ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
ภาษาไทยมาตรฐานและภาษาไทยถิ่น
๑. ภาษาไทยมาตรฐาน
ภาษาไทยมาตรฐาน คือ ภาษาที่คนส่วนใหญ่ในสังคมใช้สื่อสาร ติดต่อราชการ และใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียน
ลักษณะของภาษาไทยมาตรฐาน
๑. เป็นภาษาเขียนหรือภาษาระดับทางการ
๒. ออกเสียงพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ และคำศัพท์คล้ายกับภาษาไทยถิ่นกลาง
๒. ภาษาไทยถิ่น
ภาษาไทยถิ่น คือ ภาษาที่ใช้สื่อสารกันในท้องถิ่นต่าง ๆ มีรูปแบบเฉพาะทั้งถ้อยคำและสำเนียง แบ่งออกเป็น ๔ กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
๑. ภาษาไทยถิ่นเหนือ เป็นภาษาที่ใช้พูดในจังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย
๒. ภาษาไทยถิ่นอีสาน เป็นภาษาที่ใช้พูดในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
๓. ภาษาไทยถิ่นกลาง เป็นภาษาที่ใช้พูดในกรุงเทพมหานครและจังหวัดภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกของประเทศไทย
๔. ภาษาไทยถิ่นใต้ เป็นภาษาที่ใช้พูดในจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย
ความสำคัญของภาษาไทยถิ่น
๑. เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่น
๒. เป็นสัญลักษณ์ของคนในท้องถิ่น
๓. ช่วยให้เข้าใจวรรณคดีไทยบางเรื่องได้อย่างลึกซึ้ง
๔. ช่วยสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
นิทานพื้นบ้าน
นิทานพื้นบ้าน คือ ภูมิปัญญาทางภาษาที่เป็นเรื่องเล่าจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ทราบผู้แต่งคนแรก เนื้อเรื่องอาจผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับ เน้นความสนุกสนาน และให้ข้อคิด
๑. ที่มาของนิทานพื้นบ้าน
ในสมัยโบราณนิยมเล่านิทานเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน ซึ่งแต่ละท้องถิ่นจะมีเรื่องเล่าแตกต่างกันไป นอกจากนี้ นิทานบางเรื่องอาจเกิดจากความเชื่อทางศาสนา
๒. ประเภทนิทานไทย
๑. นิทานเทวปกรณ์หรือตำนานปรัมปรา จะเล่าถึงกำเนิดจักรวาลและโลกมนุษย์ ที่มาของพิธีกรรมบางอย่าง
๒. นิทานมหัศจรรย์ จะเกี่ยวข้องกับของวิเศษหรือสิ่งมหัศจรรย์ ได้แก่ นิทานจักร ๆ วงศ์ ๆ
๓. นิทานชีวิต จะกล่าวถึงบุคคลและสถานที่ที่มีอยู่จริง มีลักษณะเป็นนิทานประจำถิ่น
๔. นิทานประจำถิ่น เป็นเรื่องเล่าที่เชื่อว่าเคยเกิดขึ้นจริงในแต่ละท้องถิ่น มักอธิบายความเป็นมาของสิ่งที่อยู่ตามธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น
๕. นิทานคติสอนใจ เป็นเรื่องที่ให้คุณค่าด้านจริยธรรมและผลแห่งกรรม
๖. นิทานอธิบายสาเหตุ จะเล่าถึงสาเหตุของพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ สัตว์ และพืช
๗. นิทานเรื่องสัตว์ จะอธิบายเกี่ยวกับอุปนิสัยของสัตว์
๘. นิทานเรื่องผี จะเล่าเกี่ยวกับผีต่าง ๆ
๙. นิทานมุกตลก มีทั้งมุกตลกหยาบโลน ที่มักจะล้อเลียนบุคคลต่าง ๆ และมุกตลกไม่หยาบโลน ที่แสดงแนวคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมต่าง ๆ
๑๐. นิทานโม้ เป็นเรื่องเหลือเชื่อ
๑๑. นิทานเข้าแบบ แบ่งเป็น ๒ ประเภท ดังนี้
๑) นิทานไม่รู้จบ คือ นิทานที่เล่าได้เรื่อย ๆ ไม่มีวันจบ
๒) นิทานลูกโซ่ คือ นิทานที่เล่าพฤติกรรมของตัวละครที่เกี่ยวเนื่องกันต่อ ๆ ไป
๓. คุณค่าของนิทานพื้นบ้าน
๑. ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน ข้อคิด คติเตือนใจ
๒. สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้เล่ากับผู้ฟัง
๓. ทำให้เกิดการเรียนรู้และจินตนาการ
๔. สะท้อนภาพสังคมไทยในอดีต
แหล่งสืบค้นข้อมูล
นักเรียนสามารถศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้านเพิ่มเติมได้ที่ www.thaifolk.com หรือ www.lokwannakadi.com
เพลงพื้นบ้าน
เพลงพื้นบ้าน คือ เพลงที่ชาวบ้านเรียบเรียงขึ้นด้วยสำนวนภาษาที่เรียบง่าย ใช้ร้องโต้ตอบในโอกาสต่าง ๆ แบ่งตามลักษณะผู้เล่นได้ ๒ ประเภท ได้แก่
๑. เพลงเด็ก ได้แก่ เพลงกล่อมเด็ก เพลงปลอบเด็ก เพลงร้องเล่น เพลงร้องประกอบการละเล่นพื้นเมืองสำหรับเด็ก
๒. เพลงผู้ใหญ่ ได้แก่ เพลงปฏิพากย์ เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ
คุณค่าของเพลงพื้นบ้าน
๑. ให้ความสนุกสนาน
๒. รู้จักการอยู่ร่วมกับผู้อื่น สร้างความสามัคคี
๓. เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ
๑. เพลงกล่อมเด็ก
เพลงกล่อมเด็ก คือ เพลงที่ใช้ร้องกล่อมให้เด็กนอน เนื้อเพลงสั้น ๆ เอื้อนเสียงยาว ๆ
๒. เพลงปลอบเด็ก
เพลงปลอบเด็ก คือ เพลงที่ใช้ร้องปลอบให้เด็กเคลิบเคลิ้ม เน้นการเอาอกเอาใจให้นอนหลับ
คุณค่าของเพลงกล่อมเด็กและเพลงปลอบเด็ก
๑. ช่วยให้นอนหลับได้ง่าย
๒. ให้ข้อคิดในเรื่องรอบตัว
๓. สะท้อนสภาพความเป็นอยู่ของคนในสมัยนั้น
เกร็ดควรรู้
เพลงกล่อมเด็กมีทุกภาคของประเทศไทย แต่จะเรียกต่างกัน คือ ภาคเหนือ เรียกว่า เพลงอื่อ ภาคอีสาน เรียกว่า เพลงร้องเรือ หรือเพลงช้าน้อง และภาคใต้ เรียกว่า เพลงกล่อมลูก หรือเพลงนอนสาเด้อ
แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th