บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง แหล่งอารยธรรมโบราณในเอเชีย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 78.9K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

แหล่งอารยธรรมโบราณในเอเชีย

 

1. อารยธรรมจีน

1.1 อารยธรรมจีนสมัยก่อนประวัติศาสตร์

ร่องรอยอารยธรรมจีนเริ่มปรากฏขึ้นในยุคหินเก่า เมื่อมีการขุดค้นพบโครงกระดูก “มนุษย์ปักกิ่ง” ซึ่งมีอายุ 500,000–300,000 ปีมาแล้ว

 

 กะโหลกของโฮโมอิเรกตัส ที่เรียกว่ามนุษย์ปักกิ่ง

  

แหล่งโบราณคดี 2 แหล่ง ซึ่งมีลักษณะเด่นมาก คือ

1. วัฒนธรรมหยางเชา (Yangshao culture) ขุดพบซากโบราณคดีที่บริเวณมณฑลเหอหนาน

2. วัฒนธรรมหลงชาน (Longshan culture) ขุดพบซากโบราณคดีที่บริเวณมณฑลชานตง จนถึงเมืองหางโจว มีการตั้งแหล่งชุมชน

 

 แผนที่แสดงแหล่งวัฒนธรรมหยางเชาและหลงซาน

  

1.2 อารยธรรมจีนสมัยประวัติศาสตร์

1.2.1 ประวัติศาสตร์และพัฒนาการของการก่อตัวเป็นรัฐ

ราชวงศ์แรกในยุคประวัติศาสตร์ของจีน คือ ราชวงศ์โจว ปกครองแบบนครรัฐ เป็นยุคแรกที่รู้จักประดิษฐ์ตัวอักษรเพื่อบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ

1.2.2 พัฒนาการด้านอารยธรรมและความเจริญของจีน

1. ศาสนาและความเชื่อ ในสมัยราชวงศ์ชาง ชาวจีนนับถือเทพเจ้าและเชื่อเรื่องวิญญาณ จึงมีการเคารพบูชาบรรพบุรุษ

ในช่วงที่เกิดความแตกแยกสมัยราชวงศ์โจว ทำให้เกิดนักปรัชญามากมายเพื่อแก้ปัญหาสังคมและการเมือง มีแนวคิด 3 ลัทธิ ได้แก่ ลัทธิขงจื๊อ ลัทธิเต๋า ลัทธิฝ่าเจียหรือนิติธรรมนิยม

2. ศิลปะและนวัตกรรม การผลิตภาชนะสำริดและความก้าวหน้าทางดาราศาสตร์ มีความเจริญก้าวหน้าในสมัยราชวงศ์ชาง สามารถผลิตปฏิทินในระบบจันทรคติ ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคที่ประเทศจีนแตกแยก ได้นำเหล็กมาใช้แทนสำริด ซึ่งทนทานกว่า ขณะเดียวกันการแกะสลักหยกเจริญก้าวหน้า และนำมาใช้เป็นเครื่องประดับ

สุสานของจักรพรรดิจิ๋นซี แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางประติมากรรมของจีน

ในสมัยราชวงศ์ฮั่น มีการประดิษฐ์กระดาษ เครื่องมือตรวจวัดตำแหน่งดวงดาว สามารถคำนวณได้ว่า 1 ปีมี 365 วัน และคำนวณการเกิดจันทรุปราคาได้

 

 เครื่องมือตรวจจับแผ่นดินไหวในสมัยราชวงศ์ฮั่น

  

3. ตัวอักษรและวรรณกรรม อักษรจีนเป็นต้นกำเนิดของอักษรภาพ พัฒนามาจากการวาดภาพเพื่อบันทึกเรื่องราวของมนุษย์สมัยโบราณ ในสมัยราชวงศ์ชางและราชวงศ์โจวนิยมสลักคำทำนายบนกระดองเต่าหรือกระดูกสัตว์ เรียกว่า อักษรกระดองเต่า จนกระทั่งจักรพรรดิจิ๋นซีรวมประเทศเป็นปึกแผ่นได้แล้ว จึงปรับให้ใช้อักษรจีนรูปแบบเดียวกันทั้งหมด กลายเป็นรูปแบบหนึ่งของศิลปะเรียกว่า ศิลปะแบบพู่กันจีน (Calligraphy) อีกด้วย

 

พัฒนาการของตัวอักษรจีน

 

วรรณกรรมชุดแรกที่มีชื่อเสียง คือ “อู่จิง” แปลว่า “คัมภีร์ทั้ง 5 (Five Classics) จัดทำโดยขงจื๊อ ได้แก่

1) ซือจิง เป็นหนังสือที่รวบรวมบทกลอนจากแคว้นต่าง ๆ

2) ซูจิง เป็นหนังสือที่รวบรวมคำประกาศ เอกสารราชการ

3) อี้จิง เป็นตำราทำนายดวงชะตา

4) หลี่จี้ เป็นหนังสือเกี่ยวกับจารีต ขนบธรรมเนียม

5) ชุนชิว เป็นบันทึกเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ เรียบเรียงโดยขงจื๊อ

4. การติดต่อค้าขาย ในสมัยราชวงศ์ชาง ใช้เปลือกหอย หรือหอยเบี้ยเป็นสื่อกลางซื้อขาย และเปลี่ยนมาใช้เงินตราในราชวงศ์โจว

จักรพรรดิจิ๋นได้ยกเลิกระบบเงินตรา และมาตรการวัดของแคว้นต่าง ๆ ให้ใช้ตามแบบอย่างในแคว้นฉินที่มีอยู่เดิม เป็นแบบเดียวกันทั้งประเทศ ทำให้การติดต่อค้าขายสะดวกยิ่งขึ้น

ต่อมาได้มีการบุกเบิกเส้นทางสายไหมขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่น โดยเริ่มต้นที่เมืองฉางอาน และสิ้นสุดที่จักรวรรดิโรมัน

1.3 อิทธิพลของอารยธรรมจีน

ดินแดนที่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีน เช่น เกาหลี เวียดนาม จะได้รับอารยธรรมจีนอย่างสมบูรณ์ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะยอมรับอารยธรรมจีนด้วยผลประโยชน์ทางการค้า ส่วนเส้นทางการค้าสายไหม มีการแลกเปลี่ยนระหว่างอารยธรรมตะวันตกกับจีน จีนได้แพร่ขยายวิทยาการและสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ

 

2. อารยธรรมอินเดีย

2.1 อารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ

หลักฐานทางโบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบในเมืองฮารัปปาและเมืองโมเฮนโจดาโร เกิดจากชาวดราวิเดียนซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองของอินเดีย สันนิษฐานว่าอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุมีความเจริญในระดับเดียวกับอารยธรรมเมโสโปเตเมีย โดยพบเครื่องประดับของอารยธรรมเมโสโปเตเมียในเมืองฮารัปปาและโมเฮนโจดาโร

2.2 อารยธรรมอินเดียภายหลังการเข้ามาของชาวอารยัน

2.2.1 ประวัติศาสตร์และพัฒนาการของการก่อตัวเป็นรัฐ

ก่อนที่อารยธรรมอินเดียจะพัฒนาไปสู่จักรวรรดิ แบ่งได้ 2 ยุค คือ

1. ยุคพระเวท เป็นยุคแรกที่ชาวอารยันมาตั้งหลักแหล่งมั่นคงในอินเดีย เกิดเป็นระบบวรรณะ

2. ยุคมหากาพย์ (ประมาณ 900–600 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นช่วงที่ชาวอารยันขยายตัวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือและทางตอนกลางของอินเดีย มีการก่อตั้งเมืองต่าง ๆ แคว้นที่มีอำนาจในสมัยนั้น คือ แคว้นมคธ 

2.2.2 พัฒนาการด้านอารยธรรมและความเจริญของอินเดีย

1. ศาสนาและความเชื่อ ในตอนแรกชาวอินเดียนับถือเทพเจ้า ต่อมาในยุคพระเวทได้เกิดคัมภีร์ทางศาสนาพราหมณ์ เรียกว่า คัมภีร์พระเวท ประกอบด้วย ฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท

 

 คัมภีร์ฤคเวท บันทึกด้วยตัวอักษรเทวนาครี

  

การปกครองของสังคมแบ่งออกเป็น 4 วรรณะ คือพราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และศูทร หากแต่งงานข้ามวรรณะ บุตรจะกลายเป็นคนที่อยู่นอกวรรณะ เรียกว่า จัณฑาล กลายเป็นที่รังเกียจของสังคม

ต่อมาเกิดศาสนาขึ้นใหม่ 2 ศาสนา เป็นศาสนาแบบอเทวนิยม

1) ศาสนาเชน ศาสดาคือ พระมหาวีระ

2) พระพุทธศาสนา ศาสดาคือ พระพุทธเจ้า ตรัสรู้ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ หรืออริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เป็นหลักการของพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังเชื่อในกฎแห่งกรรม คือ ใครทำสิ่งใดย่อมได้ผลตอบแทน พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

2. ศิลปะและนวัตกรรม ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช มีสิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญ ดังนี้

1) สถูป สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

2) ถ้ำวิหาร สร้างเพื่อให้พระสงฆ์จำวัด

3) เสาหิน เป็นเสาหินขนาดใหญ่ที่สวยงาม แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าอโศกมหาราชทรงยกย่องเชิดชูพระพุทธศาสนา

ในช่วงที่ชาวกรีกครอบครองทางตอนเหนือของอินเดีย เกิดการผสมผสานศิลปะของกรีกและอินเดียขึ้น เรียกว่า ศิลปะคันธาระ โดยมีการปั้นรูปพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก

 

พระพุทธรูปศิลปะคันธาระ

 

นักคณิตศาสตร์ได้พัฒนาสัญลักษณ์ของตัวเลข ซึ่งเป็นรากฐานของตัวเลขที่ใช้ในปัจจุบัน รวมถึงระบบทศนิยมและสมการพีชคณิตกำลังสอง

ส่วนการแพทย์มีความเจริญก้าวหน้า เชี่ยวชาญในการเสริมความงามและผลิตยาที่ใช้รักษาโรคเรื้อนได้ สมัยคุปตะมีความก้าวหน้ากว่าอาณาจักรอื่น

3. ตัวอักษรและวรรณกรรม

ยุคมหากาพย์ ได้เกิดวรรณคดีที่ยิ่งใหญ่ 2 เรื่อง คือ

1) มหากาพย์รามายณะ

2) มหากาพย์มหาภารตะ

4. การติดต่อค้าขาย ในสมัยจักรวรรดิเมารยะ การค้าขายมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้น เพราะบ้านเมืองอยู่ในความสงบ

2.3 อิทธิพลของอารยธรรมอินเดีย

อารยธรรมอินเดียได้แพร่ขยายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ จนอารยธรรมอินเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมในสังคมนั้น ๆ

ในภูมิภาคเอเชียกลาง ยุคสมัยแรก ๆ มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกับชาวอินเดีย แล้วอารยธรรมอิสลามก็เข้ามาแทนที่จนถึงปัจจุบัน

ในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ชาวมุสลิมได้ใช้วิทยาการหลายอย่างของอินเดีย เช่น การแพทย์ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นภูมิภาคที่มีอิทธิพลของอารยธรรมอินเดียมากที่สุด โดยเฉพาะด้านศาสนา นอกจากนี้ตัวอักษรอินเดียก็เป็นมรดกตกทอดมาถึงภูมิภาคนี้ด้วย

 

3. แหล่งมรดกโลกในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย

3.1 แหล่งมรดกโลกในดินแดนเอเชียตะวันออก

1. กำแพงเมืองจีน (The Great Wall) ภาษาจีนเรียกว่า “กำแพงหมื่นลี้” เป็นกำแพงที่ยาวที่สุดในโลก ยูเนสโกได้ประกาศให้กำแพงเมืองจีนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมใน ค.. 1987 และเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกสมัยกลาง กำแพงเมืองจีนจึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจีน

 

 กำแพงเมืองจีน

  

2. ปราสาทฮิเมจิ (Himeiji-Jo) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ปราสาทกระเรียนขาว” ปราสาทแห่งนี้มีการออกแบบระบบการป้องกันที่ซับซ้อน และรอดพ้นจากการถูกทำลายด้วยระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2 ยูเนสโกได้ประกาศให้ปราสาทฮิเมจิเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมใน ค.. 1993

 

 ปราสาทฮิเมจิ ประเทศญี่ปุ่น

  

3. สุสานราชวงศ์โชซอน (Royal Tombs of Joseon Dynasty) เป็นที่ตั้งสุสานทั้งหมด 40 สุสาน กระจายอยู่ในพื้นที่ทั้งหมด 18 แห่ง ยูเนสโกได้ประกาศให้สุสานราชวงศ์โชซอนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมใน ค.. 2009

 

 สุสานพระเจ้าเซจง แห่งราชวงศ์โซซอน

  

3.2 แหล่งมรดกโลกในดินแดนเอเชียใต้

1. ตาชมะฮัล (Taj Mahal) ตั้งอยู่ที่เมืองอัคระ รัฐอุตตรประเทศ สร้างขึ้นจากหินอ่อนสีขาว และประดับด้วยอัญมณีใช้เวลาก่อสร้างถึง 20 ปี ยูเนสโกได้ประกาศให้ตาชมะฮัลเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมใน ค.. 1983 และเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก

 

 ตาชมะฮัล อนุสาวรีย์แห่งความรัก ประเทศอินเดีย

  

2. ตักศิลา (Taxila) ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าและเคยตกอยู่ใต้อำนาจของจักรวรรดิเปอร์เซียและกรีก ถือได้ว่าเป็นจุดนัดพบระหว่างอารยธรรมตะวันตกและอารยธรรมตะวันออก ยูเนสโกได้ประกาศให้ตักศิลาเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมใน ค.. 1980

 

 ฐานสถูป เมืองตักศิลา ประเทศปากีสถาน

  

3.3 แหล่งมรดกโลกในดินแดนเอเชียตะวันตกเฉียงใต้

เปตรา (Petra) เป็นเมืองโบราณตั้งอยู่ทางตะวันออกของหุบเขาวาดีมูซา (Wadi Musa) ชาวอาหรับได้เข้ามาสกัดหินผาลึกเข้าไปเป็นอาคารต่าง ๆ ตามหุบเขา สถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างกรีกและศิลปะแบบตะวันออก ยูเนสโกได้ประกาศให้เปตราเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมใน ค.. 1985

 

 พระคลังมหาสมบัติ เปตรา ประเทศจอร์แดน

  

3.4 แหล่งมรดกโลกในดินแดนเอเชียกลาง

ซามาร์คันด์ (Samarkand–Crossroads of cultures) ก่อตั้งขึ้นราวศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสต์ศักราช และในคริสต์ศตวรรษที่ 14 พระเจ้าติมูร์ได้รวบรวมช่างฝีมือจากเมืองต่าง ๆ ที่พระองค์ไปยึดครองมาได้ เช่น ดามัสกัส อาเซอร์ไบจาน มาสร้างสถาปัตยกรรมในเมือง เช่น สุสาน สุเหร่า ใจกลางเมืองซามาร์คันด์ในสมัยนั้นเรียกว่า “เรกิสถาน” (registan) ยูเนสโกได้ประกาศให้ซามาร์คันด์เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมใน ค.. 2001

 

 เรกิสถาน เมืองซามาร์คันต์ ประเทศอุซเบกิสถาน

  

คำสำคัญ

มนุษย์ปักกิ่ง

ลัทธิขงจื๊อ

ลัทธิเต๋า

ลัทธิฝ่าเจีย

นิติธรรมนิยม

ยุคพระเวท

ยุคมหากาพย์

พราหมณ์

กษัตริย์

แพศย์

ศูทร

จัณฑาล

คันธาระ

รามายณะ

มหาภารตะ

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th