ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
๑. หน้าที่ชาวพุทธ
มีหลักคือ การศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับหลักธรรมและประเพณีพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา การปฏิบัติธรรมและประเพณีพิธีกรรมทางศาสนา การเผยแผ่และการปกป้องพระพุทธศาสนา
การเป็นลูกที่ดีตามหลักทิศเบื้องหน้าในทิศ ๖
– ทิศเบื้องหน้า (ปุรัตถิมทิศ) ได้แก่ พ่อแม่
– ทิศเบื้องขวา (ทักขิณทิศ) ได้แก่ ครูอาจารย์
– ทิศเบื้องหลัง (ปัจฉิมทิศ) ได้แก่ สามีภรรยา
– ทิศเบื้องซ้าย (อุตตรทิศ) ได้แก่ มิตรสหาย
– ทิศเบื้องล่าง (เหฏฐิมทิศ) ได้แก่ คนรับใช้หรือผู้ใต้บังคับบัญชา
– ทิศเบื้องบน (อุปริมทิศ) ได้แก่ พระสงฆ์
๒. มารยาทชาวพุทธ
มารยาทชาวพุทธ หมายถึง กิริยาวาจาที่สุภาพเรียบร้อยที่ชาวพุทธควรปฏิบัติ ในชั้นนี้เราควรปฏิบัติในเรื่อง
การต้อนรับตามหลักการปฏิสันถาร ๒
– การต้อนรับด้วยวัตถุสิ่งของ (อามิสปฏิสันถาร)
– การต้อนรับด้วยธรรม (ธรรมปฏิสันถาร)
มารยาทของผู้เป็นแขก
– ไม่สร้างความลำบาก
– ไม่ควรอยู่นานหลายวัน
– ไม่ควรไปเพิ่มภาระ
– เกรงใจและขอบคุณที่ให้บางสิ่งบางอย่างตอบแทน
– ควรให้ของขวัญที่เหมาะสม
– ควรลากลับและเมื่อกล่าวคำอำลาควรกล่าวขอบคุณ
การปฏิบัติตนต่อพระสงฆ์
– การลุกขึ้นยืนรับพระสงฆ์
– การให้ที่นั่งแด่พระสงฆ์
มารยาทในการแต่งกาย
– การแต่งกายไปวัด
– การแต่งกายไปงานมงคล
– การแต่งกายไปร่วมงานอวมงคล
๓. ศาสนพิธี
การทำบุญตักบาตร ปฏิบัติดังนี้
– ขณะรอตักบาตร ทำจิตให้ตั้งมั่น
– ก่อนตักบาตร กล่าวคำอธิษฐาน
– ขณะตักบาตรควรถอดรองเท้าออก
– ตักข้าวให้เต็มทัพพี อย่าให้เมล็ดข้าวหล่น
– เคารพนอบน้อม
– อย่าชวนพระสงฆ์สนทนา
– ถวายดอกไม้ธูปเทียน
– ตักบาตรเสร็จแล้ว ให้ยืนตรง น้อมตัวลงไหว้พระสงฆ์ พร้อมกับอธิษฐาน
– ไม่ควรถวายเงินหรือปัจจัย
– ไม่ฆ่าสัตว์เจาะจงเพื่อนำมาทำอาหารถวาย
– กรวดน้ำ
การถวายภัตตาหาร อาหารที่ต้องห้ามสำหรับพระสงฆ์ในพระธรรมวินัยระบุไว้ดังนี้
– อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อ ๑๐ ชนิด ได้แก่ เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้องู เนื้อราชสีห์ (สิงโต) เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือเหลือง เนื้อหมี เนื้อเสือดาว
– เนื้อดิบที่ยังไม่ได้ปรุงสุข
– เนื้อสัตว์ที่ฆ่าเจาะจง
– ถ้าเป็นผลไม้มีเมล็ดทำให้เป็นของที่สมควรแก่สมณะ
– อาหารที่มีสุราหรือเหล้าผสม
วิธีถวายภัตตาหาร มีวิธีปฏิบัติดังนี้
– นิมนต์พระสงฆ์
– ถ้าถวายที่บ้าน เตรียมที่ตั้งโต๊ะหมู่บูชาและพระพุทธรูป
– เตรียมภัตตาหารใส่ภาชนะ
– นำภัตตาหารที่จัดเตรียมไว้มาตั้งตรงหน้าพระสงฆ์
– จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย
– กล่าวคำถวายร่วมกัน
– เมื่อกล่าวคำถวายจบแล้ว ช่วยกันประเคนภัตตาหารและสิ่งของที่เป็นบริวาร
การถวายสังฆทาน ไม่เจาะจงพระสงฆ์ เครื่องสังฆทานนิยมใช้อาหารที่ปรุงเสร็จ วิธีการปฏิบัติในการถวายสังฆทานปฏิบัติเช่นเดียวกับการถวายภัตตาหาร
การถวายผ้าอาบน้ำฝน ถวายในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ วันอาสาฬหบูชา และแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งเป็นวันเข้าพรรษา
วิธีปฏิบัติในการถวายผ้าอาบน้ำฝน มีดังนี้
– กำหนดวัน
– ประธานในพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย
– เมื่อพระสงฆ์แสดงธรรมเทศนาจบ หัวหน้าอุบาสกอุบาสิกานำกราบพระและกล่าวคำถวาย
– พระสงฆ์จะประนมมือ เมื่อจบคำถวายแล้ว พระสงฆ์รับ สาธุ
– อุบาสกอุบาสิกาประเคนผ้าอาบน้ำฝนและสิ่งของที่เป็นบริวาร
– พระสงฆ์อนุโมทนา กรวดน้ำ รับพร
การจัดเครื่องไทยธรรม
– เครื่องนุ่งห่ม
– อาหารบิณฑบาต
– เครื่องอุปกรณ์ที่อยู่อาศัย
– ยารักษาโรค
การกรวดน้ำ นิยมทำกันโดยทั่วไปมี ๒ กรณี คือ
– กรวดน้ำโดยใช้น้ำหลั่งลงในภาชนะที่รองรับ
– กรวดน้ำโดยไม่ต้องใช้น้ำ
วิธีการปฏิบัติในการกรวดน้ำ
– เมื่อประธานสงฆ์เริ่มสวด
– ขณะรินน้ำ ต้องตั้งใจอุทิศส่วนบุญกุศล
– เมื่อพระสงฆ์สวด ให้เทน้ำที่เหลือลงในภาชนะให้หมด แล้วตั้งใจรับพร
การทอดกฐิน เริ่มทอดหลังจากวันออกพรรษาไปแล้ว ๑ เดือน แบ่งเป็น ๒ ประเภทตามระยะเวลาในการจัดเตรียม คือ
– มหากฐิน คือ กฐินที่มีเวลาเตรียมตัวหลายวัน
– จุลกฐิน คือ กฐินเร่งด่วน ในสมัยพุทธกาล
กฐินนิยมเรียกชื่อกฐินตามสถานะของผู้ทอดและประเภทวัดที่จะไปทอด ดังนี้
– กฐินหลวง หมายถึง กฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือพระบรมวงศานุวงศ์โปรดเกล้าฯ นำไปทอดถวาย
– กฐินพระราชทาน หมายถึง กฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยราชการ หน่วยงานเอกชน องค์กร หรือบุคคลต่าง ๆ นำไปทอด
– กฐินต้น หมายถึง กฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดเป็นการส่วนพระองค์
– กฐินสามัคคี หมายถึง กฐินที่หน่วยงาน กลุ่มบุคคลหรือบุคคลต่าง ๆ นำไปทอดถวายที่วัดราษฎร์
วิธีปฏิบัติในการทอดกฐิน มีดังนี้
การเตรียมการ
– จองกฐิน
– ตระเตรียมผ้ากฐินและบริวารกฐิน
การนำกฐินไปทอดที่วัด ทำได้ ๒ แบบคือ
– นำผ้ากฐินและบริวารกฐินไปตั้งไว้ ณ วัดที่จะทอด
– ก่อนที่จะนำกฐินไปทอดที่วัด จะมีพิธีฉลองกฐิน
การถวายกฐิน
– นำเครื่องบริวารกฐินไปจัดตั้งไว้ก่อนถึงเวลา
– เมื่อถึงเวลา พระสงฆ์ที่จะรับกฐินจะลงประชุมพร้อมกันในโบสถ์
– นำผ้ากฐินวางไว้บนพานหน้าพระสงฆ์คณะที่ตามมาเข้านั่งที่
– ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย และกราบ
– ประธานผู้ถวายผ้ากฐินและผู้ร่วมพิธีประเคนบริวารกฐิน
– ประธานสงฆ์เริ่มสวดนำด้วยคาถาอนุโมทนา ประธานผู้ถวายกฐินกรวดน้ำ
๔. ศาสนพิธีและพิธีกรรมของศาสนาอื่น ๆ
ศาสนาอิสลาม มีหลักปฏิบัติ ๕ ประการ ได้แก่
– การปฏิญาณตน เป็นการยืนยันศรัทธาที่มีต่ออัลลอฮ์
– การละหมาด เป็นการขอพรจากพระอัลลอฮ์
– การจ่ายซะกาต เป็นการจ่ายทรัพย์สินให้แก่ผู้มีสิทธิ
– การถือศีลอด เป็นหลักพื้นฐานที่มุสลิมทุกคนที่บรรลุนิติภาวะต้องปฏิบัติ
– การบำเพ็ญฮัจญ์ เป็นการปฏิบัติศาสนกิจ ณ อัลกะอ์บะฮ์
คริสต์ศาสนา คริสต์ศาสนามีนิกายที่สำคัญ ได้แก่ นิกายโรมันคาทอลิก นิกายโปรเตสแตนต์และนิกายออร์ทอดอกซ์
พิธีและพิธีกรรมที่สำคัญของนิกายโรมันคาทอลิก ได้แก่
– ศีลล้างบาป เป็นพิธีกรรมชำระบาป
– ศีลกำลัง เป็นพิธีกรรมเพื่อให้เกิดพลังในจิตใจ
– ศีลอภัยบาป พระเยซูคริสต์กำหนดขึ้นเพื่อแสดงน้ำพระทัยของพระเจ้า
– ศีลมหาสนิท เป็นพิธีระลึกถึงการรับประทานอาหารครั้งสุดท้ายของพระเยซูกับอัครสาวก ๑๒ คน
– ศีลสมรส เป็นพิธีรับรู้คำมั่นสัญญาระหว่างชายหญิงว่าจะดำเนินชีวิตเป็นสามีภรรยาด้วยความซื่อสัตย์
– ศีลอนุกรมหรือศีลบวช เป็นพิธีแต่งตั้งบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกให้มีตำแหน่งหน้าที่เฉพาะในคริสตจักร
– ศีลเจิมคนไข้ เพื่อลดโทษบาปและเพิ่มพระหรรษาทาน
ศาสนพิธีและพิธีกรรมที่สำคัญของนิกายโปรเตสแตนต์ กำหนดพิธีศักดิ์สิทธิ์ไว้ ๒ ประการ คือ
– พิธีบัปติสมา (คาทอลิกเรียกว่า ศีลล้างบาป)
– พิธีมหาสนิทหรือพิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์ (คาทอลิกเรียกว่า ศีลมหาสนิท)
ศาสนาพราหมณ์–ฮินดู
– พิธีบูชาเทพเจ้า เป็นพิธีบูชาเทพเจ้าตามความนับถือ
– พิธีสัมสการ เป็นพิธีที่ทำตามขั้นตอนของชีวิต
– พิธีศราทธ์ พิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษและวิญญาณผู้ตายด้วยข้าวบิณฑะ
๕. วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
เป็นวันที่ชาวพุทธร่วมกันประกอบพิธีกรรมเพื่อระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ในไทยมี ๔ วันคือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา และวันอาสาฬหบูชา
หลักธรรมเบื้องต้นที่เกี่ยวเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
วันมาฆบูชา
– เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3
– พระสงฆ์สาวก 1,250 องค์ประชุมโดยมิได้นัดหมาย
– พระสงฆ์ที่ประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์
– พระสงฆ์ที่ประชุมได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้า
หลักธรรมเบื้องต้นที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ โอวาทปาฏิโมกข์ เรียกว่า โอวาท ๓ คือ
– การไม่ทำบาปทั้งปวง
– การทำกุศลให้ถึงพร้อม
– การทำจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส
วันวิสาขบูชา เป็นวันคล้ายวันประสูติ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี วันตรัสรู้ ก่อนพุทธศักราช 45 ปี แล้ววันปรินิพพาน ก่อนพุทธศักราช 1 ปี ซึ่งเหตุการณ์ทั้งสามเกิดวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งเป็นเรื่องมหัศจรรย์ จึงเรียกว่า วันพระพุทธเจ้า
หลักธรรมเบื้องต้นที่เกี่ยวเนื่อง อริยสัจ ๔ ได้แก่
– ทุกข์ หมายถึง ความรู้สึกไม่สบาย
– สมุทัย หมายถึง ต้นเหตุที่เกิดความทุกข์
– นิโรธ หมายถึง สภาวะที่ทุกข์หมดสิ้นไป
– มรรค หมายถึง ข้อปฏิบัติในการดับทุกข์
วันอัฏฐมีบูชา เป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงสรีระพระพุทธเจ้า
หลักธรรมเบื้องต้นที่เกี่ยวเนื่อง เบญจศีลและเบญจธรรม
– เบญจศีลหรือศีล ๕ หมายถึง ข้อควรละเว้นควบคุมกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม
– เบญจธรรมหรือธรรม ๕ หมายถึง ข้อควรปกิบัติ สนับสนุนการรักษาศีลแต่ละข้อให้สมบูรณ์
วันอาสาฬหบูชา
– เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
– มีพระสงฆ์องค์แรก
– มีพระรัตนตรัยครบ องค์ 3
หลักธรรมเบื้องต้นที่เกี่ยวเนื่อง มรรคมีองค์ ๘
– มรรคมีองค์ ๘ หมายถึง ข้อปฏิบัติ ๘ ประการที่จะนำไปสู่การดับทุกข์ เป็นข้อปฏิบัติสายกลางที่ไม่ตึงและไม่หย่อนเกินไป
ระเบียบพิธีและการปฏิบัติตนในวันธรรมสวนะและเทศกาลสำคัญ
วันธรรมสวนะ เรียกว่า วันพระ หรือ วันอุโบสถ
– ประมาณ ๙.๐๐ น. ในตอนเช้า เริ่มทำวัตรสวดมนต์เช้า
– พระสงฆ์ผู้แสดงธรรมขึ้นธรรมาสน์
– เสร็จจากการสมาทานศีลแล้ว กล่าวคำอาราธนาธรรม
– ขณะแสดงธรรมควรประนมมือรับฟังด้วยความตั้งใจ
– หัวหน้าอุบาสกอุบาสิกานำกล่าวว่า สาธุ
วันเข้าพรรษา เป็นวันที่พระสงฆ์ประจำที่ใดที่หนึ่ง 3 เดือน ก่อนเข้าพรรษา ๑–๒ วัน ชาวพุทธจะจัดพิธีถวายผ้าอาบน้ำฝนและถวายเทียนพรรษา มีการหล่อเทียนพรรษา นิยมให้บุตรหลานบวชเรียนหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าตลอดเวลา ๓ เดือน วันออกพรรษา พระสงฆ์ที่จำพรรษาครบ 3 เดือน จะทำพิธีออกพรรษา
วันเทโวโรหนะ เป็นการตักบาตรใหญ่ วิธีการปฏิบัติดังนี้
– เตรียมอาหารในตอนเช้า คือ ข้าวต้มมัดและข้าวต้มลูกโยน
– หลังตักบาตร อาราธนาศีล สมาทานศีล และรักษาศีล
– ฟังธรรมและทำสมาธิ
– แผ่เมตตา และกรวดน้ำ
๖. การบริหารจิตและการเจริญปัญญา
พระพุทธศาสนาสอนการควบคุมกาย วาจา และจิตใจพร้อมกัน เพราะเมื่อควบคุมได้แล้วก็สามารถควบคุมจิตใจให้สงบนิ่งได้ การควบคุมกายและวาจาให้สงบเรียบร้อยเรียกว่า ศีล การควบคุมจิตใจให้สงบนิ่งเรียกว่า สมาธิ ความเข้าใจสภาพตามความเป็นจริงเรียกว่า ปัญญา รวมทั้งสามเรียกว่า ไตรสิกขา ทำได้ดังนี้
การสวดมนต์แปลและแผ่เมตตา ทำจิตใจให้สงบ ทำให้ผ่อนคลายความตึงเครียด ทำให้เกิดความศรัทธา
– การสวดมนต์แปล ในพระพุทธศาสนา หมายถึง หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
– การแผ่เมตตา ปฏิบัติต่อจากการสวดมนต์ เพื่อส่งความปรารถนาดีไปให้แก่ผู้อื่น
วิธีปฏิบัติและประโยชน์ของการบริหารจิตและการเจริญปัญญาตามหลักสติปัฏฐาน ๔
วิธีปฏิบัติของการบริหารจิตตามหลักสติปัฏฐาน ๔ สติ
สติปัฏฐาน 4 ได้แก่
– การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย เป็นการตั้งสติกำหนดรู้เท่าทันในเรื่องของกายและอิริยาบถต่าง ๆ
– การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา เป็นการตั้งสติกำหนดรู้ให้ทันสภาพหรืออาการของจิตในขณะนั้น
– การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต เมื่อจิตคิดเรื่องใด ให้ตั้งสติกำหนดเรื่องนั้น
– การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม เป็นการตั้งสติกำหนดให้รู้ทันสิ่งที่ปรากฏกับจิตที่คิดเป็นกุศล อกุศลหรือที่เป็นกลาง
การบริหารจิตตามหลักสติปัฏฐานเน้นอานาปานสติ มีวิธีปฏิบัติดังนี้
– เลือกสถานที่
– กำหนดเวลา
– สมาทานศีล
– บูชาพระรัตนตรัยและสวดมนต์แปล
– แผ่เมตตา
– ตัดความกังวล
– ลงมือปฏิบัติ
ประโยชน์ของการบริหารจิตตามหลักสติปัฏฐาน ๔ มีดังนี้
– ประโยชน์ในด้านการดำเนินชีวิต ช่วยให้การศึกษาเล่าเรียนและการทำงานเกิดผลดีและมีประสิทธิภาพ และการมีจิตเป็นสมาธิ
– ประโยชน์ในด้านสุขภาพจิตและการพัฒนาบุคลิกภาพ มีความมั่นคงทางอารมณ์ และมีภูมิคุ้มกันโรคทางจิต
– ด้านประโยชน์ระดับสูงสุด ผู้ที่จะบรรลุถึงประโยชน์ระดับนี้ได้จะต้องมีจิตที่สงบแน่วแน่มาก
การปฏิบัติของการเจริญปัญญา แบ่งออกเป็น ๓ ประเภทตามแหล่งเกิด ดังนี้
สุตมยปัญญา คือ ความรอบรู้ที่เกิดจากการฟัง การอ่าน
– ทำสมาธิ
– ฟังเรื่องราวต่าง ๆ
– อ่านหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์
– ดูโทรทัศน์และสื่ออื่น
– จดและจำเรื่องราวที่ได้ฟัง ดู หรืออ่าน
– นำเรื่องราวที่ได้ฟัง ดู หรืออ่านมาจัดระบบ
จินตามยปัญญา มีวิธีฝึกฝนอบรม ดังนี้
– ทำสมาธิ
– แสวงหาข้อมูล
– ใช้วิธีคิดที่ถูกต้องและมีเหตุผล
– ใช้เวลาในการคิดอย่างรอบคอบ
ภาวนามยปัญญา มีวิธีฝึกฝนอบรม ดังนี้
– ทำสมาธิ
– ดู ฟัง อ่าน และคิดให้มาก
– ลงมือปฏิบัติ
– บันทึกและสรุปข้อความ
ประโยชน์ของการเจริญปัญญา ย่อมได้รับประโยชน์ดังนี้
– ประโยชน์ต่อตนเอง ทำให้การดำเนินชีวิตมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และช่วยให้หลุดพ้น
– ประโยชน์ต่อสังคม สังคมจะเรียบร้อยและอยู่กันอย่างสันติ
๗. การพัฒนาการเรียนรู้ด้วยวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ
มีวิธีคิด ๑๐ วิธี เช่น
– วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม เป็นวิธีคิดสร้างสรรค์ที่ก่อให้เกิดผลดีหรือประโยชน์
– วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ เป็นวิธีการคิดและหลักการตามจุดมุ่งหมาย
แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th