รู้รอบโลก ตอน ศาสนาเชน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 19.9K views



เรื่อง: พฤทธิ์ เลิศสุกิตติพงศา  ภาพประกอบ: อารัมภ์พร เอี่ยมวุฒิ


ศาสนาเชน


ศาสนาเชน

 



การเปลือยกายของชายหรือหญิงในสถานที่สาธารณะ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ กฎเกณฑ์ในเกือบทุกประเทศก็กำหนดว่านั่นคือการทำอนาจาร และมีบทลงโทษเบาหนักแตกต่างกันไป แต่ถ้าคุณไปอินเดีย แล้วเจอกับชายไม่สวมเสื้อผ้า เปลือยกายท้าแดดท้าลมในที่สาธารณะแต่ไม่ได้รับโทษ ก็เป็นไปได้ว่าเขาเป็นนักบวชเชนนิกายทิคัมพร


ศาสนาเชน บ้างก็เรียก ไชนะ หรือ ชินะ (Jainism) หนึ่งในศาสนาที่ลึกลับ เพราะผู้ที่นับถือศาสนาเชนมักจะปิดตัว ไม่ค่อยสุงสิงกับคนต่างศาสนาหรือคนแปลกหน้า แม้จะมีผู้นับถือถึง 4-6 ล้านคนทั่วโลก โดยส่วนใหญ่อยู่ในประเทศอินเดียแถบตะวันตกและตอนใต้ เช่น อุตรประเทศ ไมเซอร์ มัธยมประเทศ และมหาราษฏระรา แต่ถ้าลองคิดว่าประชากรอินเดียทั้งหมดมีกว่าพันล้านคน ตัวเลข 6 ล้านคนจึงน้อยมาก นี่ยังไม่ได้เทียบกับประชากรของโลกอีกกว่า 8 พันล้านคน

ไม่เพียงศาสนิกชนที่ลึกลับ คัมภีร์ศาสนาเชนหรือจารึกเกี่ยวกับกฎหรือศีลต่าง ๆ รวมถึงประวัติของศาสดาก็ถูกเก็บเป็นความลับทั้งหมด การศึกษาศาสนาเชนจึงต้องอาศัยการสืบเสาะจากศาสนิกชนหรือผู้บำเพ็ญตน ไม่ต้องนับเรื่องงานค้นคว้าวิจัยซึ่งมีน้อยมาก ๆ


ศาสนาเชนแล้วทำไมเราต้องสนใจศาสนาที่มีข้อมูลเพียงน้อยนิดนี้ด้วย ก็เพราะว่าศาสนาเชนมีความเก่าแก่ที่สุดศาสนาหนึ่งในโลก เรียกว่ากำเนิดมาก่อนพระพุทธศาสนา มีรากฐานมาจากประเทศอินเดีย ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ถิ่นกำเนิดหลายศาสนาของโลก ศาสดาของศาสนาเชนเรียกว่า “ตีรถังกร” โดยเชื่อว่าตีรถังกรประสูติมาแล้ว 24 พระองค์จวบจนปัจจุบัน แต่ที่สำคัญก็คือหลักคำสอนต่าง ๆ ไปจนถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดของศาสนาเชนมีความใกล้เคียงกับศาสนาพุทธมาก

จุดมุ่งหมายสูงสุดของศาสนาเชนคือการละทิ้งซึ่งกิเลสและกรรม วิถีแห่งการบำเพ็ญและประพฤติตนก็คล้ายกับการรักษาศีล ซึ่งหลายข้อเหมือนกับศาสนาพุทธและพราหมณ์-ฮินดู เช่นการห้ามฆ่าสัตว์ แม้แต่ทำให้มดแมลงเชื้อโรคตายก็บาป ชาวเชนนับถือเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดเช่นเดียวกับผู้นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธศาสนา นั่นคือทุกชีวิตมีกรรมอันเป็นผลของการกระทำ อันส่งผลให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิดหรือสังสารวัฏ

ศาสนาเชนมีสองนิกายหลัก นิกายหนึ่งคือ ทิคัมพร หรือชีเปลือย วัตรปฏิบัติของนิกายนี้มุ่งมั่นค้นหาสัจธรรมด้วยการเผชิญกับความยากลำบากต่าง ๆ อย่างสงบและกล้าหาญ เช่น การทรมานตนเองเพื่อปลดปล่อยจิตของผู้ปฏิบัติออกจากความต้องการของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร อากาศ หรืออารมณ์ เหล่านักบวชมักพกไม้กวาดและผ้ากรองน้ำติดตัว ใช้ไม้กวาดปัดกวาดทางเดิน เพราะต้องแน่ใจว่าจะไม่เผลอเหยียบแมลงเล็กน้อย และใช้ผ้ากรองน้ำเพื่อกรองเอาสัตว์ตัวเล็ก ๆ ที่อาจจะอยู่ในน้ำออกไปก่อนดื่มน้ำ อีกนิกายหนึ่งคือ เศวตัมพร ที่นุ่งห่มผ้าขาวเพราะถือว่าเป็นการป้องกันหนาวร้อนและปกปิดร่างกายไม่ให้อุจาดตาเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องกิเลส นิกายนี้มีทั้งนักบวชชายและนักบวชหญิง โดยเชื่อว่าพระตีรถังกรองค์ที่ 19 เป็นผู้หญิง

ภายใต้คำสอนสำคัญเรื่อง “อหิงสา” ศาสนิกชนชาวเชนจึงตั้งมั่นในหน้าที่ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ไม่ตั้งตนเป็นศัตรูกัน และไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น อาจกล่าวได้ว่าบนโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและสงคราม ชาวเชนคือผู้สร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น อย่างน้อยก็ภายในใจของเขาเอง

 

more on web
https://www.trueplookpanya.com/new/clipded/index/1147
พลังของการทำสมาธิ (The Scientific Power of Meditation)



ที่มา: นิตยสาร plook ฉบับที่ 53 เดือนพฤษภาคม 2558