Classroom : คณิตศาสตร์รอบตัวเรา: ตอน นักคณิตศาสตร์หญิงของโลก ตอนที่ 2
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 7.6K views



ติดค้างไว้ในฉบับที่แล้ว พี่ออยกลับมาว่ากันต่อกับเรื่องราวของนักคณิตศาสตร์หญิงคนสำคัญในประวัติศาสตร์อีกหนึ่งท่าน เธอคือ ออกัสตา แอดา ไบรอน (Augusta Ada Byron) หรือชื่อที่ผู้คนเรียกขานเธอว่า “ท่านผู้หญิงเลิฟเลซ” (Countess of Lovelace) หลังจากที่เธอแต่งงานกับเอิร์ลแห่งเลิฟเลซ ผู้ปกครองดินแดนเลิฟเลซ สตรีสูงศักดิ์ชาวอังกฤษผู้นี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นโปรแกรมเมอร์คนแรกของโลก

 

แอดาเป็นบุตรสาวของนักคณิตศาสตร์หญิงผู้บุกเบิกสาขาคอมพิวเตอร์นามว่า แอนน์ อิซาเบลล่า “แอนนาเบลล่า” มิลแบงค์ (Anne Isabella “Annabella” Milbanke) กับ จอร์จ กอร์ดอน ไบรอน (George Gordon Byron) หรือบารอนไบรอนที่ 6 กวีผู้แต่งวรรณกรรมชิ้นเอกของโลก “ดอนฮวน” ด้วยความที่มารดาของเธอเกรงว่าแอดาจะเติบโตเป็นกวีเหมือนพ่อ จึงพยายามปลูกฝังให้แอดาเป็นนักคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มีครูคณิตศาสตร์ส่วนตัว ซึ่งเป็นเรื่องแปลกในขณะนั้น โดยเฉพาะเด็กสาวสมัยนั้นจะหาผู้ได้รับการศึกษาทางด้านนี้ค่อนข้างยาก เธอได้เรียนเรื่องพีชคณิต ตรรกวิทยา และแคลคูลัส แม้จะพยายามทำทุกวิถีทาง แอดาก็ยังมีเลือดของความเป็นกวีอย่างชัดเจน เธอรักและเข้าใจในบทกวีอย่างลึกซึ้ง บทกวียังทำให้เธอสามารถเข้าใจในคณิตศาสตร์อย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้นด้วย

 

เหตุการณ์ที่ทำให้เธอกลายเป็นนักคณิตศาสตร์ที่มีชื่อเสียงเริ่มต้นขึ้นในงานปาร์ตี้แห่งหนึ่ง เมื่อเธออายุเพียง 17 ปี แอดาได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องคำนวณของชาร์ลส์ แบบเบจ แบบเบจมีความคิดที่จะสร้างเครื่องคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่สามารถทำงานได้เองแบบอัตโนมัติและมีขั้นตอนที่ถูกต้องแม่นยำ ในขณะนั้นแนวทางนี้เป็นการปฏิวัติทางความคิดที่สำคัญ แอดารู้สึกประทับใจและเฝ้าติดตามการทำงานของเขาอย่างใกล้ชิดอยู่หลายปี แบบเบจทำตามแผนที่วางไว้ และมีการรายงานความคืบหน้าและการตีพิมพ์สรุปเนื้อหาไว้ด้วยภาษาฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1843 แอดาจึงแปลบทความให้เป็นภาษาอังกฤษก่อนจะนำไปให้แบบเบจตรวจสอบ เขาแนะให้เธอเติมข้อมูลของเธอลงไปด้วย ปรากฏว่าเมื่อแปลเสร็จบทความนั้นยาวกว่าต้นฉบับถึง 3 เท่า โดยที่แอดามีความคิดเห็นและทำนายว่าเครื่องคำนวณนี้จะสามารถใช้ในการเรียบเรียงดนตรี ทำภาพกราฟิก และใช้ประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ได้ด้วย หลายคนเชื่อว่าแอดามีส่วนในการเขียน หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นผู้ที่ชี้ชวนให้แบบเบจเขียนแผนงาน ว่าเครื่องจักรของเขาจะสามารถคำนวณตัวเลขเบอนูลีได้อย่างไร ข้อมูลนี้ถือเป็นแนวทางสำคัญในการกำเนิดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในเวลาต่อมา

 

หากเราลองพิจารณาดูก็จะพบว่าคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับที่แอดาทำนายไว้อย่างครบถ้วน นอกจากความสามารถทางคณิตศาสตร์ หญิงสูงศักดิ์ผู้นี้ยังมีความสามารถด้านดนตรีและการขี่ม้า ด้วยความฉลาด ความสวย และบุคลิกภาพที่มีเสน่ห์ ชื่อเสียงของแอดาจึงโด่งดังในสังคมและแวดวงของผู้ที่สนใจคอมพิวเตอร์ กระทั่งมีการนำชื่อของเธอไปตั้งเป็นซอฟต์แวร์ “แอดา” ภาษาทางคอมพิวเตอร์ที่ได้รับพัฒนาในปี ค.ศ. 1979

 

เหนือสิ่งอื่นใด บรรดานักคณิตศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จไม่ได้เกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์เพียงอย่างเดียว ทุกคนล้วนแต่มีความเพียรที่จะศึกษาในสิ่งที่ตนเองสนใจ หวังว่าน้องๆ ทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะได้รับแรงบันดาลใจจากนักคณิตศาสตร์หญิงของโลกทั้งสามท่าน และทำหน้าที่ของเราให้เต็มที่เพื่อเป้าหมาย ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรเราก็จะภูมิใจในตัวเองแน่นอน เชื่อพี่ออยสิคะ

 

เรื่องโดย : รัชฎาภรณ์ โชติอิ่มอุดม

“ครูพี่ออย” บัณฑิตจากรั้วจามจุรี คณะวิทยาศาสตร์ สาขาคณิตศาสตร์ อดีตอาจารย์พิเศษคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำโรงเรียนกวดวิชา พี่ม.มหิดลติวเตอร์ และรับหน้าที่ติวเตอร์คณิตศาสตร์ รายการสอนศาสตร์ ช่องทรูปลูกปัญญา ทรูวิชั่นส์ 9


ภาพประกอบจาก https://people.cs.kuleuven.be/