ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
1. สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง, ครองราชย์ พ.ศ. 1893 – 1912)
ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของอาณาจักรอยุธยาและเป็นต้นราชวงศ์อู่ทองพระราชกรณียกิจที่สำคัญ ได้แก่
1) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
2) ทรงจัดการปกครองราชธานีเป็นแบบจตุสดมภ์
3) ทรงขยายอาณาจักรอยุธยาให้ใหญ่โตกว้างขวาง
4) ทรงทำนุบำรุงด้านศาสนา
2. สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ พ.ศ. 1991 – 2031)
ทรงครองราชย์เป็นเวลายาวนานที่สุดของอาณาจักรอยุธยา พระราชกรณียกิจที่สำคัญ ได้แก่
1) รวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง และแยกกิจการของทหารและพลเรือน ยกเลิกเมืองหน้าด่าน
2) ทรงกำหนดศักดินาเพื่อเป็นเกณฑ์ในการกำหนดฐานะ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของบุคคลต่อทางราชการ และระหว่างบุคคลต่อบุคคล
3) ทรงตรากฎมนเทียรบาลว่าด้วยพระราชพิธีในราชสำนัก ตำแหน่งราชการ และกฎข้อบังคับในราชสำนัก
4) โปรดเกล้าฯ ให้นักปราชญ์และคณะสงฆ์ร่วมกันแต่งมหาชาติคำหลวง
3. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2133 – 2148)
เมื่อพระชนมายุ 16 พรรษา ได้รับตำแหน่งเป็นพระมหาอุปราชหรือวังหน้า ครองเมืองพิษณุโลก พระราชกรณียกิจที่สำคัญ ได้แก่
1) ทรงประกาศอิสรภาพจากพม่า ขณะเป็นพระมหาอุปราช
2) ทรงมีชัยชนะในการทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชของพม่า
3) ทรงขยายอำนาจไปยังหัวเมืองต่าง ๆ
4) ทรงส่งเสริมการค้ากับต่างประเทศ
4. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2199 – 2231)
เป็นยุคแห่งความก้าวหน้าของกรุงศรีอยุธยาและเป็นยุคทองของวรรณคดี พระราชกรณียกิจที่สำคัญ ได้แก่
1) ทรงส่งเสริมการค้ากับต่างประเทศ ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองท่าที่สำคัญ
2) ทรงส่งเสริมการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศโดยส่งทูตไปยังประเทศต่าง ๆ
3) ทรงส่งเสริมวรรณกรรม
5. ชาวบ้านบางระจัน
ในปี พ.ศ. 2309 พม่าได้ยกทัพเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ ทำให้ชาวบ้านอย่างเมืองวิเศษชัยชาญจำนวนหนึ่งหนีพม่ามาพบพระครูธรรมโชติที่บ้านบางระจัน แล้วช่วยกันสร้างค่ายบางระจันขึ้น โดยมีผู้นำ คือนายแท่น นายดอก นายอิน นายเมือง นายโชติ และนายทองแก้ว และชาวบ้านบางระจันที่สำคัญระดับหัวหน้า ได้แก่ ขุนสรรค์ พันเรือง นายทองแสงใหญ่ นายทองเหม็น และนายจันหนวดเขี้ยว
หลังจากรบกันมานานถึง 5 เดือน ในที่สุดพม่าได้ระดมยิงปืนใหญ่เข้ามาในค่ายและสามารถตีค่ายได้สำเร็จ วีรกรรมของชาวบ้านบางระจันได้รับการยกย่องให้เป็นวีรชนของชาติ
6. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2310 – 2325)
พระราชกรณียกิจที่สำคัญ ได้แก่
1) ทรงกอบกู้เอกราชและทรงตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีใหม่
2) ทรงกอบกู้บ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น ปราบชุมนุมต่าง ๆ และทำสงครามขยายอาณาจักร
3) ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และโปรดเกล้า ฯ ให้นำพระไตรปิฎกจากเมืองนครศรีธรรมราชมาคัดลอกไว้
4) ทรงฟื้นฟูวรรณกรรมและศิลปกรรม
5) ทรงส่งเสริมการค้ากับต่างประเทศ
แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th