บทเรียนออนไลน์ วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง การสืบพันธุ์และขยายพันธุ์สัตว์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 167.1K views



ตอนที่ 1 การสืบพันธุ์และขยายพันธุ์สัตว์

ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้




การสืบพันธุ์ของสัตว์
          การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ
                    เรียกว่า การปฏิสนธิ มี 2 แบบ คือ
                              การปฏิสนธิภายใน คือ การที่อสุจิเข้าไปผสมกับไข่ภายในร่างกายสัตว์เพศเมีย




                              การปฏิสนธิภายนอก คือ การที่อสุจิผสมกับไข่ภายนอกร่างกายสัตว์เพศเมีย




          การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ
                    หมายถึง การสืบพันธุ์ที่ไม่มีการรวมตัวของเซลล์สืบพันธุ์
                             การแตกหน่อ หน่อที่งอกออกมานี้จะเจริญเติบโตและมีลักษณะเหมือนกับตัวเดิม และหลุดออกมาเป็นตัวใหม่ เช่น ไฮดรา ปะการัง และฟองน้ำ




                             การงอกใหม่ เมื่อมีส่วนของร่างกายหลุดหรือสูญเสียไป ส่วนที่หลุดจะเจริญเป็นตัวใหม่ เช่น ดาวทะเล พลานาเรีย




การขยายพันธุ์สัตว์
          การคัดเลือกพันธุ์
                    จะเลือกจากชนิดเดียวกันที่มีลักษณะดี 2 สายพันธุ์มาผสมกัน แต่ใช้ระยะเวลานาน



          การผสมเทียม
                    นิยมนำสัตว์ที่มีการปฏิสนธิภายในมาผสมเทียม ทำโดยรีดน้ำเชื้อจากสัตว์เพศผู้ แล้วนำน้ำเชื้อฉีดเข้าไปในมดลูกของแม่พันธุ์ ในช่วงที่แม่พันธุ์กำลังเป็นสัด
                    การผสมเทียมในสัตว์ที่มีการปฏิสนธิภายนอก ทำโดยฉีดฮอร์โมนให้ปลาที่เป็นพ่อแม่พันธุ์ เพื่อกระตุ้น จากนั้นรีดไข่จากแม่พันธุ์ลงในภาชนะ แล้วรีดน้ำเชื้อจากพ่อพันธุ์ลงไปผสมกับไข่ แล้วจึงนำไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์แล้วไปปล่อยในบ่อสำหรับเพาะเลี้ยงลูกปลา


                    ข้อดีของการผสมเทียม
                              1. ประหยัดพ่อพันธุ์ เพราะสามารถนำไปผสมกับแม่พันธุ์จำนวนมากได้
                              2. ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคที่อาจจะเกิดจากการผสมพันธุ์โดยธรรมชาติ

          การถ่ายฝากตัวอ่อน
                    เป็นการขยายพันธุ์ในมดลูกของแม่พันธุ์ จากนั้นใช้เครื่องมือดูดเอาตัวอ่อนจากแม่พันธุ์ แล้วนำไปฝากไว้ในมดลูกของแม่พันธุ์อีกตัวหนึ่ง สัตว์ที่นิยมคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มีการตกลูกครั้งละ 1 ตัว เช่น โค กระบือ
                    ข้อดีของการถ่ายฝากตัวอ่อ
                             1. ขยายได้จำนวนมากและได้สัตว์ลักษณะตามต้องการ และเป็นการช่วยอนุรักษ์อีกทาง
                             2. ช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขยายพันธุ์
          การโคลน
                    เป็นการสร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมาใหม่ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนสิ่งมีชีวิตต้นแบบทุกประการ


วัฏจักรชีวิตของสัตว์
          คือ การที่ลูกสัตว์ที่เกิดมาจะเจริญเติบโต เมื่อโตเต็มวัยก็จะสืบพันธุ์ และมีลูกหลานเข้าสู่วัฏจักรชีวิตอีกครั้ง

          วัฏจักรชีวิตของแมลง
                    มีวัฏจักรชีวิตที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนมากจะวางไข่ และตัวอ่อนของแมลงจะมีรูปร่างเหมือนและแตกต่างมากจากพ่อแม่

                    การเจริญเติบโตของแมลงสาบ มี 3 ระยะ คือ ไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัย แมลงที่มีวัฏจักรชีวิตเช่นเดียวกับแมลงสาบ เช่น ตั๊กแตน จิ้งหรีด และแมลงปอ




                    การเจริญเติบโตของผีเสื้อ มี 4 ระยะ คือ ไข่ หนอนหรือตัวอ่อน ดักแด้ และตัวเต็มวัย แมลงที่มีวัฏจักรชีวิตคล้ายกับผีเสื้อ เช่น มด ยุง และผีเสื้อกลางคืน



                     ไข่ มีขนาดเล็ก ๆ ประมาณ 10 ถึง 100 ฟอง ใช้เวลา 10 วัน ไข่จะฟักเป็น หนอน
                     หนอนหรือตัวอ่อน มีรูปทรงกระบอก กินใบไม้เป็นอาหาร และเพิ่มขนาดอย่างรวดเร็ว
                     ดักแด้ ตัวหนอนจะปล่อยเส้นใยมาห่อหุ้มยึดตัวอ่อนให้อยู่กับที่ ดักแด้ที่อยู่ภายในจะไม่กินอาหารเลย แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง
                     ตัวเต็มวัย ผีเสื้อตัวเต็มวัยจะออกมาแต่ยังบินไม่ได้ในช่วงแรก เนื่องจากปีกยังเปียกและยับย่น เมื่อปีกเรียบขึ้น แผ่กว้างและแห้ง ผีเสื้อจะสามารถบินได้ และเตรียมสืบพันธุ์ต่อไป

          วัฏจักรชีวิตของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก
                    แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ดำรงชีวิตในน้ำ และช่วงที่ดำรงชีวิตบนบก โดยทั้ง 2 ช่วงจะมีรูปร่างที่แตกต่างกันมาก

                    การเจริญเติบโตของกบ วัฏจักรชีวิตของกบมี 4 ระยะ คือ ไข่ ลูกอ๊อดวัยอ่อน ลูกอ๊อดวัยแก่ และตัวเต็มวัย




                    ไข่ มีเมือกหุ้มซึ่งช่วยให้ไข่ลอยอยู่บนผิวน้ำและป้องกันไม่ให้สัตว์อื่นมากินไข่ เมื่อไข่กบได้รับการผสมพันธุ์ก็จะเจริญเปลี่ยนแปลงเป็นตัวอ่อน
                    ลูกอ๊อดวัยอ่อน มีหัวโต หางยาว หายใจทางเหงือก
                    ลูกอ๊อดวัยแก่ เริ่มมีขางอกออกมาโดยขาคู่หลังจะงอกออกมาก่อน หางจะค่อย ๆ เล็กและสั้นลงเรื่อย ๆ ปอดเริ่มพัฒนาขึ้นเพื่อการหายใจ
                    ตัวเต็มวัย ใช้ปอดในการหายใจแทน และรับแก๊สออกซิเจนทางผิวหนังด้วย ส่วนหางจะหายไป พร้อมจะดำรงชีวิตอยู่ทั้งบนบกและในน้ำ

          วัฏจักรชีวิตของสัตว์ปีก
                    มี 3 ระยะ คือ ไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัย สัตว์ที่มีวัฏจักรชีวิตแบบนี้ เช่น ไก่และเป็ด




                    ไข่ ตัวอ่อนของไก่จะเจริญเติบโตอยู่ภายในไข่ ซึ่งมีไข่แดงและไข่ขาวเป็นอาหารสำหรับตัวอ่อน
                    ตัวอ่อน เมื่อลูกไก่โตเต็มที่จะเจาะเปลือกไข่และดันตัวเองออกสู่ภายนอก เรียกว่า ลูกเจี๊ยบ
                    ตัวเต็มวัย หาอาหารกินเอง ไก่เพศผู้จะมีหงอนอยู่บนหัว มีสีสันที่ตัว และปีกสวยงาม ส่วนไก่เพศเมียจะตัวเล็กกว่าและไม่มีหงอน

          วัฏจักรชีวิตของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม
                    ตัวอ่อน จะฝังตัวเจริญเติบโตในท้องแม่
                    ลูกอ่อน จะออกมาเจริญเติบโตภายนอก แม่จะให้น้ำนมแก่ลูกและคอยดูแลลูกอ่อน
                    สัตว์วัยเด็ก จะอาศัยอยู่กับพ่อแม่ของมันระยะหนึ่ง และจะเรียนรู้ทักษะต่างๆ
                    ตัวเต็มวัย ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ด้วยกันเป็นฝูง ช่วงนี้สัตว์จะหากินได้เองและพร้อมที่จะสืบพันธุ์




ตอนที่ 2 ความหลากหลายของสัตว์

ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้


 

          ความหลากหลายของสัตว์จำแนกสัตว์ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

สัตว์มีกระดูกสันหลัง
          กระดูกสันหลังทำหน้าที่เป็นแกนพยุงให้ร่างกายเป็นรูปร่าง และช่วยหุ้มเส้นประสาทที่อยู่บริเวณสันหลัง แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
                    1. ปลา เป็นสัตว์เลือดเย็น มีทั้งมีเกล็ดและไม่มีเกล็ด หายใจด้วยเหงือก




                    2. สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เป็นสัตว์เลือดเย็น ระยะตัวอ่อนอาศัยอยู่ในน้ำ หายใจด้วยเหงือก เมื่อโตจะขึ้นมาอาศัยอยู่บนบก หายใจด้วยปอด ผิวหนังจะเปียกชื้นอยู่เสมอ




                    3. สัตว์เลื้อยคลาน เป็นสัตว์เลือดเย็น ลำตัวมีผิวหนังที่แข็ง มีเกล็ดปกคลุม หายใจด้วยปอด วางไข่บนบก ไข่มีเปลือกแข็ง หรือมีสารเหนียวห่อหุ้มไว้




                    4. สัตว์ปีก เป็นสัตว์เลือดอุ่น ไม่มีฟัน นกส่วนใหญ่มีการมองเห็นที่ว่องไว สามารถมองหาอาหารระยะไกลได้ นกสามารถบินได้เพราะมีกล้ามเนื้อทรวงอกที่แข็งแรง กระดูกมีรูพรุนทำให้มีน้ำหนักเบา




                    5. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เป็นสัตว์เลือดอุ่น เพศเมียมีต่อมสร้างน้ำนม หายใจด้วยปอด ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนบก มีบางชนิดอาศัยอยู่ในน้ำ เช่น วาฬ โลมา




สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง
          การพัฒนาของร่างกายยังไม่สมบูรณ์ดี แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยได้หลายกลุ่ม ดังนี้
                    1. ฟองน้ำ ลำตัวเป็นโพรงและมีรูพรุนรอบลำตัว เพื่อให้น้ำและอาหารผ่านเข้าออก มักเกาะนิ่งอยู่กับที่ ฟองน้ำแต่ละชนิดจะมีรูปร่างและสีสันแตกต่างกัน




                    2. สัตว์ที่มีรูกลางลำตัว มีลำตัวอ่อนนุ่ม พบได้ทั้งในน้ำจืด เช่น ไฮดรา และในน้ำเค็ม เช่น แมงกะพรุน ปะการัง และดอกไม้ทะเล




                    3. หนอนพยาธิ มีลำตัวอ่อนนุ่ม บางชนิดลำตัวแบน เช่น พยาธิตัวตืด พยาธิใบไม้ในตับ บางชนิดลำตัวกลม เช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ




                    4. หอย มีลำตัวอ่อนนิ่ม มีเปลือกแข็งเพื่อป้องกันอันตราย หายใจทางผิวหนังหรือทางเหงือก




                    5. สัตว์ที่มีลำตัวเป็นปล้อง ลำตัวอ่อนนิ่มและยาว ไม่มีขา เช่น ไส้เดือนดิน ปลิง และทากดูดเลือด




                    6. สัตว์ที่มีขาเป็นข้อ ลำตัวแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ หัว อก และท้อง บางชนิดมีหนวด มีเปลือกแข็งหุ้มลำตัว แบ่งออกเป็นหลายชนิด เช่น กุ้ง แมงมุม กิ้งกือ ตะขาบ แมลง ตั๊กแตน และมด




                    7. สัตว์ที่มีหนามตามผิวหนัง มีผิวหนังขรุขระคล้ายหนาม รูปร่างลักษณะแตกต่างกันไป เช่น ดาวทะเล เม่นทะเล


 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th