มองใหม่ด้ายไหม ตอน วิถีชีวิตคนไทยกับผ้าไหม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 8.1K views



 

ทอไหม

Photo : https://www.lib.ubu.ac.th/

  • สยามมีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย ซึ่งมีทักษะการทอผ้าไหมตั้งแต่สาวจนวัยชรา และมีการใช้ผ้าไหมทั้งในชีวิตประจำวันและพิธีกรรมสำคัญตั้งแต่เกิดจนตาย ดังเช่นในคติการทอผ้าและสวมใส่ผ้าไหมของกลุ่มวัฒนธรรมเขมรและกลุ่มลาว พอสรุปได้ดังนี้

ทอตั้งแต่สาวจนแก่

1. วัยเด็ก (แรกเกิด-14 ขวบ)   เด็กหญิงทีมีอายุ  6-12 ขวบ จะต้องได้รับการอบรมสั่งสอนและเรียนรู้เกี่ยวกับการทอผ้าจากแม่และญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง  เด็กสาวในทุกวัฒนธรรมทุกคนต้องทอผ้าเป็น การทอผ้าจึงเป็นกระบวนการทางสังคมวัฒนธรรมทำหน้าที่ขัดเกลาสมาชิกให้พร้อมที่จะเปลี่ยนไปสู่สถานภาพอย่างใหม่

2. วัยรุ่น (15 ปี - ก่อนแต่งงาน)  เป็นช่วงวัยที่มีความพร้อมมากที่สุดที่จะเข้าสู่พิธีแต่งงานจากเงื่อนไขที่เกิดจากกระบวนการทอผ้าและนำไปสู่พิธีแต่งงาน   

  • กรณีผู้หญิงจะแต่งงานได้นั้นต้องทอผ้าให้เป็นอย่างน้อย 3 อย่างคือ  “เสื้อดำ  ต่ำแพร ซิ่นไหม”   เสื้อดำ คือ เสื้อที่ตัดจากผ้าฝ้ายที่ทอเองแล้วย้อมคราม  ซึ่งชาวบ้านนิยมใช้ในชีวิตประจำวันและใช้ในการทำงานในไร่นา ต่ำแพร หมายถึง ทอผ้าขาวม้าที่เป็นผ้าสารพัดประโยชน์ของชาวบ้านได้  ซิ่นไหม หมายถึง หญิงคนที่จะแต่งงานได้ก็ต้องทอซิ่นไหมได้ด้วย  เพราะ ผ้าขาวม้า (ผ้าแพร) ซิ่นไหม นิยมใช้เป็นเครื่องสมมา ตอบแทนบุญคุณของญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชายในพิธีแต่งงาน 

3.  วัยผู้ใหญ่ (หลังจากให้กำเนิดบุตรคนแรก - หมดประจำเดือนหรือมีลูกคนสุดท้าย)  ขั้นนี้ ผ้าที่ผู้หญิงผู้เป็นแม่ของเด็กที่เกิดใหม่ทอไว้  เช่น ซิ่นไหม ผ้าแพร จะถูกนำมาเป็นสิ่งตอบแทนแม่หมอผู้ทำคลอดให้  รวมทั้งการผูกแขนนับถือเป็นเสมือนแม่คนที่สอง 

4. วัยชรา (50 ปีขึ้นไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต)  ผู้หญิงในวัยนี้ จะทำหน้าที่เป็นผู้อบรมสั่งสอนลูกหลานเกี่ยวกับการทอผ้าในแง่มุมต่างๆ  และทำการรวบรวมลายผ้า ลายดอกชนิดต่างๆ ไว้บนแผ่นเดียวกัน  เป็นผืนผ้าที่ชาวภูไทเรียกว่า “ผ้าแส่ว”

5. เมื่อเสียชีวิต ผู้ตายจะทอไหมเอาไว้เป็นพิเศษ ประณีตทีสุด สวยงามที่สุดสำหรับคลุมโลงศพของตัวเอง และนอกจากนี้ญาติผู้ตายจะนำผ้าไหมที่ผู้ตายเคยสวมใส่ตอนมีชีวิตอยู่ นำใส่ไปในโลงศพพร้อมศพผู้ตาย เพื่อให้ผู้ตายได้นำไปใช้ในโลกหน้าและญาติๆ คนรู้จัก ที่ล่วงลับไปก่อนหน้านี้จะจดจำผู้ตายได้และได้ไปอยู่ด้วยกัน

 

ความเชื่อเรื่องไหมและฝ้าย

ชาวอีสานความเชื่อเรื่อง ไหม – ฝ้าย

  • ชาวบ้านทั่วไปจะไม่ใช้ไหมคำไหมเงินทอผ้า ถ้าต้องการจะใช้ก็จะใช้เส้นไหมสีเหลืองแทน  

  • เชื่อกันว่าถ้าใช้ผ้าหรือหมอนถวายพระที่ทำด้วยผ้าไหม จะได้บุญกุศลแรง          

  • การนำผ้าหมี่ไหมที่ยังไม่ได้ใช้ไปถวายวัด เพื่อใช้ทำเป็นผ้าห่อคัมภีร์หนังสือใบลาน เชื่อกันว่าเป็นการช่วยรักษาความรู้ สติปัญญาเพื่อลูกหลาน  และเป็นการไถ่บาปที่เคยฆ่าตัวไหมเป็นจำนวนมากอีกด้วย

ชาวไทลื้อ / ไทยวนความเชื่อเรื่อง ไหม – ฝ้าย

  • ผ้าที่ใส่ในเวลาปกติของคนเหนือ ถ้าเป็นชาวบ้านใส่ฝ้าย เป็นเจ้านายใส่ไหม             

  • ภาคเหนือโดยเฉพาะชาวไทลื้อไทยวนไม่นิยมใช้ผ้าไหมเพราะต่างยึดมั่นในพุทธศาสนาและคติความเชื่อเกี่ยวกับบาปบุญคุณโทษ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ในอดีตจึงหลีกเลี่ยงการทอผ้าไหม เนื่องจากไหมดิบที่จะนำมาทอเป็นผ้าไหมนั้น จะต้องต้มรังไหมซึ่งมีตัวดักแด้อยู่ข้างในให้ตายเสียก่อน จึงจะสามารถที่จะสาวเส้นไหมได้ ผ้าไหมผืนหนึ่งจะต้องใช้รังไหมจำนวนมาก จึงหันมาทอผ้าฝ้ายเป็นส่วนใหญ่

กลุ่มชาติพันธุ์กับผ้าไหม

 

ภูไท

Photo : www.isangate.com/ 

     ภูไท (กาฬสินธุ์)

  • ภูไท  แพรวา (เทคนิคขิด)  เป็นเทคนิคการทอที่ยากซับซ้อน ผ้าเบี่ยงพาดไหล่ใช้ในพิธีกรรม             

  • ผ้าลายขิดนั้นชาวภูไทถือว่าเป็นของสูงและเป็นเทคนิคการทอผ้าที่แสดงความสามารถสูงสุดของหญิงภูไท                           

  • จะใช้แต่งกายเฉพาะส่วนบนของร่างกายเหนือเอวขึ้นไป ใช้ในพิธีมงคล                    

  • นิยมนำผ้าซิ่นใหม่ไปถวายวัด เพื่อใช้ห่อคัมภีร์ใบลานเพราะเชื่อว่าได้กุศลมาก            

  • หญิงสาวเมื่อทอผ้าขิดได้ถือว่าเป็นผู้มีความพร้อมในการครองเรือน

ไทยวน / ไทโยนก (ล้านนา - ภาคเหนือ ราชบุรี)

  • ไทยวน / ไทโยนก ซิ่นตีนจก ในราชสำนักมีการใช้ผ้าซิ่นที่มีลักษณะการทอที่พิเศษออกไป โดยมักจะนุ่งซิ่นที่ประดับตีนซิ่นด้วยตีนจกที่ทอด้วยเส้นไหมสอดสลับกับเส้นเงินเส้นทองด้วยเทคนิคการจก            

  • คติของสตรีไทยวนในการประกอบหัวซิ่น จะต้องเอาผ้าแถบสีขาวมาต่อตามความกว้างของหัวซิ่นเรียกว่า ผ้าป้าว เพื่อป้องกันการทำคุณไสยและเสน่ห์ยาแฝด

ลาวครั่ง / ลาวเวียง (ชัยนาท อุทัยธานี นครปฐม พิษณุโลก กาญจนบุรี)

  • ลาวครั่ง / ลาวเวียงมัดหมี่ต่อตีนจกผ้าทอลาวครั่งจะโดดเด่นกว่าผ้าทอกลุ่มอื่นๆ คือการใช้สีสันของผ้าที่ให้ความรู้สึกร้อนและแรง เช่น ใช้สีแดงครั่ง สีส้มหมากสุก สีเหลือง สีส้มหมากสุก สีเหลือง และการทอด้วยลวดลายที่ให้ความรู้สึกถึงความเคลื่อนไหว       

  • มีการทอผ้าด้วยศรัทธาในพระพุทธศาสนาด้วย เช่น ธง ผ้าอาสนะ ผ้าคลุมหัวนาค ผ้าห่อคัมภีร์ ผ้าติดธรรมาสน์                             

  • มีวิธีย้อมสีผ้ามัดหมี่ด้วยวิธีการแจะ หมายถึงการย้อมสีหลักเพียงสีเดียว ส่วนสีอื่นๆจะใช้ไม้จุ่มสีมาแต้มถูตามตำแหน่งของลวดลายทำให้เสริมความเหลื่อมล้ำของลวดลายมากยิ่งขึ้น

วัฒนธรรมเขมร  (อีสานใต้ / สุรินทร์)

  • วัฒนธรรมเขมรเทคนิคการทอ คือ ผ้ามัดหมี่  ผ้าขิด

  • เมื่อฝ่ายชายออกป่าเพื่อคล้องช้าง ผู้หญิงเลี้ยงไหมและทอผ้าไหม  ถือว่าเป็นการเชิดชูครอบครัวด้วย                                      

  • การทอผ้าของกูยจะใช้หูกขนาดยาวแต่ถอดเก็บได้ เวลากลางวันจะพาดยาวและถอดเก็บในเวลากลางคืน                                     

  • ผ้าคาดเอวผู้ชาย ทอเช่นเดียวกับผ้าหัวซิ่นแต่กว้างกว่า โดยยืนพื้นสีแดงเช่นกัน ใช้ห่อเครื่องลางของขลังสำหรับป้องกันตัว ถือเป็นของสำคัญจะแขวนไว้ในที่สูงห้ามสตรีจับต้อง   

  • หัวซิ่นผืนใหญ่ที่ใช้คาดเอวก็ยังทำเป็นสัญลักษณ์ให้ตระหนักว่ามีผู้รอคอยอยู่ที่บ้าน ต้องพยายามทำงานให้สำเร็จ

  • ผ้าโฮลเป็นผ้าที่ชาวเขมรชายและหญิงนุ่งสวมในงานพิธีกรรมสำคัญๆ ยกเว้นงานศพ ใช้เทคนิคย้อมมัดหมี่ที่มัดเฉพาะเส้นพุ่ง

  • ผ้าหมี่โฮล ก็คือผ้าปูมเขมร อดีตขุนนางใช้นุ่งเป็นโจงกระเบน ความยาว 4 หลา

ผ้ายกเมืองนคร (นครศรีธรรมราช)

  • ผ้ายกเมืองนคร เป็นภูมิความรู้ของชาวไทรบุรีที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่นครศรีธรรมราช  ในสมัยธนบุรีและสมัยต้นรัตนโกสินทร์                                           

  • ชาวไทรบุรีดังกล่าวได้รับการสั่งสมวิธีการทอผ้าจากชาวอินเดียที่มาตั้งถิ่นฐาน ชาวไทรบุรีบางส่วนเป็นชาวอินเดียที่มาตั้งถิ่นฐาน        

  •  รายละเอียดของผ้ายกเมืองนครมีความคล้ายคลึงกับผ้าที่ใช้เต้นระบำในแคว้นมณีปุระอินเดีย                                               

  • ในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้นผ้ายกทองเป็นผ้าที่เจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่นุ่งเท่านั้นและเป็นเครื่องราชบรรณาการ



ขอบคุณเนื้อหา : นิทรรศการ “มองใหม่ด้ายไหม” มิวเซียมสยาม
14 กุมภาพันธ์ - 29 มิถุนายน 2557
https://www.museumsiam.org/