บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง บุคคลสำคัญสมัยอยุธยาและธนบุรี
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 27.9K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

บุคคลสำคัญสมัยอยุธยาและธนบุรี

  

1. บุคคลสำคัญสมัยอยุธยา

1.1 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถครองราชย์ระหว่าง พ.. 1991–2031 พระราชกรณียกิจที่สำคัญ ได้แก่

1. การปฏิรูปการปกครอง แบ่งการบริหารราชการแผ่นดินเป็น 2 ฝ่าย คือ สมุหพระกลาโหม ดูแลฝ่ายข้าราชการทหาร และสมุหนายก ดูแลข้าราชการฝ่ายพลเรือนและจตุสดมภ์

2. การประกาศใช้กฎหมายหลายลักษณะ เช่น กฎหมายศักดินา

3. การประทับที่เมืองพิษณุโลก เพื่อรับศึกจากล้านนาที่พยายามยึดหัวเมืองทางเหนือ

4. ด้านวรรณกรรม คือ มหาชาติคำหลวง แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนา

นอกจากนี้ วรรณกรรมที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ ลิลิตยวนพ่าย แต่งขึ้นเพื่อยอพระเกียรติ และแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถในทุก ๆ ด้าน

 

 พระอุโบสถวัดจุฬามณี จังหวัดพิษณุโลก

  

1.2 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ครองราชย์ระหว่าง พ.. 2034–2072 เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระกรณียกิจที่สำคัญ ได้แก่

1. การริเริ่มทำสารบัญชี จัดตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า กรมพระสุรัสวดี เป็นการเกณฑ์คนรับราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน

2. การจัดทำตำราพิชัยสงครามเป็นครั้งแรก

3. ทรงมีสัมพันธไมตรีกับชาติตะวันตก คือ โปรตุเกสที่เป็นชาติแรกส่งทูตเข้ามายังอยุธยา

1.3 สมเด็จพระสุริโยทัย

สมเด็จพระสุริโยทัยเป็นพระมเหสีของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ สมเด็จพระสุริโยทัยเกรงพระสวามีจะได้รับอันตราย จึงขับช้างทรงเข้าขวางข้าศึกจนถูกพระแสงของ้าวฟันขาดสะพายแล่งสิ้นพระชนม์บนคอช้าง ยอมสละพระชนม์ชีพของพระองค์ ทำให้กรุงศรีอยุธยารอดพ้นจากวิกฤต

 

 สมเด็จพระสุริโยทัยทรงขับช้างเข้าขวางพระเจ้าแปร

  

1.4 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชครองราชย์ระหว่าง พ.. 2133–2148 พระราชกรณียกิจที่สำคัญ ได้แก่

1. ประกาศอิสรภาพและทรงทำสงครามกับพม่าตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์

2. ทรงปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมืองใหม่ พระนเรศวรเกรงว่าอาจจะมีการซ่องสุมกำลัง กำหนดให้ราชธานีมีอำนาจในการแต่งตั้งเจ้าเมืองโดยตรง และยกเลิกส่งราชวงศ์ชั้นสูงไปปกครอง

3. ทรงขยายการค้าระหว่างกรุงศรีอยุธยากับสเปน สเปนเป็นชาติที่ 2 ที่ส่งทูตเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา ต่อจากโปรตุเกส

 

 พระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง

  

1.5 สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงครองราชย์ระหว่าง พ.. 2199–2231 พระราชกรณียกิจที่สำคัญ ได้แก่

1. ความโดดเด่นเรื่องการต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง ส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับฮอลันดา นำโดยพระวิสุทธสุนทร (โกษาปาน) ซึ่งทำงานได้ผลดีและนำชื่อเสียงมาสู่กรุงศรีอยุธยา

2. ยุคทองของวรรณกรรมในสมัยอยุธยา เช่น จินดามณี สมุทรโฆษคำฉันท์ พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐฯ

กวีที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น คือ ศรีปราชญ์ เป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่เพราะมีเรื่องชู้สาวกับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช จึงถูกเจ้าเมืองประหารชีวิต

 

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

 

2. บุคคลสำคัญสมัยธนบุรี

2.1 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 พระยาตากรวบรวมกำลังพลตีฝ่าวงล้อมพม่าออกไปทางชายทะเลตะวันออก และตั้งมั่นอยู่ที่เมืองจันทบุรี หลังจากนั้น 7 เดือน พระเจ้าตากก็สามารถกู้เอกราชคืนจากพม่า

พระเจ้าตากได้ย้ายราชธานีมาที่เมืองธนบุรี ด้วยเหตุที่ว่า เมืองธนบุรีเป็นเมืองขนาดเล็ก ดูแลป้องกันได้ง่าย มีเส้นทางคมนาคมสะดวกแก่การค้าขาย ทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญ ดังนี้

1. ทรงทำศึกสงครามตลอดรัชสมัย แบ่งเป็น 3 กลุ่มได้ดังนี้

1) การปราบชุมนุมต่าง ๆ ของคนไทย

2) การเผชิญหน้ากับพม่า ซึ่งได้รับชัยชนะมาโดยตลอด

3) การตีหัวเมืองประเทศราช

2. ทรงฟื้นฟูขวัญและกำลังใจของราษฎรหลังเกิดเหตุการณ์การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2

1) ทรงแก้ปัญหาความอดอยาก

2) ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาและศิลปกรรม

พระเจ้าตากสินมหาราชครองราชย์เพียง 15 ปีก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.. 2325 แม้เป็นช่วงเวลาไม่นานแต่ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของบ้านเมืองนำมาสู่ความเจริญรุ่งเรืองในยุครัตนโกสินทร์

 

 พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

  

2.2 สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)

มีพระนามเดิมว่า ทองด้วง ต่อมาเสวยราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อกรุงธนบุรีเกิดความวุ่นวายขึ้น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขณะนั้นปราบจลาจลที่เขมร ยกทัพกลับมาระงับเหตุ และปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ..2325 และด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์จะเห็นได้จากความเจริญรุ่งเรืองของกรุงรัตนโกสินทร์ในเวลาต่อมา

 

 สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก

  

2.3 เจ้าพระยาสุรสีห์ (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท)

เป็นทหารของพระเจ้าตาก และได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมหามนตรี เป็นแม่ทัพปราบชุมนุมเจ้าเมืองพิมายร่วมกับสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอนุชิตราชา “พระยาเสือ” เป็นสมญานามของเจ้าพระยาสุรสีห์ ซึ่งแสดงถึงความกล้าหาญ ความเข้มแข็งเด็ดขาด และเป็นนักรบคู่พระทัยของกษัตริย์ทั้งสองรัชกาล

 

คำสำคัญ

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

จตุสดมภ์

ตำราพิชัยสงคราม

สมเด็จพระสุริโยทัย

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

พระวิสุทธสุนทร

ศรีปราชญ์

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th