ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
1. การเข้ามาของอารยธรรมอินเดียและจีนในดินแดนไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งอยู่ระหว่างอินเดียและจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีสินค้าที่เป็นที่ต้องการและมีอารยธรรมความเจริญก้าวหน้า ทำให้ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นศูนย์กลางการค้าและได้รับวัฒนธรรมผสม ไทยได้รับอารยธรรมอินเดียผ่านทางเขมรและจากการติดต่อค้าขายโดยตรงกับพ่อค้าอินเดีย ส่วนอารยธรรมจีนได้รับผ่านทางการทูตและการค้า
1.1 อิทธิพลของอารยธรรมอินเดีย
ผู้มีบทบาทสำคัญในการนำอารยธรรมอินเดียเข้ามา คือ กลุ่มกษัตริย์หรือนักรบ กลุ่มพ่อค้าและกลุ่มนักบวช
อิทธิพลที่ได้รับจากอารยธรรมของอินเดียและจีนที่สำคัญ ได้แก่
1. ด้านศาสนาและความเชื่อ หลักการของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู คือ เชื่อว่าศูนย์กลางของจักรวาลอยู่ที่พระพรหมและมีการนับถือพระวิษณุและพระศิวะ ส่วนพระพุทธศาสนาในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้นิมนต์พระสงฆ์นิกายเถรวาทมาสั่งสอนประชาชน ทำให้นิกายนี้เป็นที่ยอมรับมาจนถึงปัจจุบันหลักการของพระพุทธศาสนา คือ หลักในการการดำเนินชีวิต ส่วนความเชื่อทั้ง 2 ศาสนามีความกลมกลืนกันในวิถีชีวิตชาวบ้าน
2. ด้านภาษา ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตเป็นภาษาที่ใช้ในพระพุทธศาสนา ทำให้อิทธิพลของภาษาเหล่านี้ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
3. ด้านการแต่งกาย ชาวไทยและชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีความคล้ายคลึงกับชาวอินเดียและจีน กล่าวคือ ผู้หญิงนุ่งผ้าถุง ผ้าซิ่น หรือผ้าปาเต๊ะ
4. ด้านอาหาร อาหารอินเดียจะคล้ายคลึงกับอาหารไทย นิยมใช้เครื่องเทศเป็นส่วนประกอบ อาหารอินเดียที่เป็นที่รู้จัก เช่น แกงกะหรี่ ข้าวหมกไก่
1.2 อิทธิพลของอารยธรรมจีน
ชาวจีนมีการติดต่อค้าขายกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าดินแดนอื่นแต่ก็แทบไม่ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมจีนเลย เนื่องจากความสัมพันธ์อยู่ในรูปของการค้าและการทูตเท่านั้น และจีนเองก็ไม่ได้สนใจจะเดินทางออกจากดินแดนของตน ดังนั้น อารยธรรมจีนจึงมีอิทธิพลน้อยมากเมื่อเทียบกับอารยธรรมอินเดีย
อิทธิพลอารยธรรมจีนมีหลายด้าน ได้แก่
1.ด้านศาสนาและความเชื่อ เป็นการผสมผสานกันระหว่างศาสนาและความเชื่อของไทยและของจีน เช่น มีการบูชาบรรพบุรุษ การไหว้พระจันทร์
2.ด้านภาษา อารยธรรมจีนก็แพร่หลายในระดับชุมชนในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังจะเห็นได้ชัดเจนในดินแดนประเทศไทย เช่น ภาษาไทยบางคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาจีน เช่น ก๋วยเตี๋ยว เก้าอี้ ไต้ฝุ่น ติ่มซำ
3.ด้านการแต่งกาย จะได้รับอิทธิพลการใช้ผ้ามาจากจีน ทุกวันนี้การแต่งกายที่ได้รับอิทธิพลจากจีนที่พบเห็นกันโดยทั่วไปคือ การนุ่งขาว–ห่มขาวไว้ทุกข์
4.ด้านอาหาร เนื่องจากคนจีนรับประทานข้าวเป็นอาหารหลักเหมือนคนไทยและคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2. อิทธิพลของวัฒนธรรมต่างชาติที่มีต่อสังคมไทย
1.อาหาร เมื่อมีอารยธรรมต่างชาติเข้ามาทำให้การรับประทานอาหารของคนไทยหันมานิยมรับประทานอาหารแบบต่างชาติมากขึ้น เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารญี่ปุ่น
2.ภาษา เมื่อมีการติดต่อกับต่างชาติทำให้ภาษาต่างประเทศเข้ามาผสมผสานกับภาษาไทย เช่น โลกาภิวัตน์ วีดิทัศน์ มีการใช้คำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ เช่น อินเทอร์เน็ต
3.การแต่งกาย การแต่งกายของคนไทยในสมัยก่อนผู้หญิงจะนุ่งผ้าถุง ผ้าซิ่น ผู้ชายจะใส่ชุดไทยพระราชทาน แต่ในปัจจุบันผู้หญิงนิยมสวมกางเกงและกระโปรงตามแบบตะวันตก ส่วนผู้ชายนิยมสวมเสื้อยืดและกางเกงยีนกันมากขึ้น
4.ดนตรี ดนตรีไทยได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียและจีน ในอดีตได้รับความนิยมอย่างมาก ต่อมาปัจจุบันวัฒนธรรมด้านดนตรีของต่างชาติได้เข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้สังคมไทยหันไปสนใจและให้ความสำคัญกับดนตรีสากลมากกว่า
3. การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการรับวัฒนธรรมต่างชาติ
1. การเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลดีต่อสังคมไทย
1) การรับความเจริญทางด้านการศึกษาและการแพทย์ การศึกษาช่วยให้ประชากรรู้หนังสือ มีความคิด และใช้เหตุผลในการตัดสินใจ การแพทย์ช่วยให้ประชากรมีสุขภาพดี รู้จักดูแลตนเอง ซึ่งมีส่วนในการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง
2) ความรู้และเทคโนโลยีของต่างชาติมีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่สังคมในด้านต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมช่วยเพิ่มรายได้และความอยู่ดีกินดีให้แก่พลเมือง
3) วัฒนธรรมต่างชาติมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างการเมืองการปกครอง เช่น การพัฒนาระบอบประชาธิปไตย การทหาร
2. การเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลเสียต่อสังคมไทย การรับวัฒนธรรมที่หลากหลายโดยขาดการพิจารณา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านค่านิยม เห็นว่าวัฒนธรรมไทยเป็นสิ่งล้าสมัย
แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th