ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
คำไทยแท้
ลักษณะของคำไทยแท้
คำไทยแท้ คือ คำภาษาไทยที่ใช้มาก่อนที่จะรับคำภาษาต่างประเทศเข้ามาใช้ มีลักษณะ ดังนี้
๑. มักเป็นคำโดด หรือคำพยางค์เดียว มีความหมายสมบูรณ์ในตัว
๒. มีตัวสะกดตรงตามมาตรา
๓. มีการใช้เสียงวรรณยุกต์เพื่อบอกความหมายที่ต่างกัน
๔. ใช้คำลักษณนาม
๕. ไม่มีคำควบกล้ำและตัวการันต์
๖. ไม่นิยมใช้พยัญชนะ ฆ ฌ ญ ฎ ฏ ฑ ฒ ณ ธ ภ ศ ษ ฬ ยกเว้นบางคำ เช่น ฆ่า ฆ้อง ระฆัง เฆี่ยน เฌอ เฒ่า ณ ธ เธอ ศอก ศึก
๗. มีการซ้ำคำเพื่อให้ความหมายแตกต่างกัน เช่น ดำ ๆ หมายถึง ดำเป็นบางส่วน
๘. คำที่ใช้สระใอไม้ม้วน ๒๐ คำ และคำที่ใช้สระไอไม้มลายบางคำ เช่น ไว ไฟ ไป
เกร็ดควรรู้
สระใอไม้ม้วน ๒๐ คำ คือ ใกล้ ใคร ใคร่ ใจ ใช่ ใช้ ใหญ่ ใด ใต้ ใน ใบ ใบ้ ใฝ่ สะใภ้ ใย ใส ใส่ ให้ ใหม่ หลงใหล
คำที่ยืมมาจากภาษาต่างประเทศ
ภาษาไทยนำคำภาษาต่างประเทศเข้ามาใช้ เนื่องจากการติดต่อกับประเทศอื่น ๆ ทำให้เราได้รับอิทธิพลทางด้านภาษาของประเทศเหล่านั้นเข้ามาด้วย
เกร็ดควรรู้
ภาษา คือ เครื่องมือสื่อสารที่ใช้ติดต่อระหว่างกัน ภาษาจึงมีการถ่ายยืมกัน
เรายืมคำภาษาต่างประเทศเข้ามาใช้หลายภาษา เช่น บาลีและสันสกฤต เขมร จีน อังกฤษ ชวา มลายู เปอร์เซีย ญี่ปุ่น แต่ในระดับชั้นนี้จะศึกษาเพียง ๔ ภาษา ได้แก่
๑. ภาษาบาลีและสันสกฤต
เป็นภาษาที่มาจากทางอินเดีย ใช้ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู เมื่อศาสนาเหล่านี้เผยแผ่เข้ามาในประเทศไทย เราจึงรับภาษาบาลีและสันสกฤตมาใช้ ส่วนมากจึงเป็นคำเกี่ยวกับศาสนาและวรรณกรรม มีหลักสังเกต ดังนี้
๑. มีหลายพยางค์
๒. ตัวสะกดไม่ตรงตามมาตรา
๓. มีการใช้ตัวการันต์
๔. ประสมด้วยพยัญชนะ ฆ ฌ ญ ฎ ฏ ฒ ณ ธ ภ ฤ ศ ษ ฬ
๕. บางคำมีตัวสะกด ๒ ตัว แต่ออกเสียงเพียงตัวเดียว
๒. ภาษาเขมร
นิยมนำมาใช้เป็นคำราชาศัพท์และใช้ในวรรณคดี มีหลักสังเกต ดังนี้
๑. มักใช้ จ ญ ร ล เป็นตัวสะกด
๒. มักเป็นคำควบกล้ำหรืออักษรนำ
๓. มักเป็นคำแผลง
๓. ภาษาจีน
นิยมนำมาใช้เป็นชื่ออาหารและเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ มีหลักสังเกต ดังนี้
๑. มักเป็นคำโดด หรือคำพยางค์เดียว
๒. ใช้เสียงวรรณยุกต์บอกความหมายที่ต่างกัน
เกร็ดควรรู้
ภาษาจีนมีเสียงสูงต่ำของวรรณยุกต์เหมือนเสียงดนตรี จึงได้ชื่อว่าภาษาดนตรี
๔. ภาษาอังกฤษ
เป็นภาษาสากลในการติดต่อสื่อสาร ส่วนมากเป็นคำศัพท์เกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้าและเทคโนโลยี มีหลักสังเกต ดังนี้
๑. ส่วนมากไม่นิยมใส่รูปวรรณยุกต์ ยกเว้นบางคำ เช่น แท็กซี่ กุ๊ก แต่เมื่ออ่านต้องออกเสียงวรรณยุกต์ให้คล้ายคำเดิม เช่น เว็บไซต์ อ่านว่า เว็บ-ไซ้
๒. บางคำมีการคิดศัพท์บัญญัติขึ้นใช้ แต่ไม่นิยมจึงเรียกคำนั้นทับศัพท์ เช่น ฟรี คอมพิวเตอร์ ลิฟต์
๓. ส่วนใหญ่ใช้เสียงตัวสะกดตรงตามมาตราของไทย
๔. มีคำที่ใช้ ค ซ ต ฟ ล ส เป็นตัวสะกด เช่น เทคนิค ก๊าซ ยีราฟ ฟุตบอล แก๊ส
แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th