บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา เรื่อง ภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมไทยสมัยอยุธยาและธนบุรี
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 256.8K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

 ภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมไทยสมัยอยุธยาและธนบุรี

 

1. ภูมิปัญญาสมัยอยุธยาและธนบุรี

1. การควบคุมกำลังคน คือ “ระบบไพร่” จะต้องขึ้นสังกัดมูลนาย นอกจากนี้ยังอาศัยความเชื่อเรื่องกษัตริย์เป็นสมมติเทพมาสร้างบารมีให้ผู้ปกครองอีกด้วย

2. อาหารการกิน อยุธยาและธนบุรีอยู่ในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกข้าว คนในสมัยอยุธยานำปลามาทำปลาร้า ปลาเค็ม เป็นภูมิปัญญาคนไทยที่รับประทานมาจนถึงทุกวันนี้

ท้าวทองกีบม้า นำขนมโปรตุเกสดัดแปลงเป็นขนมไทย ที่รู้จักกันดี เช่น ฝอยทอง ทองหยิบ ถือเป็นภูมิปัญญาที่นำ 2 วัฒนธรรมมาผสมผสานกลายเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

3. บ้านเรือน ผู้คนสร้างบ้านเรือนไม่ซับซ้อน โดยใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่าย

4. การแพทย์ การรักษาโรคภัยไข้เจ็บจะใช้สมุนไพรพื้นบ้าน ตำราโอสถพระนารายณ์

5. เงินตรา ใช้เงินพดด้วง ซึ่งมีตราประจำแผ่นดินและตราประจำรัชกาล

2. ศิลปวัฒนธรรมไทยสมัยอยุธยาและธนบุรี

โดยแบ่งออกเป็น 4 แขนงใหญ่ ดังนี้

2.1 ศิลปกรรม

1. สถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยา แบ่งได้ 4 ยุค คือ

ยุคที่ ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) จนสิ้นสมัยพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ไทยได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมร

 

ปรางค์ประธานวัดพุทไธศวรรย์ ปรางค์ประธานวัดพระราม 

  

ยุคที่ ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจนสิ้นสมัยพระอาทิตยวงศ์ นิยมสร้างเจดีย์ลังกาแบบสุโขทัย ดัดแปลงให้ชะลูดกว่า เช่น พระเจดีย์ใหญ่ 3 องค์วัดพระศรีสรรเพชญ์

 

 พระเจดีย์ทรงลังกาวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล

  

ยุคที่ ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองจนสิ้นสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 (พระเจ้าท้ายสระ) รับเอาวัฒนธรรมเขมรเข้ามาใหม่

 

 ปรางค์ประธานวัดไชยวัฒนาราม

  

ยุคที่ ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจนสิ้นสมัยอยุธยา เน้นบูรณะวัดเก่าเป็นหลัก

 

 เจดีย์วัดภูเขาทอง จ.พระนครศรีอยุธยา

  

นอกจากนี้สมัยอยุธยามีการสร้างสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก เช่น พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ สร้างเป็นตึกสองชั้นแบบตะวันตก

2. ประติมากรรมอยุธยาได้รับอิทธิพลศิลปะแบบทวารวดี เป็นศิลปะแบบมอญและลพบุรีผสมผสานกัน เรียกว่า ศิลปะแบบอู่ทอง พระพุทธรูปแบบอู่ทองจะมีพระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยม

 

 พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะอู่ทอง พระเศียรพระพุทธรูปสมัยอยุธยา ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมร

  

ในช่วงอยุธยาตอนปลายนิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องมี 2 แบบ คือ แบบทรงเครื่องใหญ่ ทรงมงกุฎยอดแหลม และทรงเครื่องน้อย

3. จิตรกรรมเป็นศิลปะที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เช่น ภาพพุทธประวัติ โดยรับอิทธิพลจากศิลปะแบบลพบุรี สุโขทัย และลังกาผสมกัน

 

 จิตรกรรมในกรุปรางค์วัดราชบูรณะ ภาพจากสมุดภาพไตรภูมิบุราณ ฉบับกรุงธนบุรี

  

4. ประณีตศิลป์งานที่สำคัญคือ เครื่องไม้จำหลัก ลายรดน้ำ เครื่องมุก เครื่องถม และเครื่องทองประดับ

 

 ลายรดน้ำบนตู้พระธรรมวัดเชิงหวาย ตู้หนังสือประดับมุก ศิลปะตอนปลาย วัดบรมพุทธาราม

  

2.2 ดนตรีและนาฏศิลป์

1. ดนตรี

วงดนตรีที่เกิดขึ้นใหม่ในสมัยอยุธยา ได้แก่

1) วงมโหรี ประกอบด้วยเครื่องดนตรี 4 ชิ้น ได้แก่ กระจับปี่ ซอสามสาย โทน และกรับพวง และได้เพิ่มรำมะนา ขลุ่ย และฉิ่งในภายหลัง ผู้เล่นเป็นผู้หญิงทั้งหมด

2) วงเครื่องสาย ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ได้แก่ ซอ ขลุ่ย จะเข้ และเครื่องดนตรีที่ให้จังหวะ คือ โทน ฉิ่ง

2. นาฏศิลป์ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 นาฏศิลป์ที่แสดง เช่น หนังใหญ่ ระบำ ซึ่งมีมาตั้งแต่สุโขทัย และยังมีการแสดงอีก 2 ชนิดที่ปรากฏในงานพิธีและยังเป็นต้นกำเนิดท่ารำของไทย ได้แก่ โมงครุ่ม กุลาตีไม้ “โขน” และ “ละคร” ปรากฏอย่างเป็นทางการในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ละคร มีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่

1) ละครชาตรี มีผู้แสดง 3 คน คือ ตัวพระ ตัวนาง ตัวตลก เป็นละครที่เก่าแก่ที่สุดของไทย

2) ละครนอก ดัดแปลงมาจากละครชาตรี และเพิ่มตัวละคร

3) ละครใน ผู้แสดงเป็นนางในหรือนางรำในราชสำนัก มุ่งเน้นความถูกต้องสวยงาม

2.3 วรรณกรรม

หลังจากเสียกรุงครั้งที่ 2 วรรณกรรมสมัยอยุธยาถูกทำลายไปมาก เหลือเพียง 40–50 เรื่อง เรื่องที่สำคัญมีดังนี้ ลิลิตโองการแช่งน้ำ มหาชาติคำหลวง ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตพระลอ จินดามณี พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐฯ สมุทรโฆษคำฉันท์ กาพย์เห่เรือ

พระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ รวม 4 ตอน และสนับสนุนให้กวีสร้างวรรณกรรม เช่น หลวงสรวิชิต (หน) แต่งลิลิตเพชรมงกุฎ โดยนำเค้าเรื่องส่วนหนึ่งมาจากเวตาลปัญจวิงศติ

2.4 ประเพณี

1. ประเพณีในราชสำนักได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์–ฮินดู

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา

2. ประเพณีพระราชพิธีสิบสองเดือนได้แก่

เดือนอ้ายพระราชพิธีไล่เรือ

เดือน 5 พระราชพิธีสงกรานต์

เดือน 6 พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

เดือน 8 พระราชพิธีถวายเทียนพรรษา

เดือน 9 พระราชพิธีพิรุณศาสตร์ (ขอฝน)

เดือน 10 พระราชพิธีสารท

เดือน 11 พระราชพิธีแข่งเรือ

เดือน 12 พระราชพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม

3. ประเพณีทางศาสนาเป็นประเพณีที่ปฏิบัติในวันสำคัญทางศาสนา เช่น บวช ทอดกฐิน

นอกจากนี้ยังเกิดการผสมผสานระหว่างพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์–ฮินดู กลายเป็นประเพณี เช่น การโกนจุก พิธีแต่งงาน ทำขวัญเดือน

 

คำสำคัญ

ท้าวทองกีบม้า

วัดพระศรีสรรเพชญ์

ทรงเครื่องทองใหญ่

ทรงเครื่องน้อย

วงมโหรี

วงเครื่องสาย

โมงครุ่ม

กุลาตีไม้

ละครชาตรี

ละครนอก

ละครใน

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา

พระราชพิธีพิรุณศาสตร์

พระราชพิธีจองเปรียง

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th