ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
1. การกู้เอกราชและการสถาปนาอาณาจักรธนบุรี
1.1 การกู้เอกราช
ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 พระยาตาก (สิน) นำทหาร 1,000 คน ตีฝ่าวงล้อมพม่าออกไปไปยังบริเวณหัวเมืองชายทะเลตะวันออก เมื่อพระเจ้าตากเดินทางถึงเมืองจันทบุรี แต่ได้รับการต่อต้าน จึงให้ทหารทุบหม้อข้าวหม้อแกงเข้าตีเพื่อจะกินอาหารมื้อต่อไปที่จันทบุรี เมื่อตีได้สำเร็จแล้ว จึงใช้เป็นฐานที่มั่น
การเลือกเดินทางสู่เมืองชายทะเลดังกล่าวเป็นผลดีต่อการกู้เอกราชหลายประการ เช่น
1. เส้นทางดังกล่าวปลอดภัยจากกองทัพพม่า
2. เมืองในเส้นทางที่ผ่านเป็นแหล่งกำลังผู้คนและเสบียงอาหาร
3. หัวเมืองชายทะเลมีการค้าสำเภาซึ่งเป็นแหล่งอาวุธยุทธปัจจัย
4. จันทบุรีเป็นเมืองท่าและมีไม้ดี ๆ เหมาะสำหรับต่อเรือ
5. ได้กำลังรี้พลที่ชำนาญการเดินเรือ
1.2 การสถาปนาอาณาจักรธนบุรี
เหตุผลที่กรุงศรีอยุธยาไม่เหมาะที่จะใช้เป็นราชธานีต่อไป คือ
1. กรุงศรีอยุธยาถูกทำลายยากแก่การบูรณะให้ดีดังเดิม
2. กรุงศรีอยุธยามีบริเวณกว้างขวางเกินกว่ากองทัพที่พระองค์มีอยู่
3. พม่ารู้ภูมิประเทศและจุดอ่อนของกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างดี
4. กรุงศรีอยุธยาอยู่ไกลจากทะเล ไม่สะดวกแก่การติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ
เหตุผลที่เมืองธนบุรีเหมาะที่จะใช้เป็นราชธานีแห่งใหม่มีดังนี้
1. เมืองธนบุรีมีขนาดเล็ก กำลังคนของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสามารถป้องกันได้
2. หากไม่สามารถรักษาราชธานีไว้ได้ ก็สามารถย้ายไปตั้งมั่นที่จันทบุรีโดยทางเรือได้
3. เมืองธนบุรีมีป้อมปราการที่สร้างไว้ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ใช้ป้องกันได้
4. เมืองธนบุรีมีภูมิประเทศเป็นที่ลุ่ม มีบึงใหญ่น้อยอยู่ทั่วไป เป็นเครื่องกีดขวางข้าศึก
5. เมืองธนบุรีอยู่ใกล้ปากน้ำ สะดวกแก่การค้าขาย
6. เมืองธนบุรีเป็นเมืองเก่า มีวัดเป็นจำนวนมาก สามารถบูรณปฏิสังขรณ์ได้
7. เมืองธนบุรีไม่ห่างจากกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสามารถป้องกันกรุงศรีอยุธยาจากชุมนุมอื่น ๆ และกองทัพพม่าได้ง่าย
2. การปราบชุมนุมต่าง ๆ
1. การปราบชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพไปตีเมืองพิษณุโลก แต่ไม่สำเร็จถูกกระสุนปืนข้าศึก เจ้าพระยาพิษณุโลกถึงแก่กรรม พระอินทรอากรผู้เป็นน้องชายขึ้นเป็นหัวหน้าแทน แต่ก็ถูกเจ้าพระฝางยกทัพมาตีจนผนวกเข้ากับชุมนุมของตน
2. การปราบชุมนุมเจ้าพิมาย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีบัญชาให้พระราชวรินทร์และมหามนตรียกทัพไปปราบชุมนุมเจ้าพิมาย ทำให้ได้ดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างไว้ในอำนาจ
3. การปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกกองทัพเรือเข้าตีเมืองนครศรีธรรมราช เจ้านครศรีธรรมราช (หนู) หนีไปปัตตานี สุลต่านจับเจ้านครศรีธรรมราชมอบให้ เพราะเกรงความผิด ต่อมาภายหลังสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้มีพระบรมราโชบายให้นครศรีธรรมราชทำหน้าที่ควบคุมหัวเมืองภาคใต้และมลายู จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านครศรีธรรมราช (หนู) กลับไปปกครองนครศรีธรรมราชอีก
4. การปราบชุมนุมพระเจ้าฝาง ในพ.ศ. 2313 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพใหญ่ทั้งทัพบกและทัพเรือไปปราบชุมนุมพระเจ้าฝางและได้หัวเมืองทางเหนือไว้ในอำนาจ
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชใช้เวลา 3 ปีในการรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นและมีความมั่นคง
3. การเมืองการปกครองสมัยธนบุรี
3.1 ลักษณะการปกครอง
ลักษณะการปกครองยึดตามแบบแผนสมัยอยุธยาตอนปลาย ดังนี้
1. การปกครองส่วนกลาง มีอัครมหาเสนาบดี 2 ตำแหน่ง คือ สมุหนายก กับสมุหพระกลาโหม
1) นครบาล รักษาความเรียบร้อยในราชธานี
2) กรมวัง ราชการในราชสำนัก และพิจารณาคดีความ
3) กรมพระคลัง ดูแลพระราชทรัพย์รายได้แผ่นดิน การค้าขาย และปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ และหัวเมืองชายทะเลตะวันออก
4) เกษตราธิการ มีหน้าที่ดูแลนาหลวง เก็บภาษีการทำนา
2. การปกครองหัวเมือง แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1) เมืองชั้นใน เป็นเมืองชั้นจัตวา มีผู้ปกครองเรียกว่าผู้รั้ง
2) เมืองชั้นนอกหรือเมืองพระยามหานคร แบ่งเป็น ชั้นเอก โท ตรี
3) ประเทศราช ต้องส่งเครื่องบรรณาการมาถวาย
3.2 การสิ้นสุดสมัยธนบุรี
เกิดกบฏขึ้นที่กรุงเก่า (กรุงศรีอยุธยา) สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทราบเรื่องจึงส่งพระยาสรรค์ไปสอบสวน แต่พระยาสรรค์กลับเข้าพวกกบฏและยกพวกมายึดพระราชวังให้พระเจ้าตากสินมหาราชออกผนวช และยึดอำนาจได้สำเร็จ
พระยาสุริยอภัย (ทองอินทร์) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชรู้ข่าวจึงยกกำลังเข้ามาควบคุม ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ทราบข่าวการจลาจล จึงยกทัพกลับมา ที่ประชุมขุนนางลงความเห็นให้สำเร็จโทษพระเจ้าตากสินมหาราช วันรุ่งขึ้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ถูกสำเร็จโทษ เป็นอันสิ้นสุดสมัยธนบุรี
4. สังคมและเศรษฐกิจสมัยธนบุรี
4.1 สังคมสมัยธนบุรี
สังคมสมัยธนบุรีบ้านเมืองอยู่ในภาวะสงคราม เพราะพม่ารุกรานตลอดเวลา จึงต้องมีการสักเลก เพื่อความสะดวกในการเกณฑ์ไปรบ สักเลกเฉพาะไพร่หลวงเท่านั้น
4.2 เศรษฐกิจสมัยธนบุรี
ประสบปัญหาข้าวยากหมากแพง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงแก้ไขวิกฤตการณ์ทั้งระยะสั้นและระยะยาวดังนี้
1. การแจกข้าวสารและเครื่องอุปโภคบริโภค
2. การส่งเสริมการทำนา
3. การลงโทษผู้กระทำผิดทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
4. การเปิดประมูลค่าภาคหลวงขุดทรัพย์ ที่พม่าฝังไว้ ทำให้มีรายได้เข้าท้องพระคลัง
5. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมัยธนบุรี
5.1 ความสัมพันธ์ระหว่างธนบุรีกับรัฐเพื่อนบ้าน
1. ความสัมพันธ์กับพม่ามีการรบกันอีกหลายครั้ง
1) การรบกับพม่าบางกุ้ง สมุทรสงคราม
2) พม่าตีเมืองพิชัย ครั้งที่ 1
3) พม่าตีเมืองพิชัย ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2316พระยาสุรสีห์และพระยาพิชัยนำทัพสู้รบกับพม่าอย่างกล้าหาญ โดยพระยาพิชัยสู้รบกับข้าศึกจนดาบหักไปเล่มหนึ่ง ได้รับสมญานามว่า พระยาพิชัยดาบหัก
4) การรบกับพม่าที่บางแก้ว ราชบุรี พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินยกทัพล้อมค่ายพม่า และจับเชลยพม่าได้จำนวนมาก
5) พม่าตีหัวเมืองเหนือ พ.ศ. 2318 อะแซหวุ่นกี้ ตีเมืองพิษณุโลกได้ แต่ได้เพียงแค่เมืองเปล่า เพราะฝ่ายไทยสละเมืองออกไปแล้ว จึงยกทัพกลับไป ถือว่าเป็นสงครามครั้งสำคัญที่สุดในสมัยธนบุรี
2. ความสัมพันธ์กับเขมรพ.ศ. 2314 พระยาจักรี (ทองด้วง) ยกทัพไปตีจนสำเร็จ และสถาปนาพระรามราชาขึ้นครองนคร ส่วนพระนารายณ์ราชาหนีไปพึ่งเวียดนาม ต่อมากลับมาสวามิภักดิ์กับไทยในภายหลัง พระองค์จึงโปรดเกล้าฯให้เป็นพระมหาอุปโยราช เหตุการณ์ในเขมรจึงสงบลง
พ.ศ. 2324 กลุ่มกบฏในเขมรปลงพระชนม์พระรามราชา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ยกกองทัพไปปราบ แต่ธนบุรีเกิดเหตุการณ์จลาจลกบฏพระยาสรรค์ จึงต้องถอยทัพกลับ
3. ความสัมพันธ์กับล้านช้างการขยายอำนาจไปยังล้านช้าง มี 2 ครั้ง คือ
1) การตีจำปาศักดิ์ ใน พ.ศ. 2319 พระยานางรองคิดกบฏ และไปขอขึ้นกับเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ พระยาจักรี (ทองด้วง) ไปปราบ ได้รับพระราชทานยศเป็นสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก
2) การตีเมืองเวียงจันทน์ พ.ศ. 2321 สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางจากเวียงจันทน์มายังกรุงธนบุรี
4. ความสัมพันธ์กับล้านนา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ไปตีเมืองเชียงใหม่ กองทัพล้านนาจึงขอสวามิภักดิ์ สมเด็จพระเจ้าตากสินเห็นว่าเมืองเชียงใหม่อยู่ห่างจากกรุงธนบุรีมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้อพยพผู้คนออกจากเมือง ปล่อยให้เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองร้าง
5.2 ความสัมพันธ์ระหว่างธนบุรีกับจีน
เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ได้สืบเชื้อสายจากพระมหากษัตริย์องค์ก่อน จีนจึงไม่ยอมรับรองว่าเป็นพระมหากษัตริย์ของไทย แต่พ่อค้าไทยและพ่อค้าจีนสามารถติดต่อค้าขายกันได้ตลอด เมื่อผ่านไป 10 ปี จีนจึงยอมรับรอง
5.3 ความสัมพันธ์ระหว่างธนบุรีและชาติตะวันตก
1. ฮอลันดา ใน พ.ศ. 2312 ชาวฮอลันดาจากเมืองปัตตาเวีย (จาการ์ตา) ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเพื่อถวายปืนคาบศิลาจำนวน 2,200 กระบอก และถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทอง
2. อังกฤษ ใน พ.ศ. 2319 กัปตันฟรานซิส ไลท์ สร้างสัมพันธ์ด้วยการถวายปืนนกสับจำนวน 1,400 กระบอก และสิ่งของอื่น ๆ
3. โปรตุเกส ใน พ.ศ. 2322 เมืองสุรัต ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกสนำสินค้าเข้ามาค้าขายในกรุงธนบุรี และไทยได้ส่งสำเภาหลวงออกไปค้าขายด้วย
คำสำคัญ
บูรณปฏิสังขรณ์
พระบรมราโชบาย
ผู้รั้ง
สำเร็จโทษ
สักเลก
ปืนคาบศิลา
แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th