บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง พระพุทธ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 128.4K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

พระพุทธ

 

๑. พระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

การเผยแผ่และการนับถือพระพุทธศาสนาของประเทศไทยในทวีปเอเชีย แบ่งออกเป็น ๒ นิกาย คือ นิกายเถรวาทและนิกายอาจาริยวาท

 

การเผยแผ่และการนับถือพระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา

– เริ่มเผยแพร่ในในรัชกาลของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ (พ.ศ. ๒๓๕–๒๗๕)  พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งพระมหินทเถระและคณะสมณทูตในคราวทำสังคายนาครั้งที่ ๓

– (พ.ศ. ๔๕๓-๔๖๕) พระมหาเถระทั้งหลายเกรงว่าพระพุทธศาสนาจะสูญสิ้นจึงได้นัดประชุมพระสงฆ์ ๑,๐๐๐ รูป เพื่อทำสังคายนาพระธรรมวินัย

– พุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ภิกษุณีสงฆ์สูญสิ้นและเสื่อมถอย แต่เมื่อพระวิชัยสิริสังฆโพธิทรงกอบกู้บังลังก์มาได้ก็ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนา และส่งราชทูตไปขอพระสงฆ์จากพม่า มาทำการบรรพชาอุปสมบทกลบุตรชาวศรีลังกา ทำให้สมณวงศ์ได้กลับมามีในศรีลังกาอีก

– พ.ศ. ๒๒๙๓ พระเจ้ากิตติสิริราชสีห์ซึ่งเป็นกษัตริย์ลังกาในขณะนั้นมีพระราชประสงค์จะตั้งสังฆมณฑลขึ้นอีกครั้ง จึงได้ส่งราชทูตไปขอพระสงฆ์จากไทยตามคำแนะนำของสามเณรสรณังกร

 

การเผยแผ่และการนับถือศาสนาพุทธในศรีลังกา

 

การเผยแผ่และการนับถือพระพุทธศาสนาในประเทศจีน

– เริ่มเข้ามาในจีนเมื่อประมาณ พ.ศ. ๖๐๘ สมัยจักรพรรดิมิ่งตี่ราชวงศ์ฮั่น พระองค์ได้ส่งคณะทูต ๑๘ คน ไปสืบพระพุทธศาสนาในอินเดีย กลับมาพร้อมกับคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาและพระเถระอีก ๒ รูป

– พ.ศ. ๒๔๖๕ พระสงฆ์ชาวจีนรูปหนึ่งชื่อว่า พระอาจารย์ไท้สู ได้ตั้งวิทยาลัยสงฆ์ขึ้นที่วูชัง เอ้หมึง เสฉวน และหลิ่งนาน

– พ.ศ. ๒๔๙๒ ปกครองด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์ มีประธานพรรคคือ เหมา เจ๋อตง ซึ่งมีหลักคำสอนที่ขัดแย้งกับพระพุทธศาสนา คือ รัฐบาลได้ยึดวัดเป็นของราชการ ห้ามประกอบศาสนกิจต่าง ๆ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาถือเป็นการผิดกฎหมาย

– ปัจจุบันได้ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานขึ้นมา มักนับถือพระพุทธศาสนาคู่กับนับถือลัทธิขงจื๊อและลัทธิเต๋า

 

การนับถือศาสนาพุทธของชาวจีน

 

การเผยแผ่และการนับถือพระพุทธศาสนาในประเทศเกาหลี

– พ.ศ. ๙๑๕ สมณทูตซุนเตาจากจีนได้เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนา

– ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๓ เกาหลีได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น เกาหลีก็ได้ออกกฎข้อบังคับควบคุมต่าง ๆ เพื่อทำลายพระพุทธศาสนาให้หมดสิ้น

– พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้มีการจัดประชุมเพื่อตราธรรมนูญปกครองคณะสงฆ์

– คณะสงฆ์ในเกาหลีใต้ในปัจจุบันถือว่ามีความก้าวหน้ามากที่สุด

– พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้มีการตั้งมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดของเกาหลีใต้

– ปัจจุบันในเกาหลีใต้มีพลเมืองประมาณ ๒๓ ล้านคนที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเซนผสมกับความเชื่อในพระอมิตาภพุทธะและพระศรีอาริยเมตไตรยหรือพระเมตตรัยโพธิสัตว์

 

วัดโพโมซา

 

การเผยแผ่และการนับถือพระพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่น

– สมัยของจักรพรรดิกิมเมจิ จักรพรรดิองค์ที่ ๒๙ ของญี่ปุ่น พระพุทธศาสนาได้เข้าสู่ญี่ปุ่นโดยผ่านทางเกาหลี

– วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๑๑๓๗ ได้ประกาศพระราชโองการเชิดชูพระรัตนตรัย

– พ.ศ. ๑๑๖๕ เจ้าชายโชโตกุสิ้นพระชนม์ ประชาชนได้ร่วมสร้างพระพุทธรูปขนาดเท่าองค์ประดิษฐานไว้เป็นอนุสรณ์ที่วัดโฮริว

– ในปัจจุบันชาวญี่ปุ่นนับถือพระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับศาสนาชินโตพระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็นหลายนิกาย ซึ่งมีนิกายที่สำคัญ ๕ นิกาย ดังนี้

          – นิกายเทนได มีหลักคำสอนเป็นหลักธรรมชั้นสูง

          – นิกายโจโด สอนให้คนบรรลุโพธิญาณด้วยสวดมนต์อ้อนวอน ยึดคัมภีร์มหาไวโรจนสูตรเป็นหลัก

          – (สุขาวดี) สอนว่า สุขาวดีเป็นดินแดนอมตะสุข เข้าถึงได้ด้วยการออกพระนามพระอมิตาภพุทธะนิกายมีนิกายย่อยมากมาย

          – นิกายเซน ให้ดำเนินชีวิตเรียบง่าย ให้เข้าถึงโพธิญาณ ต้นกำเนิดลัทธิบูชิโต นับถือพระโพธิธรรม

          – นิกายนิจิเรน นับถือสัทธรรมปุณฑริกสูตรอย่างเดียวพุทธศาสนานิกายเซนเป็นนิกายที่ได้รับความนิยม และคนญี่ปุ่นส่วนหนึ่งก็ไม่ได้นับถือศาสนาใดเลย แต่ยึดถือลัทธิตามความชอบใจของตน

 

พระพุทธรูปไดบัทสึ

 

 

การเผยแผ่และการนับถือพระพุทธศาสนาในประเทศทิเบต

– พระพุทธศาสนาได้เริ่มแพร่หลายในสมัยของกษัตริย์ทิเบตองค์ที่ ๕

– พุทธศตวรรษที่ ๑๖ ได้รับการอาราธนาเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในทิเบต

– พระตสองขะปะได้ปฏิรูปหลักคำสอนของนิกายหมวกแดง แล้วตั้งนิกายใหม่ชื่อว่า นิกายเกลุกปะหรือนิกายหมวกเหลือง

– ผู้ปกครองมองโกลได้ยกย่องพระสงฆ์ในนิกายนี้ว่าเป็นผู้นำทางจิตใจ

– (พ.ศ. ๒๓๕๑-๒๔๐๑) ได้มีนักบวชคริสต์ศาสนาเดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนา

 

ทะไลลามะผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งธิเบต

 

การเผยแผ่และการนับถือพระพุทธศาสนาในประเทศเนปาล

– พระพุทธศาสนาในยุคแรกในเนปาลเป็นพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมหรือแบบเถรวาท ต่อมาก็กลายเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนามหายานนิกาย

– มีนิกายพุทธปรัชญาสำนักใหญ่ ๔ นิกาย คือ สวาภาวิภะ ไอศวริกะ การมิกะ และยาตริก

– ปัจจุบัน ส่งภิกษุสามเณรไปศึกษาในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท

– มีสมาคมแห่งหนึ่งชื่อ ธรรโมทัยสภา ได้อุปถัมภ์ให้พระภิกษุสงฆ์จากศรีลังกาและพระภิกษุสงฆ์ในเนปาลที่ได้รับการอบรมมาจากศรีลังกาออกเผยแผ่พระพุทธศาสนา

 

การเผยแผ่และการนับถือพุทธศาสนาในประเทศเนปาล

 

          การเผยแผ่และการนับถือพระพุทธศาสนาของประเทศในทวีปยุโรปพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้าสู่ทวีปยุโรปตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษต้น ๆ แต่ไม่ได้รับความสนใจ จนช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เป็นต้นมา ชาวยุโรปได้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้แก่

 

การเผยแผ่และการนับถือพระพุทธศาสนาในประเทศอังกฤษ 

          พ.ศ. ๒๔๒๒ เซอร์เอ็ดวิน อาร์โนลด์ ได้เขียนหนังสือ ประทีปแห่งเอเชีย บรรยายเกี่ยวกับพุทธประวัติและหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าพิมพ์ออกเผยแพร่ ทำให้ชาวอังกฤษหันมาสนใจในพระพุทธศาสนา

– พระอานันทะ เมตเตยยะ เป็นชาวอังกฤษที่บวชในพม่า ได้เดินทางไปประกาศพระพุทธศาสนาที่กรุงลอนดอน ใน พ.ศ. ๒๔๕๐ ร่วมก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งเกรตบริเตนและไอร์แลนด์

– พ.ศ. ๒๔๖๗ มีการก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งอังกฤษ ขึ้นแทนพุทธสมาคมแห่งเกรตบริเตนและไอร์แลนด์

– พ.ศ. ๒๔๗๐ พระภิกษุชาวลังกาได้เดินทางเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอังกฤษ

– พ.ศ. ๒๔๙๘ พระกปิลวัฑโฒ ภิกษุชาวอังกฤษซึ่งมาบวชเป็นภิกษุที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

– พระอานันทโพธิ์ได้ขอนิมนต์พระราชสิทธิมุนี (โชดก ญาณสิทธิ) ไปเผยแผ่ ใน พ.ศ. ๒๕๐๗

– วัดพุทธปทีปเป็นวัดไทยแห่งแรกในยุโรป

– องค์การที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในอังกฤษ คือ องค์การคุลิมาล

 

การเผยแผ่และนับถือพระพุทธศาสนาในประเทศอังกฤษ

 

การเผยแผ่และการนับถือพระพุทธศาสนาในประเทศเยอรมนี

– ดร.คาร์ล ไซเดนสตือเกอร์ เป็นผู้นำชาวพุทธกลุ่มแรกในเยอรมนี ได้ก่อตั้งสมาคมเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเยอรมนีในพ.ศ. ๒๔๔๖

– หนังสือพระพุทธวจนะ มีชื่อเสียงและได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ถึง ๖ ชั่วอายุคน

– พระภิกษุชาวเยอรมันรูปแรกชื่อว่า ท่านญาณดิลก

– พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้สร้าง พุทธ-อาศรม ขึ้นที่เบอร์ลิน-โฟรเนา

– พ.ศ. ๒๔๖๗ มีการสมาคม The Buddhist Lodge for the Three Jewels

– พ.ศ. ๒๔๗๖ พุทธสมาคมแห่งนี้ถูกสั่งห้ามดำเนินการ แต่สมาชิกของสมาคมก็ได้แอบก่อตั้ง Old Buddhist Communityใน พ.ศ. ๒๔๗๘ ซึ่งยังคงดำเนินอยู่จนถึงปัจจุบัน

– ชาวพุทธเยอรมันส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท และมีมหายานแบบทิเบตและมหายานแบบญี่ปุ่น

 

การเผยแผ่และการนับถือพระพุทธศาสนาในประเทศเนเธอร์แลนด์

– จุดเริ่มต้นของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา คือ พ่อค้าชาวดัตช์และชาวพื้นเมืองจากศรีลังกาได้เดินทางไปศึกษาที่เนเธอร์แลนด์

– พ.ศ. ๒๔๘๙ ชาวพุทธในกรุงเฮกได้ร่วมกันจัดตั้งชมรมชาวดัตช์ขึ้น

– พ.ศ. ๑๕๐๗ มีการตั้งกลุ่มพุทธศาสตร์ศึกษาขึ้นที่กรุงเฮก

– พ.ศ. ๒๕๑๒ สถานทูตไทยในเนเธอร์แลนด์ได้อนุเคราะห์ให้มีการจัดตั้งพุทธสมาคม

 

 วัดพุทธอาภาวัฒนาราม

 

การเผยแผ่และการนับถือพระพุทธศาสนาของประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ    

          ใน พ.ศ. ๒๔๒๔ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเริ่มดำเนินการอย่างเป็นระบบ

 

การเผยแผ่และการนับถือพระพุทธศาสนาในประเทศสหรัฐอเมริกา

– จุดเริ่มต้นของการเผยแผ่เข้าสู่สหรัฐอเมริกา ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ มีการจัดพิมพ์หนังสือ มีเรื่องราวของพระพุทธศาสนารวมอยู่

– พ.ศ. ๒๔๒๓ พันเอก เฮนรี สตีล โอลคอตต์ได้เดินทางไปศรีลังกา และได้ประกาศตนเป็นพุทธศาสนิกชน

– พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้เชิญ พันเอก เฮนรี สตีล โอลคอตต์ให้บรรยายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในที่ประชุม

– พ.ศ. ๒๔๙๗ จัดตั้งสหายพุทธศาสนา ขึ้นในกรุงวอชิงตัน

– วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ มีการวางศิลาฤกษ์สร้างวัดไทยลอสแอนเจลิส เป็นวัดแรก

 

วัดไทยกรุงวอชิงตัน

 

การเผยแผ่และการนับถือพระพุทธศาสนาในประเทศแคนาดา

– พระพุทธศาสนาเข้าสู่แคนาดาเริ่มจากมีชาวเอเชีย มาอาศัยอยู่ในแคนาดา ได้นำเอาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเข้าไปเผยแผ่

– มีการจัดตั้งพุทธสมาคมแห่งออตตาวา กลุ่มชาวพุทธแห่งโทรอนโต และคณะพระธรรมทูตแห่งอเมริกาเหนือ

– ชาวแคนาดายังไม่ค่อยให้ความสนใจในพระพุทธศาสนา และวัดส่วนใหญ่จึงเป็นวัดของนิกายสุขาวดีและนิกายเซน

 

การเผยแผ่และการนับถือพระพุทธศาสนาของประเทศในทวีปออสเตรเลีย

– พระภิกษุสงฆ์ชาวอังกฤษนำพระพุทธศาสนาเข้ามาเผยแผ่ในทวีปออสเตรเลียตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๓

– พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้มีการก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งควีนส์แลนด์

– พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้มีการจัดตั้งพุทธสมาคมแห่งรัฐแทสเมเนีย

– พ.ศ. ๒๕๑๗ พระมหาสมัย สุขสมิทฺโธ และคณะพระธรรมทูตจากไทยไปเผยแผ่ที่นครซิดนีย์ ทำให้มหามกุฏราชวิทยาลัย ซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง เพื่อสร้างวัดไทย

 

๒. ความสำคัญของพระพุทธศาสนา

ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะที่ช่วยสร้างสรรค์อารยธรรม ได้แก่

– อารยวัฒิ ๕ หมายถึง ธรรมอันเป็นปัจจัยให้เกิดอารยธรรมที่มั่นคง

– ทศพิธราชธรรม หมายถึง คุณธรรมสำหรับผู้นำหรือผู้ปกครอง

ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะที่ช่วยสร้างสรรค์ความสงบให้แก่โลก ได้แก่

– พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยสอนให้เลิกระบบทาส

– พระพุทธศาสนาสอนให้มนุษย์เลิกดูหมิ่นเหยียดหยามกัน คำสอนของพระพุทธเจ้ามุ่งแก้ปัญหาสังคมที่ถือชนชั้น

– พระพุทธศาสนาสอนให้แก้ความเสื่อมทางศีลธรรม โดยสอนให้แก้ความชั่วด้วยการทำความดี

– พระพุทธศาสนาสอนให้มีความอดทน

– พระพุทธศาสนาสอนให้รู้จักพึ่งตนเองในการประกอบคุณงามความดี

– พระพุทธศาสนาสอนให้มีเมตตากรุณา

– พระพุทธศาสนาสอนให้ระงับเวรด้วยการไม่จองเวร

– พระพุทธศาสนาสอนให้ไม่ประมาท  

 

๓. พุทธประวัติ 

                เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นโอรสของ พระเจ้าสุทโธทนะ ปกครองเมืองกบิลพัสดุ์ กับพระนางสิริมหามายา เจ้าหญิงจากโกลิยวงศ์ เมืองเทวทหะ ประสูติในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ณ ลุมพินีวัน เมื่อพระชนมายุได้ ๗ พรรษา ได้เข้ารับการศึกษาในสำนักครูวิศวามิตร และเมื่อพระชนมายุ ๑๖ พรรษา ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงยโสธรา (พิมพา) แห่งโกลิยวงศ์ เมืองเทวทหะทรงเห็นเทวทูต ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ทรงนำมาคิดเพื่อหาหนทางพ้นทุกข์ ด้วยเหตุนี้เมื่อพระองค์พระชนมายุได้ ๒๓ พรรษา พระนางยโสธราประสูติพระโอรสพระนามว่า ราหุล ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่พระองค์ตัดสินพระทัยเสด็จออกผนวช โดยทรงม้ากัณฐกะ มีนายฉันทะ มหาดเล็กคนสนิทตามเสด็จไปด้วย เมื่อถึงริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ทรงปลงผม โกนหนวดและเคราทิ้ง แล้วทรงครองเพศเป็นนักบวชและได้ตรัสรู้จนมีคำสอนทางพุทธศาสนามากมายที่ให้ข้อคิดและสอนในการใช้ชีวิตต่างๆ

 

พระสิทธัตถะทรงบรรลุธรรม

 

๔. การศึกษาพุทธประวัติจากพระพุทธรูปปางต่าง ๆ

พระอิริยาบถของพระพุทธรูป ที่ช่างโยนกทำไว้มี ๙ ปาง ได้แก่

– ปางสมาธิ

– ปางมารวิชัย

– ปางปฐมเทศนา

– ปางอุ้มบาตร

– ปางประทานอภัยหรือปางโปรดสัตว์

– ปางประทานพร

– ปางมหาปาฏิหาริย์

– ปางลีลา

– ปางปรินิพพาน

 

 ปางถวายเนตร ปางห้ามญาติ ปางไสยาสน์ ปางอุ้มญาติ

ปางป่าเลไลยก์ ปางตรัสรู้ ปางรำพึง ปางนาคปรก

  

๕. ชาดกเรื่องราวที่เล่าถึงอดีตของพระพุทธเจ้า ได้แก่

– นันทิวิสาลชาดก ข้อคิดคือ คนที่พูดหยาบย่อมทำให้ตนเองเดือดร้อน คนที่พูดจาอ่อนหวานย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จ

– สุวัณณหังสชาดก ข้อคิดคือ บุคคลควรพอใจในสิ่งที่ตนมี ยินดีในสิ่งที่ตนได้ บุคคลไม่ควรโลภเกินประมาณ เพราะโลภมากมักลาภหาย 

 

แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th