ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ประเทศทั่วโลกมีความสัมพันธ์กันในเชิงความขัดแย้งและความร่วมมือ การแข่งขันกันแสวงหาอาณานิคม ความขัดแย้งระหว่างประเทศครั้งสำคัญในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้แก่ สงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็น
1. สงครามโลกครั้งที่ 1
สงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1914–1918 เกิดจากความขัดแย้งของประเทศในทวีปยุโรปและลุกลามไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก สร้างความเสียหายให้แก่สังคมโลกอย่างร้ายแรง
1.1 สาเหตุของสงคราม
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้แก่
1. ลัทธิชาตินิยม หมายถึง หลักการหรืออุดมการณ์ที่ถือว่าการกระทำของคนกลุ่มต่าง ๆ ในชาติต้องถือผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ
2. ลัทธิจักรวรรดินิยม หมายถึง นโยบายอำนาจในการเข้าควบคุมหรือมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือดินแดนต่างชาติอันเป็นวิถีทางเพื่อการได้มาหรือรักษาจักรวรรดิให้ดำรงอยู่ต่อไปได้
3. มหาอำนาจแตกแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มประเทศความตกลงไตรภาคี ประกอบด้วย ประเทศฝรั่งเศส รัสเซีย และอังกฤษ กับกลุ่มประเทศสนธิสัญญาพันธมิตรไตรภาคี ประกอบด้วย ประเทศเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และอิตาลี
4. การสะสมกำลังอาวุธ ความหวาดกลัวศัตรูจะรุกรานทำให้เกิดการสะสมกำลังอาวุธจำนวนมาก
1.2 ชนวนของสงคราม
ชนวนสงครามเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1914 อาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Archduke Francis Ferdinand) มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และพระชายาถูกกัฟริโล ปรินซิป (Gavrilo Princip) ชาวบอสเนียซึ่งมีเชื้อสายเซิร์บลอบปลงพระชนม์ รัฐบาลของออสเตรีย-ฮังการีต้องการยุติการเคลื่อนไหวของพวกสลาฟในเซอร์เบียได้ยื่นคำขาดให้เซอร์เบียปฏิบัติตาม แต่เซอร์เบียปฏิบัติได้ไม่ครบทุกข้อ ออสเตรีย-ฮังการีจึงประกาศสงครามกับเซอร์เบียในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1914
1.3 สถานการณ์ของสงคราม
ในสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการรบทั้งทางบก ทางอากาศ และทางเรือ ประเทศที่เป็นคู่สงครามต่างก็แข่งขันกันนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ต่อสู้
1.4 ผลของสงคราม
สงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918 โดยเยอรมนีพ่ายแพ้ยอมยุติสงคราม ผลของสงครามสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้แก่ทั้ง 2 ฝ่าย ดังนี้
1. ทางด้านสังคม สงครามโลกครั้งที่ 1 มีทหารทั้งฝ่ายสัมพันธมิตรและฝ่ายมหาอำนาจกลางเข้าร่วมประมาณ 65 ล้านคน เสียชีวิตไปประมาณ 8.6 ล้าน ทำให้เกิดปัญหาชนพลัดถิ่น ปัญหาโรคจิตจากการหวาดกลัว
2. ทางด้านการเมือง ยุโรปอ่อนแอลง ประเทศมหาอำนาจกลางต้องเสียอาณานิคม
3. ทางด้านเศรษฐกิจ เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก
1.5 องค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติ ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) แห่งสหรัฐอเมริกาได้เสนอให้ก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติขึ้น เพื่อเป็นองค์การกลางแก้ปัญหากรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธีเพื่อดำรงรักษาสันติภาพอันถาวรไว้ โดยการประชุมครั้งแรกขององค์การสันนิบาตชาติเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1920 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
2. สงครามโลกครั้งที่ 2
สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสงครามที่เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1939–1945 เป็นความขัดแย้งของประชาชาติที่สร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางและมากกว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 หลายเท่า
2.1 สาเหตุของสงคราม
สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดจากสาเหตุสำคัญต่อไปนี้
1. ลัทธิจักรวรรดินิยม หลังสงครามครั้งที่ 1 มหาอำนาจยังคงแข่งขันกันแสวงหาอาณานิคมหรือขยายดินแดนด้วยการรุกรานอยู่เช่นเดิม
2. ลัทธิชาตินิยม อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำเยอรมนีหันไปใช้ลัทธินาซีเพื่อสร้างประเทศให้ยิ่งใหญ่ เช่นเดียวกับเบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini) ผู้นำอิตาลีซึ่งใช้ลัทธิฟาสซิสต์
3. เยอรมนีสร้างกองทัพและอาวุธยุทโธปกรณ์ขึ้นใหม่ หลังจากเยอรมนีมีผู้นำเป็น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เยอรมนีก็ประกาศสร้างกองทัพขึ้นใหม่พร้อมกับสร้างอาวุธต่าง ๆ เพื่อใช้รบทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ
4. มหาอำนาจแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายอักษะ (Axis) ประกอบด้วยเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่นที่ดำเนินนโยบายรุกรานเพื่อขยายอำนาจ กับฝ่ายพันธมิตร (Allies) ซึ่งเป็นฝ่ายประชาธิปไตยตะวันตก ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินนโยบายผ่อนปรน
5. ความอ่อนแอขององค์การสันนิบาตชาติ เนื่องจากไม่สามารถหยุดยั้งการรุกรานของประเทศต่าง ๆ
2.2 สถานการณ์ของสงคราม
หลังจากที่เยอรมนีละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซายใน ค.ศ. 1935 และเริ่มรุกรานประเทศต่าง ๆ ใน ค.ศ. 1939 เยอรมนีบุกโปแลนด์ที่ปฏิเสธการคืนฉนวนโปแลนด์บางส่วนและเมืองดาน ทั้งยังไม่ยอมถอนทหารจากโปแลนด์ตามที่อังกฤษเรียกร้อง อังกฤษกับฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมนี จึงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น
2.3 ผลของสงคราม
สงครามโลกครั้งที่ 2 สร้างความสูญเสียมากกว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 หลายเท่า คือ
1. ด้านสังคม สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 68 ล้านคน และมีผู้บาดเจ็บ ทุพพลภาพ หายสาบสูญจำนวนมาก
2. ด้านการเมือง ประเทศผู้แพ้สงครามต้องยินยอมปฏิบัติตามสนธิสัญญาต่าง ๆ ที่ฝ่ายชนะสงครามวางเงื่อนไขไว้
3. เศรษฐกิจ ประเทศต่าง ๆ ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปเป็นจำนวนมากในสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อบำรุงกองทัพผลิตอาวุธที่ทันสมัย
ทวีปยุโรปหมดอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ทำให้เกิดประเทศมหาอำนาจใหม่ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต
3. สงครามเย็น
สงครามเย็น หมายถึง ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองของ 2 อภิมหาอำนาจ คือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต
3.1 สาเหตุของสงครามเย็น
สาเหตุของสงครามเย็นมีหลายประการ ได้แก่
1. การเปลี่ยนแปลงดุลทางอำนาจของโลก สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ประเทศมหาอำนาจเดิม คือ เยอรมนี ญี่ปุ่น อังกฤษ และฝรั่งเศสลดอำนาจ ประเทศที่ขึ้นมาเป็นอภิมหาอำนาจ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต
2. อุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน สหรัฐอเมริกายึดหลักประชาธิปไตย ส่วนสหภาพโซเวียตยึดถืออุดมการณ์สังคมนิยมซึ่งปกครองประเทศแบบเผด็จการ
3. ความขัดแย้งของผู้นำของชาติมหาอำนาจ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ แฮร์รี เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman) และนายกรัฐมนตรี เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Sir Winston Chirchill) ของอังกฤษ ต่อต้านสหภาพโซเวียต
3.2 ภาวะสงครามเย็น
หลังจาก ค.ศ. 1948 โลกเข้าสู่สงครามเย็นอย่างแท้จริง เมื่อชาติมหาอำนาจขัดแย้งกันในช่วง ค.ศ. 1945–1948 สหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกามีบทบาทในการสนับสนุนกลุ่มการเมืองภายในประเทศที่จงรักภักดีต่อตนให้ต่อสู้กับรัฐบาลของประเทศเหล่านั้น
3.3 การสิ้นสุดสงครามเย็น
สภาวะสงครามเย็นเริ่มลดความรุนแรงลงเมื่อมีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) เป็นเลขานุการพรรคคอมมิวนิสต์และผู้นำสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. 1985 กอร์บาชอฟได้ประกาศนโยบายเปิด–ปรับหรือกลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา (Glasnost-Perestroika) ปฏิรูปการเมืองเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตให้เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยมากขึ้น พร้อมกับสร้างความสัมพันธ์กับชาติต่าง ๆ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา
จุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดของสภาวะสงครามเย็น เริ่มต้นจากเหตุการณ์ที่ประชาชนชาวเยอรมนีตะวันออกเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองทั่วประเทศ ทำลายกำแพงเบอร์ลินซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งฝ่ายเสรีประชาธิปไตยกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งเหตุการณ์ทำลายกำแพงเบอร์ลินนี้นับว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญที่มีความหมายว่าสภาวะสงครามเย็นใกล้ยุติลงแล้ว
4. องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ
ความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ มีทั้งความร่วมมือในระดับนานาชาติ เช่น องค์การสหประชาชาติ และระดับภูมิภาค เช่น สหภาพยุโรป เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรือเพื่อป้องกันความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
4.1 องค์การสหประชาชาติ (United Nations)
4.1.1 สมาชิกภาพ
องค์การสหประชาชาติมีสมาชิกอยู่ทั่วโลกรวมได้ 191 ประเทศ
4.1.2 วัตถุประสงค์
องค์การสหประชาชาติมีวัตถุประสงค์หลักดังนี้
1. ธำรงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงของโลกโดยการร่วมมือกัน
2. เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อช่วยกันคลี่คลายและแก้ปัญหาทางด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิทธิทางด้านมนุษยชน
3. เป็นศูนย์กลางพัฒนาความสัมพันธ์อันดี และประสานงานกันระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อให้ดำเนินงานบรรลุผลตามเป้าหมาย
4.1.3 องค์การหลัก
องค์การสหประชาชาติมีหน่วยงานหรือองค์กรหลักอยู่ 6 องค์กร คือ
1. สมัชชาใหญ่ (General Assembly)
2. คณะมนตรีความมั่นคง (Security Council)
3. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council)
4. คณะมนตรีภาวะทรัสตี (Trusteeship Council)
5. ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice)
6. สำนักเลขาธิการ (Secretariat)
4.1.4 ผลการปฏิบัติงาน
องค์การสหประชาชาติได้แสดงบทบาทและปฏิบัติงานด้านต่าง ๆ ได้สำเร็จลุล่วง ดังนี้
1. ด้านความขัดแย้ง องค์การสหประชาชาติจัดการเจรจาแก้ไขปัญหา หรือในบางครั้งใช้กองกำลังเข้าไปสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในกรณีพิพาท
2. ด้านการลดอาวุธ สนธิสัญญาจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ฉบับที่ 2 นี้ มีทั้งด้านความสำเร็จและความล้มเหลว
3. ด้านเศรษฐกิจและสังคม ช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในเรื่องการพัฒนาคุณภาพประชากร การอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี
4. ด้านสิทธิมนุษยชน ต่อสู้และรักษาอิสรภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ไม่เลือกเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา และเพศ ผ่านทางคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกำหนดให้วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสิทธิมนุษยชนโลก
5. ด้านกฎหมาย ร่างกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อรักษาความยุติธรรม ความเข้าใจอันดี และการรักษาผลประโยชน์ของประชาชาติ
6. การรักษาสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาชาติได้ดำเนินงานเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก โดยจัดให้มีการประชุมต่าง ๆ เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก
4.2 องค์กรอื่น ๆ ที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะที่สำคัญ ได้แก่
4.2.1 องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization–NATO)
1. สมาชิกภาพ
สนธิสัญญานี้ได้ลงนามกันเมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1949 แต่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1949 ปัจจุบันมีสมาชิก 26 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก อิตาลี เยอรมนี เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส กรีซ สเปน ตุรกี โปแลนด์ ฮังการี สาธารณรัฐเช็ก บัลแกเรีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย โรมาเนีย สโลวาเกีย และสโลวีเนีย
2. วัตถุประสงค์
องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกหรือนาโตจัดตั้งขึ้นเพื่อจัดตั้งระบบพันธมิตรทางทหารสำหรับถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ และช่วยเหลือประเทศสมาชิก
3. หน้าที่ขององค์การแอตแลนติกเหนือหรือนาโต
หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลงนาโตได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างและปรับปรุงนโยบายใหม่หลายด้านที่สำคัญ ได้แก่
1. การให้ความสำคัญแก่การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ
2. การหาแนวทางส่งเสริมความสัมพันธ์กับรัสเซีย
3. การปรับบทบาททางการทหารให้เอื้อต่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
4. ความร่วมมือในโครงการวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม
5. การเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก
4.2.2 องค์การการค้าโลก (World Trade Organization–WTO)
องค์การการค้าโลกมีพัฒนาการมาจากแกตต์ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2538 โดยความตกลงมาร์ราเกซ ทำหน้าที่เป็นเวทีเจรจาการค้าและระงับข้อพิพาทของประเทศสมาชิก โดยมีสมาชิกดูแลรับผิดชอบด้านกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ ใช้ฉันทามติในการตัดสิน มีประเทศสมาชิก 153 ประเทศ
1. วัตถุประสงค์
องค์การการค้าโลกตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญมีดังนี้
1. เพื่อทำให้การค้าระหว่างประเทศมีความเป็นเสรีมากที่สุด
2. เพื่อให้มีการเปิดเสรีโดยผ่านขั้นตอนของการเจรจา
3. เพื่อให้มีการจัดตั้งระบบเพื่อระงับข้อพิพาท
2. บทบาทหน้าที่ขององค์การการค้าโลก
1.บริหารความตกลงและบันทึกความเข้าใจในความดูแล 28 ฉบับ โดยผ่านคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการต่าง ๆ ตลอดจนดูแลให้มีการปฏิบัติตามพันธกรณี
2.เป็นเวทีในการเจรจาลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างทั้งมาตรการภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษีศุลกากร
3.ติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศและจัดให้มีการทบทวนนโยบายการค้าของสมาชิกสม่ำเสมอ
4.ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีได้
5.ประสานงานกับกองทุนเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก เพื่อให้นโยบายเศรษฐกิจโลกสอดคล้องกันยิ่งขึ้น
3. ผลการปฏิบัติงาน
องค์การการค้าโลกมีอิทธิพลต่อประเทศต่าง ๆ เนื่องจากเป็นองค์กรกลางสำหรับการร้องเรียนและเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศเพื่อให้มีอำนาจต่อรองสูง และผลักดันให้บรรลุตามเป้าหมายที่ต้องการได้
4.2.3 องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกปิโตรเลียมหรือโอเปก (Organization of Petroleum Exporting Countries–OPEC)
1. สมาชิก
โอเปกเป็นองค์การนานาชาติเพื่อความร่วมมือด้านนโยบายน้ำมันและช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและด้านเทคนิคแก่ประเทศสมาชิก ก่อตั้งเมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 1960 ประเทศสมาชิกเริ่มก่อตั้ง คือ อิหร่าน อิรัก คูเวต ซาอุดีอาระเบีย และเวเนซุเอลา
2. วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์ในระยะเริ่มต้นของการก่อตั้งกลุ่มโอเปกมีจุดมุ่งหมายสำคัญ 3 ประการ คือ
1. เพื่อเจรจากับบริษัทผู้ได้รับสัมปทานในการตั้งกองทุนน้ำมันดิบให้เท่ากันทุกประเทศ
2. เพื่อนำราคาน้ำมันดิบที่เป็นผลมาจากการเจรจาใช้เป็นฐานในการคำนวณเป็นรายได้ของประเทศ
3. เพื่อเป็นอำนาจต่อรองในการยึดครองหรือโอนกิจการน้ำมันเป็นของรัฐต่อไป
3. ผลการปฏิบัติงาน
โอเปกเป็นกลุ่มประเทศที่ใช้น้ำมันเป็นเครื่องต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของตนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง
4.2.4 สหภาพยุโรปหรืออียู (European Union–EU)
1. สมาชิกภาพ
สหภาพยุโรปหรืออียูเป็นกลุ่มที่รวมองค์การทางเศรษฐกิจ 3 องค์การเข้าด้วยกัน คือ ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรป ประชาคมเศรษฐกิจยุโรปหรือตลาดร่วมยุโรป และประชาคมพลังงานปรมาณูแห่งยุโรป ปัจจุบันสหภาพยุโรปมีสมาชิกทั้งหมด 27 ประเทศ
2. วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งสหภาพยุโรป ได้แก่
1. เพื่อรวบรวมระบบเศรษฐกิจ ความร่วมมือในการพัฒนาสังคม และการปกครองแบบประชาธิปไตยของประเทศสมาชิกให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
2. เพื่อยกระดับการดำรงชีวิตของประชากรชาวยุโรปให้ดีขึ้น
3. เพื่อจัดตั้งสหภาพศุลกากรโดยการขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ทางการค้าระหว่างประเทศ
3. บทบาทหน้าที่และผลการปฏิบัติงาน
1. ลดและยกเลิกมาตรการภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษีศุลกากรระหว่างประเทศภาคีด้วยกัน
2. ประเทศภาคีสามารถกำหนดอัตราภาษีอากรหรือข้อจำกัดทางการค้าประเทศนอกกลุ่มโดยเสรี
4.2.5 เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือหรือนาฟตา (North American Free Trade Area–NAFTA)
1. สมาชิกภาพ
เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือหรือนาฟตาเป็นองค์กรทางเศรษฐกิจในทวีปอเมริกาเหนือ เป็นตลาดใหญ่ของโลกมีโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จึงส่งผลกระทบในด้านการผลิต การค้า การลงทุน และการจับงานต่อประเทศต่าง ๆ ทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่ได้เป็นสมาชิก
2. วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ คือ
1. เพื่อแสวงหาตลาดสินค้าออกในภูมิภาคอื่น
2. เพื่อส่งเสริมการจ้างงาน การเคลื่อนย้ายแรงงานที่จะผลิตสินค้าให้ได้ราคาถูกและมีคุณภาพ
3. เพื่อส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กให้ขยายตัวและมีประสิทธิภาพสูง
3. หลักการของเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ
หลักการสำคัญของเขตการค้าอเมริกาเหนือประกอบด้วย
1. ลดและยกเลิกมาตรการภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรระหว่างประเทศภาคีด้วยกัน
2. ประเทศภาคีสามารถกำหนดอัตราภาษีอากรหรือข้อจำกัดทางการค้าประเทศนอกกลุ่มได้โดยเสรี
คำสำคัญ
สงครามโลกครั้งที่ 1
ลัทธิชาตินิยม
ลัทธิจักรวรรดินิยม
องค์การสันนิบาตชาติ
สงครามโลกครั้งที่ 2
สงครามเย็น
องค์การสหประชาชาติ
องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต
องค์การการค้าโลก
องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกปิโตรเลียมหรือโอเปก
สหภาพยุโรปหรืออียู
เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือหรือนาฟตา
แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th