บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง พัฒนาการของอาณาจักรธนบุรี
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 78.5K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

พัฒนาการของอาณาจักรธนบุรี

 

1. การกอบกู้เอกราชและการสถาปนาอาณาจักรธนบุรี
พระยาตากเห็นว่าเมื่อไม่สามารถต้านกองทัพของพม่าได้ จึงนำกำลังไพร่พลมุ่งหน้าไปเพื่อออกตีเมืองต่าง ๆ แล้วมีกำลังไพร่พลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แล้วจึงรวบรวมกำลังพลและอาวุธแล้วยกทัพเรือมารบกับพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น และสามารถกอบกู้เอกราชได้สำเร็จ หลังกอบกู้เอกราช ได้ย้ายราชธานีไปที่เมืองธนบุรีเพราะเป็นเมืองขนาดเล็ก เหมาะกับกำลังพล มีป้อมปราการมั่นคง เป็นเมืองหน้าด่านที่คุมเส้นทางออกทะเล ป้องกันหัวเมืองทางเหนือไม่ให้ซื้ออาวุธจากต่างประเทศได้ เป็นเมืองที่มีวัดอยู่มากและนอกจากนี้ยังมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก

 

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

 

ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลกเป็นชุมนุมแรกที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยกทัพไปปราบแต่ไม่สำเร็จเพราะทรงได้รับบาดเจ็บ เมื่อหายประชวร โปรดเกล้า ฯ ให้ยกทัพไปปราบชุมนุมเจ้าพิมาย และจับหัวหน้าชุมนุมลงมาประหารที่กรุงธนบุรี ในปีต่อมาทรงปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช ปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง ถึงแม้เจ้าพระฝางจะหนีไปได้ แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงสามารถรวบรวมแผ่นดินที่เคยเป็นของอาณาจักรอยุธยากลับคืนมาได้

 

แผนที่ตั้งชุมชนต่าง ๆ หลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2

 

ใน พ.ศ. 2312 โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์จนมีชัยชนะและได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเวียงจันทน์ลงมาประดิษฐานไว้ที่วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง)

 

พระแก้วมรกต

 

2. การปกครองสมัยธนบุรี
1) การปกครองส่วนกลางให้สมุหนายกเป็นอัครเสนาบดีฝ่ายพลเรือน สมุหพระกลาโหมเป็นอัครเสนาบดีฝ่ายทหาร ส่วนการบริหารราชการยังคงเป็นแบบจตุสดมภ์

2) การปกครองหัวเมืองมี 3 ส่วน ได้แก่ หัวเมืองชั้นใน ผู้รั้งขึ้นตรงต่อเสนาบดีจตุสดมภ์ หัวเมืองชั้นนอกหรือหัวเมืองพระยามหานคร ผู้ปกครองคือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ และประเทศราช

 

ท้องพระโรงพระราชวังเดิม สร้างสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

 

3. เศรษฐกิจสมัยธนบุรี
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงแก้ไขวิกฤตการณ์ ดังนี้
1. พระราชทานพระราชทรัพย์ซื้อข้าวสารจากพ่อค้าสำเภาจีนในราคาสูง
2. ทรงเร่งให้ราษฎรและขุนนางทำนา เพื่อให้มีข้าวเพียงพอต่อการบริโภค
3. ทรงส่งเสริมการค้ากับต่างประเทศ
4. หารายได้จากส่วย ภาษีอากร และเครื่องราชบรรณาการเข้าท้องพระคลัง
5. ประมูลผูกขาดเก็บค่าภาคหลวง
6. เพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิดที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจให้หนักขึ้น

4. การสิ้นสุดสมัยธนบุรี
พระยาสรรค์และพรรคพวกก่อกบฏ บังคับให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชออกผนวชและคุมพระองค์ไว้ที่วัดอรุณราชวราราม เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทราบข่าว ได้รีบยกทัพมาระงับจลาจลในเมือง ขุนนางและประชาชนจึงพร้อมในอัญเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th