บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง ประวัติศาสตร์ไทยสุโขทัย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 164.1K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้


 ประวัติศาสตร์ไทยสมัยสุโขทัย

 

1. การสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย
     1.1 การขับไล่เขมรและการตั้งราชวงศ์พระร่วง
เมื่อพ่อขุนศรีนาวนำถุมสิ้นพระชนม์ ขอมสบาดโขลญลำพงขุนนางเขมร ได้เข้ายึดครองสุโขทัยไว้ พ่อขุนผาเมืองร่วมมือกับพ่อขุนบางกลางหาวพระสหายขับไล่พวกขอมสบาดโขลญลำพงออกไปได้ พ่อขุนผาเมืองได้อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวเป็นกษัตริย์สุโขทัย
พ่อขุนบางกลางหาวขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 1792 และทรงมีพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ทรงเป็นต้นราชวงศ์พระร่วง
     1.2 ปัจจัยที่เอื้อต่อการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย
          1. ปัจจัยภายใน
               1) มีผู้นำที่เข้มแข็ง
               2) รักความเป็นอิสระ
               3) สุโขทัยอยู่ในทำเลที่เหมาะสม คือ ตั้งอยู่บนที่ราบเชิงไม่ไกลจากแม่น้ำยม อีกทั้งยังอยู่ห่างไกลจากเขมร
          2. ปัจจัยภายนอก การเสื่อมอำนาจของขอมจากการทำสงครามยืดเยื้อ และความสิ้นเปลืองจากการทุ่มเทสร้างเทวสถาน
     1.3 พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัย เป็นราชวงศ์พระร่วง มี 9 พระองค์
          1. พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ มีพระนามเดิมว่า พ่อขุนบางกลางหาว ได้ร่วมมือกับ พ่อขุนผาเมือง ขับไล่เขมร และได้ขึ้นเสวยราชย์เป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พ่อขุนศรีอิทราทิตย์ สมัยนี้สุโขทัยไม่กว้างขวางมากนัก และยังถูกโจมตีจากเมืองอื่น เช่น ขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด
          2. พ่อขุนบานเมือง เป็นกำลังสำคัญในการปกป้องและขยายอำนาจของอาณาจักร
          3. พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระราชกรณียกิจที่สำคัญ ได้แก่

 

พระรามกระทำยุทธหัตถีกับขุนสามชน

 

          1) ทรงขยายอาณาเขตได้กว้างขวางที่สุดในสมัยสุโขทัย
          2) ทรงประดิษฐ์ลายสือไทยขึ้นใช้
          3) ทรงยกเว้นการเก็บภาษีผ่านด่าน และทรงส่งเสริมการค้ากับดินแดนใกล้เคียง
          4) อัญเชิญพุทธนิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์ขึ้นมาประดิษฐานที่สุโขทัยแล้ว
          5) ทรงปกครองแบบพ่อปกครองลูก แขวนกระดิ่งไว้ให้ประชาชนที่เดือดร้อนมาสั่นกระดิ่งร้องทุกข์
          6) ทรงรักษาความสัมพันธ์กับอาณาจักรล้านนาและแคว้นพะเยามาตลอด ทรงผูกมิตรกับจีนซึ่งเป็นมหาอำนาจ ทรงอุปถัมภ์ผู้ที่เข้ามาสวามิภักดิ์ เช่น มะกะโท ซึ่งภายหลังได้เป็นกษัตริย์มอญ หลังจากพ่อขุนรามคำแหงมหาราชสวรรคตใน พ.ศ. 1841 อาณาจักรสุโขทัยก็แตกเป็นเสี่ยง ๆ เพราะบ้านเมืองที่เคยอยู่ใต้อำนาจต่างตั้งตนเป็นอิสระ
          4. พระยาเลอไทย เป็นพระโอรสของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เสวยราชย์ต่อจากพระบิดา
          5. พระยางั่วนำถุม หลังจากพระยางั่วนำถุมสวรรคต เกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นในกรุงสุโขทัย มีผู้ไม่เหมาะสมตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์ พระยาลิไทยจึงยกทัพจากศรีสัชนาลัยมาปราบปราม
          6. พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) เป็นโอรสของพระยาเลอไทย ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงเป็นนักปราชญ์ทั้งทางด้านการปกครอง ศาสนา อักษรศาสตร์ และด้านอื่น ๆ อีกทั้งทรงรวบรวมอาณาจักรสุโขทัยกลับมาเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง แม้ว่าอาณาเขตจะไม่กว้างขวางเท่าสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
          7. พระมหาธรรมราชาที่ 2 ตกเป็นเมืองประเทศราชของอยุธยา ต่อมาพ.ศ. 1931 ได้รับเอกราชกลับมา
          8. พระมหาธรรมราชาที่ 3 (ไสลือไทย) สุโขทัยตกเป็นประเทศราชของอยุธยาอีกครั้ง และได้มีการสร้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติ โดยสมเด็จพระอินทราชาแห่งอยุธยาทรงสู่ขอพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 2 ให้แก่เจ้าสามพระยา ซึ่งภายหลังขึ้นครองราชย์กรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 และมีพระโอรส คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
          9. พระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) สมเด็จพระอินทราชาแห่งอยุธยาอภิเษกให้เป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าสุริยวงศ์บรมปาลมหาธรรมราชาธิราช เรียกกันทั่วไปว่า พระมหาธรรมราชาที่ 4 ปกครองสุโขทัยในฐานะประเทศราชของอยุธยา พระมหาธรรมราชาที่ 4 สวรรคตใน พ.ศ. 1981 ไม่ได้ตั้งผู้ใดเป็นมหาธรรมราชาของอาณาจักรสุโขทัยอีกแต่ให้ผู้มีเชื้อสายราชวงศ์พระร่วงเป็นเจ้าเมืองพิษณุโลกต่อมา จนถึง พ.ศ. 2006 เป็นสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งอยุธยา ได้ไปประทับที่เมืองพิษณุโลกตลอดมาจนสิ้นพระชนม์ อาณาจักรสุโขทัยก็ถูกผนวกเข้ากับอาณาจักรอยุธยาโดยสมบูรณ์

 

2. การเมืองการปกครองสมัยสุโขทัย
     2.1 ลักษณะการปกครอง
          1. การปกครองสมัยสุโขทัยตอนต้น พ.ศ. 1792–1841 พระมหากษัตริย์ทรงปกครองประชาชนอย่างใกล้ชิด เรียกว่า การปกครองแบบพ่อปกครองลูก
          2. การปกครองสมัยสุโขทัยตอนปลาย พ.ศ. 1841–2006 มีการปกครองที่ยึดหลักพระพุทธศาสนา เรียกว่า การปกครองแบบธรรมราชา ซึ่งกษัตริย์ต้องทรงอยู่ในทศพิธราชธรรม ซึ่งที่จริงแล้วแนวคิดแบบธรรมราชาแทรกอยู่ทั่วไปในนโยบายการปกครองอาณาจักรที่นับถือพระพุทธศาสนา
     2.2 การปกครองราชธานีและเมืองลูกหลวง
          1. ราชธานีหรือเมืองหลวง เป็นศูนย์กลางทางการปกครอง เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์
          2. เมืองลูกหลวงและเมืองหน้าด่าน ตั้งอยู่ใกล้ราชธานี เมืองลูกหลวงพระมหากษัตริย์ส่งเจ้านายไปปกครอง ได้แก่ เมืองศรีสัชนาลัย เมืองสระหลวงสองแคว (พิษณุโลก) เมืองหน้าด่านเป็นเมืองที่คอยปกป้องราชธานีจากข้าศึก และมีเจ้านายปกครองเช่นกัน ได้แก่ เมืองนครชุม (อยู่ในจังหวัดกำแพงเพชร)
     2.3 กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
          1. กฎหมาย
               1) กฎหมายว่าด้วยมรดก ระบุว่า เมื่อผู้ใดถึงแก่กรรม ทรัพย์สินย่อมตกแต่ลูกของผู้นั้น
               2) กฎหมายลักษณะโจร เป็นกฎหมายของอยุธยา ซึ่งบัญญัติเกี่ยวกับการลักพา การลักทรัพย์ โดยเนื้อหาบางส่วนกำหนดว่า ประชาชนต้องช่วยจับคนร้ายด้วย ถ้าจับได้ก็จะได้รางวัล แต่ผู้ใดวางเฉย หรือจับคนร้ายได้แล้วปล่อยไป หรือไม่ช่วยจับกุมให้ปรับไหมตามโทษ และของที่เสียหายเพราะคนร้ายชิงเท่าไหร่ ให้ผู้นั้นใช้ทั้งสิ้น
          2. กระบวนการพิจารณาคดี
               1) การพิจารณาคดีของตุลาการ ตุลาการสอบสวนให้ได้ความจริงแล้วตัดสินด้วยความเป็นธรรม
               2) การถวายฎีกา ผู้ใดต้องการถวายฎีกาไปสั่นกระดิ่งที่ประตูพระราชวัง พระมหากษัตริย์จะทรงรับเรื่องและตัดสินด้วยพระองค์เอง
     2.4 ความเสื่อมของอาณาจักรสุโขทัย
          1) การแตกแยกภายใน
          2) ความไม่เข้มแข็งของพระมหากษัตริย์
          3) การถูกตัดเส้นทางการค้ากับต่างประเทศ

 

3. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมัยสุโขทัย
     3.1 ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรสุโขทัยกับรัฐใกล้เคียง
          1. อาณาจักรล้านนา เมื่อพระยามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ก็ได้เชิญพระสหายทั้งสองไปร่วมปรึกษาหารือ ซึ่งเป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ต่อมาสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) พระเจ้ากือนาแห่งล้านนาได้ส่งทูตมาอาราธนาพระเถระของสุโขทัยไปสืบพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ที่ล้านนา จึงทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกัน
          2. แคว้นพะเยา เนื่องจากพระยางำเมืองเป็นพระสหายของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อาณาจักร สุโขทัยกับแคว้นพะเยาจึงมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
          3. เมืองน่าน เคยเป็นประเทศราชของสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช สุโขทัยและน่านได้ทำสัญญาที่จะช่วยเหลือกันไม่รุกรานต่อกัน สร้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ความสัมพันธ์สิ้นสุดลงเมื่อสุโขทัยถูกรวมกับอยุธยา และน่านไปรวมกับล้านนา
          4. เมืองนครศรีธรรมราช สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชสุโขทัยมีอำนาจทางการเมืองเหนือนครศรีธรรมราช มีความสัมพันธ์ทางด้านกิจการทางพุทธศาสนา ความสัมพันธ์สิ้นสุดลงเมื่อสิ้นสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
          5. อาณาจักรมอญ มีอาณาเขตติดต่อกับสุโขทัย มีความสัมพันธ์ทางการเมือง ทางการค้า ทางวัฒนธรรม และทางพระพุทธศาสนา มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติเกิดจากมะกะโท ราชบุตรเขยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้รับพระราชทานนามว่า เจ้าฟ้ารั่ว เป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรมอญ
          6. อาณาจักรอยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) สถาปนาอาณาจักรอยุธยาขึ้นใน พ.ศ.1893 ตรงกับสมัยของพระมหาธรรมราชที่ 1 (ลิไทย) แห่งสุโขทัย ต่อมาสุโขทัยถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยา

 

ความสัมพันธ์ทางเครือญาติครั้งแรกระหว่างสุโขทัยกับอยุธยา
ความสัมพันธ์ทางเครือญาติครั้งแรกระหว่างสุโขทัยกับอยุธยา

 

     3.2 ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรสุโขทัยกับรัฐที่ห่างไกลออกไป
          1. ลังกา มีพระสงฆ์สุโขทัยไปศึกษาพระไตรปิฎกที่ศรีลังกา จึงได้รับเอาความเชื่อทางศาสนาบางประการของศรีลังกาเข้ามา
          2. จีน ใน พ.ศ. 1835 พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรี สุโขทัยได้รับผลประโยชน์จากจีน เช่น ทำให้สินค้าจากสุโขทัยได้รับการยกเว้นภาษี และยังได้เรียนรู้วิธีการทำสังคโลกจากจีน จนสามารถนำมาผลิตเป็นสินค้าส่งออกได้


4. เศรษฐกิจสมัยสุโขทัย
     4.1 การเกษตร สุโขทัยมีการทำนา ทำไร่ ทำสวน บริเวณ แม่น้ำปิง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน สุโขทัยได้นำระบบชลประทานเข้ามาช่วยในการเกษตร นอกจากนี้ยังมอบกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับราษฎรทำการเกษตร
     4.2 การค้า
          1. การค้าภายในประเทศ ชุมชนในสุโขทัยตั้งอยู่ตามลำน้ำ มีการค้าขายโดยเส้นทางต่อไปนี้
               1) ทางบก มีทางเดินหรือถนนเชื่อมระหว่างเมือง
               2) ทางน้ำ มีแม่น้ำปิง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน
ส่วนมากจะนิยมทำการค้าทางบก เพราะมีความสะดวกกว่า ถนนพระร่วง มี 2 สาย คือ สายเหนือ จากสุโขทัยถึงศรีสัชนาลัย และสายใต้ จากกำแพงเพชรถึงสุโขทัย
          2. การค้ากับต่างประเทศ สมัยสุโขทัยมีการค้าขายกับ อินเดีย มลายู ญี่ปุ่น จีน ชวา ลังกา อิหร่าน อาณาจักรสุโขทัยเป็นตลาดกลางขนถ่ายสินค้า เช่น เครื่องสังคโลก ผลิตทางการเกษตร และของป่า
     4.3 การทำเครื่องสังคโลก การผลิตเครื่องสังคโลกในสุโขทัย มีการออกแบบลวดลายที่สวยงาม และพัฒนาจนเป็นผลผลิตที่ได้รับความนิยมมาก ส่งออกไปยัง ญี่ปุ่น ชวา มลายู ฯลฯ

 

5. สังคมสมัยสุโขทัย
สังคมสุโขทัยประกอบด้วยชนชั้นต่าง ๆ ดังนี้
     1. พระมหากษัตริย์
     2. เจ้านายและขุนนาง
     3. พระสงฆ์
พระมหากษัตริย์ เจ้านายและขุนนาง และพระสงฆ์ อยู่ในชนชั้นปกครอง
     4. ประชาชน
     5. ทาส

 

6. ศิลปวัฒนธรรมสมัยสุโขทัย
     6.1 ศาสนา
พระพุทธศาสนาในสุโขทัยรับมาจากที่อื่น แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
          1. สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงนิมนต์พระเถระจากนครศรีธรรมราชมาเผยแผ่พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท
          2. สมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) มีพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์เก่าหรือรามัญวงศ์ จากมอญ
          3. สมัยพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) นำคัมภีร์พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ใหม่จากลังกาเข้ามาเผยแผ่

 

วัดมหาธาตุ

 

     6.2 ศิลปกรรม
          1) สถาปัตยกรรม มีความงดงามตามแบบอย่างของสุโขทัย ซึ่งมีลักษณะเฉพาะเป็นของตนเอง
               (1) เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม หรือเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
               (2) เจดีย์ทรงกลมแบบลังกา
               (3) เจดีย์แบบศรีวิชัย ที่ฐานทำเป็นสี่เหลี่ยมและองค์ระฆังสูง บางองค์มีคูหาประดิษฐานพระพุทธรูปด้วย ตอนบนเป็นทรงกลมแบบลังกา และมีเจดีย์องค์เล็ก ๆ ประกอบมุมทั้งสี่

 

เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เจดีย์ทรงกลมแบบลังกา วัดช้างล้อม เจดีย์แบบศรีวิชัย วัดเจดีย์เจ็ดแถว

 

          2) ประติมากรรม นิยมหล่อพระพุทธรูปสำริดซึ่ง เป็นศิลปะแบบสุโขทัย 

 

พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย

 

          3) ภาพลายเส้น มีภาพจำหลักลายเส้นลงในแผ่นหินชนวนเป็นภาพชาดก พบที่วัดศรีชุม อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

 

ภาพจำหลักลายเส้นบนแผ่นหินชนวน วัดศรีชุม

 

     6.3 วรรณกรรม
วรรณกรรมในสมัยสุโขทัยเขียนเป็นร้อยแก้ว เรื่องที่สำคัญได้แก่
          1. จารึกหลักที่ 1 ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง
          2. ไตรภูมิพระร่วง หรือเตภูมิกถา

 

ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ไตรภูมิพระร่วง

 

     6.4 ขนบธรรมเนียมประเพณี
ขนบธรรมเนียมประเพณีของสุโขทัยที่เป็นมรดกมาถึงปัจจุบัน ส่วนมากเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และยังมีประเพณีที่รับมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เช่น พระราชพิธีราชาภิเษก พระราชพิธีจรดพระนังคัล

 

7. ภูมิปัญญาไทยสมัยสุโขทัย
ภูมิปัญญาแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ภูมิปัญญาชาวบ้านกับภูมิปัญญาไทย
ภูมิปัญญาชาวบ้านหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ สิ่งที่ชาวบ้านคิดค้นเพื่อแก้ปัญหาการดำเนินชีวิต
ภูมิปัญญาไทย คือ ความรู้ความสามารถของส่วนรวม เป็นที่ยอมรับระดับชาติ เช่น ภาษาไทย

 

อักษรปัลลวะของอินเดียฝ่ายใต้

 

     7.1 อักษรไทย
ภูมิปัญญาไทยสมัยสุโขทัยที่นับว่ามีความสำคัญมาก ได้แก่การประดิษฐ์อักษรไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชใน พ.ศ. 1826
ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1(ลิไทย) มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของสระหลายตัวให้อยู่ข้างบนและข้างล่างคล้ายกับอักษรเขมร โดยอาจมีสาเหตุมาจากคนไทยคุ้นเคยกับการวางรูปสระแบบเขมร
หลังจากพ่อขุนรามคำแหงมหาราชประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นแล้ว ได้มีการทำจารึกพ่อขุนรามคำแหงโดยใช้อักษรไทย

 

พยัญชนะไทย

การเขียนอักษรไทยเมื่อนำอักษรประสมกัน

 

     7.2 การชลประทาน
ระบบชลประทานที่สุโขทัยนำมาใช้มีหลายลักษณะ เช่น
          1) เหมืองฝาย
          2) ทำนบ
          3) สระน้ำและบ่อน้ำ
     7.3 เครื่องสังคโลก เป็นชื่อเครื่องปั้นดินเผาเคลือบเนื้อละเอียด สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากเครื่องเคลือบของเขมร อันนัม (เวียดนาม) และจีน แต่นักวิชาการบางท่านเชื่อว่า การทำเครื่องสังคโลกเป็นพัฒนาการด้านเทคนิคที่เกิดขึ้นเองในท้องถิ่นก่อนตั้งอาณาจักรสุโขทัย แล้วรับเอาเทคนิคจากจีนภายหลัง

 

คำสำคัญ
ขอมสบาดโขลญลำพง
พระร่วง
ศรีสัชนาลัย
สังคโลก
พุ่มข้าวบิณฑ์

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th