ข้อสังเกตบางประการในการใช้คำราชาศัพท์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 85.5K views



ข้อสังเกตบางประการในการใช้คำราชาศัพท์
     การใช้คำราชาศัพท์มีข้อสังเกตดังนี้
     1.การใช้คำ “ทรง”
        1.1.ใช้ ทรง นำหน้าคำนามสามัญ  เช่น
              ทรงรถ          หมายถึง     นั่งรถ
              ทรงปืน          หมายถึง     ยิงปืน
              ทรงเครื่อง      หมายถึง     แต่งตัว   
              ทรงสกี          หมายถึง     เล่นสกี
              ทรงกีตาร์       หมายถึง     เล่นกีตาร์

        1.2.ใช้ ทรง นำหน้าคำกริยาสามัญ เช่น
              ทรงฟัง          หมายถึง       ฟัง
              ทรงยินดี        หมายถึง       ยินดี
              ทรงจาม         หมายถึง       จาม
              ทรงขอบใจ     หมายถึง       ขอบใจ

        1.3.ใช้ ทรง นำหน้าคำนามที่เป็นราชาศัพท์อยู่แล้ว เช่น
              ทรงพระราชนิพนธ์       หมายถึง      แต่งเรื่อง
              ทรงพระประชวร           หมายถึง     เจ็บป่วย
              ทรงพระสุบิน               หมายถึง     ฝัน
              ทรงพระดำริ                หมายถึง     คิด

        1.4.ห้ามใช้ ทรง นำหน้าคำกริยาที่เป็นราชาศัพท์อยู่แล้ว เช่น
              ทรงบรรทม          หมายถึง        นอน
              ทรงเสวย             หมายถึง        กิน
              ทรงเสด็จ             หมายถึง       ไป

     2.การใช้คำ "เสด็จ"
        2.1.ใช้ เสด็จ นำหน้าคำกริยาบางคำ เช่น เสด็จไป เสด็จกลับ เสด็จออก เสด็จขึ้น เสด็จลง
        2.2.ใช้ เสด็จ นำหน้าคำนามราชาศัพท์เพื่อทำให้เป็นคำกริยาราชาศัพท์ เช่น เสด็จพระราชสมภพ เสด็จพระราชดำเนินตรวจพลสวนสนาม (เสด็จพระราชดำเนิน หมายถึงเดินทางโดยยานพาหนะ หรือเดินทางตามทางลาดพระบาท ดังนั้นต้องเติมคำที่เป็นใจความไว้ข้างหลัง)

     3.การใช้คำ “พระบรม” “พระบรมราช” “พระราช” “พระ”
        3.1.ใช้ พระบรม พระบรมราช นำหน้าคำนามที่มีความสำคัญเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น เช่น พระบรมราโชวาท พระบรมมหาราชวัง พระบรมราชานุเคราะห์ พระปรมาภิไธย พระบรมฉายาลักษณ์ พระบรมราชวโรกา
        3.2.ใช้ พระราช นำหน้าคำเกี่ยวกับเครื่องใช้ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ เช่น พระราชวัง พระราชทรัพย์ พระราชโทรเลข พระราชหัตถเลขา
        3.3.ใช้ พระ นำหน้าคำนามที่เป็นราชาศัพท์ในหมวดเครือญาติ อวัยวะ เครื่องใช้ หรือนำหน้าคำนามสามัญ เช่น พระเนตร พระหัตถ์ พระมาลา พระกนิษฐา พระเก้าอี้

     4.การใช้คำ “ราช”
        ใช้ ราช นำหน้าคำที่เป็นพาหนะ สถานที่ บุคคล ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เช่น ราชรถ ราชธานี ราชธิดา ราชโอรส

     5.การใช้คำ “หลวง”
        ใช้ หลวง ต่อท้ายคำศัพท์ที่เกี่ยวกับคน สัตว์ สิ่งของ เช่น ลูกหลวง ข้าหลวง ม้าหลวง วังหลวง เรือรบหลวง

     6.การใช้คำ “ต้น”
        ใช้ ต้น ต่อท้ายคำศัพท์ที่เกี่ยวกับคน สัตว์ สิ่งของ ที่อยู่กับพระเจ้าแผ่นดิน เช่น เรือต้น ช้างต้น ม้าต้น