสมุดมีมากมาย (ในห้องสมุด เป็น บุพบทวลี ขยายบทประธาน หนังสือ)
การขยายบทกริยาด้วยกลุ่มคำ กลุ่มคำหรือวลีที่ขยาย ได้แก่ บุพบทวลี และวิเศษณ์วลี เช่น กรุงเทพมหานครมีพลเมืองมากที่สุด (มากที่สุด เป็น กริยาวลี ขยายบทกริยา มี)
การขยายบทกรรมด้วยกลุ่มคำ กลุ่มคำหรือวลีที่ขยาย ได้แก่ นามวลี สรรพนามวลี กริยาวลี บุพบทวลี และวิเศษณ์วลี เช่น เขาเลี้ยงสุนัขพันธุ์ไทย (พันธุ์ไทย เป็น นามวลี ขยายบทกรรม สุนัข)
๓. การขยายส่วนต่าง ๆ ของประโยคด้วยประโยค
การขยายมุขยประโยคด้วยคุณานุประโยค

ประโยคที่ขยายแล้ว

ประโยคเดิม

เวลาอันมีค่าผ่านไปเร็ว

เวลาผ่านไปเร็ว, เวลามีค่า

เขาเรียนหนังสือที่โรงเรียนซึ่งมีชื่อเสียง

เขาเรียนหนังสือที่โรงเรียน, โรงเรียนมีชื่อเสียง

 

ประโยคขยายข้างต้นวิเคราะห์ได้ดังนี้

มุขยประโยค

คุณานุประโยค

 

คำที่ถูกขยายแทนที่

 

ประพันธสรรพนาม

 

หน้าที่

 

หน้าที่

เวลาผ่านไปเร็ว

เวลา

ประธาน

อันมีค่า

อัน

ประธาน

เขาเรียนหนังสือที่โรงเรียน

โรงเรียน

นาม

ซึ่งมีชื่อเสียง

ซึ่ง

ประธาน

 

การขยายมุขยประโยคด้วยวิเศษณานุประโยค

ประโยคที่ขยายแล้ว

สันธาน

ประโยคเดิม

ฝนตกเพราะอากาศอบอ้าว

เพราะ

ฝนตก, อากาศอบอ้าว

เขามาเมื่อฉันไปแล้ว

เมื่อ

เขามา, ฉันไปแล้ว

 

ประโยคขยายข้างต้นวิเคราะห์ได้ดังนี้

มุขยประโยค

 

 

สันธาน

วิเศษณานุประโยค

 

 คำที่ถูกขยาย

 

 

  ลักษณะที่ขยาย

 

กริยา

วิเศษณ์

ฝนตก

ตก

-

เพราะ

อากาศอบอ้าว

บอกสาเหตุ

เขามา

มา

-

เมื่อ

ฉันไปแล้ว

บอกเวลา

 

สรุป
ประโยคความเดียวตั้งแต่ ๒ ประโยคขึ้นไปเมื่อนำมารวมกัน โดยมีสันธานเชื่อมจะเป็นประโยคความรวม และถ้าประโยคความเดียวที่มีส่วนขยายด้วยประโยคย่อยก็จะกลายเป็นประโยคความซ้อน นอกจากนี้การขยายส่วนต่าง ๆ ของประโยคด้วยคำ กลุ่มคำ และประโยค จะช่วยทำให้ประโยคมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

 

คำสำคัญ  ประโยค  ประโยคความเดียว  ประโยคความรวม  ประโยคความซ้อน  นามานุประโยค คุณานุประโยค  วิเศษณานุประโยค 

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th