ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
1. เอเชียตะวันออก
1.1 ที่ตั้งและสภาพทางภูมิศาสตร์
ทิศเหนือติดต่อกับประเทศรัสเซีย ทิศตะวันออกติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก ทิศใต้ติดต่อกับประเทศอินเดีย เนปาล ภูฏาน พม่า ลาว เวียดนาม และทะเลจีนใต้ ทิศตะวันตกติดกับประเทศรัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอินเดีย ประเทศและดินแดนในเอเชียตะวันออก ได้แก่ จีน มองโกเลีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ดินแดนไต้หวัน และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ตั้งอยู่ในเขตอบอุ่น จึงเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานและตั้งชุมชนกสิกรรม นอกจากจะเป็นพื้นที่เหมาะแก่การกสิกรรมแล้ว ยังเหมาะสำหรับเป็นเมืองท่าค้าขายด้วย เพราะเป็นบริเวณที่ติดทะเล
1.2 พัฒนาการของเอเชียตะวันออก
ชุมชนต่าง ๆ ในบริเวณนี้เริ่มขยายลงมาบริเวณลุ่มแม่น้ำฉางเจียง จนเกิดอารยธรรมความเจริญระดับเมือง แต่ละเมืองมีอิสระไม่ขึ้นแก่กัน กษัตริย์ในราชวงศ์ชางและโจว ได้รวมเมืองแบบนครรัฐจึงเกิดสงครามแย่งอำนาจในแต่ละรัฐ แผ่นดินมีความเป็นปึกแผ่นในสมัยราชวงศ์ฉิน แล้วปกครองประเทศแบบจักรวรรดิ โดยมีจักรพรรดิเป็นผู้นำ ในสมัยราชวงศ์ฮั่น เสถียรภาพของผู้ปกครองขึ้นอยู่กับ ความสามารถของจักรพรรดิ และความสามารถในการปกป้องชาวจีนจากภัยธรรมชาติซึ่งเกิดขึ้นทุกปี ราชวงศ์สุดท้ายของจีนคือราชวงศ์ชิง เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐ แต่ยังไม่เกิดความเสถียรภาพ จึงเกิดการปฏิวัติการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยม โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้นำประเทศ
ประเทศญี่ปุ่น ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจากจีนมาปรับใช้ในประเทศ ญี่ปุ่นเคยติดต่อค้าขายกับชาวตะวันตก โดยนำความรู้และวิทยาการมาพัฒนาประเทศจนกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรม และมีอำนาจทางการทหาร และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศญี่ปุ่นพ่ายแพ้ กลายเป็นประเทศที่ถูกกำหนดไม่ให้มีกองกำลังทหาร รัฐบาลญี่ปุ่นฟื้นฟูและพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง ทำให้มีความเจริญก้าวหน้า จนกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีเศรษฐกิจมั่นคงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก
2. เอเชียใต้
2.1 ที่ตั้งและสภาพทางภูมิศาสตร์
ทิศเหนือติดต่อกับประเทศจีน ทิศตะวันออกติดต่อกับประเทศพม่าและจดอ่าวเบงกอล ทิศใต้จดมหาสมุทรอินเดีย ทิศตะวันตกติดต่อกับประเทศอิหร่าน และจดทะเลอาหรับ ประเทศในเอเชียใต้ ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน ศรีลังกา และมัลดีฟส์
ภูมิภาคเอเชียใต้มีลักษณะเป็นคาบสมุทรขนาดใหญ่ในมหาสมุทรอินเดีย เมืองโบราณที่สำคัญ คือ เมืองฮารัปปา และเมืองโมเฮนโจดาโร เป็นต้นดำเนิดอารยธรรมสินธุ
2.2 พัฒนาการของเอเชียใต้
จากการขุดพบเมือง คือ เมืองฮารัปปา และเมืองโมเฮนโจดาโร พบหลักฐานที่แสดงถึงความเจริญของชาวดราวิเดียน และการค้าขายกับโลกภายนอก เช่น อารยธรรมเมโสโปเตเมีย ต่อมาชาวอารยันได้เข้ามายึดครองดินแดนนี้ และสร้างอารยธรรมความเจริญรุ่งเรือง อารยธรรมที่สำคัญ คือ ศาสนาพราหมณ์–ฮินดู รวมไปถึงระบบวรรณะ ราชวงศ์เมารยะเป็นราชวงศ์แรกที่เริ่มปกครองเป็นจักรวรรดิในอินเดีย ในสมัยราชวงศ์คุปตะได้รวมอินเดียเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และพวกเติร์กได้เข้ามารุกรานและปกครองอินเดีย มีความเจริญอย่างมากในสมัยจักรวรรดิมุคัล มีเมืองที่สำคัญอีก 2 เมือง ได้แก่ เมืองติดชายฝั่งทะเลโกลกาตา ตั้งอยู่บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำคงคา และเมืองมุมไบเป็นเมืองท่าด้านทะเลอาหรับ อังกฤษให้เอกราชแก่อินเดียหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อินเดียจึงเกิดการแย่งชิงอำนาจของผู้นับถือศาสนาพราหมณ์–ฮินดูกับผู้นับถือศาสนาอิสลาม ต่อมาได้แยกตัวไปตั้งประเทศปากีสถานทางตอนเหนือของอินเดีย และเกิดความขัดแย้งจนแตกไปก่อตั้งประเทศใหม่ คือ บังกลาเทศ
ประเทศศรีลังกาเป็นเกาะที่อยู่ทางตอนใต้ของทวีป หลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษก็เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวทมิฬกับชาวสิงหล รัฐบาลสิงหลสามารถปราบกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬได้สำเร็จ
เอเชียใต้เป็นภูมิภาคที่มีความหนาแน่นของประชากร ทรัพยากรต่าง ๆ จึงไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้รัฐบาลยากต่อการปกครองและดูแลคุณภาพชีวิตที่ดีได้
3. เอเชียตะวันตกเฉียงใต้
3.1 ที่ตั้งและสภาพทางภูมิศาสตร์
ทิศเหนือติดต่อกับประเทศรัสเซีย เทือกเขาคอเคซัส และจดทะเลดำ ทะเลแคสเปียน และติดต่อกับประเทศรัสเซีย ทิศตะวันออกติดต่อกับประเทศจีน ปากีสถาน และจดทะเลอาหรับ ทิศใต้จดทะเลอาหรับและทะเลแดง ทิศตะวันตกจดทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและคลองสุเอซ ประเทศในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ได้แก่ อัฟกานิสถาน อิหร่าน อิรัก อิสราเอล จอร์แดน คูเวต เลบานอน กาตาร์ โอมาน ซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย ตุรกี บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เยเมน และไซปรัส
ภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ เป็นที่ราบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนบริเวณประเทศซีเรีย และมีแม่น้ำ 2 สาย ได้แก่ แม่น้ำยูเฟรทีส และแม่น้ำไทกริส มีอาณาเขตต่อเนื่องกันเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณที่สำคัญที่เรียกว่า “เมโสโปเตเมีย”
3.2 พัฒนาการของเอเชียตะวันตกเฉียงใต้
ชนเผ่าแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ คือ ชาวสุเมเรียน เป็นแหล่งกำเนิดศาสนาที่สำคัญของโลกถึง 3 ศาสนา ได้แก่ ศาสนายูดาห์ คริสต์ศาสนา และศาสนาอิสลาม อารยธรรมอิสลามเจริญก้าวหน้าในแถบนี้ แต่เมื่อเกิดสงครามครูเสดกับพวกคริสเตียน ทำให้จักรวรรดิอิสลามเสื่อมอำนาจลง จนกระทั่งมีการขุดพบบ่อน้ำมันใน ค.ศ. 1907 ในที่ราบสูงอิหร่าน อ่าวเปอร์เซีย และคาบสมุทรอาหรับ ทำให้ชาติตะวันตกเข้ามาขยายอิทธิพลครอบครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 อาณาจักรออตโตมันเติร์กต้องเสียดินแดนในฐานะผู้แพ้สงครามให้กับประเทศสัมพันธมิตร ภายหลังจากการได้รับเอกราชแล้ว กลุ่มประเทศที่มีทรัพยากรน้ำมันในทวีปเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ได้รวมตัวก่อตั้งองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปก (Organization of Petroleum Exporting Countries–OPEC) ใน ค.ศ. 1960 และองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอาหรับหรือโอเอเปก (Organization of Arab Petroleum Exporting Countries–OAPEC) ใน ค.ศ. 1968 โดยใช้น้ำมันเป็นเครื่องต่อรองผลประโยชน์ในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ
ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ มีผู้คนหลายเชื้อชาติและศาสนาทำให้เกิดความขัดแย้งในภูมิภาคขึ้น โดยเฉพาะความขัดแย้งเรื่องการยึดครองดินแดนระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์กลายเป็นปัญหาเรื้อรังมาจนถึงทุกวันนี้
4. เอเชียกลาง
4.1 ที่ตั้งและสภาพทางภูมิศาสตร์
เอเชียกลาง ทิศเหนือติดต่อกับประเทศรัสเซีย ทิศตะวันออกติดต่อกับประเทศจีน ทิศใต้ติดต่อกับประเทศอัฟกานิสถาน อิหร่าน และตุรกี ทิศตะวันตกจดทะเลดำ ประเทศในเอเชียกลาง ได้แก่ คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน อาเซอร์ไบจาน จอร์เจีย และอาร์เมเนีย
บริเวณพื้นที่เอเชียกลางมีพื้นที่ล้อมรอบทะเลแคสเปียน จึงแบ่งประชากรได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่อยู่ทางตะวันตกของทะเลแคสเปียน และกลุ่มที่อยู่ทางตะวันออกของทะเลแคสเปียน
4.2 พัฒนาการของเอเชียกลาง
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6 จักรวรรดิอาหรับเข้ามาปกครอง
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11 ราชวงศ์เซลจูกของชาวเติร์ก ได้ขยายอาณาเขตกลายเป็นจักรวรรดิ
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 มองโกลเข้ามายึดดินแดนเอเชียกลางภายใต้การนำของเจงกิสข่าน
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 กษัตริย์ผู้หนึ่งอ้างว่าสืบเชื้อสายมาจากเจงกิส ข่าน นามว่า ติมูร์ ได้ขยายอาณาเขตออกไปในทวีปต่าง ๆ อย่างกว้างขวางเลียนแบบเจงกิส ข่าน
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 จักรวรรดิเปอร์เซียและจักรวรรดิออตโตเข้ามาปกครองบริเวณเอเชียกลางทางตะวันตกของทะเลแคสเปียน และเอเชียกลางได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18
สหภาพโซเวียตล่มสลาย ดินแดนแถบนี้จึงได้แยกเป็นประเทศอิสระ
ด้านเศรษฐกิจ เมื่อแยกตัวเป็นอิสระ จึงเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเป็นแบบเสรีนิยม แต่ยังขาดแคลนเงินทุนและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ประกอบกับเป็นภูมิภาคที่ห่างไกลจากศูนย์กลางเศรษฐกิจ จึงทำให้ไม่เจริญเท่าที่ควร
คำสำคัญ
นครรัฐ
สาธารณรัฐ
สังคมนิยม
คอมมิวนิสต์
ฮารัปปา
โมเฮนโจดาโร
ดราวิเดียน
อารยัน
วรรณะ
สุเมเรียน
ครูเสด
แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th