วันเทศกาลทอดกฐิน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 78.6K views



 

การทอดกฐินนั้น ถือว่าเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ เพราะในปีหนึ่งแต่ละวัดจะรับกฐินได้เพียงครั้งเดียวและมีกำหนดเวลาในการทอด เพียง 1 เดือนเท่านั้น โดยนับตั้งแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไปเรียกว่า สมัยจีวรกาล คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 จนถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 12  

กฐินแปลว่า ไม้สะดึง คือ กรอบไม้ชนิดหนึ่งใช้สำหรับขึงผ้าให้ตึง สะดวกแก่การเย็บ ในสมัยโบราณไม่มีจักรเย็บผ้าทันสมัยเหมือนปัจจุบัน การเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงให้ตึงแล้วจึงเย็บเพราะช่างยังไม่มีความ ชำนาญเหมื่อนสมัยปัจจุบันนี้ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอ เหมือนจักรเย็บผ้าในปัจจุบัน การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริกทีเดียว เช่นตำนานกล่าวไว้ว่า การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุเถระต่างมาช่วยกัน เป็นต้นว่า พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จลงมาช่วย ภิกษุสามเณรอื่น ๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่มเป็นต้น มาถวายพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธะเป็นประธาน โดยนัยนี้ การเย็บจีวรแม้โดยธรรมดา ก็เป็นการต้องช่วยกันทำหลายผู้หลายองค์ (ไม่เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งมีจีวรสำเร็จรูปแล้ว) ผ้ากฐินโดยความหมายก็คือผ้าสำเร็จรูปโดยอาศัยไม้สะดึง นิยมเรียกกันจนปัจจุบันนี้ แม้แต่พระพุทธองค์ก็เสด็จลงมาช่วยสนเข็ม จนเป็นเหตุให้มีผู้สร้างพระพุทธรูปขึ้นมาปางหนึ่ง เรียกว่า ปางสนเข็ม

ประวัติความเป็นมา
เรื่อง มีอยู่ว่า สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ใกล้พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ ในขณะนั้นจีวรของพระอนุรุทธเถระเจ้าเก่าคร่ำคร่า ท่านจึงเที่ยวแสวงหาผ้าบังสกุลที่มีคนนำมาทิ้งตามกองหยากเยื่อบ้าง ตามสุสานที่บุคคลห่อศพมาทิ้งไว้ตามไรทางบ้าง หรือตามสุมทุมพุ่มไม้ที่มีผู้ศรัทธานำมาทิ้งถวายไว้ ซึ่งนิยมเรียกกันว่า "ผ้าป่า" ในปัจจุบันบ้าง เพื่อรวบรวมผ้าไปเย็บเป็นจีวรในสมัยจีวรกาล

ใน ครั้งนั้น นางชาลินีเทพธิดา ซึ่งในอดีตชาติที่ 3 เคยเป็นภรรยาที่ดีของพระอนุรุทธเถระ เห็นพระเถระเที่ยวเสาะหาผ้า หากถวายตรง ๆ พระเถระอาจไม่รับ จึงจัดการถวายแบบผ้าบังสุกุลโดยนำไปวางไว้แล้วเอาหยากเยื่อถม เผยชายผ้าไว้พอให้เห็นได้ เมื่อพระเถระเจ้าได้ผ้าบังสุกุลพอสำหรับทำจีวรแล้ว จึงบอกให้เพื่อนสหธรรมิกทั้งหลายให้มาร่วมกันจัดทำ ในครั้งนั้นพระมหาสาวก เช่น พระมหากัสสปะ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะและพระอานนท์ ผู้ชำนาญในการกะตัดจีวรเป็นพิเศษ ได้มาร่วมประชุมทำจีวรถวายพระอนุรุทธเถระอย่างน่าสรรเสริญ แม้พระบรมศาสดาก็ทรงพระเมตตาเสด็จมาประทับเป็นประธาน ทั้งรับธุระสนเข็มให้ พระที่มาช่วยเย็บจีวรรูปใดด้ายหมดก็ส่งเข็มถวาย พระพุทธองค์ทรงสนเข็มประทาน เป็นที่เบิกบานใจแก่เหล่าพระสงฆ์ที่มาเข้าร่วมทำจีวรทั้งหลาย ในคราวนั้น แม้นางชาลินีเทพธิดา ก็ได้ติดตามมาถึงวิหาร และได้แปลงกายเป็นอุบาสิกาเข้าไปป่าวร้องในหมู่บ้าน ชักชวนให้ชาวบ้านจัดหาข้าวยาคูของขบฉันและอาหารอันประณีตมาถวายพระภิกษุสงฆ์ จนในที่สุด การตัดเย็บ และย้อมจีวร ก็สำเร็จได้ตามประสงค์ด้วยความสามัคคีมีน้ำใจร่วมกัน  
 
ในสมัย พุทธกาล เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระเชตวนาราม ซึ่งเป็นพระอารามที่อนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้สร้างถวายเป็นพุทธนิวาส ได้มีภิกษุ 30 รูป ชาวเมืองปาฐา ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกในแคว้นโกศล เดินทางมาหมายจะเฝ้าพระพุทธองค์ ที่เมืองสาวัตถี แต่มาไม่ทันเพราะใกล้ถึงวันเข้าพรรษา จึงเข้าพักจำพรรษา ณ เมืองสาเกต อันมีระยะทางห่างจากเมืองสาวัตถีราว 6 โยชน์ ภิกษุทั้ง 30 รูปนั้น ล้วนแต่เป็นผู้เคร่งครัดปฏิบัติธุดงค์ และต่างมีความศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดา เมื่อถึงวันออกพรรษาแล้ว ก็รีบเดินทางไปยังเมืองสวัตถีโดยไม่มีการรั้งรอแม้ว่ายังเป็นช่วงทีฝนยังตก หนักน้ำท่วมอยู่ทั่วไป แม้จะต้องฝ่าแดดรำฝน ลุยโคลนอย่างไรก็ไม่ย่อท้อ

เมื่อ ภิกษุทั้ง 30 รูปได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดาสมความตตั้งใจแล้ว ครั้นพระองค์ตรัสถามจึงได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ พระพุทธองค์จึงตรัสธรรมมิกถา ภิกษุเหล่านั้นก็ได้สำเร็จพระอรหันตผล ในลำดับนั้น พระบรมศาสดาทรงดำริถึงความยากลำบากของภิกษุเหล่านั้น จึงเรียกประชุมภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสอนุญาตให้ภิกษุรับผ้ากฐินได้ ในเมืองออกพรรษาแล้ว นางวิสาขาได้ทราบพุทธานุญาตได้เป็นผู้ถวายผ้ากฐินเป็นคนแรก  

การทอดกฐิน
การ ทอดกฐินเป็นกาลทาน ตามพระวินัยกำหนดกาลไว้ คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้ จะทอดก่อนหรือทอดหลังกำหนดนี้ ก็ไม่เป็นการทอดกฐิน แต่มีข้อยกเว้นพิเศษว่า ถ้าทายกผู้จะทอดกฐินนั้น มีกิจจำเป็น เช่นจะต้องไปในทัพ ไม่สามารถจะอยู่ทอดกฐินตามกำหนดนั้นได้ จะทอดกฐินก่อนกำหนดดังกล่าวแล้วพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับไว้ก่อนได้ 

 

ผู้มีศรัทธาจะนำกฐินไปทอด ณ วัดใด เมื่อถึงฤดูเข้าพรรษาให้ไปแจ้งความประสงค์แก่เจ้าอาวาสวัดนั้น แล้วเขียนหนังสือปิดประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน แต่หากเป็นวัดหลวงเมื่อจองกฐินแล้วทายกนั้นจะต้องทำหนังสือยื่นต่อกอง สังฆการีกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ขอเป็นกฐินพระราชทาน เมื่อได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการแล้วจึงจะจองได้ 

เมื่อได้หมาย กำหนดการทอดกฐินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้เป็นเจ้าภาพจองกฐิน จะต้องจัดเตรียมเครื่องกฐินเอาไว้ ได้แก่ ผ้ากฐิน คือ ไตรจีวร พร้อมทั้งเครื่องบริขารอื่นๆ ตามแต่ศรัทธา (ถ้าจัดเต็มที่มัก มี ๓ ไตร คือ องค์ครอง ๑ ไตร คู่สวดองค์ละ ๑ ไตร)

สำหรับทางวัดก็ต้องบอกแก่ กรรมการวัดและญาติโยมผู้มีศรัทธาทั้งหลาย ให้ทราบหมายกำหนดการ เพื่อที่จะได้มาร่วมแรงร่วมใจกันตกแต่งสถานที่ จัดเตรียมงาน และทำอาหารเลี้ยงแขกที่มาทำการทอดกฐิน ครั้นก่อนถึงวันทำพิธีทอดกฐิน ๑ วัน เรียกว่าวันสุกดิบ ทุกคนจะมาพร้อมกันที่วัด จัดการตกแต่งสถานที่ ปักธงชาติ ธงธรรมจักร และธงจระเข้ จัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้สำหรับถวายพระ และใช้ในพิธี 

 

 

พิธีทอดกฐิน
พิธี ทอดกฐินเป็นบุญใหญ่ดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้น โดยมากจึงจัดงานเป็น 2 วัน วันต้นตั้งองค์พระกฐินที่บ้านของเจ้าภาพก็ได้ จะไปตั้งที่วัดก็ได้ กลางคืนมีการมหรสพครึกครื้นสนุกสนาน ญาติพี่น้องและมิตรสหายก็มักจะมาร่วมอนุโมทนา รุ่งขึ้นเป็นที่วัดทอด ถ้าไปทางบก ก็มีแห่ทางขบวนรถหรือเดินขบวนกันไป มีแตรวงหรืออื่น ๆ เป็นการครึกครื้น ถ้าไปทางเรือก็มีแห่งทางขบวนเรือสนุกสนาน โดยมากมักแห่ไปตอนเช้า และเลี้ยงพระเพล การทอดกฐิน จะทอดในตอนเช้านั้นก็ได้ ทอดเพลแล้วก็ได้ สุดแล้วแต่สะดวก การเลี้ยงพระ ถ้าเป็นอย่างในชนบท ชาวบ้านจัดภัตตาหารเลี้ยงด้วย เจ้าของงานกฐินก็จัดไปด้วย อาหารมากมายเหลือเฟือ แม้ข้อนี้ ก็สุดแต่กาละเทศะแห่งท้องถิ่น อนึ่ง ถ้าตั้งองค์กฐินในวัดที่จะทอดนั้น เช่น ในชนบทตอนเย็น ก็แห่งองค์พระกฐินไปตั้งที่วัด กลางคืนมีการฉลองรุ่งขึ้น เลี้ยงพระเช้าแล้ว ทอดกฐิน ถวายภัตตาหารเพล  

การถวายผ้ากฐิน
การ ถวายผ้ากฐินนั้น คือ เมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว เจ้าภาพอุ้มผ้ากฐินนั่งหันหน้าตรงต่อพระประธาน ตั้งนะโม 3 จบ แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน 3 จบ ถ้าเป็นกฐินสามัคคีก็มักเอาด้วยสายสิญจน์โยงผ้ากฐิน เมื่อจับได้ทั่วถึงกัน แล้วหัวหน้านำว่าคำถวาย ครั้นจบแล้ว พระสงฆ์รับว่า สาธุ เจ้าภาพก็ประเคนผาไตรกฐินแก่ภิกษุผู้เถระ ครั้นแล้วประเคนเครื่องบริขารอื่น ๆ เสร็จแล้ว พระสงฆ์ก็ทำพิธีมอบผ้าให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นพระเถระ มีจีวรเก่า รู้ธรรมวินัย ครั้นเสร็จแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำรับพร ก็เป็นอันเสร็จพิธีการทอดกฐินเพียงนี้ 

 

ทางด้านเจ้าภาพ เมื่อก่อนถึงวัดทอดกฐิน ก็จัดเตรียมเครื่องกฐินไว้ให้พร้อม ตั้งองค์กฐินไว้ที่บ้านหรือสถานทีกำหนด เพื่อให้เพื่อนบ้านได้มีโอกาสร่วมอนุโมทนาและบริจาคร่วมบุญกุศล ครั้นถึงวันสุกดิบจึงแห่ขบวนกฐินไปตั้งที่วัดในตอนเย็น มีมหรสพเฉลิมฉลอง หรือบางแห่งอาจทำการเฉลิมฉลองกันที่บ้านเจ้าภาพซึ่งเป็นที่ตั้งองค์กฐิน แล้วในตอนเช้าของวันทำพิธีทอด จึงแห่ไปที่วัด ในการแห่กฐินนี้ ทำได้ทั้งทางบกและทางน้ำหากบ้านหรือวัดอยู่ใกล้แม่น้ำ จะมีขบวนแห่เถิดเทิงกลองยาวเป็นที่ครึกครื้น ในคืนวันสุกดิบ จะมีการนิมนต์พระมาสวดพทุธมนต์เป็นการฉลองกฐิน เสร็จแล้วจึงมีมหรสพสมโภชหรือการละเล่นของชาวบ้าน หากเป็นกฐินสามัคคี คือ มีหลายเจ้าภาพ แยกกันตั้งองค์กฐิน ณ บ้านของเจ้าภาพ ในวันรุ่งขึ้นแห่มาทอดรวมกันที่วัด ทั้งนี้เพราะในแต่ละวัดจะรับกฐินได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น บางที  เจ้าภาพหลายรายยื่นความประสงค์จะจองกฐิน จึงต้องให้ร่วมกันทอดเป็นกฐินสามัคคี 

 

พิธีทอดกฐินนี้ ที่สำคัญมีอยู่ 2 ขั้นตอน คือ
        1. การถวายผ้ากฐิน
        2. พิธีกรานกฐิน
        การถวายผ้ากฐิน กระทำเมื่อพระสงฆ์ในวัดมาประชุมพร้อมกันแล้ว เจ้าภาพก็อุ้มผ้ากฐินนั่งหน้าตรงต่อพระประธาน ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน ๓ จบ ถ้าเป็นกฐินสามัคคีก็ให้เอาด้วยสายสิญจน์โยงผ้ากฐิน เพื่อจะได้รับกันอย่างทั่วถึง แล้วหันหน้าจึงกล่าวคำถวาย เมื่อจบแล้ว พระสงฆ์จะรับพร้อมกันว่า สาธุ เจ้าภาพก็ประเคนผ้าไตรกฐินแก่ภิกษุผู้เถระ รวมทั้งประเคนเครื่องปัจจัยไทยธรรมต่าง ๆ หลังจากนั้น พระสงฆ์ก็จะประชุมกัน เมื่อเห็นว่าพระเถระรูปใดมีจีวรเก่า และเป็นผู้รู้ธรรมวินัย ก็พร้อมใจกันถวายให้ภิกษุรูปนั้น ครั้นแล้วพระสงฆ์จึงสวดอนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำรับพร เป็นอันเสร็จพิธี 

 

คำถวายผ้ากฐิน
        อิมัง ภันเต, สะปะริวารัง, กะฐินะจีวะระทุสสัง, สังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุโน ภันเต, สังโฆ,
        อิมัง, สะปะริวารัง, กะฐินะทุสสัง, ปะฎิคคัณหาตุ, ปะฎิคคะเหตวา จะ, อิมินา ทุสเสนะ,
        กะฐินัง, อัตถะระตุ, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ,
        สวดซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ด้วยคำนำเพิ่มว่า ทุติยัมปี...(นอกนั้นคำสวดเหมือนเดิมตั้งแต่ต้น)
        สวดซ้ำเป็นครั้งที่ 3 ด้วยคำนำเพิ่มว่า ตะติยัมปี... (นอกนั้นคำสวดเหมือนเดิมตั้งแต่ต้น)
คำแปลข้าแต่พระสงค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้ากฐินจีวร กับทั้งบริวารนี้ แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐิน กับบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย รับแล้วจงกรานกฐิน ด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ.

พิธีกรานกฐินเป็นพิธีฝ่ายภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะ คือภิกษุผู้ได้รับมอบผ้ากฐินนั้น นำผ้ากฐินไปทำเป็นไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง เย็บ ย้อม แห้ง เรียบร้อยดีแล้ว เคาะระฆัง ประชุมกันในโรงพระอุโบสถ ภิกษุผู้รับผ้ากฐิน ถอนผ้าเก่าอธิษฐานผ้าใหม่ที่ตนได้รับนั้นเข้าชุดเป็นไตรจีวร เสร็จแล้ว ภิกษุรูปหนึ่ง ขึ้นสู่ธรรมาสน์แสดงพระธรรมเทศนา กล่าวคือเรื่องประวัติกฐินและอานิสงส์ครั้งแล้วภิกษุผู้รับผ้ากฐิน นั่งคุกเข่าตั้งนะโม 3 จบ แล้วเปล่งวาจาในท่ามกลางชุมนุมนั้น ตามลักษณะผ้าที่กรานดังนี้

- ถ้าเป็นผ้าสังฆาฏิ เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมายสงฺฆาฏิยา กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่า ข้าพเจ้ากรานกฐินด้วยผ้าสัมฆาฎินี้ (ในเวลาว่านั้นไม่ต้องว่าคำแปลนี้) 3 จบ

- ถ้าเป็นผ้าอุตตราสงค์เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมินาอุตฺตราสงฺเคน กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่าจ้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าอุตตราสงค์นี้ 3 จบ ถ้าเป็นผ้าอันตรวาสก (สบง) เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมินา อนฺตรวาสเกน กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่าข้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าอันครวาสกนี้ 3 จบ

ลำดับนั้น สงฆ์นั่งคุกเข่าพร้อมกันแล้วกรานพระ 3 หนเสร้จแล้ว ตั้งนโมพร้อมกัน 3 จบ แล้วท่านผู้ได้รับผ้ากฐินหันหน้ามายังกลุ่มภิกษุสงษ์ กล่าวคำอนุโมทนาประกาศดังนี้

"อตฺถตํ อาวุโส สงฺฆสฺส กฐินํ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทามิ" 3 จบ (แปลว่า อาวุโส! กฐินสงฆ์กราบแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม ข้าพเจ้าขออนุโมทนา)

คำว่า อาวุโส นั้น ถ้ามีภิกษุอื่นซึ่งมีพรรษามากกว่าภิกษุผู้ครองกฐินแม้เพียงรูปเดียวก็ตาม ให้เปลี่ยนเป็น ภนฺเต ต่อนั้น สงฆ์ทั้งปวงรับว่า สาธุ พร้อมกันแล้วให้ภิกษุทั้งปวง อนุโมทนาเรียงองค์กันไปทีละรูป ๆ ว่า "อตฺถตํ ภนฺเต สงฺฆสฺส กฐินฺ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทามิ" 3 จบสงฆ์ทั้งปวงรับว่า สาธุ ทำดังนี้ จนหมดภิกษุผู้ประชุมอนุโมทนา

(ถ้าผู้อนุโมทนา มีพรรษษแก่กว่าสงฆ์ทั่งปวง ให้เปลี่ยนคำว่า ภนฺเต เป็น อาวุโส) ในการว่าคำอนุโมทนานี้พึงนั่งคุกเข่าประนมมือเสร้จแล้วจึงนั่งพับเพียงลง เมื่อเสร็จแล้ว ให้นั่งพร้อมกันคุกเข่าประนมมือ หันหน้าตรงต่อพระพุทธปฏิมา ว่าพร้อมกันอีก 3 จบ แต่ให้เปลี่ยนคำว่า อนุโมทามิ เป็น อนุโมทาม เป็นอันเสร็จไปชั้นหนึ่ง ต่อแต่นั้นกราบพระ 3 หน นั่งพับเพียบ สวดปาฐะและคาถาเนื่องด้วยกรานกฐิน จบแล้วก็เป็นเสร็จพิธีการกรานกฐิน
 
ในพระวินัย ระบุอานิสงส์กฐินไว้ 5 ประการ คือ  
1. เข้าบ้านได้โดยมิต้องบอกลาภิกษุด้วยกัน
2. เอาไตรจีวรไปโดยไม่ครบสำรับได้
3. ฉันอาหารเป็นคณะโภชน์ได้
4. เก็บจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
5. ลาภที่เกิดขึ้นเป็นของเธอผู้จำพรรษาในวัดนั้น 

การทอดกฐินเป็นกาลทาน ปีหนึ่งทำได้ครั้งเดียว วันหนึ่งทำได้ครั้งเดียวในปีหนึ่ง ๆ ต้องทำภายในกำหนดเวลา และผู้ทอดก็ต้องตระเตรียมจัดทำเป็นงานใหญ่ ต้องมีผู้ช่วยเหลือหลายคน จึงนิยมกันว่าเป็นพิธีบุญที่อานิสงส์แรง น่าคิดอีกทางหนึ่งว่า พิธีเช่นนี้ได้ทั้งโภคสมบัติ เพราะเราเองบริจาค ได้ทั่งบริวารสมบัติเพราะได้บอกบุญแก่ญาติมิตรใหมาร่วมการกุศล กาลทานเช่นนี้ เรียกว่า ทานทางพระวินัย
 
มีกฐินพิเศษอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่าจุลกฐินเป็นงานที่มีพิธีมาก ถือกันมาแต่โบราณว่า มีอานิสงส์มากยิ่งนัก วิธีทำนั้น คือเก็บผ้ายมากรอเป็นด้าย และทอให้แล้วเสร็จเป็นผืนผ้าในวันเดียวกัน และนำไปทอดในวันนั้น กฐินชนิดนี้ ต้องทำแข่งกับเวลา มีผู้ทำหลายคน แบ่งกันเป็นหน้าที่ ๆ ไป ในปัจจุบันนี้ไม่ค่อยนิยมทำกันแล้ว

"วิธีทอดจุลกฐินนี้ มีปรากฏในหนังสือเรื่องคำให้การชาวกรุงเก่าว่า บางทีเป็นของหลวงทำในวันกลางเดือน 12 คือ ถ้าสืบรู้ว่าวัดไหนยังไม่ได้รับกฐิน ถึงวันกลางเดือน 12 อันเป็นที่สุดของพระบรมพุทธานุญาตซึ่งพระสงฆ์จะรับกฐินได้ในปีนั้น จึงทำผ้าจุลกฐินไปทอด มูลเหตุของจุลกฐินคงเกิดแต่จะทอดในวันที่สุดเช่นนี้ จึงต้องรีบร้อนขวนขวายทำให้ทัน เห็นจะเป็นประเพณีมีมาเก่าแก่ เพราะถ้าเป็นชั้นหลังก็จะเที่ยวหาซื้อผ้าไปทอดได้หาพักต้องทอใหม่ไม่" (จากวิธีทำบุญ ฉบับหอสมุด หน้า 119) 
 
ปัญหาที่ว่าเพราะเหตุไรจึงมี ธงจระเข้ยกขึ้นในวัดที่ทอดกฐินแล้ว ยังไม่ปรากฎหลักฐาน และข้อวิจารณ์ อันสมบูรณ์โดยมิต้องสงสัย เท่าที่รู้กันมี 2 มติ คือ
       1. ในโบราณสมัย การจะเดินทางต้องอาศัยดาวช่วยประกอบเหมือน เช่น การยกทัพเคลื่อนขบวนในตอนจวนจะสว่าง จะต้องอาศัยดาวจระเข้นี้ เพราะดาวจระเข้นี้ขึ้นในจวนจะสว่าง การทอดกฐิน มีภาระมาก บางทีต้องไปทอด ณ วัดซึ่งอยู่ไกลบ้าน ฉะนั้น การดูเวลาจึงต้องอาศัยดาว พอดาวจระเข้ขี้น ก็เคลี่อนองค์กฐินไปสว่างเอาที่วัดพอดี และต่อมาก็คงมีผู้คิดทำธงในงานกฐิน ในชั้นต้น ก็คงทำธงประดับองค์กฐินให้สวยงามรวมทั้งประดับบริเวณวัด จึงคิดทำธงรูปจระเข้ เสมือนประกาศให้รู้ว่าทอดกฐินแล้ว
       2. อีกมติหนึ่งเล่าเป็นนิทานโบราณว่า ในการแห่กฐินในทางเรือของอุบาสกผู้หนึ่ง มีจระเข้ตัวหนึ่งอยากได้บุญจึงอุตส่าห์ว่ายตามเรือไปด้วย แต่ยังไม่ทันถึงวัดก็หมดกำลังว่ายตามต่อไปอีกไม่ไหว จึงร้องบอกอุบาสกว่า เหนื่อยนักแล้ว ไม่สามารถจะว่ายตามไปร่วมกองการกุศล วานท่านเมตตาช่วยเขียนรูปข้าพเจ้า เพื่อเป็นสักขีพยานว่าได้ไปร่วมการกุศลด้วยเถิด อุบาสกผู้นั้นจึงได้เขียนรูปจระเข้ยกเป็นธงขึ้นในวัดเป็นปฐม และสืบเนื่องมาจนบัดนี้ 
 

แหล่งที่มา : ธนากิต. วันสำคัญไทย. กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก,2541. 

 

Tag :